“ลาคลอด 120 วัน ได้ค่าจ้าง 100 %” : โลกเดินถึงไหน สังคมไทยย่ำกับที่ ความเสียหายหากรัฐไม่ลงทุน

“ลาคลอด 120 วัน ได้ค่าจ้าง 100 %: โลกเดินถึงไหน สังคมไทยย่ำกับที่ ความเสียหายหากรัฐไม่ลงทุน

 

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

25 กุมภาพันธ์ 2560

 

ข้อเรียกร้องหนึ่งในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2560 ปีนี้ของแรงงานหญิงต่อรัฐบาลไทย คือ ให้สามารถลาคลอด 120 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100 %สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้รับรองอนุสัญญาฉบับนี้ ในเรื่องนี้ปีที่แล้วหรือหลายๆปีผ่านมาก็มีการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายลาคลอดเป็น 120 วัน เพื่อให้แรงงานหญิงได้ฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอดและมีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น

เมื่อตอนปี 2558 ดิฉันได้เข้าไปปฏิบัติงานในฐานะ “อนุกรรมาธิการปฏิรูประบบส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และครอบครัว” ใน “คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรีผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส” สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)” และยังเป็นกรรมการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทย ตามวาระการปฏิรูปที่ 29 เรื่องสวัสดิการสังคม ของ สปช. ได้มีการจัดทำรายงานทางวิชาการเรื่อง “การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม สำหรับเด็กปฐมวัย” ที่กล่าวถึงความสำคัญของ “ลาคลอด 120 วัน ได้ค่าจ้าง 100 %” โดยดิฉันเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้  มีนางอุบล หลิมสกุล อดีตรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานคณะผู้จัดทำรายงาน ร่วมกับนางกัญญ์ฐญาณ์  ภู่สวาสดิ์ , พญ.พรรณพิมล  วิปุลากร , นายวันชัย  บุญประชา เป็นต้น

ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวนี้ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 โดย ครม. มีมติว่า ในเรื่องสวัสดิการเด็กปฐมวัยนั้น มอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาตินำไปศึกษาและทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับข้อเสนอดังกล่าว

สอดคล้องกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่เห็นชอบในหลักตามที่สำนักงานคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ขอให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายสิทธิการลาคลอดหรือพิจารณาปรับปรุงกฎหมายสิทธิลาคลอดให้ลาได้ 180 วัน โดยในระหว่างที่ลาจะได้รับค่าจ้างกรณีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งนี้เบื้องต้นได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษา โดยมีข้อแม้การลาใน 180 วันต้องไม่ให้กระทบการว่าจ้างงานสตรี

สาระสำคัญในรายงานเรื่อง การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม สำหรับเด็กปฐมวัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นลาคลอด 120 วัน โดยตรง เป็นดังนี้

(1) ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ เจ เอคแมน (James J. Hechman) จากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล พ.ศ. 2542 กล่าวไว้ว่า การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ให้ผลตอบแทนแก่สังคมที่ดีที่สุดในระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคต 7- 10เท่า

(2) มีข้อมูลงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่า เด็กช่วงวัยแรกเกิดถึง 5 ขวบ สมองมีการเรียนรู้มากที่สุดมากกว่าช่วงอื่นของชีวิต โดยสมองของเด็กวัยนี้จะเจริญเติบโตและมีน้ำหนักถึงร้อยละ 80 ของผู้ใหญ่ เป็นโอกาสทองของพ่อแม่หากอยากให้ลูกฉลาด มีสุขภาพดี ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในช่วงนี้ให้มีคุณภาพ ทั้งในด้านโภชนาการ การเลี้ยงดู การส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการ

(3) พบว่า เด็กไทย IQ ต่ำกว่ามาตรฐานสากล เนื่องจากพ่อแม่/ผู้ปกครองไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะไม่ได้เลี้ยงดูบุตรอย่างใกล้ชิดในช่วงโอกาสทองของชีวิต (1,000 วันแรก) ที่จะทำให้ลูกฉลาดซึ่งหากรอให้ถึงอนุบาลก็สายเกินเสียแล้ว

(4) สิ่งที่ประเทศไทยประสบวันนี้ คือ เด็กเกิดน้อยแต่ด้อยคุณภาพ อัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง คุณภาพของเด็กไทยก็ด้อยลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน พบว่า เด็กร้อยละ 30 มีปัญหาพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่งล่าช้า หรือเฉลี่ย 240,000 คนต่อปี อาทิ ระดับสติปัญญา (IQ) เด็กไทยอยู่ที่ลำดับที่ 53 จาก 192 ประเทศทั่วโลก IQ เด็กไทยในระดับประเทศเท่ากับ 98.59 จากเกณฑ์ปกติ คือ 100 ทั้งมีปัญหาด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) อาทิ การปรับตัวต่อปัญหา ความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่นขาดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ เป็นต้น

(5) หากย้อนกลับไปดูคุณภาพของแม่ พบว่า หญิงตั้งครรภ์ของไทยไม่ได้รับการฝากครรภ์ถึงร้อยละ 1.5 (การฝากครรภ์ควรกระทำก่อน 12 สัปดาห์ และควรได้รับการตรวจครรภ์ อย่างน้อย 5 ครั้ง) แม่เพียงร้อยละ 3.3 เท่านั้นที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน และแม่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่ตั้งครรภ์มีอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

(6) ภาระทางเศรษฐกิจทำให้ผู้หญิงเข้าสู่ระบบแรงงานมากขึ้น โอกาสที่จะเลี้ยงดูลูกเองจึงมีช่วงสั้นๆ ส่วนใหญ่จะให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง หรือจ้างผู้มาดูแล หรือสถานเลี้ยงเด็ก ตามเศรษฐานะของครอบครัว ซึ่งโดยสรุปก็คือเมื่อพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูเด็กเอง หรือผู้ดูแลไม่มีความรู้ เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นให้มีพัฒนาการทางสมองเพียงพอ เป็นผลทำให้พัฒนาการของหรือเชาว์ปัญญาของเด็กไทยล่าช้าหรือไม่สมวัย

(7) เมื่อเด็กเล็กไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง วันนี้สังคมไทยต้องแบกรับความเสียหาย ดังนี้

(7.1) ปัญหาพฤติกรรม เช่น ดื้อ ไม่เชื่อฟัง  ละเมิดกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ จากผลการวิจัยเรื่องพัฒนาการเด็กแบบองค์รวมของเด็กไทยของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก และเยาวชนผู้ด้วยโอกาสและผู้สูงอายุ (2554) พบว่า ทักษะชีวิตเยาวชนไทยที่มีคะแนนค่อนข้างต่ำ 5 อันดับคือ 1. ความคิดสร้างสรรค์ 2. คิดวิเคราะห์ 3. แก้ปัญหา 4. ตระหนักในตนเอง และ 5. การจัดการอารมณ์

(7.2) ผลการเรียนตกต่ำ ไม่รู้หนังสือ หรือออกจากการเรียนกลางคัน จากโครงการการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนไทย ในปี 2554 ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ รายงานว่าเด็กนักเรียนไทยทั่วประเทศมีคะแนนสติปัญญา (IQ) เฉลี่ยเท่ากับ 98.59 ซึ่งถือมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่ (100) โดยมีปัจจัยจากภาวะโภชนาการ, จากตัวเด็กและจากสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู

(7.3) การใช้สารเสพติด กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม พบว่า ในปี 2557 มีเด็กและเยาวชนกระทำผิดอาญาทั้งสิ้น 35,969 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดียาเสพติดมากที่สุด จำนวน 16,365 คดี  โดยคดียาเสพติดนั้นพบว่า มีเด็กและเยาวชนกระทำผิดเพิ่มขึ้นจากปี 2556 (15,530 คดี) จำนวน 835 คดี

(7.4) การก่ออาชญากรรม ข้อมูลจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศพบว่า มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีอาญาประมาณ 36,000 คดีต่อปี โดยในปี 2557 มีจำนวนคดีประมาณ 35,000 คดี ในจำนวนเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดอาญานั้นมากกว่า 60 % มาจากครอบครัวแตกแยก แตกร้าว หรือครอบครัวที่มีความพร้อมแต่เลี้ยงดูไม่ถูกต้อง และมีถึง 75 % ของเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดไม่ได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษา

(7.5) การมีเพศสัมพันธ์ และตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร กรมอนามัย (2556) พบว่า เด็กไทยเริ่มมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นเมื่ออายุเฉลี่ย 12 ปี และกว่า 50 % ไม่มีการป้องกัน ทำให้เกิดปัญหาต่อมาในเรื่องการท้องก่อนวัยอันควร

(7.6) ขาดพลเมืองที่มีคุณภาพ/แรงงานคุณภาพ โดยเฉพาะการขาดโอกาสทางการศึกษายิ่งทำให้กระบวนการพัฒนาทางด้านสติปัญญาก็จะถดถอยไปด้วย

(8) ประเทศไทยมีนโยบายที่อนุญาตให้แม่ลาเพื่อเลี้ยงดุบุตรหลังคลอดได้ แต่ก็เพียง 3 เดือนเท่านั้น (ยกเว้นในกลุ่มข้าราชการ) จึงพบว่าการที่แม่ต้องกลับไปทำงานเร็วเกินไปนั้น นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้แม่ต้องเลิกการให้นมแม่ก่อนเวลาอันควร กล่าวคือ ในระยะสองเดือนแรกการให้นมอาจจะยังไม่เข้าที่ ทำให้น้ำนมแห้งได้ง่าย หรือแม้จะเข้าที่แล้วเมื่อแม่ไปทำงานอาจจะเกิดความเครียดที่อาจมีผลทำให้ปริมาณน้ำนมลดน้อยลงได้ โอกาสที่แม่ส่วนใหญ่จะหยุดการให้นมแม่ในช่วงนี้จึงสูงมาก

(9) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.2555 จะอนุญาตให้ข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ โดยจะลาในวันที่คลอด ก่อนหรือหลังวันที่คลอดบุตรก็ได้ แต่เมื่อรวมวันลาแล้วต้องไม่เกิน 90 วัน รวมถึงหากต้องการจะลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อ ให้มีสิทธิลาต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ หรือ 5 เดือน และในข้าราชการชายสามารถลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยให้มีสิทธิลาได้ครั้งหนึ่งติดต่อกันไม่เกิน 15 วันทำการ และต้องลาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คลอดบุตร

(10) แม้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จะกำหนดให้ลูกจ้างหญิงได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนในการลาคลอดในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยมีการกำหนดระยะเวลาจ่าย 90 วัน ซึ่งคล้ายกับว่าแม่ที่ลาคลอดครบ 90 วัน ก็จะได้รับเงินทดแทนค่าจ้างในส่วน 45 วันที่นายจ้างไม่ได้จ่ายให้หากจะลาคลอด 90 วัน แต่การให้สิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ เป็นการให้โดยไม่คำนึงถึงระยะเวลาการลาคลอดที่แท้จริง ทำให้มีแม่หลายราย ประมาณ 17.4 % เลือกที่จะกลับมาทำงานเมื่อครบกำหนด 45 วัน เนื่องจากต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือสถานประกอบการต้องการให้กลับไปทำงานเพราะขาดคนทำงาน หรืออยากกลับไปทำงานเองเพราะกลัวจะถูกหักโบนัสหรือไม่ขึ้นเงินเดือน รวมทั้งการถูกไล่ออกจากงาน

(11) สำหรับลูกจ้างในภาครัฐวิสาหกิจ พบว่า ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ได้กำหนดไว้ว่า พนักงานซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอดบุตรโดยได้รับเงินเดือนเท่าเวลาที่ลาตามอัตราที่ได้รับอยู่ แต่ไม่เกิน 60 วัน ตั้งแต่วันเริ่มวันลาคลอดบุตร ทั้งนี้หากจะลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรเพิ่มอีก ให้มีสิทธิลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรโดยได้รับเงินเดือนอีกไม่เกิน 30 วันทำงาน

(12) ประเทศต่างๆ ทั่วโลก จำนวน 62 ประเทศ ที่กำหนดให้หญิงทำงานมีสิทธิลาคลอดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 สัปดาห์ หรือประมาณ 3 เดือนกว่าๆ ตามที่อนุสัญญาฉบับที่ 183 ปี 2543
(คศ.2000) กำหนด และมีอีกหลายประเทศกำหนดแตกต่างกันไป
เช่น

– ประเทศออสเตรเลียและประเทศอัลเบเนีย ให้สิทธิลาคลอดสูงสุดถึง 1 ปีเต็ม

– ประเทศโครเอเชีย โปแลนด์ เอสโตเนีย สาธารณรัฐเชกริพับลิก บัลแกเรีย ฝรั่งเศส ฮังการี อิตาลี รัสเซีย ให้สิทธิลาคลอดระหว่าง 20-29 สัปดาห์ หรือ 5-7 เดือน เช่น โครเอเชีย ผู้หญิงจะได้รับเงินเดือนเต็มๆระหว่างที่ลาหยุดทั้งหมด 30 สัปดาห์ , โปแลนด์ได้เงินเดือนเต็ม 100 % รวม 26 สัปดาห์ แถมยังให้สิทธิพ่อลางานมาดูแลภรรยาและลูกแรกเกิดได้เต็มที่ 2 อาทิตย์แบบไม่หักเงินเดือน , เอสโตเนียลาคลอดได้ 20 สัปดาห์หรือ 140 วัน

– ประเทศเวียดนามเป็นประเทศในเอเชียที่ให้สิทธิลาคลอดสูงสุดถึง 25 สัปดาห์ หรือ 6 เดือนเต็ม โดยได้รับค่าจ้างเต็มตามจำนวนจากประกันสังคม

– นอกจากนี้ยังมีอีก 11 ประเทศที่ให้สิทธิลาคลอดถึง 18 สัปดาห์ หรือ 4 เดือนครึ่ง

– มีอีก 40 ประเทศที่ให้สิทธิลาคลอดระหว่าง 14-16 สัปดาห์

– ส่วนประเทศที่ให้สิทธิลาคลอดระหว่าง 12–14 สัปดาห์นั้น มีจำนวน 57 ประเทศ

– มี 32 ประเทศที่ให้สิทธิลาคลอดน้อยกว่า 12 สัปดาห์

– โดยประเทศตูนิเซีย เป็นประเทศที่ให้สิทธิลาคลอดน้อยที่สุดคือให้เพียง 4 สัปดาห์เท่านั้น

(13) ตัวอย่างจากบางประเทศ

ประเทศสวีเดน พ่อแม่สวีเดนลาหยุดงานแบบได้เงินเดือนเลี้ยงลูกอ่อนได้ สามารถลาคลอดได้ 50 วัน รวมถึงพ่อสามารถลาช่วยภรรยาเลี้ยงทารกได้ 10 วัน ที่เรียกว่า “Daddy days” การลาหยุดเลี้ยงลูกของพ่อแม่ โดยได้เงินเดือนอยู่ในนโยบายการให้หลักประกันพ่อแม่ (parental insurance) ที่เริ่มมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1974 โดยสวีเดนเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิพ่อแม่ลาหยุดเลี้ยงลูกได้ 6 เดือน โดยได้เงินร้อยละ 90 ของเงินเดือน ต่อมาในทศวรรษที่ 1990 ได้ขยายวันลาหยุดเป็น 1 ปี และในปี 2002 ได้ขยายเป็น 480 วัน และหากพ่อแม่เห็นว่า มีฐานะพอสมควร จะขอไม่รับเงินเดือน วันหยุดเลี้ยงลูกก็อาจขยายไปได้อีกจนถึง 18 เดือน

ประเทศเดนมาร์ก กฎหมายให้แม่ลาทำหน้าที่แม่ 14 สัปดาห์นับตั้งแต่คลอดลูก และพ่อมีสิทธิลา 2 สัปดาห์เพื่อทำหน้าที่พ่อ และเมื่อลูกมีอายุ 14 สัปดาห์แล้ว พ่อและแม่มีสิทธิลารวมกัน 32 สัปดาห์ โดยได้รับเงินประโยชน์ทดแทนการว่างงานเต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้นยังให้สิทธิพ่อในการเลือกลาเริ่มตั้งแต่ แม่ลา 14 สัปดาห์แรกที่ลูกเกิด หรือให้แม่ทำงาน แต่พ่อลามาเลี้ยงลูกอ่อนแทนก็ได้

ประเทศนอร์เวย์ มีกฏหมายอนุญาตให้ชาวนอร์เวย์สามารถลาทำหน้าที่แม่ (maternity leave) ทำหน้าที่พ่อ (paternity leave) และพ่อแม่ลาหยุดงานเพื่อเลี้ยงดูลูก (parental leave) โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน ทั้งหมด 42 สัปดาห์ ผู้เป็นแม่ต้องลาหยุดงาน 3 สัปดาห์ก่อนคลอด และเมื่อคลอดแล้ว แม่สามารถลาได้อีก 6 สัปดาห์ และพ่อลาได้ 4 สัปดาห์ และเหลืออีก 29 สัปดาห์ พ่อหรือแม่จะแบ่งกันลาหยุดเลี้ยงลูกได้ตามความต้องการของพ่อและแม่ ทั้งหมดนี้พ่อแม่จะได้ค่าจ้างเต็ม แต่ถ้าเลือกที่จะลาหยุดรวมกันถึง 52 สัปดาห์ (หรือ 1 ปี) จะได้รับค่าจ้างร้อยละ 80 ของค่าจ้างเต็มเวลา

ประเทศสหราชอาณาจักร แม่สามารถลาหยุดงานเพื่อเลี้ยงลูก โดยได้รับค่าจ้างได้ 26 สัปดาห์ ไม่ว่าจะทำงานมานานเท่าใดก็ตาม และจะลาได้เพิ่มอีก 26 สัปดาห์ แต่ไม่ได้รับเงินค่าจ้าง หากแม่ทำงานมานาน 26 สัปดาห์ อย่างต่อเนื่องนับจากสัปดาห์ที่ 14 ก่อนกำหนดคลอด จำนวนค่าจ้างที่ได้รับระหว่างลา คิดเป็นร้อยละ 90 ของรายได้ที่หาได้สำหรับการลา 6 สัปดาห์แรก และต่อมาจะจ่ายในอัตราเหมาจ่าย (a flat rate) สำหรับการลาหยุด 20 สัปดาห์สุดท้าย เป็นจำนวนเงิน 100 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ผู้เป็นพ่อสามารถลาหยุดได้ในอัตราค่าจ้างเหมาจ่ายเช่นเดียวกับแม่ พ่อสามารถลาหยุดงานภายใน 8 สัปดาห์หลังคลอด

ประเทศเยอรมนี การลาหยุดงานเพื่อทำหน้าที่แม่ (Maternity leave) ทำหน้าที่พ่อ (Paternity leave) และการลาหยุดเพื่อเลี้ยงลูก (Parental leave) ผู้หญิงมีสิทธิในการลาหยุดไปทำหน้าที่แม่ได้ 14 สัปดาห์ (6 สัปดาห์ก่อนคลอดและ 8 สัปดาห์หลังคลอด) โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน ทั้งนี้สิทธิลาหยุดงานดูแลลูกป่วย 10 วัน แม่เลี้ยงเดี่ยว 20 วัน ได้รับเงินเดือน และการลาหยุดงานเพื่อเลี้ยงลูก พ่อแม่ลาหยุดรวมกันไม่เกิน 3 ปี

ประเทศเนเธอร์แลนด์ แบ่งแยกชัดเจนระหว่างการลาหยุดเพื่อทำหน้าที่แม่ (Maternity leave) กับการลาหยุดเพื่อเลี้ยงดูลูก (Parental leave) โดยการลาหยุดประการหลัง เกิดจากฐานคิดของความเท่าเทียมระหว่างแม่และพ่อ กฎหมายอนุญาตให้แม่ลาหยุดเพื่อทำหน้าที่แม่ 16 สัปดาห์ โดยได้ค่าจ้างเต็มร้อยละ 100 ซึ่งจ่ายให้โดยสถาบันเพื่อการประกันของลูกจ้าง (Institute for Employees Insurances) ในกรณีที่มีปัญหาการเจ็บป่วยหรือปัญหาอันสลับซับซ้อน ผู้หญิงสามารถลาหยุดทำหน้าที่แม่ได้ถึง 52 สัปดาห์ ทั้งนี้ หากมีแพทย์รับรอง นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวน

ประเทศฝรั่งเศส การหยุดลาคลอด เรียกว่า Congés maternelles กฎหมายฝรั่งเศสกำหนดไว้ว่า ลาคลอดได้ 16  สัปดาห์ สำหรับลูกคนแรก และคนที่ 2 ลาคลอดได้ 26 สัปดาห์ สำหรับลูกคนที่ 3 หรือคลอดลูกแฝด ลาได้ 34 สัปดาห์ แฝดสาม ลาได้ 46 สัปดาห์  ถ้าทารกที่คลอดต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล เช่น เข้าตู้อบ ก็ลาเพิ่มได้อีกจนกว่าทารกจะกลับบ้านได้ ผู้ชายสามารถลามาช่วยภรรยาเลี้ยงลูกโดยได้รับค้าจ้างด้วย  ทั้งนี้จุดเด่นของฝรั่งเศส คือ ครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีสถานะไม่ถูกกฎหมายด้วย ไม่ได้มีการยกเว้นว่าไม่คุ้มครองแต่อย่างใด

(14) นอกจากนี้บางประเทศยังมีกฎหมายคุ้มครองหญิงทำงานที่ต้องคลอดบุตร โดยห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างหญิงที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตร บางประเทศได้ขยายขอบเขตการคุ้มครองไปถึงหญิงที่ทำงานหลากหลายอาชีพมากขึ้น เช่น หญิงที่ทำงานเกี่ยวกับเกษตรกรรม งานบ้าน และงานส่วนตัว และในบางประเทศยังให้สิทธิบิดาในการลาเลี้ยงดูบุตรที่เพิ่งเกิดใหม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ

(14) ดังนั้นคณะอนุกรรมาธิการฯจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

(14.1) ทิศทางในอนาคตว่าจะทำอย่างไรที่จะมีระบบสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย โดยเริ่มดูแลตั้งแต่มารดาระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด โดยมีคำสำคัญ (Keyword) อยู่ 3 คำ คือ

– เวลา : ทำอย่างไรให้พ่อแม่มีเวลาเลี้ยงลูกด้วยตนเอง เป็นหัวใจสำคัญ

– รายได้ : หากระหว่างตั้งครรภ์, หลังคลอด ไม่สามารถทำงานได้ รัฐควรมีการหนุนช่วยในระยะนี้

– บริการ : มีบริการทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น ศูนย์ให้คำปรึกษา ศูนย์เด็กเล็กที่มีมาตรฐาน

ประเด็นเหล่านี้ครอบคลุมพ่อแม่ ครอบครัว ทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ นอกระบบ กลุ่มพิเศษ ฯลฯ (แม่เลี้ยงเดี่ยว, แม่พิการ, เจ็บป่วยเรื้อรัง ฯลฯ)

(14.2) เพื่อให้คุ้มครองแรงงานหญิงในกลุ่มแรงงานนอกระบบด้วย รัฐต้องสนับสนุนค่าครองชีพทดแทนรายได้ในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หากการต้องไปฝากครรภ์และเลี้ยงดูบุตรแล้วทำให้ขาดรายได้

(14.3) การทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับวันลาของแรงงาน ข้าราชการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจำนวนบุตรที่จะได้รับสิทธิและสวัสดิการ เช่น พระราชบัญญัติประกันสังคมฯ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

ดังนั้นโดยสรุปในเรื่องนี้ โจทย์ที่แท้จริง จึงไม่ใช่คำถามว่ารัฐควรจะลงทุนให้ลาคลอด 120 วันได้หรือไม่ แต่เป็นคำถามว่า รัฐจะสามารถรับความเสียหายจากการไม่ลงทุนด้านนี้ได้หรือไม่ในอนาคตข้างหน้า