เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้จัดสัมมนาเวทีวิเคราะห์สถานการณ์ในรอบ 16 ปี ของการบังคับใช้ พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 ลูกจ้างที่เจ็บป่วยด้วยโรคและประสบอันตรายจากการทำงานในภาคอุตสาหกรรม ได้รับผลดีหรือผลเสียอย่างไร สนับสนุนโดยโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งขบวนการแรงงานเพื่อคุ้มครองสุขภาพและสวัสดิการแรงงาน ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ราชดำเนิน กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน กล่าวเปิดงานโดย รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย
ในวันดังกล่าวได้มีลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน และโรคเนื่องจากการทำงานเข้าร่วมอภิปรายในเรื่องปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิ และผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537
นางสาวคำใส ผลทับทิม เล่าว่า เธอเป็นชาวจังหวัดยโสธร ได้เข้ามาทำงานในสถานประกอบการแห่งหนึ่งในนิคมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2554 วันนั้นได้ไปทำงานตามปกติแต่ในวันดังกล่าวนายจ้างได้ให้ลูกจ้างชาวกัมพูชาเข้ามาช่วยทำงานด้วย ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุขณะที่ตนทำงานอยู่กับเครื่องจักรซึ่งเป็นเครื่องบดเนื้อ ในวันดังกล่าวเครื่องดึงถุงมือเข้าไปแต่ตนหยุดเครื่องได้ทัน มือยังเข้าไม่ลึกเท่าไหร่ เพื่อนร่วมงานที่เป็นชาวกัมพูชาได้เข้ามาช่วยเหลือตน แต่ด้วยการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน คนงานกัมพูชาได้กดปุ่มปิด-เปิดเครื่องอยู่หลายครั้งเพื่อให้เครื่องทำงานและหมุนย้อนกลับ แต่เครื่องกลับดึงมือเข้าไปลึกยิ่งกว่าเดิมอีก จนไม่สามารถเอามือออกได้ ทำให้แพทย์ต้องตัดนิ้วเธอ 3 นิ้ว เธอต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 2 เดือนนายจ้างช่วยเหลือจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ขณะที่รักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 14,000 บาท และในปัจจุบันต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้านยังไม่ได้กลับเข้าไปทำงาน และได้พยายามติดต่อกลับนายจ้างเพื่อ ให้ช่วยเหลือร่วมถึงเงินค่าชดเชยจากกองทุนเงินทดแทนซึ่งตั้งแต่ได้รับอุบัติเหตุนายจ้างเป็นผู้จัดการทุกอย่าง แต่นายจ้างก็บอกเลื่อนไปเรื่อยๆ
ด้านนางธนพร เมธาวิกูล ผู้อำนวยการประกันสังคม กล่าวว่า จะรีบดำเนินการช่วยเหลือโดยจะติดต่อไปที่โรงพยาบาลที่นางสาว คำใส เข้าไปรักษาตัว เพื่อทราบรายละเอียดการใช้สิทธิที่นายจ้างแจ้งที่โรงพยาบาล และหากนายจ้างไม่ส่งใบ กท. 16 จะต้องรับโทษตามกฎหมาย
นงนุช ไกรศาสตร์ นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวสระบุรี รายงาน