เนื่องจากผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมมีจำนวนมหาศาล ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ก็เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือด้านการยังชีพเฉพาะหน้าจากภาครัฐ ภาระหนักจึงตกอยู่กับศูนย์ช่วยเหลือของแรงงาน ที่นอกจากจะต้องดูแลแรงงานด้วยกันเอง ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ แล้ว ยังต้องแบ่งปันไปถึงชาวบ้านกลุ่มอื่นๆอีกด้วย แม้ว่าภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่ก็เน้นไปที่การฟื้นฟูเยียวยาภาคอุตสาหกรรม ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งไม่มีนโยบายเพื่อคุ้มครองแรงงานในภาวะวิกฤตโดยตรง
ส่วนกฎหมายปกติที่ใช้อยู่ ก็มีช่องว่างที่ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงการคุ้มครอง เช่น การใช้มาตรา 75 ความไม่ชัดเจนในการเปิดสถานประกอบกิจการ การอ้างวิกฤตอุทกภัยเพื่อเลิกจ้างคนงาน การที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน หรือเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็มักจะมีการไกล่เกลี่ยที่ทำให้แรงงานไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และการแก้ปัญหาของแรงงานหญิงก็ไม่ได้คำนึงถึงด้านมิติหญิงชาย
ขบวนการแรงงานจึงมีข้อเสนอให้ภาครัฐมีมาตรการเฉพาะที่มุ่งแก้ปัญหาแรงงานอย่างชัดเจนตรงจุด คือ
ปัญหาของแรงงานในระบบในกรณีเกิดภัยพิบัตินั้น ต้องมีมาตรการป้องกันการเลิกจ้าง ต้องเข้าไปแก้ปัญหาการจ้างงานที่ไม่ชัดเจน ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมดูแลปัญหาพิพาทขัดแย้ง ต้องให้แรงงานเข้าถึงแหล่งทุนกู้ยืมได้ง่าย
ปัญหาของแรงงานนอกระบบ ควรจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อการฟื้นฟูอาชีพ เปิดหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมทักษะอาชีพให้แรงงาน
ปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ต้องดูแลให้เข้าถึงการช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ให้ความช่วยเหลือผู้ที่อพยพหลบภัยเข้ามาทำงานในพื้นที่ ผ่อนผันการจับกุมส่งกลับ ผ่อนผันค่าธรรมเนียมเดินทางกลับประเทศและกลับมาทำงานหลังน้ำท่วม