งานที่มีคุณค่าต้องมีสิทธิ เสรีภาพ สวัสดิการความเท่าเทียม

20161007_094030

วันงานที่มีคุณค่า 7 ตุลา (Decent Work Day) ขบวนแรงงานรณรงค์เสนอ 3 ข้อ ประกอบด้วย ค่าจ้าง 360 บาทที่เป็นธรรมเท่าเทียม เสรีภาพและสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง และยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

วันที่ 7 ตุลาคม 2559 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ร่วมกันเดินขบวนรณรงค์กว่าพันคนเนื่องใน “วันงานที่มีคุณค่าสากล หรือ Decent Work Day โดยเดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังสำนักงานสหประชาชาติ จากนั้นได้มีการจัด “เวที 7 ตุลาคมวันงานที่มีคุณค่า(Decent Work Day) “เรื่อง สิทธิคนทำงานกับงานที่มี คุณค่า” โดยวิทยากร – ตัวแทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(UN) – นายชาลี ลอยสูง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) – นางสุนี ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต – นางสาวสุนทรี หัตถีเซ่งกิ่ง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ – นายอองจอ ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ – ผู้แทน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

จากเวทีเวทีเสวนา นายชาลี กล่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ มาตั้งแต่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ได้ประกาศตั้งแต่ 2547 ให้วันที่ 7 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันงานที่มีคุณค่าสากลหรือ Decent Work Day เพื่อให้รัฐบาลได้สนใจและเห็นคุณค่าของคนที่ใช้แรงงาน โดยมีการเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องคุณค่าของผู้ใช้แรงงาน และมีเสรีภาพโดยการให้สัตยาบันองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม และสิทธิในการร่วมตัว แม้ว่าสิทธิในการร่วมตัวเจรจาต่อรองจะมีการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตลอดแต่ก็ไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดการรวมตัวได้อย่างแท้จริง ซึ่งยังมีเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิในความเป็นเพศแม่อนุสัญญาILO ฉบับที่ 183 รวมถึงการส่งเสริมโอกาสในการสร้างรายได้ การพัฒนาฝีมือแรงงาน สิทธิในการแสดงออก ความเท่าเทียมกันในการจ้างงาน สวัสดิการโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยมองเรื่องคุณค่าของการใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนาไหน เพศใดต้องได้รับการเคารพถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน รวมถึงต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วย

20161007_094312

นางสาวสุนทรี เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า สภาพปัญหาของแรงงานนอกระบบนั้นคือการที่ไม่ได้รับการดูแล แม้ว่าจะเป็นคนทำงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบมีจำนวนถึงกว่า 24 ล้านคนในปัจจุบัน ประกอบด้วยแรงงานอาชีพอิสระต่างๆ เช่นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ คนรับงานไปทำที่บ้าน อาชีพแม่บ้านหรือคนทำงานบ้าน คนค้าขาย เกษตรกรรมและอื่นๆอีกจำนวนมาก แม้บางส่วนจะมีกฎหมายออกมาดูแลแล้วบ้างมีประกันสังคม แรงงานนอกระบบ การกำหนดเรื่องการคุ้มครองวันหยุดประจำสัปดาห์ของคนทำงานบ้าน หรือกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน แต่ทุกกฎหมายยังไม่มีการดูแลคุ้มครอง ตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติหรือไม่ เรื่องการกำหนดมาตรฐานค่าจ้างเพื่อให้คุณค่ากับงานที่แรงงานนอกระบบทำเป็นต้น จึงคิดว่างานที่มีคุณค่าต้องมีการดูแลแรงงานทุกกลุ่มทุกสาขาอาชีพอย่างและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ระบบกฎหมายต้องปฏิบัติได้จริง

นายอองจอ ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงการเข้ามาทำงานในประเทศไทยของแรงงานข้ามชาตินั้นมีถึง 4 ล้านคน ซึ่งแม้ว่าจะมีกฎหมายในการคุ้มครองแรงงาน เรื่องค่าจ้างและระบบประกันสังคม แต่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังไม่ทราบถึงสิทธิ และทำให้ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายกำหนด ซึ่งแรงงานข้ามชาติขณะนี้พยายามที่จะรวมตัวกัน แม้ว่ากฎหมายจะไม่มีการตั้งสหภาพแรงงาน แต่แรงงานข้ามชาติก็รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานแบบไม่เป็นทางการเพื่อช่วยเหลือในให้ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทางกฎหมาย

20161007_094124

นายพงศ์ฐิติ ศิลาพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายวิชาการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ กล่าวว่า มาตรฐานILO ได้มีการกำหนดเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน ด้านสิทธิ เสรีภาพ คุณค่าด้านรายได้ ความเท่าเทียมแต่ประเด็นคือรัฐบาลในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยยังไม่มีการรับรองให้สัตยาบันอนุสัญญาด้านสิทธิต่างๆเพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงาน เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าที่ถูกกำหนดขึ้นในปี 2547มีผลอะไรบ้างหลังจากที่มีการรณรงค์กันมานับ 10 ปี รัฐบาลยังมีเพียงมุมมองเดียวคือ นโยบายด้านส่งเสริมการลงทุน ไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลไหนที่จะมีนโยบายในการส่งเสริมเรื่องงานที่มีคุณค่า เห็นคุณค่าของแรงงาน โดยมีนโยบายที่ส่งเสริมด้านสิทธิแรงงาน ส่งเสริมเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม การรวมตัวเจรจาต่อรอง ซึ่งในส่วนของรัฐวิสาหกิจเองรัฐบาลก็พยายามที่จะบริหารให้เป็นองค์กรทุนโดยการแปรรูปให้เอกชนมาบริหาร เพื่อสร้างผลกำไร อย่างแนวคิดให้รางวัลย์สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ทำผลกำไร และรู้สึกรำคาญรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนหรือไม่ทำผลกำไร มีนโยบายแปรรูปให้เอกชน โดยไม่ได้ใส่ใจเรื่องการจัดสวัสดิการตามหลักคิดเดิมของการเกิดขึ้นมาของรัฐวิสาหกิจที่ต้องการที่จะลดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาสให้คนได้เข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐ โดยไม่คำนึงถึงผลกำไร ต้องการให้คนทำคนไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนได้รับสิทธิและโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นสาธารณูประโภค ในการเดินทาง ไฟฟ้า ประปา การเสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งหากเป็นของเอกชนทั้งหมดการแข่งขันไม่มี มองแบบทุนซึ่งต้องแสวงหาผลกำไรให้มากที่สุดผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากคงไม่สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานเหล่านี้ และคนจนคนรวยระยะช่องว่างทางสังคมคงจะมีมากกว่าปัจจุบันแน่นอน จึงอยากให้รัฐบาลหันมามองหรือกำหนดนโยบายที่เห็นคุณค่าของคน ส่งเสริมด้านคุณภาพชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

20161007_095941

นางสุนี  ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า งานที่มีคุณค่า คือสิ่งที่กล่าวถึงว่าสิทธิแรงงาน คือสิทธิมนุษยชน ต้องมีการคุ้มครองแรงงานอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเรียกร้องของแรงงานถือว่าเป็นสากล แต่ไม่ควรเรียกร้องเพียงเรื่องหนึ่งเรื่องใดเพียงอย่างเดียว ต้องบอกให้ได้ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เงื่อนไขที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาแรงงานได้เพราะข้อเรียกร้องของแรงงานมีศักดิ์ศรีไม่ได้แบมือขอ แต่ว่าเป็นค่าตอบแทนที่หากมีการปรับขึ้นค่าจ้าง แรงงานก็จะสามารถดูแลครอบครัวของแรงงานเอง รัฐบาลไม่ควรบริหารแบบผิดๆอีกต่อไป ต้องเห็นคุณค่าของแรงงาน เพียงแต่เพิ่มรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงาน อย่างเป็นธรรมสมศักดิ์ศรี รัฐบาลก็ไม่ต้องมาจ่ายแบบสงเคราะห์ 500 บาท เพราะเมื่อแรงงานมีรายได้เขาก็จะดูแลครอบครัวได้อย่างดี

ด้านตัวแทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้กล่าวถึงความมีคุณค่าของแรงงาน เท่ากับการเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในการที่แรงงานออกมารณรงค์ในวันงานที่มีคุณค่าซึ่งประกอบด้วยเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม การพัฒนาฝีมือแรงงาน ความเท่าเทียม แรงงานที่มีคุณค่าเป็นหัวใจของการพัฒนา และการทำให้เกิดการส่งเสริมให้รัฐบาล และสังคมรับรู้ถึงงานที่มีคุณค่า ซึ่งไม่เลือกว่าเป็นแรงงานไทย หรือแรงงานข้ามชาติ ต้องมีการดูแลอย่างเท่าเทียม รวมถึงให้สิทธิมีเสรีภาพในการรวมตัว เพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้าง และเข้าร่วมระบบไตรภาคี เพื่อต่อรองกับรัฐ ซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ สวัสดิการ และค่าจ้าง มีโอกาสที่จะบอกรัฐบาลให้กำหนดมาตรฐานค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ของตนเองและครอบครัวด้วย20161007_115225

จากนั้นทางคสรท. และสรส. ร่วมกับองค์กรต่างๆได้มอบหมายให้นายชาลี ลอยสูง อ่านคำประกาศเนื่องใน “วันงานที่มีคุณค่าสากล” 7 ตุลาคม 2559 เพื่อเสนอต่อสาธารณะชน ถึงรัฐบาล ด้วยวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศกำหนดให้เป็น “วันงานที่มีคุณค่า”นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาขบวนการแรงงานทั่วโลกได้จัดรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานและส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืน งานที่มีคุณค่าหมายถึง งานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ อันประกอบด้วย หลักการที่สำคัญ ดังนี้

1.การมีโอกาสและรายได้  2.การมีสิทธิ เสรีภาพในด้านต่างๆ 3.การได้แสดงออก 4.การได้รับการยอมรับจากสังคม  5.ความมั่นคงของครอบครัว  6.การได้พัฒนาตนเอง 7.การได้รับความยุติธรรมและ 8.การมีความเท่าเทียมทางเพศ

20161007_095914

สถานการณ์ประเทศไทยในอดีตและปัจจุบันขบวนการแรงงานต่างทราบกันดีว่ารัฐบาลแต่ละยุคสมัยมิได้ให้ความสำคัญแก่ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม แต่กลับสนับสนุนให้กลุ่มทุนนักธุรกิจทั้งในชาติและต่างชาติเอารัดเอาเปรียบคนไทย ด้วยกดขี่ขูดรีดด้วยรูปแบบนานัปการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แลกกับการให้กลุ่มทุนมาลงทุนทำการผลิตในประเทศไทย รูปธรรมที่แสดงออกผ่าน กฎหมาย นโยบายเกี่ยวการสนับสนุนการลงทุน ทำให้คนงานอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ค่าจ้างต่ำ ทำงานหนัก ไม่ปลอดภัยในการทำงาน ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ทั้งภาคการผลิตและการบริการ สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเจรจาต่อรองก็ทำได้ยากยิ่งเนื่องด้วยกฎหมายและนโยบายที่ไม่เอื้อสนับสนุน จึงก่อให้เกิดปัญหา ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ มีการละเมิดสิทธิแรงงาน อันเป็นสถานการณ์ที่ประเทศไทยถูกโจมตีจากนานาชาติในปัจจุบัน

ดังนั้นเพื่อ “งานที่มีคุณค่า” และ เป้าการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ 17 ด้านเพื่อที่จะขจัดความยากจนและความหิวโหยในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ สร้างสังคมที่มีความสงบสุข ยุติธรรม และครอบคลุม ปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งเสริมพลังแก่สตรีและเด็กผู้หญิง และปกป้องโลกและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่นำประเทศสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้20161007_094200

  1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพในการรวมตัวและฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพในการเจรจาต่อรอง
  2. ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 360 บาท เท่ากันทั้งประเทศ ยกเลิกค่าจ้างแบบลอยตัว
  3. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบาย และการออกกฎหมายที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ด้วยการให้ความสำคัญกับ พัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีศักยภาพในการให้บริการประชาชนสอดคล้องกับ วิถีชีวิต วิถีเศรษฐกิจตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องยึดมั่นในผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนให้เข้าถึงการบริการจากรัฐโดยความเท่าเทียมด้วยราคาที่เป็นธรรม หรือรัฐจัดเป็นสวัสดิการให้แก่ประชาชน ห้ามไม่ให้มีการแปรรูปโดยเด็ดขาด การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตามนโยบายของรัฐบาลต้อง สนับสนุน ส่งเสริม ให้สหภาพแรงงาน ภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อสร้างหลักประกัน หลักจริยธรรมในการดำเนินภารกิจ ตามหลักธรรมาภิบาล

20161007_092925

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอทั้ง 3 ข้อจะได้การสนับสนุนในการดำเนินการจากรัฐบาล เพื่อโอกาส เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ของผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย แต่ที่สุดแล้วหากมิได้เป็นไปตามที่เสนอ ขอให้พวกเราที่เป็นคนงานทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างแข็งขัน เพื่อผลักดันให้เกิดผลเป็นจริง ผ่านรูปแบบและช่องทางที่เหมาะในหมู่ของพวกเรา พี่น้องประชาชนให้เข้าใจ ประสานกับเครือข่ายในส่วนกลางและภูมิภาค และ พี่น้องผองเพื่อคนงานนานาชาติที่เราให้สัตยาบันแก่กันว่า “คนงานทั้งผองคือพี่น้องกัน”เพื่อร่วมกันผลักดันให้ข้อเสนอเป็นจริงต่อไป

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน