“วันแห่งศรัทธา” ทอดผ้าป่าจรรโลงพิพิธภัณฑ์ฯ สืบอุดมการณ์แรงงานไทย

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กำหนดทอดผ้าป่าบำรุงพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และบำเพ็ญบุญอุทิศส่วนกุศลแด่อดีตผู้นำแรงงานและบุคคลผู้มีคุณูปการต่อแรงงานไทย ในโอกาสครบรอบ 19 ปีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ในวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2555 เวลา 08.30 – 15.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ  

การทอดผ้าป่าสามัคคีครั้งนี้ เพื่อเป็นการหารายได้สนับสนุนการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากการร่วมมือร่วมแรงขององค์กรต่างๆด้านแรงงาน เพื่อให้เป็นสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของแรงงานไทย อันจะทำให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าของผู้ใช้แรงงานไทยที่มีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด  พร้อมกันนี้จะจัดกิจกรรมบำเพ็ญบุญอุทิศแด่อดีตผู้นำแรงงานและบุคคลผู้วายชนม์ซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการต่อขบวนการแรงงานไทย  อาทิ  จิตร ภูมิศักดิ์ , ประกอบ โตลักษณ์ล้ำ , บุญทรง วิจะระณะ ,ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร , ศุภชัย  ศรีสติ , อารมณ์ พงศ์พงัน , ไพศาล ธวัชชัยนันท์ , ทนง  โพธิ์อ่าน , คำปุ่น  วงศ์ขัน ,ปิยะเชษฐ์ แคล้วคลาด ,บัณฑิตย์  จันทร์งาม ,อุกฤษ เรืองไหรัญ , ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ , ตุลา ปัจฉิมเวช  และ จรัญ ก่อมขุนทด(บัวลอย) โดยมีประวัติของผู้นำบางส่วน ดังนี้ 

ถวัติ ฤทธิเดช ( พ.ศ.2437 – 2493)

ก่อตั้ง คณะกรรมกร และจัดทำหนังสือพิมพ์ กรรมกร เมื่อปี 2465 เพื่อเป็นปากเป็นเสียงของกรรมกรสยาม  ให้ความรู้ในเรื่องสิทธิในการรวมตัว เจราจาต่อรอง และนัดหยุดงาน  เป็นผู้นำในการก่อตั้ง สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม สมาคมอนุกูลกรรมกร และ สถานแทนทวยราษฎร์ ให้ความช่วยเหลือกรรมกรที่ถูกเอาเปรียบ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่างงาน

ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร ( พ.ศ.2435 – 2497 )

ร่วมงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับถวัติ ฤทธิเดช ทั้งในฐานะนักเขียนบทความและทนายความ  เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับกรรมกรในการต่อสู้นัดหยุดงานและการรวมตัวก่อตั้งสมาคมจนเคยถูกทางการจับเข้าคุก  และยังเข้าร่วมกับ ขบวนการเสรีไทย ต่อต้านญี่ปุ่นบุกไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  ชีวิตบั้นปลายต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศจีน

สีห์ อโณทัย ( พ.ศ.2464 –  )

กรรมกรปัญญาชนแห่งโรงงานยาสูบบ้านใหม่ เป็นผู้บุกเบิกงาน สมาคมสงเคราะห์กรรมกร ที่กลายเป็น สมาคมสหอาชีวะกรรมกร ในเวลาต่อมา เป็นผู้ปลุกระดมกรรมกรให้ต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกราน ต่อสู้เรียกร้องให้นายทุนปรับปรุงค่าจ้างสวัสดิการจนถูกทางการหมายหัวและถูกตำรวจสันติบาลจับกุมกักขังนานกว่า 3 ปี ก็ถูกปล่อยตัวเพราะไม่มีความผิด

วิศิษฐ์ ศรีภัทรา (2454 – )

ประธานคณะผู้แทนสมาคมกรรมกรถไฟมักกะสัน ผู้นำการต่อสู้จนเกิดสวัสดิการของคนงานรถไฟและคนงานรัฐวิสาหกิจยุคต่อๆมา  ได้เข้าร่วมก่อตั้งและเป็นหัวหน้า พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายใช้พรรคเป็นแกนนำทางการเมือง ใช้สมาคมเป็นเครื่องมือขยายฐานมวลชน หลังรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ถูกจับขังคุก 5 ปี

ประกอบ โตลักษณ์ล้ำ (พ.ศ.2461 – )

ภายหลังขึ้นเป็นประธานคณะผู้แทนสมาคมกรรมกรถไฟมักกะสันต่อจากวิศิษฐ์ ศรีภัทรา ได้นำการต่อสู้นัดหยุดงานของกรรมกรรถไฟมักกะสันจนถูกจับคราว กบฎมักกะสัน ต่อมาเข้าร่วมกับ สมาคมกรรมกรไทย และเป็นหัวหน้า พรรคกรรมกร ที่สนับสนุนการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หลังจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหาร 2501  ถูกจับขังคุกนาน 8 ปี 11 เดือน

จรูญ ละสา             วีระ ถนอมเลี้ยง       สุวิทย์ เนียมสา

แกนนำกรรมกรรถไฟ ผู้นำการเรียกร้องรายได้และสวัสดิการของกรรมกรรถไฟ จนต้องกลายเป็น กบฎมักกะสัน ปี 2495 ถูกจับคุมขัง แต่ศาลก็ตัดสินว่าไม่มีความผิด

สุ่น กิจจำนงค์ (พ.ศ.2441 – 2508)

เป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ที่ร่วมงานกับ คณะกรรมกร เคยเข้าร่วมปราบ กบฎบวรเดช จนได้รับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ  เป็นตัวแทนสหอาชีวะกรรมกรเข้าร่วมก่อตั้ง องค์การสันติภาพแห่งประเทศไทย เพื่อต่อต้านสงครามจนถูกจับกุมในเหตุการณ์ กบฎสันติภาพ  ติดคุกนาน 5 ปี จนล้มป่วย มีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นจนวาระสุดท้ายของชีวิต

บุญทรง วิจะระณะ (2466 – )

แกนนำกรรมกรโรงสีข้าวในสังกัดสหอาชีวะกรรมกร นำการต่อสู้นัดหยุดงานของกรรมกรโรงสีจนถูกจับ ต่อมาร่วมก่อตั้ง พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และต้องหลบหนีภัยเผด็จการไปนาน 9 ปีหลังจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหาร แต่ต่อมาก็ถูกจับโดนข้อหาคอมมิวนิสต์และกบฎในราชอาณาจักร ติดคุกอยู่ปีเศษก็ถูกปล่อยตัวเพราะไม่มีหลักฐานดำเนินคดี

ประเสริฐ ขำปลื้มจิต (พ.ศ.2460 – )

แกนนำกรรมกรถีบสามล้อผู้ก้าวสู่ตำแหน่งประธาน กรรมกร 16 หน่วย องค์กรที่สร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมกรจนผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.แรงงานฉบับแรกปี 2499 และทวงสิทธิในการจัดงานวันกรรมกรสากลหลังถูกระงับไปนานนับ 10 ปี ในชื่อ วันแรงงานแห่งชาติ  แต่ประเสริฐก็ต้องสูญสิ้นอิสรภาพนาน 9 ปีด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์หลังรัฐประหาร 2501

จำนงค์ หนูทอง (พ.ศ.2471 – )

กรรมกรโรงงานยาสูบและโรงสีผู้มีบทบาทเป็นนักเคลื่อนไหวจัดตั้งความคิดทางด้านการเมืองคนสำคัญของสหอาชีวะกรรมกร  ต่อมาได้รับเลือกเป็นเลขาธิการของกรรมกร 16 หน่วย  หลังรัฐประหาร 2501 ถูกจับขังคุกลาดยาวนาน 4 ปีโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

ศุภชัย ศรีสติ (พ.ศ.2468 – 2502)

ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมกร 16 หน่วย และเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบในปัจจุบัน เป็นผู้เชื่อมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมว่าคือทางออกของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ถูกคำสั่งมาตรา 17 ประหารชีวิตในยุคเผด็จการสฤษดิ์ในสารพัดข้อกล่าวหา ทั้งคอมมิวนิสต์ บ่อนทำลายความมั่นคง โค่นล้มราชบัลลังก์ ทรยศขายชาติ เมื่อแจกใบปลิววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการและจักรวรรดินิยมอเมริการอย่างรุนแรง

เธียรไท อภิชาตบุตร์ (พ.ศ.2450 – 2516 )

เป็นประธานคนแรกของ สมาคมสหอาชีวะแห่งประเทศไทยขณะที่เป็นพฤฒิสภา และเป็นเลขาธิการพรรคสหชีพ พรรคที่สนับสนุน ปรีดี พนมยงค์ และเป็นรัฐบาล  ทำให้สหอาชีวะกรรมกรมีบทบาทสูง ได้รับการยอมรับมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น เธียรไทยังเป็นทนายให้ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยไม่คิดค่าจ้าง และก็ถูกตำรวจสันติบาลติดตามสอดส่องอย่างหนัก

ซึ่งจะมีการนำประวัติของอดีตผู้นำแรงงาน และผู้มีคุณูปราการกับขบวนการแรงงานจำนวนมาก รวมทั้งยังมีผู้นำแรงงานหญิงนักต่อสู้อย่าง สำราญ คำกลั่น กรรมกรหญิงอ้อมน้อย ที่ท้าทายอำนาจนายทุนจนเสียชีวิต ชอเกียง แซ่ฉั่ว กรรมกรหญิงฮาร่าที่ยึดโรงงานผลิตกางเกงยีนส์ขายเอง เพื่อให้เห็นถึงต้นทุนที่แท้จริง และอีกหลายท่านแจกให้กับผู้เข้าร่วมงาน

และในช่วงบ่ายทางพิพิธภัณฑ์ฯได้จัดเวทีเสวนา เรื่อง AEC ผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตแรงงานไทย โดยมี วัตถุประสงค์ เพื่อทำความเข้าใจกับผลกระทบที่จะเกิดจาก AEC ต่อสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้สนใจได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว และเพื่อให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้ตระเตรียมตัวเองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้วย

โดยมี กำหนดการเริ่มตั้งแต่ 09.00-10.30  น.รวบรวมกองผ้าป่า / กล่าววัตถุประสงค์การจัดงานทอดผ้าป่าหารายได้บำรุงพิพิธภัณฑ์ พิธีกล่าวรำลึกถึงผู้นำแรงงานผู้วายชนม์ โดย  คุณทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และผู้นำแรงงาน เวลา 10.30-11.00  น. รับศีลจากพระสงฆ์  / พระสงฆ์มาติกาบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้นำแรงงานที่เสียชีวิต ถวายสังฆทาน / ถวายผ้าป่า ช่วงเวลา 11.00-12.00  น. พิธีสงฆ์ / ถวายภัตราหารเพล / อนุโทนาทาน /ญาติผู้เสียชีวิตกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล และร่วมรับประทานอาหารกลางวันต่อมาเวลา 13.00-15.00  น.   การเสวนาหัวข้อ AEC ผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตแรงงานไทย โดย คุณ ปรัชญาณี  พราหมพันธ์   ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมืออาเซียน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณชลิดา ทาเจริญศักดิ์  เลขานุการ มูลนิธิศักยภาพชุมชน คุณศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา กรรมการกิตติมศักดิ์ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ดำเนินการเสวนาโดย คุณสุนี ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 

ทั้งนี้ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ขอเรียนเชิญเพื่อร่วมกิจกรรม และให้การสนับสนุนเพื่อการดำรงอยู่ของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในการทำคุณประโยชน์ให้สังคม 

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน