ลดเงื่อนไขและคลายปม : จากปฏิบัติการสู่นโยบาย & จากนโยบายนำสู่การปฏิบัติ”

10 สิงหาคม พ.ศ.2555 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงการดำเนินงานกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.ว่า ขณะนี้ได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังศึกษาทบทวนใน 3 ประเด็น เพื่อให้ กอช.มีความน่าสนใจของแรงงานนอกระบบที่จะเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกให้มากขึ้น  ทำให้การรับสมาชิกกอช. ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงนี้จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

13 กันยายน 2555 นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เสนอแนวคิดระบบประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อการคุ้มครองที่ครอบคลุมแรงงานทั้งหมดกว่า 48 ล้านคน  ซึ่งในส่วนของแรงงานนอกระบบมี 2 แบบคือ แบบแรกรัฐบาลจ่ายสมทบให้ฝ่ายเดียวคนละ 550 บาทต่อเดือน ได้สิทธิประโยชน์ 4 กรณีคือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต  ส่วนแบบที่สอง รัฐบาลและสมาชิกจ่ายสมทบฝ่ายละ 550 ต่อเดือน ได้สิทธิประโยชน์ 7 กรณี

ข่าวที่ปรากฎในสื่อมวลชนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ ก่อให้เกิดความสับสนต่อพี่น้องแรงงานนอกระบบที่ไม่รู้ว่าจะเดินไปทิศทางใด เพื่อให้ชีวิตมีหลักประกันและความมั่นคงในบั้นปลาย

10 สิงหาคม พ.ศ.2555 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้ศึกษาทบทวนกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ทำให้การรับสมาชิกกอช. ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงนี้จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

13 กันยายน 2555 นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เสนอแนวคิดระบบประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อการคุ้มครองที่ครอบคลุมแรงงานทั้งหมดกว่า 48 ล้านคน  ซึ่งในส่วนของแรงงานนอกระบบได้สิทธิประโยชน์ 2 แบบ โดยแบบที่จ่ายสมทบ 550 ต่อเดือน จะได้สิทธิประโยชน์ 7 กรณี ข่าวที่ปรากฎในสื่อมวลชนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ ก่อให้เกิดความสับสนต่อพี่น้องแรงงานนอกระบบที่ไม่รู้ว่าจะเดินไปทิศทางใด เพื่อให้ชีวิตมีหลักประกันและความมั่นคงในบั้นปลาย

ทำไมต้องมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2554  แรงงานนอกระบบมีจำนวนทั้งสิ้น 24.6 ล้านคน จากจำนวนผู้มีงานทำ 39.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.6 ของกำลังแรงงานทั้งหมด เป็นผู้ชาย 13.2 ล้านคน ผู้หญิง 11.4 ล้านคน  แรงงานกลุ่มนี้อยู่ในทุกชุมชน กระจายตัวอยู่ในทั้งภาคเกษตร ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ใช้แรงงานในภาคบริการต่างๆ หาบเร่แผงลอย และผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ  ปัญหาที่ต้องเผชิญ คือ การขาดกฎหมายคุ้มครองสภาพการจ้างงาน และสิทธิขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องและเหมาะสม  การบริการรักษาพยาบาลตามสิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ไม่ครอบคลุมความเสี่ยงในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน  

   

เครือข่ายแรงงานนอกระบบกับการผลักดันให้รัฐบาล มีนโยบายระดับชาติคุ้มครองแรงงานนอกระบบโดยตรง

ผลกระทบจากการขาดกฎหมายคุ้มครองโดยตรง  ทำให้แรงงานนอกระบบไม่มีหลักประกันคุ้มครองทั้งในวัยทำงานและในวัยเกษียณอายุจากการทำงาน เช่น ไม่ได้รับค่าแรงตามอัตราขั้นต่ำ , ไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน ,ต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่ไม่ถูกลักษณะ ,สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ,การถูกเอารัดเอาเปรียบจากสภาพการจ้างงาน  สัญญาที่ไม่เป็นธรรม , ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ หรือเมื่อบาดเจ็บจากการทำงานก็ไม่มีการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

   เราจะปล่อยให้พี่น้องแรงงานนอกระบบต้องเผชิญกับชะตากรรมแบบนี้หรือ ? ความเท่าเทียมและความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน ?มีบางครั้งที่พอจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์  กฎหมายกำลังจะออกมาบังคับใช้  แรงงานนอกระบบดีใจที่ชีวิตกำลังจะได้รับการคุ้มครอง  แต่ทว่ากฎหมายดังกล่าวก็ถูกพรากออกไปจากอ้อมกอดของพี่น้องแรงงาน  
นี้คือกฎหมายของใคร  เพื่อใครกันแน่ ???

     ในช่วงที่ผ่านมา เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย  สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ  ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกรุงเทพฯ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา ชมรมเครือข่ายผู้ประกันตน  เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันให้รัฐบาลมีนโยบายระดับชาติคุ้มครองแรงงานนอกระบบโดยตรง ทั้งการผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับใหม่ที่ยังไม่มี และการแก้ไขกฎหมายฉบับเดิมที่ยังมีช่องโหว่อยู่ เพื่อให้พี่น้องได้ลืมตาอ้าปากและแก้ปัญหาดังที่กล่าวมา

มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ แต่แรงงานนอกระบบก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง

10 ปีที่ผ่านมา วันนี้รัฐบาลมีมาตรการและนโยบายเพื่อให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงสิทธิและบริการที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

1 พฤษภาคม 2554 ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2554 (มาตรา40) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

12 พฤษภาคม 2554 พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

15 พฤษภาคม 2554 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

29 พฤศจิกายน 2554 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ พ.ศ.2555-2559 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

อย่างไรก็ตาม  10 ปีที่ผ่านมา ชีวิตแรงงานนอกระบบก็ยังเปรียบเสมือนเรือน้อยที่ลอยเคว้งคว้างอยู่ท่ามกลางทะเลที่คลื่นลมแรง  และพร้อมที่จะจมสู่ก้นทะเลลึก  แรงงานนอกระบบยังไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองได้จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและนโยบายดังกล่าว  รวมทั้งการนำกฎหมายหรือนโยบายไปปฏิบัติก็ยังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร เช่น กลไกการบริหารจัดการของหน่วยปฏิบัติก็ยังขาดการมีส่วนร่วมหรือไม่เอื้อต่อการเข้าถึงของกลุ่มแรงงานนอกระบบ  ไม่มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  นี้ไม่นับว่าในกลุ่มแรงงานนอกระบบเองโดยตรง ก็ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารและเท่าทันสถานการณ์อีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พี่น้องแรงงานนอกระบบและองค์กรเครือข่ายลุกขึ้นมาลดเงื่อนไขและคลายปมสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ด้วยกระบวนการหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
(1) เร่งรัดกระบวนการที่แช่แข็งกฎหมายไม่ยอมพิจารณา ให้มีการพิจารณาและออกมาบังคับใช้เร็วขึ้น เช่น การประกาศใช้ พรบ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 การประกาศใช้พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ที่เครือข่ายแรงงานนอกระบบมีการจัดทำกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาโดยตรง มีการทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายอย่างใกล้ชิด สื่อสารกับผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ทั้งการ lobby ขอเข้าพบเป็นการส่วนตัว หรือกระทั่งการจัดเวทีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย มีการใช้ผลงานทางวิชาการที่มีการศึกษาวิเคราะห์แล้วมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการพูดคุยแลกเปลี่ยน

(2) ปรับปรุงแก้ไขแนวปฏิบัติที่มีอยู่แล้วให้เอื้อต่อพี่น้องแรงงานนอกระบบมากขึ้น ดังเช่น การขยายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมแรงงานนอกระบบในมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533  ที่มีเวทีในการสร้างกระบวนการเรียนรู้กับผู้กำหนดนโยบายและสาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจและแนวร่วมในการสนับสนุนถึงแนวนโยบายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเงื่อนไข บริบทของความเป็นแรงงานนอกระบบ

(3) สร้างความเข้มแข็งและอำนาจการต่อรองให้กับพี่น้องแรงงานนอกระบบ ผ่านการใช้กลไกของศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เป็นเวทีในการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในสาระสำคัญและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแต่ละฉบับ เพื่อทำให้พี่น้องแรงงานนอกระบบเข้าถึงนโยบายหรือกฎหมายได้มากขึ้น  รวมถึงการออกแบบให้มีกลไกการจัดการที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงที่สะดวก สอดคล้องกับบริบทของกลุ่มผู้รับประโยชน์ที่มีความเสี่ยงและความเปราะบาง

   

ปฏิบัติการรุกฆาตเพื่อลดเงื่อนไขและคลายปมกฎหมายแรงงานนอกระบบ

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้กับพี่น้องแรงงาน  เพื่อให้แสงดาวแห่งศรัทธาปรากฏที่ขอบฟ้าและส่องแสงสว่าง ความท้าทายวันนี้ของสังคมไทย เพื่อทำให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการ  จำเป็นต้องอาศัยการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ภาคประชาสังคม ภาคการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และหน่วยงานภาครัฐ  ในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดนโยบาย และการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ที่ตอบสนองต่อการมีหลักประกันชีวิตและงานแก่แรงงานนอกระบบ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเจตนารมณ์ของกฎหมายและนโยบายเหล่านั้นเพื่อท้ายที่สุดแล้ว แรงงานนอกระบบที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ก็จะกลายเป็นผู้รับประโยชน์ปลายทางอย่างแท้จริง

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน