ผลสำรวจลูกจ้างค่าครองชีพเพิ่มหนี้ท่วม ค้านดองค่าจ้าง2ปี เสนอคุมราคาสินค้า

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2555 ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กรุงเทพฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลง “ผลสำรวจค่าครองชีพผู้ใช้แรงงาน ปี 2555 ภายหลังรัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศใช้ค่าจ้าง 300 บาท”ยุค "ค่าแรงสูง ค่าครองชีพสูง คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานต่ำ"ซึ่งสำรวจโดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

 

หลังที่รัฐบาลได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่เหลือใช้มาตรการขึ้นค่าแรงจากฐานเดิม 40%  และรัฐบาลจะเดินหน้าใช้อัตราค่าจ้างเดียวกันทั้งประเทศ 300 บาทในเดือนมกราคม 2556 สำหรับผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่รู้สึกพอใจ อย่างไรก็ตามในขณะเดียวกันความกังวลใจก็มาพร้อมกับคำถามสำคัญว่า “อนาคตของผู้ใช้แรงงานจะดีขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไร”
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ผลการสำรวจ “ค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเชิงเปรียบเทียบถึงความไม่สอดคล้องกับค่าจ้างที่ได้รับจริงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ 8 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี พระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง ครอบคลุม 5 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ และกิจการธนาคารและการเงิน จำนวน 2,197 คน 
 
กลุ่มที่สำรวจเป็นผู้ใช้แรงงานทำงานในประเภทลูกจ้างประจำรายเดือนมากที่สุดคือร้อยละ 54  ลูกจ้างประจำรายวันร้อยละ 35.7 และลูกจ้างเหมาช่วง-ลูกจ้างสัญญาจ้างระยะสั้น-ฝึกงานร้อยละ 10.3 ตามลำดับ โดยได้ค่าจ้างทั้งประเภทรายวันและรายเดือน กล่าวคือ ได้รับค่าจ้างรายวัน 894 คน (ต่ำกว่า 200 บาท ร้อยละ  0.89 ค่าจ้าง 200-300 บาท ร้อยละ 69.13 มากกว่า 300 บาท ร้อยละ 29.98) และค่าจ้างรายเดือน 1,438 คน (ต่ำกว่า 5,000 บาท ร้อยละ 0.28 , 5,000 – 7,500 บาท ร้อยละ 6.19 , 7,501 – 10,000 บาท ร้อยละ 32.13 , 10,001 – 12,500 บาท ร้อยละ 28.79 ,12,500 – 15,000 บาท ร้อยละ 15.30 , มากกว่า 15,000 บาท ร้อยละ 17.32)
 
จากแบบสำรวจพบว่า แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 76.6 ระบุว่า นายจ้างมีการปรับค่าจ้างแรงงานภายหลังการประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานอีกร้อยละ 18.3 มีการปรับค่าจ้างแบบมีเงื่อนไข และอีกร้อยละ 5.1 ไม่มีการปรับค่าจ้างแต่อย่างใด
 
เมื่อมาพิจารณาข้อมูลค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานรายคน/เดือน เปรียบเทียบระหว่างเดือนสิงหาคม 2554 กับ เดือนพฤษภาคม 2555 พบว่าค่าใช้จ่ายรายวันปี2554 คิดเป็นรายคนเท่ากับ 348.39 ต่อวัน ส่วนปี 2555 คิดเป็นรายคนเท่ากับ 462.31 บาทต่อวัน ส่วนรายครอบครัวในปี 2554 เท่ากับ 561.79 บาทต่อวัน และในปี 2555 ครอบครัวละ 740.26 บาทต่อวัน พบว่ามีค่าใช้จ่ายต่อวัน/ต่อคน และต่อครอบครัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัดถึง 113.92 บาทหรือร้อยละ 32.7
 
ส่วนค่าใช้จ่ายรายเดือนในปี 2554 คิดเป็นรายคนเท่ากับ 10,451.7 บาท และปี 2555 คิดเป็นรายคนเท่ากับ 13,869.3 บาท และรายครอบครัวปี 2554 เท่ากับ 16,853.7 บาท ในปี 2555 เท่ากับ 22,207.8 บาท เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งสองปีพบว่า เพิ่มขึ้น 178.47 บาท หรือร้อยละ 31.77 รวมรายจ่ายเพิ่ม 259.26 บาท /คน 
 
เมื่อสำรวจค่าใช้จ่ายอื่นๆ พบว่าปีนี้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากปี2554 เช่น ค่าอาหารและค่าเดินทาง เดิมต้องจ่าย 175 บาท/คน/วัน แต่เมื่อมีการปรับค่าจ้างต้องจ่ายเพิ่มเป็น 259.26 บาท/คน/วัน /ค่าน้ำประปา เดิมต้องจ่าย 6.7 บาท/คน/วัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 6.86 บาท/คน/วัน /ค่าโทรศัพท์ เดิมต้องจ่าย 10 บาท/คน/วัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 12 บาท/คน/วัน /ค่าเช่าบ้าน เดิมต้องจ่าย 58 บาท/คน/วัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 91 บาท/คน/วัน /ค่าเสื้อผ้า-รองเท้า เดิมต้องจ่าย 19 บาท/คน/วัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 34 บาท/คน/วัน และพบว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานมีปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30-40 โดยหนี้สินจากการกู้ยืมนอกระบบมากที่สุด รองลงมาเป็นหนี้ธนาคาร หนี้กองทุนกู้เรียน (กยศ.) หนี้สหกรณ์ หนี้สินบัตรเครดิต และมีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ 
  
 
นายชาลี ยังกล่าวอีกว่า หากจะให้แรงงาน 1 คนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน ควรปรับค่าจ้างให้อยู่ที่วันละ 348 บาทต่อคน และปรับเท่ากันทั่วประเทศ และกรณีสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวอีก 2 คน รวมเป็น 3 คนตามหลักองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ต้องปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 561 บาทต่อคน และเสนอให้มีการยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เพราะในอนาคตจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศ และจากผลสำรวจยังพบว่าค่าครองชีพของแต่ละจังหวัดไม่ต่างกัน จึงคิดว่าการกำหนดปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นอำนาจคณะกรรมการกลางชุดเดียวทำการพิจารณา เพื่อให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำสอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการค่าปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน หลังจากนั้นอัตราค่าจ้างต้องปรับตามประสบการณ์และฝีมือแรงงานที่เพิ่มขึ้น หากค่าจ้างไม่ปรับตัวสูงขึ้นและจ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว และนั้นหมายความว่าคุณภาพชีวิตแรงงานในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศที่มีผลต่อการเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะย่ำแย่ตามไปด้วย และมีความกังวลว่า วันนี้รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในเดือนมกราคม 2556 เป็นต้นไป หรือยังมีแนวคิด “การดองค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” ตามมติคณะรัฐมนตรีไปอีก 2 ปี(หลังปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศเป็น 300 บาทในปี 2556)นั้น ท่าทีที่ชัดเจนนี้ยิ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานย่ำแย่ลงไปจากเดิมอีก ดังนั้นจึงเห็นว่า ในเรื่องค่าจ้างนั้น ควรมีการปรับขึ้นแปรผันไปตามสภาพความเป็นจริงของค่าครองชีพ
  
นายยงยุทธ  เม่นตระเภา เลขาธิการสมาพันธ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็ทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลมีมาตรการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากยังมีผู้ใช้แรงงานถึงร้อยละ 23.4 ต้องเผชิญกับการปรับค่าจ้างแรงงานแบบมีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการนำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง การเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน รวมถึงการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ สถานการณ์ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนสำคัญของการปล่อยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยใช้แรงงานราคาถูกต่อไปได้อย่างนิ่งดูดาย ยังปล่อยให้การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างเพียงเท่านั้น ทั้งๆที่การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะค่าจ้างขั้นต่ำเป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อให้แรงงานเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสำคัญ ที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการในการดูแลและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
 
แม้จะมีการขึ้นค่าจ้างแรงงานมากถึง 300 บาทต่อวัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่ทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าการขึ้นค่าแรงไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานดีขึ้นหรือมีหนี้ลดลง เนื่องจากมีสินค้าหลายรายการที่ปรับขึ้นราคา เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ หากเทียบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท (คิดจากฐานของกรุงเทพและปริมณฑล) ก็เท่ากับว่าผู้ใช้แรงงานได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นอีก 85 บาท (จากเดิมเคยได้ 215 บาทต่อวัน) แต่หากสินค้าที่บริโภค-อุปโภคต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 100 บาทต่อวัน การปรับขึ้นค่าแรงก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะจากแบบสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน สถานการณ์ดังกล่าวนี้สะท้อนชัดเจนว่า ทำให้มูลค่าของค่าจ้างนั้นลดลง ซึ่งหากรัฐบาลยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ก็ทำให้ผู้ใช้แรงงานยิ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้น 
 
จากผลสำรวจพบว่า บางจังหวัดที่มีพื้นที่อยู่ติดกันในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น สมุทรปราการ รับค่าจ้าง 300 บาท กับ ชลบุรี รับค่าจ้าง 216 บาท ในขณะที่ค่าครองชีพไม่ต่างกัน ทั้งที่ๆเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อโดยรวมทั่วประเทศ พบว่าในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.76% แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.57% เท่านั้น 
  
 
นายยงยุทธ กล่าวอีกว่า ยังมีแรงงานอีกกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าจ้างแต่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ แรงงานนอก ซึ่งมีถึง 24 ล้านคน ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะค่าครองชีพจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้ชัดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ รัฐบาลยังไม่มีมาตรการรองรับที่ดีสำหรับผู้ใช้แรงงานกลุ่มอื่นๆ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากก็ต้องรับภาระในค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมากด้วย ดังนั้นมีความจำเป็นที่รัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยก็ยังเห็นว่ามีความจำเป็นและสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อไป เพราะการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางด้านรายได้ที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตัวเอง และยังเป็นการเพิ่มสวัสดิการทางสังคมให้ภาครัฐในทางอ้อม
 
จากแบบสำรวจจะเห็นได้ว่าปัญหาหนึ่งของผู้ใช้แรงงานคือการเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากที่สร้างความลำบากในการดำรงชีวิต เพราะส่วนใหญ่ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้ต้องดิ้นรนหารายได้เพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ นั้นก็หมายความว่าจะต้องมีระยะเวลาการทำงานในสถานประกอบการที่ยาวนานขึ้น ขาดความมั่นคงในการทำงาน ไม่มีหลักประกันในการรวมตัวต่อรอง รวมถึงคุณภาพของชีวิตครอบครัวก็ต้องเปลี่ยนไป ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องจักต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานกลุ่มนี้โดยเร่งด่วนด้วยการหาแหล่งเงินทุน/เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยพลัน
 
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรับบาล เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้  เป็นประโยชน์กับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและมีอำนาจต่อรองน้อย 
 
นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย รองประธาน คสรท. กล่าวว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น การปรับค่าจ้างไม่เป็นไปตามนโยบาย จากการที่ได้มีการสำรวจในส่วนของแรงงานหญิงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พบว่า สินค้าเครื่องอุปโภค-บริโภค ทำให้ค่าจ้างปรับขึ้นยังไม่สามารถซื้อนมให้ลูกได้กินยังไม่ได้เลย และยังต้องทำงานล่วงเวลา(OT)มากเหมือนเดิม อยากฝากให้รัฐช่วยดูแล และทำตามที่ได้ประกาศไว้ ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจัง 
 
***************************
                                                                                                                                       
ใบแถลงข่าว 
“ผลสำรวจค่าครองชีพผู้ใช้แรงงาน ปี 2555 ภายหลังรัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศใช้ค่าจ้าง 300 บาท”
ยุค "ค่าแรงสูง ค่าครองชีพสูง คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานต่ำ"
แถลงโดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2555 ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กรุงเทพฯ 
 
นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่รัฐบาลได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่เหลือใช้มาตรการขึ้นค่าแรงจากฐานเดิม 40%  และรัฐบาลจะเดินหน้าใช้อัตราค่าจ้างเดียวกันทั้งประเทศ 300 บาทในเดือนมกราคม 2556 แน่นอนนี้คือความน่ายินดีสำหรับผู้ใช้แรงงาน อย่างไรก็ตามในขณะเดียวกันความกังวลใจก็มาพร้อมกับคำถามสำคัญว่า “อนาคตของผู้ใช้แรงงานจะดีขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไร”
 
จากสถานการณ์ดังกล่าวคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จึงได้ทำการสำรวจ “ค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเชิงเปรียบเทียบถึงความไม่สอดคล้องกับค่าจ้างที่ได้รับจริงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ 8 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี พระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง ครอบคลุม 5 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ และกิจการธนาคารและการเงิน จำนวน 2,197 คน 
กลุ่มที่สำรวจเป็นผู้ใช้แรงงานทำงานในประเภทลูกจ้างประจำรายเดือนมากที่สุดคือร้อยละ 54  ลูกจ้างประจำรายวันร้อยละ 35.7 และลูกจ้างเหมาช่วง-ลูกจ้างสัญญาจ้างระยะสั้น-ฝึกงานร้อยละ 10.3 ตามลำดับ โดยได้ค่าจ้างทั้งประเภทรายวันและรายเดือน กล่าวคือ ได้รับค่าจ้างรายวัน 894 คน (ต่ำกว่า 200 บาท ร้อยละ  0.89 ค่าจ้าง 200-300 บาท ร้อยละ 69.13 มากกว่า 300 บาท ร้อยละ 29.98) และค่าจ้างรายเดือน 1,438 คน (ต่ำกว่า 5,000 บาท ร้อยละ 0.28 , 5,000 – 7,500 บาท ร้อยละ 6.19 , 7,501 – 10,000 บาท ร้อยละ 32.13 , 10,001 – 12,500 บาท ร้อยละ 28.79 ,12,500 – 15,000 บาท ร้อยละ 15.30 , มากกว่า 15,000 บาท ร้อยละ 17.32)
จากแบบสำรวจพบว่า 
 
(1) แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 76.6 ระบุว่า นายจ้างมีการปรับค่าจ้างแรงงานภายหลังการประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เดือนเมษายน 2555 ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานอีกร้อยละ 18.3 มีการปรับค่าจ้างแบบมีเงื่อนไข และอีกร้อยละ 5.1 ไม่มีการปรับค่าจ้างแต่อย่างใด
 
(2) เมื่อมาพิจารณาข้อมูลค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานรายคน/เดือน เปรียบเทียบระหว่างเดือนสิงหาคม 2554 กับ เดือนพฤษภาคม 2555 พบว่าผู้ใช้แรงงานที่สำรวจทั้ง 8 พื้นที่ มีค่าใช้จ่ายต่อวัน/ต่อคนเพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ดังตัวอย่าง
ค่าอาหารและค่าเดินทาง เดิมต้องจ่าย 175 บาท/คน/วัน แต่เมื่อมีการปรับค่าจ้างต้องจ่ายเพิ่มเป็น 259.26 บาท/คน/วัน 
ค่าน้ำประปา เดิมต้องจ่าย 6.7 บาท/คน/วัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 6.86 บาท/คน/วัน 
ค่าโทรศัพท์ เดิมต้องจ่าย 10 บาท/คน/วัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 12 บาท/คน/วัน 
ค่าเช่าบ้าน เดิมต้องจ่าย 58 บาท/คน/วัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 91 บาท/คน/วัน 
ค่าเสื้อผ้า-รองเท้า เดิมต้องจ่าย 19 บาท/คน/วัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 34 บาท/คน/วัน 
 
(3) กลุ่มผู้ใช้แรงงานระบุว่ามีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ โดยหนี้สินจากการกู้ยืมนอกระบบมากที่สุด รองลงมาเป็นหนี้ธนาคาร หนี้กองทุนกู้เรียน (กยศ.) หนี้สหกรณ์ และหนี้สินบัตรเครดิต ตามลำดับ
จากสถานการณ์ดังกล่าวที่ปรากฏในแบบสำรวจนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้  เป็นประโยชน์กับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและมีอำนาจต่อรองน้อย จึงเห็นว่า
 
(1) ยังมีผู้ใช้แรงงานถึงร้อยละ 23.4 (ร้อยละ 18.3 มีการปรับค่าจ้างแบบมีเงื่อนไข และอีกร้อยละ 5.1 ไม่มีการปรับค่าจ้าง) โดยเป็นการนำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง การเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน รวมถึงการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ สถานการณ์ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนสำคัญของการปล่อยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยใช้แรงงานราคาถูกต่อไปได้อย่างนิ่งดูดาย มิพักว่ายังปล่อยให้การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างเพียงเท่านั้น ทั้งๆที่การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะค่าจ้างขั้นต่ำเป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อให้แรงงานเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสำคัญ ที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการในการดูแล บังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
 
(2) แม้จะมีการขึ้นค่าจ้างแรงงานมากถึง 300 บาทต่อวัน  ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ลูกจ้างควรได้รับการปรับค่าแรงงาน  แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่ทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น   จึงเป็นไปได้ว่าการขึ้นค่าแรงแบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานดีขึ้นหรือมีหนี้ลดลง เนื่องจากมีสินค้าหลายรายการที่ปรับขึ้นราคา เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ หากเทียบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท (คิดจากฐานของกรุงเทพและปริมณฑล) ก็เท่ากับว่าผู้ใช้แรงงานได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นอีก 85 บาท (จากเดิมเคยได้ 215 บาทต่อวัน) แต่หากสินค้าที่บริโภค-อุปโภคต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 100 บาทต่อวัน เพื่อให้การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง รัฐบาลจะต้องมีมาตราการควบคุมค่าครองชีพไม่ให้สูงเกินความเป็นจริง  
 
(3) เพราะจากแบบสำรวจพบว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน นั้นหมายความว่า มิติของการเพิ่มค่าจ้างขึ้นมาแทนที่จะทำให้มูลค่าของค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์ดังกล่าวนี้สะท้อนชัดเจนว่าทำให้มูลค่าของค่าจ้างนั้นลดลง ซึ่งหากรัฐบาลยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ก็ทำให้ผู้ใช้แรงงานยิ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้น 
 
นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าบางจังหวัดที่มีพื้นที่อยู่ติดกันในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น สมุทรปราการ กับ ชลบุรี แต่กลับมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่างกัน ในขณะที่ค่าครองชีพไม่ต่างกัน ทั้งที่ๆเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อโดยรวมทั่วประเทศ พบว่าในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.76% แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.57% เท่านั้น 
 
(4) ยังมีแรงงานอีกกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้ประโยชน์จากการขึ้นค่าจ้างแต่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ แรงงานนอกภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ หรือผู้ที่ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการปรับค่าจ้างหรือไม่มีค่าจ้างจากการจ้างแรงงาน ซึ่งไม่ได้รับประโยชน์จากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น แต่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะค่าครองชีพจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้ชัดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ รัฐบาลยังไม่มีมาตรการรองรับที่ดีสำหรับผู้ใช้แรงงานกลุ่มอื่นๆ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากก็ต้องรับภาระในค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมากด้วย ดังนั้นมีความจำเป็นที่รัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยก็ยังเห็นว่ามีความจำเป็นและสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อไป เพราะการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางด้านรายได้ที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตัวเอง และยังเป็นการเพิ่มสวัสดิการทางสังคมให้ภาครัฐในทางอ้อม
 
(5) จากแบบสำรวจจะเห็นได้ว่าปัญหาหนึ่งของผู้ใช้แรงงานคือการเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากที่สร้างความลำบากในการดำรงชีวิต เพราะส่วนใหญ่ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้ต้องดิ้นรนหารายได้เพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ นั้นก็หมายความว่าจะต้องมีระยะเวลาการทำงานในสถานประกอบการที่ยาวนานขึ้น ขาดความมั่นคงในการทำงาน ไม่มีหลักประกันในการรวมตัวต่อรอง รวมถึงคุณภาพของชีวิตครอบครัวก็ต้องเปลี่ยนไป ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องจักต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานกลุ่มนี้โดยเร่งด่วนด้วยการหาแหล่งเงินทุน/เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยพลัน
 
(6) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยังมีความกังวลว่า วันนี้รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในเดือนมกราคม 2556 เป็นต้นไป หรือกล่าวได้ว่าเป็น “การดองค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” ตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น การไม่มีท่าทีที่ชัดเจนยิ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานย่ำแย่ลงไปอีกจากเดิม ดังนั้นจึงเห็นว่าในเรื่องค่าจ้างนั้น ควรจะแปรผันไปตามสภาพความเป็นจริง กล่าวคือ ค่าจ้างแรงงานไทยในปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับคุณภาพของฝีมือแรงงานไทย และจากการสำรวจของ คสรท.โดยตรงพบว่า ค่าจ้างที่ควรจะเป็นนั้นเท่ากับวันละ 348 บาท
 
ดังนั้นควรยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด  เพื่อให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำสอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงมีข้อเสนอว่า การค่าปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน และค่าจ้างต้องเพียงพอต่อการครองชีพของลูกจ้างและสมาชิกในครอบครัว (ตามนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ) หลังจากนั้นอัตราค่าจ้างต้องปรับตามประสบการณ์และฝีมือแรงงานที่เพิ่มขึ้น หากค่าจ้างไม่ปรับตัวสูงขึ้นและจ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว และนั้นหมายความว่าคุณภาพชีวิตแรงงานในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศที่มีผลต่อการเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะย่ำแย่ตามไปด้วย