ศักดินาตกยุค กับทาสที่ยังปลดปล่อยไม่ไป!

มงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่

แม้ว่าประเทศไทยจะได้มีการยกเลิกระบบไพร่ทาสมากว่าศตวรรษ ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนมากขึ้นแต่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจยังคงเป็นแบบจำลองของระบบ ไพร่ทาส ทำให้คนส่วนใหญ่ยังไม่อาจก้าวข้ามความเป็นผู้ถูกปกครอง กลายเป็นสังคมที่ชอบพึ่งพา

ระบบเจ้าขุนมูลนายยังคงมีอิทธิพลต่อความนึกคิดของคนส่วนใหญ่ จะเห็นได้จากคำสั่งสอนที่มักสอนให้ลูกหลานศึกษาเล่าเรียนให้เป็นเจ้าคนนายคน เพราะเชื่อว่าการเป็นเจ้านายมักมีสถานะเป็นที่ยอมรับของสังคมมีเกียรติมีศักดิ์ศรีสูงกว่าการเป็นลูกน้อง เป็นกรรมกร แม้อาชีพการงานก็ยังถูกแบ่งเป็นชนชั้น ทั้งที่ทุกอาชีพน่าจะมีความเท่าเทียมกันในด้านศักดิ์ศรีจะต่างกันบ้างในเรื่องของค่าตอบแทนซึ่งก็เป็นธรรมตามความสามารถของแต่ละบุคคลแต่ไม่ควรลดทอนสิทธิและคุณค่าความเป็นมนุษย์ซึ่งควรเท่าเทียมกัน

อาชีพหมอ ตำรวจ ทหาร ข้าราชการรวมถึงนักการเมืองเป็นอาชีพที่มักจะขึ้นมาเป็นชนชั้นนำของสังคมในขณะที่อาชีพ พยาบาล แม่บ้าน คนทำความสะอาดรวมถึงกรรมกรในโรงงานกลับกลายเป็นชนชั้นล่างที่ต้องเป็นฝ่ายตาม กลายเป็นสิ่งมีชีวิตตัวลีบเล็กที่ต้องทำตัวนอบน้อมยกมือไหว้ขอความช่วยเหลืออยู่ร่ำไปถูกกดทับด้วยค่านิยมความเป็นชนชั้น ไม่ต่างอะไรกับระบบศักดินาแบบเดิม

ผมเป็นกรรมกรคนหนึ่งซึ่งได้มีโอกาสไปร่วมประชุมตามที่ต่างๆ ที่สังเกตเห็นทุกงานก็คือการพูดที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า เรียน กราบเรียนประธานในงาน แล้วต่อด้วยผู้มีฐานะ อาชีพ ยศตำแหน่งที่สูงตามลำดับสุดท้ายจบด้วยผู้เข้าร่วมงาน จนทำให้คิดไปถึงคนที่คิดรูปแบบวิธีการพูดแบบนี้ว่าคงเป็นพวกขุนนางตกยุคแต่เมื่อลองคิดเล่นๆมุมกลับว่าหากมีการจัดงานที่มีนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานแล้วผู้นำกรรมกรกล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานโดยขึ้นต้นด้วย  “กราบเรียนกรรมกรผู้ร่วมงานทุกท่าน นายกรัฐมนตรีและข้าราชการผู้ต้องรับใช้ประชาชนและแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน” จะเกิดอะไรขึ้น

หากคนเล็กคนน้อยในสังคมยังไม่อาจยอมรับในคุณค่าและศักดิ์ศรีและอาชีพของตนเอง ขุดถอนสำนึกความเป็นไพร่ทาส ก็ไม่อาจที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทำลายกำแพงชนชั้น ยกตนเองขึ้นมาเสมอเท่าเทียมกันในสังคม คำขวัญที่ชูว่า “เปลี่ยนแปลงตัวเองให้แข็งแกร่ง เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในที่สุด” คงไม่อาจเป็นจริงได้
 

****************