สหพันธ์แรงงานฯ เดินหน้าชวนผู้ว่าตั้งคณะทำงานตรวจสอบหาข้อเท็จจริงการปิดกิจการ อดีตลูกจ้างโรงแรมดิ เอวาซอนทุกข์ไม่มีใครรับทำงานเหตุเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ส่วนประธานสหภาพแรงงานลากูน่าฯ ยังเดือดร้อนโดนเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เหตุหาว่าเป็นผู้นำพนักงานชุมนุมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรม และบริการ ภูเก็ต กล่าวถึงเรื่องสถานการณ์การเลิกจ้าง และประกาศปิดกิจการของโรงแรมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ตว่า เนื่องจากมีโรงแรมขนาดใหญ่ประกาศปิดกิจการถึง 3 แห่ง และ 2 ใน 3 แห่ง มีสหภาพแรงงานซึ่งเป็นสมาชิกของสหพันธ์แรงงานฯอยู่คือ สหภาพแรงงานภูเก็ต ไอร์แลนด์ ลูกจ้างของโรงแรมดิ เอวาซอน และสหภาพแรงงานลากูน่า บีช รีสอร์ท ลูกจ้างของบริษัทลากูน่า บีช คลับ จำกัด ซึ่งบริหารโรงแรมลากูน่า บีช รีสอร์ท ภูเก็ต ส่วนอีกแห่งไม่มีสหภาพแรงงาน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2555 นี้มีการเลิกจ้างพนักงานภาคบริการโรงแรมแล้วเกือบ 1,000 คน ถือเป็นการเลิกจ้างครั้งใหญ่ในจังหวัดภูเก็ตที่เดียว และเป็นการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานเกือบ 800 คน และส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงานกับโรงแรมมานานกว่า 10 ปี บางคนทำตั้งแต่เริ่มเปิดโรงแรมใหม่ๆ อายุงานราว 20 ปี เป็นต้น และส่วนใหญ่พนักงานมีอายุกว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งก็เป็นปัญหาเรื่องการหางานทำอย่างแน่นอน ซึ่งทางสหภาพแรงงานได้มีการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และสหภาพแรงงานลากูน่าฯก็ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ตรวจสอบการเลิกจ้าง และให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างด้วย รวมถึงยื่นหนังสือถึงกรรมการสิทธิมนุษยชน
ในส่วนของสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมฯ ตอนนี้ได้เรียกประชุมเพื่อเตรียมการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากการเลิกจ้าง และการประกาศปิดการของผู้ประกิจการโรงแรมขนาดใหญ่ ที่มีผลประกอบการดีมาโดยตลอด และไม่มีวี่แววว่าจะมีการปิดกิจการมาก่อน จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการล้มสหภาพแรงงาน หรือนายจ้างอาจต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน เพราะเป็นการปิดกิจการเพื่อปรับปรุง ซึ่งสามารถที่จะจ้างพนักงานอยู่ได้ หรือใช้วิธีการอื่นๆ การอ้างเรื่องขาดทุน หรือการขายกิจการเพื่อเปลี่ยนมือผู้บริหารใหม่ก็จ้างพนักงานเหล่านี้ได้ เพราะถือว่าเป็นผู้มีประสบการ มีฝีมือทำงานมานาน ทางสหพันธ์แรงงานจึงเรียกประชุมเพื่อที่จะร่วมกันยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าฯให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำงานร่วมกัน เพื่อตรวจสอบสถานประกอบกิจการเนื่องจากมีความเชื่อว่า เป็นการเลิกจ้างแฝง ไม่เป็นธรรมต่อพนักงาน องค์ประกอบของคณะทำงานชุดนี้ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และตัวแทน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานประกันสังคมจังหวัด ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สำนักงานอัยการจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การท่องเที่ยวจังหวัด สมาคมธุรกิจโรงแรม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)จังหวัด และตัวแทนสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมฯ โดย มีภารกิจในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่นายจ้างอ้างเพื่อเลิกจ้างพนักงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนโปร่งใส และเพื่อสร้างภาพพจน์การท่องเที่ยวที่ที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบแรงงาน และหากมีสถานประกอบไหนที่ไม่ได้ปิดกิจการจริง คณะทำงานชุดนี้จะต้องช่วยกันหาทางออกที่เป็นธรรมให้กับพนักงานด้วย
“หากมีคณะทำงานแบบนี้จะได้เป็นอีกหนึ่งทางออกให้กับลูกจ้าง เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งทางสหพันธ์คงจะมีการนัดและเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดภายในเร็ววันนี้” นายวิจิตร กล่าว
นายวิจิตร ดาสันทัด ยังกล่าวต่ออีกว่า แม้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะมองว่า การเลิกจ้างของนายจ้างทำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว คือการจ่ายค่าชดเชยให้ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ปัญหาคือ พนักงานทำงานในโรงแรมมาหลายสิบปี ทำงานตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการและนายจ้างก็มีกำไรมาโดยตลอด จากคนที่เข้ามาใช้บริการ และได้รับการบริการที่ดีของพนักงานการที่สถานประกอบการดำเนินกิจการมานานนับสิบปี คิดว่าการเลิกจ้างพนักงานเหล่านี้แม้ว่าจะจ่ายค่าชดเชยตามก็หมายก็ไม่เป็นธรรมต่อแรงกายแรงใจที่เขาทุ่มเทให้ในการทำงาน และการที่นายจ้างปิดกิจการเพื่อปรับปรุงหมายความว่าจะมีการเปิดกิจการขึ้นมาใหม่และต้องมีการเปิดรับพนักงานเข้าไปทำงานอยู่แล้ว ทำไมต้องเลิกจ้างพนักงานที่มีฝีมือและอยู่มานาน ต้องการล้มสหภาพ และสภาพการจ้างใช้หรือไม่ อันนี้เป็นหน้าที่ที่ต้องหาความจริงมาเปิดเผยให้สังคมและพนักงานที่ถูกเลิกจ้างได้รับรู้ คณะทำงานชุดนี้ต้องช่วยไขข้อข้องใจประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตไว้ด้วย
สถานการณ์การจ้างงานในจังหวัดภูเก็ตนั้น ดูโดยภาพเหมือนจะดีขึ้น เนื่องจากมีการก่อสร้างสถานประกอบกิจการ การพัฒนาปรับปรุงและโรงแรมใหม่เปิดตัวขึ้นจำนวนมาก ด้วยเป็นแหล่งท่องเที่ยว เกิดการจ้างงานจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ในกิจการก่อสร้างจะเป็นการจ้างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งขณะนี้ในภาคบริการร้านอาหารก็มีความเปลี่ยนแปลงไปด้วยมีการจ้างแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานเหมือนกัน โดยสถานประกอบกิจการต่างๆอ้างเรื่องขาดแคลนแรงงาน
นายวิเชียร ตานุมาตร ประธานสหภาพแรงงานลากูน่า บีช รีสอร์ท กล่าวว่า ปัญหาการเลิกจ้างครั้งนี้ตนและเพื่อนพนักงานมีความข้องใจในการบริหารของนายจ้าง เนื่องจากได้มีการซื้อขายกิจการและบริหารงานมานานเกือบปีแล้วทำไมถึงได้เพิ่งมาปิดกิจการเพื่อปรับปรุง และการจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุมครองแรงงาน พ.ศ. 2541ได้กำหนดไว้ คือ
1. ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้าง โดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้ 1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน 2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน 3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน 4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีแต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน และ 5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ในขณะที่พนักงานทำงานมานานถึง 20 ปีนั้นถือว่าชอบธรรมแล้วหรือ และการที่โรงแรมปิดกิจการก็เพื่อปรับปรุงซึ่งก็จะเปิดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
ซึ่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานยังมีกำหนดไว้อีกเรื่องค่าชดเชยพิเศษ ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงานกระบวนการผลิตการจำหน่ายหรือการบริการ หากนายจ้าง ไม่แจ้งล่วงหน้าหรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลา 60 วันนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ ดังนี้ 1) ลูกจ้างจะได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 60 วัน 2) ลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย 3) ลูกจ้างที่มีอายุงาน 6 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษปีละ 15 วัน เมื่อรวมค่าชดเชยทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 360 วัน
แต่ในส่วนของสหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเสนอ ให้นายจ้างใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราวเพื่อรักษาการจ้างงานไว้ หรือหากเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด หลังจากที่จะมีการเปิดกิจการใหม่ให้รับพนักงานทั้งหมดกลับเข้าทำงาน เพื่อให้ทุกคนได้มีงานทำ ขณะนี้นายจ้างได้จ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงาน และออกหนังสือเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามคิดว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ไม่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ด้วยต้องการที่จะโละสวัสดิการสภาพการจ้าง และพนักงานที่ทำงานและมีอายุ รวมทั้งยังมีประเด็นเรื่องของสหภาพแรงงาน ซึ่งมีกรณีของตนที่ตอนนี้ศาลได้มีคำสั่งให้เลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ซึ่งเป็นคดีความกันมาเกือบ 3 ปีแล้ว ในข้อกล่าวหาว่า พาพนักงานหยุดงาน ซึ่งจริงแล้วมีประเด็นเรื่องของการจ่ายโบนัสที่ไม่ทำตามข้อตกลงสภาพการจ้าง และพนักงานก็มีการออกมาชุมนุมกัน ตนในฐานะประธานสหภาพแรงงานก็ต้องเข้าไปดูแล และช่วยเป้นคนกลางในการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ศาลจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ตนก็เตรียมที่จะมีการยื่นอุทธรณ์ฟ้องร้องต่อ เนื่องจากบริษัทไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงอีกหลายเรื่อง และรวมถึงการเลิกจ้างพนักงานครั้งนี้ที่ยังมีข้อน่าสงสัยในเจตนาของนายจ้าง
ในส่วนของ สหภาพแรงงานภูเก็ต ไอร์แลนด์ ลูกจ้างของโรงแรมดิ เอวาซอนนั้น นายวารินทร์ สิงห์คง รองประธานสหภาพแรงงานฯกล่าวว่า ขณะนี้นายจ้างได้มีการโอนเงินค่าชดเชย ค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ให้กับพนักงานทุกคนครบแล้ว แต่เนื่องจากการกระทำการเลิกจ้างครั้งนี้ไม่เป็นธรรมต่อพนักงานทุกคน รวมถึงพนักงานที่ท้อง ด้วยอายุการทำงานที่ทำมานานมากกว่า 10 ปี และพนักงานแต่ละคนก็มีอายุมากประมาณ 40-50 ปี ทำให้ยากต่อการหางานใหม่ในประเภทกิจการโรงแรมตามที่มีทักษะได้ สหภาพจึงได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโดยขณะนี้ศาลได้มีการนัดสืบพยานส่วนของนายจ้างแล้ว ส่วนของลูกจ้างจะมีการนัดสืบพยานให้ปากในวันที่ 15-17ตุลาคม 2555
นายวารินทร์ สิงห์คง กล่าวว่า การเลิกจ้างครั้งนายจ้างอ้างขาดทุนตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบันในฐานะพนักงานจะเชื่อได้อย่างไรว่านายจ้างขาดทุน เมื่อยังมีการให้บริการกับลูกค้าอยู่ และยังมีโรงแรมในเครือที่ให้บริการอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งทั้งในประเทศ และต่างประเทศ การที่จะมีการปรับปรุงใหม่ก็ควรให้พนักงานเก่ได้กลับเข้าไปทำงาน ควรมีการพูดคุยกันบ้างนี้ไม่ได้มีการพูดคุยปรึกษาหารือกันเลยอยู่มาก็ประกาศเลิกจ้าง
“ปัญหาตอนนี้ที่พนักงานโรงแรมดิ เอวาซอนเจอคือไปสมัครงานแล้วไม่มีโรงแรมไหนรับเข้าทำงาน อ้างว่าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไม่รับเข้าทำงาน อันนี้เป็นความรู้สึกที่แย่มาก เป็นการอคติต่อสหภาพแรงงาน ต่อการรวมตัวของพนักงาน ซึ่งควรจะดูที่ความสามารถมากกว่าเขาเคยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งนอกจากมีอายุมากหางานทำไม่ได้” นายวารินทร์ กล่าว
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน