วิพากษ์ นโยบายประชาวิวัฒน์ นอกระบบจะได้อะไร

เมื่อวันที่ 8 มกราคม2554ได้มีการจัดเวทีเสวนา “ประชาวิวัฒน์ หรือปฏิรูปประกันสังคม หลักประกันที่แท้จริงของคนงาน”ที่โรงแรรมรัตนโกสินทร์ กทม.โดยมีผู้ร่วมเสวนา 8 ท่านทั้งจากฝ่ายลูกจ้าง ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายรัฐ นักวิชาการ ดำเนินรายการโดยนายศักดินา ฉัตรกุล ณอยุธยา เริ่มจาก นายรักษศักดิ์ โชติชัยสถิต ผู้ตรวจการกรม สำนักงานประกันสังคมและผู้อำนวยการโครงการประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานจัดทำนโยบายประชาวิวัฒน์ กล่าวว่า นโยบายนี้พยายามจะก้าวข้ามระบบสังคมสงเคราะห์ที่รัฐเป็นผู้อนุเคราะห์ฝ่ายเดียวแต่ได้สร้างระบบที่ประชาชนร่วมกับรัฐ โดยใช้เวลาในการทำงานทั้งสิ้น 5 สัปดาห์ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบประกันสังคมในแรงงานนอกระบบนั้น ได้มีข้อยุติว่าการจะแก้กฎหมายทั้งฉบับนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากจึงใช้วิธีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขในมาตรา 40 เท่านั้นโดยลดอัตราเงินสมทบลงและรัฐจะช่วยอุดหนุนเพิ่มโดยมี 2 ตัวเลือก คือถ้าจ่ายเดือนละ100 บาท รัฐจะอุดหนุน 30 บาท ครอบคลุมได้รับการทดแทนการขาดรายได้ 3 กรณีคือเจ็บป่วย ทุพพลภาพและตายส่วนอีกตัวเลือกคือจ่าย150บาทรัฐช่วยอุดหนุน 50 บาทได้คุ้มครองเพิ่มอีก1กรณี คือ กรณีบำเหน็จชราภาพ
ในขณะที่ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ให้ความเห็นว่านโยบายนี้เป็นเหมือนการนำสินค้าเก่ามาตบแต่งและโฆษณาใหม่ยังไม่ชัดเจนว่า จะมีความยั่งยืนหรือไม่และใช้เวลาเพียง 5 สัปดาห์ในขณะที่ฝ่ายคนงานได้คิดและนำเสนอมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันทั้งในเรื่องการขยายสิทธิประโยชน์ การจ่ายเงินสมทบและขยายการคุ้มครองให้ครอบคลุมแรงงานในทุกภาคส่วนซึ่งจะยั่งยืนกว่าประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลที่ดูจะยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วน
นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม.กล่าวอย่างตัดพ้อว่า เหมือนรัฐจับแรงงานนอกระบบเป็นตัวละคร ทั้งที่ นโยบายนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกลับไม่มีตัวแทนจากแรงงานนอกระบบไปร่วมคิดร่วมทำเลยรัฐอยากจะให้อะไรก็ให้ไม่ต้องถามว่า คนที่รับอยากจะได้หรือไม่ นโยบายก็กว้างเกินไปจับต้องยากและไม่ควรนำผู้ที่รับงานไปทำที่บ้านมารวมกับแรงงานนอกระบบเพราะถือว่ามีนายจ้างแล้ว
ฝ่ายแรงงานข้ามชาติโดยนายบัณฑิต แป้นวิเศษ ประธานเครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีแรงงานข้ามชาติในประเทศ 3 ล้านกว่าคนที่พิสูจน์สัญชาติและมีใบอนุญาตทำงานแล้ว9แสนคนแต่ที่เข้าสู่ประกันสังคมตามมาตรา 33 มีเพียง 8 หมื่นคน ที่เป็นเช่นนี้เพราะขั้นตอนต่างๆ กว่าที่จะเสร็จและถูกต้องตามกฎหมายมีการเสียเงินหลายทอดรวมแล้วกว่า 3 หมื่นบาท/คนจึงมีแรงงานที่ไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติส่วนสิทธิประโยชน์ในประกันสังคมนั้นก็ไม่เหมาะสมเช่นกรณีว่างงานและชราภาพเพราะแรงงานข้ามชาติจะทำงานในประเทศไทยได้เพียง4ปีต้องกลับประเทศ4ปีจึงจะสามารถกลับเข้ามาทำงานใหม่ได้เพราะฉะนั้นใน 2 กรณีนี้จึงไม่ได้รับสิทธิทั้งที่จ่ายสมทบเท่ากันกับแรงงานไทยดังนั้นจึงควรมีการปรับในส่วนนี้ให้สอดคล้องและเป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติด้วย
ด้านฝ่ายนายจ้างโดย นายกรชัย แก้วมหาวงษ์ ผู้อำนวยการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยกล่าวว่าเห็นด้วยกับการปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระเพราะการปฏิรูปคือ การทำให้เจริญขึ้นขอให้เหมาะสมกับช่วงเวลาและโอกาสแต่ที่ไม่เห็นด้วยก็เรื่องฐานการหักเงินสมทบถ้าเป็นแบบก้าวหน้านายจ้างก็ต้องเพิ่มภาระในการจ่ายเกรงว่าเมื่อถึงจุดที่รับไม่ไหวจะเกิดการย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่กฎหมายไม่เข้มงวดมากอีกเรื่องที่เป็นห่วงก็คือต้องควบคุมให้อัตราเงินเข้าออกในกองทุนสมดุลกันด้วยจึงขอเสนอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาช่วยในส่วนของแรงงานนอกระบบด้วย
น.ส.สุรินทร์ พิมพา ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าไม่ว่ากฎหมายจะมีการแก้ไขอย่างไรก็ยังมีช่องทางละเมิดตลอดเช่นกรณีที่นายจ้างหักเงินแล้วไม่นำส่งก็ไม่เคยเห็นนายจ้างถูกลงโทษซ้ำทางประกันสังคมยังช่วยหาทางออกให้โดยให้เซ็นรับสภาพหนี้แต่พอลูกจ้างไปใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จบำนาญกลับได้แค่ในส่วนที่ส่งสมทบแล้วส่วนที่เหลือต้องไปไล่เอากับนายจ้างเองและอีกประเด็นที่ขอตั้งข้อสังเกตก็คือกรณีที่มีการใช้สิทธินัดหยุดงานถ้าต้องใช้เวลาเกิน 6 เดือนลูกจ้างจะขาดสิทธิหรือไม่เพราะไม่มีรายได้ที่จะหักสมทบเข้ากองทุนและลูกจ้างต้องขาดจากการเป็นผู้ประกันตนจะทำอย่างไร
นายมานัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นถึงโอกาสที่พ.ร.บ.ประกันสังคม(ฉบับบูรณาการแรงงาน)จะผ่านสภาในวาระแรกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะยุบสภาในช่วงเดือนตุลาคมซึ่งใกล้จะครบวาระของรัฐบาลนี้โอกาสที่จะผ่านวาระแรกก็จะมีความเป็นไปได้แต่การยุบสภาอาจจะเป็นช่วงไหนก็ได้ซึ่งตอนนี้กฎหมายยังไม่ได้เข้าสภาขั้นแรกต้องเสนอกฎหมายเพื่อให้สภารับหลักการก่อน
นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ได้นำเสนอว่า ประชาวิวัตน์เป็นแนวคิดที่เปลี่ยนชื่อไม่ให้เหมือนประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ที่รัฐบาลชุดนี้คิด เป็นการพัฒนามาจากแนวคิดราชการที่ร่วมมือกับหลายองค์กรในแรงงานนอกระบบ เรื่องการขยายกากรคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบโดยแก้ไข มาตรา 40ที่คุ้มครองผู้ที่มีอาชีพอิสระ แต่รัฐบาลชุดนี้มีความพยายามที่จะผลักดันประกาศใช้เร็วขึ้น และเป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุไม่ตรงจุด ซึ่งรัฐควรมีการแก้ปัญหาระยาวเพื่อให้เกิดความมั่นคงของกองทุนด้วย โดยการจัดเก็บภาษีก้าวหน้า พร้อมกับการปฏิรูปประกันสังคมให้เกิดการบริหารงานที่โปร่งใส รัฐบาลไม่ควรใช้นโยบายประชาวิวัตน์ในการหาเสียงเท่านั้น
ต่อมาเวลา 11.30 น. ผู้นำแรงงานประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย  และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ได้แถลงข่าวกำหนดการจัดเวทีสมัชชาแรงงาน: ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2554 เวลา 08.30 – 17.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบัน ระบบประกันสังคมไม่ได้สอดคล้องและเท่าทันต่อสถานการณ์ด้านแรงงาน ยังมีประเด็นที่เป็นช่องว่างทำให้ผู้ประกันตนต้องประสบปัญหาอยู่หลายประการ  อาทิ กฎเกณฑ์บางข้อได้กีดกั้นผู้ประกันตนในการเข้าถึงสิทธิและการคุ้มครองที่ควรจะได้รับ แม้งบประมาณส่วนใหญ่จะมาจากการจ่ายเงินสมทบโดยผู้ประกันตน แต่การบริหารจัดการยังขาดการมีส่วนร่วม การตรวจสอบโดยผู้ประกันตนอย่างเพียงพอ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องผลักดันให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็น“ประกันสังคมถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใส” โดยมีเหตุผลสำคัญ ได้แก่
1.  เพื่อให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมตรวจสอบและเกิดความเป็นเจ้าของกองทุนอย่างแท้จริง หลีกเลี่ยงการถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองผ่านการใช้อำนาจของรัฐมนตรี เลขาธิการ สปส. และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
2.  กองทุนประกันสังคมมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  แรงงานผู้เกี่ยวข้องกว่า 9 ล้านคนต้องจ่ายเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด  ไม่ใช่เงินทุนของรัฐบาลที่มาจากภาษีจากประชาชนฝ่ายเดียว  จึงไม่ควรบริหารงานรวมศูนย์แบบหน่วยราชการ แต่ควรมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระคล่องตัว โปร่งใส เข้มแข็งมั่นคง และสะดวกต่อการบริการประชาชน
3.  สำนักงานประกันสังคมมีภารกิจในการขยายความคุ้มครองให้กว้างขวางขึ้น  โครงสร้างและกฎหมายเดิมมีข้อจำกัด ไม่สามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.  เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังเจ้าหน้าที่  ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะด้านบริหารการเงินการลงทุน
จึงขอเรียนเชิญผู้ใช้แรงงาน ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ สื่อมวลชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจ เข้าร่วมเวที สมัชชาแรงงาน: ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2554 ครั้งนี้คลาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1,000 กว่าคน โดยมีกิจกรรม 1. เวทีสร้างการเรียนรู้ระดับกลุ่ม เครือข่าย กลุ่มย่าน และองค์กรแรงงาน (สหภาพ สหพันธ์ สภาแรงงาน) 2. จัดตั้งคณะกรรมการจัดงานและประชุมวางแผนการขับเคลื่อนวาระสังคมโดยการมีส่วนร่วมของผู้แทนทุกภาคส่วน 3. พัฒนาข้อมูลและงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการรณรงค์และสร้างการเรียนรู้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานและสังคมผ่านกลไกเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายองค์กรแรงงานในระบบ เครือสื่อมวลชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ และ 4. จัดเวทีสมัชชา ประกอบด้วย การเสวนาเรื่อง ระบบประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตคนทำงาน และการสัมมนากลุ่มย่อย:
กำหนดการเวทีสมัชชาแรงงานฯ ในครั้งนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดเวทีสมัชชาแรงงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประกันสังคม กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” และเครือข่ายแรงงานยื่นเจตนารมณ์การปฏิรูปประกันสังคมต่อนายกรัฐมนตรี จากนั้นพบกับ เวทีเสวนา: ทิศทางการปฏิรูปประกันสังคมกับการคุ้มครอง
มงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงานศูนย์อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน