ลูกจ้างเชื่อปรับค่าจ้างขึ้น 300 บาท ทำได้ อย่าฟังนายจ้างอ้างตลอดย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีค่าจ้างต่ำ ยุส่งย้ายเลยแรงงานข้ามชาติจพได้ไม่ต้องหนีมาไทย
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสมาชิกราว 50 คนได้เดินทางเข้ายื่นหนังสื่อต่อว่าที่นายกหญิง นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พรรคเพื่อไทย เพื่อแสดงความสนับสนุนนโยบาย “การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน” พร้อมออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2554 ดังนี้ ต้องยอมรับความจริงว่าในสังคมไทยนั้นมีความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ของบุคคลทุกสถานประกอบการของภาคเอกชนผู้ที่มีตำแหน่งทั้งหลายรายได้จะสูงผู้จัดการบางคนรายได้หลักล้านต่อเดือนมีแต่ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากรายได้เพียงขั้นต่ำที่คณะกรรมการไตรภาคีได้กำหนดขึ้นมาเท่านั้นนายจ้างบางคนออกมาพูดว่า ค่าจ้างบ้านเราสูงกว่า พม่า,ลาว,เขมร และเวียดนาม สภาฯไม่ขอเถียง หากค่าจ้างประเทศเหล่านี้สูงกว่าบ้านเรา เราคงไม่มีแรงงานข้ามชาติมากมายขนาดนี้
ต้องตั้งคำถามว่าทำไมประเทศที่ค่าแรงสูง จึงมีความเจริญขึ้นมีการพัฒนาดีขึ้นผู้คนต้องการที่จะไปอยู่ บางครั้งต้องยอมขายนา ขายวัว ขายควาย เพื่อหาเงินไปทำงานต่างประเทศที่มีค่าจ้างสูงๆ แล้วทำไมบ้านเราจึงขาดแคลนแรงงาน เพราะนายจ้างชอบจ้างค่าแรงต่ำๆ และไม่มีสวัสดิการที่ดีให้กับแรงงาน เอาเปรียบแรงงานทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้ผลประโยชน์เข้าตนเองมากที่สุด ชอบอ้างว่า คนจะไม่เข้ามาลงทุนอาจจะหนีไปที่เวียดนาม พม่า ลาวและเขมร เพราะนายทุนที่ชอบใช้แรงงานราคาถูกมัก บางโรงงานตั้งมา 30 ปี บอกลูกจ้างว่า ขาดทุนมาตลอดไม่ยอมขึ้นค่าแรงให้กับลูกจ้างเลยอย่างนี้ หากเรายังมีนายทุนประเภทนี้มากเท่าไร เราจะพัฒนาประเทศไทยไปได้อย่างไร? เพราะผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ทำงาน ยังมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่าย การขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายของผู้ใช้แรงงานแล้ว จะเห็นว่า ไม่เพียงพอด้วยซ้ำ
การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง10 ที่ผ่านมา (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2545-1มกราคม2554) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสะสมในช่วง 10 ปีดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศปรับน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.4 ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงานได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
การปรับอัตราค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท หรือเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 40 เป็นการยกระดับมาตรฐานการประกันรายได้ขั้นต่ำเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดช่องว่างของการกระจายรายได้ให้กับลูกจ้างในระบบประกันสังคมจำนวนประมาณ 9 ล้านคน
ตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ตราอนุสัญญาฉบับที่ 131 ว่าด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้จะต้องกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้สำหรับผู้ประกอบการอาชีพที่มีรายได้กลุ่มต่างๆ ตามที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานของลูกจ้างและครอบครัว (รวม 3 คน) ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างมาตรฐานความเป็นอยู่ในส่วนอื่นของระบบเศรษฐกิจและระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฯลฯ ได้มีนักวิชาการด้านแรงงานหลายท่านที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับค่าจ้างเช่น รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานมูลนิธิ อารมณ์ พงศ์พงัน รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวถึงค่าจ้างในปัจจุบัน ว่าไม่สะท้อนความเป็นจริงที่ผู้ใช้แรงงานควรได้รับ รวมทั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ลงพื้นที่สำรวจค่าจ้างที่ลูกจ้างจะดำรงชีพอยู่ได้นั้นจะต้องจำนวน 421 บาทต่อวันและได้เรียกร้องไปแล้วด้วย
ตามนโยบายพรรคเพื่อไทย สภาฯเห็นว่าสามารถทำได้ หากผู้ประกอบการไม่ต้องการให้ประเทศไทยขายแรงงานราคาถูกอีกต่อไปแต่ต้องการจะแข่งขันฝีมือแรงงานกับกลุ่มประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ความคาดหวังที่ผู้ประกอบการจะแสวงหาแรงงานราคาถูกในประเทศไทยเพื่อสร้างผลกำไรสูงสุดควรจะต้องหมดไปจากประเทศไทยผู้ประกอบการจะได้รับความยุติธรรมจากการร่วมมือของลูกจ้างเพื่อสร้างผลผลิตที่ดีมีคุณภาพให้กับองค์กร
หากดูสภาวะการว่างงานของแรงงานไทยน้อยมาก ปัจจุบัน ณ เดือน พฤษภาคม 2554 อยู่ที่ 0.8 ประมาณ 2.8 แสนคนโดยในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.3
การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างระบบประกันสังคมให้ตรงกับความเป็นจริงเพื่อรองรับการเกษียณอายุซึ่งเดิมจะได้รับบำนาญเพียง 1,400-3,000 บาทปรับเป็น 2,000-5,000 บาทโดยประมาณ
ตามปกติการลงทุนเพื่อการผลิตสินค้าและบริการทั่วไปสัดส่วนค่าจ้างแรงงานจะคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 5-6% ของงบประมาณการลงทุนทั้งหมดถือว่าน้อยมาก การสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ลงทุน SME ที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่มีต้นทุนมากถึง 15% สภาฯเห็นว่ารัฐคงต้องหารือที่จะมีมาตรการเสริมพิเศษเพื่อให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้
ตารางเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศ 10 ปีย้อนหลัง
(ตั้งแต่ปี 2545 – 2554)
ปี |
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ |
อัตราการเปลี่ยนแปลง |
อัตราเงินเฟ้อ (ร้อยละ) |
เฉลี่ยทั้งประเทศ (บาท) |
ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ร้อยละ) |
||
2545 |
137.0 |
0.2 |
0.7 |
2546 |
138.3 |
0.9 |
1.8 |
2547 |
139.7 |
1.0 |
2.7 |
2548 |
148.1 |
6.0 |
4.5 |
2549 |
149.4 |
0.9 |
4.7 |
2550 |
154.0 |
3.1 |
2.3 |
2551 |
162.1 |
5.3 |
5.5 |
2552 |
162.1 |
0.0 |
-0.9 |
2553 |
165.3 |
2.0 |
3.3 |
2554 (พ.ค.) |
175.8 |
6.4 |
3.5 |
รวม (2545 – 2554) |
25.7 |
28.1 |
|
เฉลี่ยต่อปี |
2.57 |
2.81 |
เพราะฉะนั้นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ไม่ใช่เป็นสิ่งเพ้อฝัน สามารถทำได้หากเราทุกคนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแรงงานให้มีฝีมือไม่ต้องการแรงงานราคาถูกที่นายจ้างหวังแต่ผลกำไรสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทยต้องการเห็นการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมเพื่อลดความเหลี่ยมล้ำของคนในสังคมต่อไป
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน