ลูกจ้างเหมาค่าแรงสุดทนนายจ้างละเมิด บุกร้องกระทรวงแรงงาน

Untitled-5Untitled-5Untitled-1
เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ได้พาลูกจ้างเหมาค่าแรงประมาณ ๑๐๐ คนจาก ๓ สถานประกอบการใหญ่จากพื้นที่อยุธยา สมุทรสาคร และสระบุรี ขอเข้าพบนายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อปรึกษาหารือร่วมกรณีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๑/๑ ซึ่งมีกรณีร้องเรียน ๔ กรณีได้แก่ ๑.การออกคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานได้ออกแนวปฏิบัติไปให้ ในเขตจังหวัดสมุทรสาคร ๒.การละเมิดสิทธิพนักงานเหมาค่าแรงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสระบุรี และ ๓.การเลิกจ้างอดีตประธานและกรรมการสหภาพแรงงานในจังหวัดสระบุรี

สำหรับปัญหาของพนักงานเหมาค่าแรงในบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ต่อกรณีที่ได้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานในเรื่องที่นายจ้างของสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑/๑ ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้วินิจฉัยว่าไม่มีอำนาจ ทั้งที่มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาและแนวปฏิบัติของกระทรวงแรงงาน ซึ่งขณะนี้มีพนักงานเหมาค่าแรงถูกส่งตัวคืนทั้งที่ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานมีบันทึกข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่มีการส่งตัวคืน ซึ่งถ้ามีการส่งตัวคืนจะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่กลับไม่เป็นไปตามข้อตกลง และกรณีพนักงานเหมาค่าแรงจากอยุธยา ซึ่งมีปัญหาเรื่องการจ้างงานที่มีการต่อสัญญาทุก ๖ เดือน แต่เมื่อไม่มีการต่อสัญญากลับไม่ได้รับค่าชดเชย ซึ่งมีคนท้องรวมอยู่ด้วย รวมทั้งกรณีที่มีพนักงานเหมาค่าแรงไปฟ้องศาลแรงงานตามมาตรา ๑๑/๑ แต่กลับถูกส่งตัวคืนต้นสังกัด และต้องไปทำงานตามตารางงานรายวันที่ต้องไปทำงานตามจังหวัดต่างๆโดยไม่มีวันหยุด รวมถึงประเด็นพนักงานเหมาค่าแรงที่ทำงานในเรือ แต่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ต่างกัน

Untitled-3

ด้านนายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ชี้แจงถึงประเด็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายมาตรา ๑๑/๑ ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้นั้น ต้องการที่จะไม่ให้มีการจ้างงานในลักษณะการจ้างเหมาค่าแรง แต่ไม่สามารถบังคับไม่ให้มีได้ จึงให้พนักงานเหมาค่าแรงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่เท่าเทียมกับพนักงานประจำตามสัญญาจ้างโดยตรง ส่วนแนวปฏิบัติที่ทางกระทรวงแรงงานออกให้พนักงานตรวจแรงงานได้ปฏิบัติในกรณีมาตรา ๑๑/๑ ก็ให้ปฏิบัติไปตามแนวที่มอบหมายไปและให้เจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประสานกับในพื้นที่ เพื่อลงไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆตามที่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ร้องเรียนมาให้เร็วที่สุด

สำหรับมาตรา ๑๑/๑ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน