โดย นักสื่อสารแรงงาน
จากข่าวคราวที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม มีมติเสียงข้างมากให้ตัดสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานหากเป็นการลาออกจากงาน นั้น และถูกองค์กรของผู้ใช้แรงงานคัดค้านอย่างหนักในฐานะลูกค้ารายใหญ่ของกองทุนประกันสังคมที่ต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน เพราะถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ประกันตน ทั้งยังสวนทางกับแนวทางของการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลจาก คสช.ในขณะนี้
เหตุผลที่อ้างว่ามีผู้ประกันตนส่วนหนึ่งลาออกแล้วเข้าทำงานใหม่เพื่อหวังเงินทดแทนการว่างงานนั้น ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่พยายามบิดเบือนข้อมูลจากฝ่ายผู้บริหารประกันสังคมที่เป็นผู้เสนอให้ตัดสิทธิ เพราะข้อเท็จจริงก็คือ หากใครลาออกจากงานและอยากได้ประโยชน์ทดแทน ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานกับสำนักงานจัดหางานเพื่อหางานทำใหม่ ต้องไปรายงานตัวเดือนละครั้ง หากยังไม่ได้งานทำจึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทน แต่ก็จะได้เงินเพียงร้อยละ 30 ของค่าจ้าง รวมระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่คุ้ม หากจะมีใครลาออกจากงานเดิมเพื่อหวังเงินทดแทนการว่างงานอันน้อยนิด
แต่ในมุมของฝ่ายแรงงานหรือผู้ประกันตนแล้ว เงินทดแทนการว่างงาน 30% นาน 3 เดือนนี้ กลับมีคุณค่าอย่างมากต่อคนงานที่อาจถูกนายจ้างบังคับด้วยกลวิธีต่างๆให้ต้องลาออกแทนการถูกเลิกจ้าง เพื่อสกัดการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยเพิ่ม เพราะเงินที่ได้รับแม้จะเป็นจำนวนน้อยนิด แต่ก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระบรรเทาความเดือดร้อนของคนงานและครอบครัวได้มากในระหว่างการหางานทำใหม่
กรณีการบีบบังคับให้คนงานลาออกเองนี้ จากข้อมูลที่องค์กรแรงงานมีการรวบรวมไว้ พบว่ามีเกิดขึ้นมากมายตลอดเวลาที่ผ่านมา ข้อมูลจากกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกเพียงพื้นที่เดียวระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2549 – 2557 ได้รับการร้องเรียนกรณีที่คนงานถูกให้ลาออกแทนการเลิกจ้างรวม 12 กรณี จำนวนคนงานกว่า 9,200 คน ทั้งจากเหตุปิดกิจการจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจ การย้ายฐานการผลิต การพิพาทแรงงานแล้วเลิกจ้างแกนนำและคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสถานประกอบการหลายแห่งที่สมุทรปราการ ที่ใช้วิธีเปลี่ยนถ่ายคนงานอายุมากเงินเดือนสูง ด้วยวิธีการใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 (ให้หยุดงานชั่วคราว จ่ายค่าจ้าง 75%) การให้งดทำงานล่วงเวลา และอีกสารพัดวิธีที่ทำให้คนงานรายได้ลดลงจนทนไม่ไหวต้องลาออกไปเอง
จากข้อเท็จจริงต่างๆดังกล่าว จะเห็นได้ว่า หากร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.นั้นมีการตัดสิทธิการว่างงานเนื่องจากการลาออก หรือแม้แต่จะเพิ่มเงื่อนไขในการลาออกให้ได้รับสิทธิ ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะปกป้องไม่ให้คนงานถูกกลั่นแกล้ง เพราะอำนาจการพิจารณาเหตุผลการลาออกก็ยังอยู่ในฝ่ายนายจ้างหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วในที่สุดคนงานหรือผู้ประกันตนก็จะกลายเป็นผู้สูญเสียประโยชน์อยู่ดี ทั้งที่เป็นผู้จ่ายเงินสมทบกรณีว่างงาน แต่กลับไม่ได้สิทธิ
เช่นนี้แล้ว หากรัฐบาลชุดพิเศษนี้ต้องการปฏิรูประบบประกันสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ก็ควรทำให้เห็นว่า กฎหมายประกันสังคมจะไม่มีการลิดรอนสิทธิใดๆที่ผู้ประกันตนเคยได้รับ ดังเช่นกรณีลาออกไม่ได้สิทธิว่างงานที่กำลังผลักดันกันอยู่ รวมทั้งในเรื่องอื่นๆด้วย
และถ้าจะให้ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลจริงๆแล้ว ก็ควรจะเปิดโอกาสให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมที่ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียกับกองทุนประกันสังคมได้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง เพื่อให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ที่มีการบริหารงานโปร่งใส ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม มีความครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม และมีสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมเป็นธรรม ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ “เสียของ” ในความพยายามปฏิรูประบบประกันสังคม