วิเคราะห์มาตรา 75 และค่าจ้าง 75% กรณีน้ำท่วมโรงงาน

โดย บัณฑิตย์  ธนชัยเศรษฐวุฒิ มูลนิธิอารม พงศ์พงัน

            สถานประกอบการหลายแห่ง  อ้างมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  หรือ  ไม่อ้างมาตรานี้  แต่จ่ายค่าจ้างเพียง 75%  ช่วงที่นายจ้างหยุดงานเพราะน้ำท่วมโรงงานหรือขาดวัตถุดิบมาดำเนินการผลิต  จึงขอทำความเข้าใจมาตรา 75  ให้ชัดเจน

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลายมาตรา  โดยการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2551  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2551  เป็นต้นไป  หนึ่งในบทบัญญัติที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม  คือ การหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 มีถ้อยคำทั้งหมดดังนี้มาตรา 75  ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญ  อันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย  ต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว  ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยละร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำการ

เจตนารมณ์

เพื่อคุ้มครองลูกจ้างมิให้ต้องสูญเสียรายได้ทั้งหมดในระหว่างที่นายจ้างมีเหตุจำเป็นสำคัญต้องหยุดกิจการชั่วคราว  เพื่อลูกจ้างจะมีรายได้พอสมควรในการดำรงชีพเมื่อไม่มีงานทำชั่วคราว  จึงกำหนดให้นายจ้างแจ้งเป็นหนังสือแก่ลูกจ้าง  และพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันทำการก่อนวันหยุดกิจการและนายจ้างจ่ายเงินช่วยเหลืออัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้าง

องค์ประกอบของการหยุดกิจการชั่วคราวได้

1.  นายจ้างมีต้องความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเพราะเหตุสำคัญที่ถึงขนาดทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ตามปกติ

2.  เป็นการหยุดกิจการชั่วคราว  ซึ่งมิใช่การเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างบางคนหรือลดกำลังการผลิตลงโดยยังคงมีวันทำงานอยู่

3.  เหตุหยุดประกอบกิจการมิใช่เหตุสุดวิสัย

4.  มีการแจ้งล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 3 วันทำการแก่ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานก่อนวันเริ่มหยุดกิจการ

ข้อสังเกต

คำว่า “เหตุสุดวิสัย”  บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 8  หมายความว่า  เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดี  จะให้ผลพิบัติก็ดี  เป็นเหตุที่ที่ไม่อาจป้องกันได้  แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น  จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น

โดยสรุปคือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่อาจคาดคิดและป้องกันได้  ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายจ้าง  ซึ่งมักเป็นเหตุวิบัติภัยทางธรรมชาติ  เช่น  แผ่นดินไหว  เกิดพายุใหญ่  อุทกภัยหรือน้ำท่วมขังรอบโรงงานจนกระทั่งไม่สามารถนำวัตถุดิบเข้ามาผลิตในโรงงานและส่งออกผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าได้ตามปกติ

ในทางกลับกัน  ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่มิใช่เหตุสุดวิสัย  แต่อยู่ในอำนาจ-ความสามารถของนายจ้างที่จะควบคุมป้องกันดูแลไม่ให้เหตุนั้นเกิดขึ้นได้  แต่นายจ้างไม่ดำเนินการ  ตกอยู่ในความประมาทไม่ใช้ความสามารถ หรือ ความระวังอย่างเต็มที่ที่จะป้องกันเหตุการณ์นั้น  จนกระทั่งส่งผลให้ลูกจ้างต้องหยุดงานชั่วคราว  นายจ้างจึงต้องมีความรับผิดชอบจ่ายค่าจ้าง  เช่น กรณีหยุดงานเพราะเหตุดังนี้

— เครื่องจักรชำรุด  เพราะไม่บำรุงซ่อมแซมหรือใช้เครื่องจักรเก่า  ซึ่งย่อมชำรุดเสื่อมสภาพได้ง่าย

— โรงงานถูกไฟไหม้  เพราะไม่ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยที่ใช้งานได้และมีจำนวนเพียงพอ

— น้ำท่วมขังในโรงงานเพราะท่อน้ำประปาในโรงงานแตก

— ขาดแคลนชิ้นส่วนวัตถุดิบ  เพราะนายจ้างไม่วางแผนจัดเก็บสำรองไว้ตามปกติ  และน้ำท่วมเส้นทางขนส่ง  ไม่สามารถนำวัตถุดิบมาป้อนโรงงานได้

— ปิดโรงงานเพราะกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งให้หยุดกิจการ

ปัญหาคือ  การเกิดมหาอุทกภัยที่แผ่ขยายกระจายคุกคามสถานประกอบการและความมั่นคงในชีวิตของคนงานจำนวนมาก  จนกระทั่งนายจ้างหลายรายอ้างมาตรา 75  หรือจ่ายค่าจ้าง 75% ไปเรื่อยๆนั้น  มีความชอบธรรมตามเจตนารมณ์กฎหมายและสังคมหรือไม่อย่างไร ?

มีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์จากสื่อมวลชน  ชุมชนวิชาการ  องค์กรภาคประชาสังคมและการอภิปรายตรวจสอบของพรรคการเมืองฝ่ายค้านว่า  อุทกภัยครั้งใหญ่นี้  ไม่ใช่เกิดจากธรรมชาติภูมิอากาศอย่างแท้จริง  แต่เกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดบกพร่องของนโยบายรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจนกระทั่งไม่อาจป้องกัน/หลีกเลี่ยงความสูญเสียมหาศาลที่ตามมาได้

กล่าวคือ  ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยสำหรับความรับผิดชอบของรัฐบาล  แต่อาจเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้สำหรับนายจ้าง/ผู้ประกอบการบางแห่งเพราะนายจ้างหลายรายมีความพยายามป้องกันน้ำท่วมเข้าโรงงานร่วมกับลูกจ้างจนถึงที่สุดแล้ว  แต่ก็ไม่อาจขวางกระแสน้ำท่วมเชี่ยวได้  เพราะข้อจำกัดทางพื้นที่ภูมินิเวศที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ตั้งอุตสาหกรรม , มวลน้ำมหึมาที่หลั่งไหลมาเกินกว่าจะต้านทาน  รวมถึงความประมาทหรือความล่าช้าในการเตรียมป้องกันอุทกภัย  เป็นต้น

ได้  ทุกโรงงาน ต้องมีความสามารถป้องกันน้ำท่วมเช่นเดียวกัน  เพราะฉะนั้นสถานประกอบการทุกแห่งจึงต้องจ่ายค่าจ้างเต็ม 100% เหมือนโรงงานมินิแบร์  โรงงานที่จ่ายค่าจ้าง 75% ย่อมทำผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 75 ?

ไม่อาจสรุปเป็นสูตรสำเร็จทั่วไปว่าถ้าโรงงานมินิแบร์ ที่ถนนพหลโยธิน  อำเภอบางปะอิน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือโรงงานบางแห่ง  สามารถก่อกระสอบทรายสร้างกำแพงกั้นขวางไม่ให้น้ำท่วมเข้าโรงงาน

ปัญหา  คือ  นายจ้างหลายแห่งใช้วิกฤตอุทกภัยเป็น (ฉวย) โอกาสจ่ายค่าจ้าง 75% (หรือเลิกจ้างลูกจ้างโดยเฉพาะลูกจ้างเหมาค่าแรงหรือแรงงานข้ามชาติหรือลูกจ้างสัญญาจ้างชั่วคราว) บางแห่งโรงงานผลิตได้แต่ขาดแคลนวัตถุดิบมาผลิตเพียงพอหรือไม่สามารถส่งขายสินค้าได้ก็จะจ่าย 75 % ทั้งที่โรงงานเปิดกิจการมานาน  ผลประกอบการมีกำไรมาตลอด  หรือมีทุนสะสมมากและมีกำไรมาก่อน  เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมหยุดกิจการชั่วคราวก็รีบใช้วิธีลดค่าจ้างหรือลอยแพเลิกจ้างลูกจ้างในภาวะที่กระจัดกระจายอยู่  ย่อมเป็นเรื่องไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่งเพราะพึงคำนึงถึงความเป็นหุ้นส่วนที่จะต้องร่วมทุกข์สุขฟันฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน

ข้อเสนอ  คือ  1.  รัฐบาลพึงรับผิดชอบจ่ายอีก 25% ของค่าจ้างแก่ลูกจ้างโดยตรงเพราะอุทกภัยใหญ่เกิดจากปัญหาบริหารของภาครัฐด้วยเมื่อตรวจสอบเหตุจำเป็นที่นายจ้างจ่าย 75% แล้ว

2.  นายจ้างรับผิดชอบจัดสวัสดิการค่าเดินทาง  ที่พักชั่วคราวและค่าอาหารแก่ลูกจ้างที่ประสบภัย  หรือยากลำบากในการเดินทางแต่ยังต้องมาทำงานประจำหรือต้องพักชั่วคราวในโรงงาน

ค่าจ้าง 75% กับการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533  มาตรา 5 กำหนดคำนิยามของ “ค่าจ้าง”หมายความว่า  เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ  ไม่ว่าคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำงาน  และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย  ทั้งนี้  ไม่ว่าจะกำหนด  คำนวณ  หรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด  และไม่จะเรียกชื่ออย่างไร

จากความหมายของ “ค่าจ้าง” ตามกฎหมายประกันสังคม  ย่อมวินิจฉัยได้ว่าเงินที่นายจ้างให้ลูกจ้างเมื่อหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวยังต้องถือเป็นฐานคำนวณเพื่อหักค่าจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามอัตราที่กำหนด  แม้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 จะมิได้กำหนดคำนิยามของคำว่า “วันหยุด” ไว้โดยเฉพาะเหมือนที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

เพราะฉะนั้น  นายจ้างจะอ้างว่าจำเป็นต้องให้หยุดงานไม่ใช่เป็นการจ่ายค่าจ้างในวันเวลาทำงานปกติ หรือ  ไม่ถือเป็น “ค่าจ้าง” ตามความหมายของพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน  เพื่อไม่หักค่าจ้างเป็นเงินสมทบนำส่งกองทุนประกันสังคม  ย่อมเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายประกันสังคม  ยกเว้น  จะมีกฎกระทรวงกำหนดให้งดส่งเงินสมทบหรือลดอัตราเงินสมทบเป็นการชั่วคราวแล้วแต่กรณี  โดยลูกจ้างได้รับประโยชน์ทดแทนเหมือนเดิมทุกประการ  และมีหลักประกันว่าจะไม่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม /บทความน้ำท่วมโรงงานต้องจ่ายค่าจ้างหรือไม่ (https://voicelabour.org/?p=8629)