“ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ปฏิรูปประกันสังคมถ้วนหน้า” : ความคุ้มครองทางสังคมเพื่อทุกคนในประเทศไทย

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์[1]

(1) ในฐานะที่ท่านเป็น “ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม” ทราบหรือไม่ว่าสิทธิประโยชน์มี “ปัญหา”

ผู้ประกันตนเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่จ่ายเงินค่าดูแลสุขภาพในระหว่างเจ็บป่วยด้วยตนเองแล้วนับตั้งแต่วันที่เข้าเป็นลูกจ้าง แต่ต้องรอระยะเวลาในการเกิดสิทธิ ไม่สามารถใช้สิทธิได้โดยทันทีเหมือนกับระบบสุขภาพระบบอื่นๆในประเทศไทยที่รัฐจัดให้ เช่น การรักษาพยาบาลจะใช้สิทธิได้ก็ต่อเมื่อส่งเงินสมทบมาแล้ว 3 เดือนติดต่อกัน (แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาก่อน 3 เดือนผู้ประกันตนจะยังคงสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้) รวมถึงพบว่ายังมีสิทธิประโยชน์อีกหลายประการที่ประกันสังคมไม่คุ้มครอง เช่น ภาวะแท้งบุตร , การรักษากรณีฆ่าตัวตายแล้วไม่ตาย ,การบริการระหว่างรักษาตัวแบบพักฟื้น เช่น กรณีเป็นโรคเรื้อรังและต้องรักษาติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ,  โรคหรือการประสบอันตรายเนื่องจากการใช้ยาเสพติด หรือความเสียหายที่เกิดจากบริการทางการแพทย์ เป็นต้น รวมถึงเมื่อเกษียณจากงานแล้ว ผู้ประกันตนก็ต้องกลับไปใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแทนไม่สามารถใช้ระบบประกันสังคมได้อีกต่อไป

แน่นอนเวลากล่าวถึงหลักประกันสุขภาพของประกันสังคมไม่ใช่แค่การรักษาพยาบาลเท่านั้น  ยังมีเงินทดแทนขาดรายได้กรณีไม่สามารถทำงานปกติได้ แต่ก็ต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ผู้ประกันตนเข้าถึงได้ยากและจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งเปลี่ยนสถานภาพมาเป็น “แม่” แต่ประกันสังคมกลับดูแลเฉพาะการคลอดเพียงขั้นตอนเดียวเท่านั้น แต่ไม่รวมการฝากครรภ์ ตรวจครรภ์ และไม่มีมาตรการในการรองรับเพื่อดูแลสุขภาพก่อนคลอด ดังนั้นจึงมี “แม่” จำนวนมากที่มีความเสี่ยงในการคลอดที่ไม่ปกติ เกิดผลแทรกซ้อนในระหว่างคลอด อันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่มาส่งผลกระทบ เช่น ระยะทางระหว่างโรงพยาบาลกับสถานที่ทำงานอยู่ห่างไกลมาก หรือชั่วโมงการทำงานของแรงงานในสถานประกอบการยาวนานจนไม่สามารถทำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อฝากครรภ์หรือดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ได้ รวมทั้งหากบุตรเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาโดยทันทีหลังจากคลอดออกมาแล้ว ประกันสังคมก็ไม่ครอบคลุมค่ารักษา ดังนั้นจากเหตุปัจจัยที่กล่าวมาจึงทำให้เงินจำนวน 13,000 บาทต่อครั้งจึงไม่เพียงพอ นี้ยังไม่รวมว่าคนเป็น “แม่” จะใช้สิทธินี้ได้ก็ต่อเมื่อต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน ด้วยเช่นกัน

วัยเด็กถือเป็นอนาคตของชาติ แต่กลับมีเพียงแรงงานกลุ่มในระบบเท่านั้นที่ได้รับเงินช่วยเหลือสงเคราะห์บุตร และได้เพียง 400 บาท/เดือนเท่านั้น ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้วข้อมูลจากโครงการวิจัย “เศรษฐศาสตร์ของการปฏิรูปการศึกษาไทย” ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อมิถุนายน 2554 ได้คำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายการลงทุนในเด็กของครัวเรือนไทยหนึ่งๆว่า อย่างน้อยรัฐต้องสนับสนุนค่าอาหารและค่าเล่าเรียนให้เด็กขั้นต่ำสุดจำนวน 650 บาทต่อเดือน เด็กจึงสามารถอยู่รอดได้อย่างมีคุณภาพ

จากสภาพการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมประเทศไทย ที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุดผ่านต้นทุนต่ำสุด โดยเฉพาะการจ่ายค่าจ้างในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราค่าครองชีพ ส่งผลให้มีผู้ประกันตนวัยแรงงานส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องทำงานในสถานประกอบการที่เสี่ยงอันตราย ชั่วโมงการทำงานยาวนาน วันหยุดต้องทำงานพิเศษเพิ่มขึ้นอีกเพราะค่าจ้างที่ได้รับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพในแต่ละวัน หลายคนต้องกู้หนี้ยืมสินกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะความตึงเครียดด้วยแรงกดดันทางเศรษฐกิจรอบด้าน จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายแล้วไม่ตาย แต่กลับพบว่าไม่มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม ทั้งๆที่ภาวะดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการทำงานในสถานประกอบการ

แม้ว่าทุกวันนี้หากผู้ประกันตนพิการหรือทุพพลภาพจากงานจะได้รับการดูแลจากกองทุนประกันสังคม โดยได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ในเชิงข้อเท็จจริงแล้ว เช่น หากคนทำงานคนหนึ่งๆได้เงินเดือน 15,000 บาท เงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพรายเดือนจะได้รับ 7,500 บาท ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่เพียงพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองและคนในครอบครัว รวมถึงยังไม่สามารถทำให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ต่อไปกลายเป็นภาระต้องก้มหน้ารับชะตากรรมไปตลอดชีวิต

ในปี 2557 จะเป็นปีแรกที่มีการจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แต่หากยังให้ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบรวมกันแล้วทั้ง 2 ฝ่าย เพียง 6 % ของค่าจ้างต่อเดือนเช่นเดิม จะทำให้กองทุนประกันสังคมขาดทุนอย่างแน่นอนในอีก 17 ปีข้างหน้า คือ ปี 2574 และเงินกองทุนจะหมดลงในปี 2586 ทันที นี้ไม่นับว่าการจ่ายเงินบำนาญชราภาพยังไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 102 ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของการประกันสังคมที่ระบุในเรื่องบำนาญชราภาพไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่า 40 % ของรายได้ แต่ประเทศไทยระบุเรื่องนี้แค่ 20% ของเงินเดือนสุดท้ายเพียงเท่านั้น นั้นหมายความว่าผู้ประกันตนอาจไม่สามารถยังชีพได้ในระดับที่น่าพอใจ เพราะความไม่เพียงพอของเงินที่ได้รับหลังการเกษียณจากการทำงานแล้ว

กรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิต กองทุนประกันสังคมจะจ่ายค่าทำศพให้จำนวน 40,000 บาท และหากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเกิน 10 ปี จะได้รับเงินช่วยเหลืออีกก้อนเท่ากับเงินเดือน 5 เดือน ถ้าลองคำนวณเงินที่ได้รับจะพบว่าประมาณ 1 แสนบาท อย่างไรก็ตามโดยข้อเท็จจริงแล้วการจัดการงานศพในบางพื้นที่/บางวัด ค่าใช้จ่ายตามจำนวนดังกล่าวอาจไม่เพียงพอ นี้ไม่นับว่าชีวิตหลังจากขาดหัวหน้าครอบครัว ลูกและภรรยาจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว

นี้เป็นเพียงแค่ “ส่วนหนึ่ง” ของตัวอย่าง “ปัญหา” ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในกฎหมายประกันสังคมในประเทศไทย

(2) 22 ปีที่ผ่านมา การเดินทางของกฎหมายประกันสังคมพบ “ปัญหา” ในเรื่องการบริหารงานมาโดยตลอด

การบริหารจัดการระบบประกันสังคมในปัจจุบันขาดความเป็นอิสระจากระบบราชการและการเมือง เพราะสำนักงานประกันสังคมยังเป็นหน่วยงานราชการภายใต้กระทรวงแรงงาน ทำให้ถูกแทรกแซง ขาดประสิทธิภาพ ขาดบุคลากรที่มีความสามารถที่เพียงพอ ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากฝ่ายผู้ประกันตนในการดำเนินงานและการตรวจสอบ และยังขาดความโปร่งใสด้านข้อมูล ในขณะที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของแรงงานจำนวนมากและต้องบริหารจัดการกองทุนขนาดใหญ่

คณะกรรมการประกันสังคมยังขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตน โดยเฉพาะที่มาของผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคมที่ยังจำกัดอยู่เฉพาะบางกลุ่มแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมาจากการเสนอชื่อโดยสหภาพแรงงานเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้ประกันตนที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 10,000,000 คน เช่น ยังมีกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนเช่นกันแต่ยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าว

กฎหมายประกันสังคมไม่ได้กำหนดให้กองทุนเป็นนิติบุคคล ดังนั้นจึงทำให้ทรัพย์สินของกองทุนจึงกลายเป็นทรัพย์สินของรัฐไปโดยปริยาย ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วเงินในกองทุนส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกันตนและนายจ้าง เพราะรัฐจ่ายเงินสมทบน้อยเพียงร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างเท่านั้น ที่เหลือมาจากเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างร้อยละ 5 ทั้ง 2 ฝ่ายตามลำดับ รวมสามฝ่ายเท่ากับร้อยละ 12.75 นั้นแปลว่าถ้ามีเงินในกองทุน 100 บาท จะเป็นส่วนที่มาจากนายจ้างและลูกจ้าง 78 บาท และจากรัฐผ่านเงินภาษีประชาชนอีก 22 บาท เท่านั้น แต่รัฐกลับมีอำนาจควบคุมดูแลเบ็ดเสร็จโดยขาดการมีส่วนร่วมของนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นเจ้าของเงินอย่างแท้จริง รวมทั้งในปีที่ผ่านมารัฐบาลยังติดค้างการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นจำนวนถึง 4 หมื่นล้านบาทด้วยเช่นเดียวกัน

ในมาตรา 24 ของ พรบ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้ระบุไว้ว่า ให้คณะกรรมการประกันสังคมสามารถจัดสรรเงินกองทุนได้ร้อยละ 10 ของเงินสมทบในแต่ละปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เบี้ยประชุม พาหนะ ค่าเช่าที่พัก และอื่นๆ โดยข้อเท็จจริงแล้วเงินร้อยละ 10 ของเงินสมทบ จะเท่ากับประมาณปีละ 8,000 ล้านบาทในปัจจุบัน ที่ผ่านมาพบว่าเงินในส่วนนี้มักถูกใช้ไปกับการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เช่าเครือข่ายและจัดทำข้อมูลสารสนเทศ ปีหนึ่งๆหลาย 100 ล้านบาท เช่น การนำกองทุนประกันสังคม 2,800 ล้านบาท ไปจัดซื้อคอมพิวเตอร์ในกระทรวงแรงงานจนนำมาสู่การร้องเรียน และยังรวมถึงการศึกษาดูงานต่างประเทศในแต่ละปี ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าจะเป็นประโยชน์ในการบริหารงานสำนักงานประกันสังคมอย่างไร นี้ไม่นับว่าในกรณีที่เงินกองทุนไม่พอจ่าย รัฐบาลก็สามารถจ่ายเงินอุดหนุนหรือเงินทดรองราชการได้ไปก่อนล่วงหน้าตาม “ความจำเป็น” นั้นแปลว่าคณะกรรมการประกันสังคมและนักการเมืองจะใช้จ่ายเงินกองทุนประกันสังคมอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกันตนในอนาคต

การนำเงินประกันสังคมไปลงทุนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการประกันสังคมเท่านั้น อาจเป็นช่องว่างให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น เพราะประกันสังคมในปัจจุบันขาดคณะกรรมการด้านการลงทุนซึ่งมีความชำนาญเฉพาะในการบริหารการลงทุนเข้ามาร่วมตัดสินใจ

สำนักงานประกันสังคมขาดการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ประกันตนเข้ามาตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานด้านต่างๆ รวมถึงช่องทางการให้ข้อมูลความรู้ของประกันสังคมต่อผู้ประกันตนก็มีน้อยมาก กรณีตัวอย่างเช่น สถานประกอบการมีการหลบเลี่ยงการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ไม่มีการส่งเงินสมทบที่หักจากลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม แต่ผู้ประกันตนยากต่อการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวนี้ ดังนั้นผลที่ตามมา คือ การทำให้ผู้ประกันตนเสียสิทธิ โดยเฉพาะเมื่อเจ็บป่วยและต้องไปใช้สิทธิที่โรงพยาบาลก็จะถูกปฏิเสธหรือเข้าไม่ถึงการรักษาทำให้ต้องจ่ายเงินเอง รวมถึงผู้ประกันตนบางคนเกิดความกลัวว่าจะถูกเลิกจ้างก็ไม่กล้าไปร้องเรียนหรือสอบถามกับนายจ้างถึงปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นมา พบว่าตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนประกันสังคมมาจนถึงปี 2554 มีสถานประกอบการกว่า 20,093 แห่ง ที่ยังติดค้างเงินสมทบรวมทั้งสิ้นกว่า  2.5 หมื่นล้านบาท แต่สำนักงานประกันสังคมยังขาดการติดตามทวงหนี้ค้างชำระดังกล่าว

เนื่องจากการบริหารงานในกองทุนประกันสังคม คณะกรรมการประกันสังคมต้องดำเนินงานทั้ง (1) เรื่องสุขภาพ (2) เรื่องความมั่นคงของกองทุนเพื่อนำเงินที่ได้ไปดูแลความมั่นคงในชีวิตด้านอื่นๆที่นอกเหนือจากเรื่องสุขภาพ นั้นหมายความว่าคณะกรรมการประกันสังคมจะต้องมีความเป็นมืออาชีพในการบริหารงานอย่างยิ่ง เพราะต้องดูแลทั้ง 2 เรื่องไปพร้อมกัน เพราะมิฉะนั้นจะพบปัญหาที่ติดตามมาจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น เมื่อกองทุนประกันสังคมเข้ามาดูแลเรื่องสุขภาพของผู้ประกันตนให้มีประสิทธิภาพ ก็อาจจะคิดเรื่องความมั่นคงของกองทุนเป็นเรื่องรอง เพราะต้องนำเงินกองทุนไปจัดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพให้คุ้มค่ามากที่สุด และนั่นก็อาจจะทำให้สิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆมีปัญหาได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพแต่ละครั้ง ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายออกไป ทำให้เงินในกองทุนจึงต้องลดลงมา อันเนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในสังคมไทยทำให้ความเสี่ยงในสังคมเปลี่ยนแปลงไป อันตรายจากโรคติดต่อและโรคที่เกิดจากความยากจนลดลง แต่โรคไม่ติดต่อ โรคจากการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ อุบัติเหตุรถยนต์ โรคจากการประกอบอาชีพและการประสบอันตรายจากการทำงานในภาคอุตสาหกรรม เหล่านี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทำให้รูปแบบการรักษายากขึ้นและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ถ้าการบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพก็จะส่งผลกระทบดังที่กล่าวมา

ทั้งนี้โดยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็แสดงให้เห็นชัดว่า สำนักงานประกันสังคมมีปัญหาในการบริหารจัดการ ไม่สามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เพราะเงินสบทบมาจากลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐ จำเป็นต้องบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อเอาไว้จ่ายให้ลูกจ้างตอนเกษียณจากงานเมื่ออายุ 55 ปี ทำให้เห็นได้ต่อว่าประกันสังคมจึงทำเรื่องสุขภาพได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แม้ว่าจะจ่ายเงินถึงปีละ 2.4 หมื่นล้านก็ตาม

กฎหมายประกันสังคม ยังมีข้อยกเว้นที่ไม่บังคับใช้ในกลุ่ม “ลูกจ้าง”บางประเภทที่มีรูปแบบการจ้างงานที่แน่นอน โดยเฉพาะ“ลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของภาครัฐ” “คนทำงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย” รวมถึง “ลูกจ้างภาคเกษตร” และ “ผู้รับงานไปทำที่บ้าน” เป็นต้น แม้ว่าหัวใจของการประกันสังคม คือ การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เฉลี่ยความเสี่ยงภัย ร่วมกันของสมาชิกในสังคม ซึ่งเน้นไปที่ลูกจ้างที่มีรายได้ประจำแน่นอนก่อน แล้วค่อยๆขยายไปที่กลุ่มอื่นๆ แต่การบริหารงานกองทุนประกันสังคมในประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างการบริหารแบบรัฐราชการรวมศูนย์  และฝ่ายการเมืองและข้าราชการสามารถเข้ามาแทรกแซงครอบงำการบริหารได้ นอกจากนั้นยังรวมถึงปัญหาการไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของลูกจ้างและนายจ้างในกระบวนการบริหารจัดการ จึงทำให้มีการกำหนดให้ลูกจ้างหลายกลุ่มถูกกีดกันออกจากประกันสังคม  และไม่เฉลี่ยสุขทุกข์อย่างเต็มที่  เช่น  กำหนดเพดานสูงสุดฐานค่าจ้าง 15,000 บาท/เดือน,กำหนดอัตราเงินทดแทนการขาดรายได้เท่ากันหมดโดยไม่คำนึงถึงระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ เป็นต้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้คือสถานการณ์ปัญหาการบริหารงานที่กองทุนประกันสังคมของประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่

(3) “ประกันสังคม” ต้องเป็นกลไกในการสร้าง “ความมั่นคง” ให้กับประชาชนในท่ามกลางอนาคตที่ไม่แน่นอน : “ดีช่วยป่วย-รวยช่วยจน”

หัวใจหลักของการประกันสังคม คือ การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ซึ่งก็คือหลัก Solidarity นั่นเอง กล่าวคือ คนมีมากช่วยคนมีน้อย คนแข็งแรงช่วยคนเจ็บป่วย คนวัยทำงานช่วยคนเกษียณให้ได้บำนาญในยามชรา เหมือนคำกล่าวในลักษณะที่ว่า “ดีช่วยป่วย-รวยช่วยจน” ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการที่ทั่วโลกยอมรับภายใต้เงื่อนไขว่าทุกคนต้องช่วยกันจ่ายเงินประกันตนเองเข้ากองกลางเพื่อประกันอนาคตร่วมกันของทุกคน เพื่อปกป้องดูแลให้คนทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์ต้องการความมั่นคงในการคุ้มครองชีวิตตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน” หรือกล่าวในภาษาธรรมดาว่า ความมั่นคงตั้งแต่เกิดจนตาย โดยนับตั้งแต่ก่อนเรียนหนังสือ ระหว่างเรียน ระหว่างทำงานเลี้ยงดูบุตร (รวมถึงความพิการ) และเกษียณอายุจากการทำงาน ดังนั้นการประกันสังคมจึงมีความสำคัญสำหรับคนทุกคน เพราะมีบทบาทในการสร้างความมั่นคงในชีวิต ทำให้บุคคลไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นและมีอิสระ เป็นการสนับสนุนการทำงานของสถาบันครอบครัว ฉะนั้นการประกันสังคมจึงไม่ใช่ภาระของบุคคล สังคม และรัฐบาล แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพื่อบรรเทาความยากจนโดยเฉพาะในระดับบุคคล (ช่วงเด็กและชราภาพ) การสร้างความสมานฉันท์ในสังคม (แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ขจัดความแตกต่างในช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศ) และนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและมั่นคงในอนาคตต่อไป

ที่ผ่านมาภาคประชาชนมีความพยายามที่จะผลักดันรัฐบาลให้ความคุ้มครองทางสังคมแก่ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะเป็นกลุ่มวัยแรงงานและวัยชรา และถึงแม้ว่าระบบประกันสังคมในประเทศไทยจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ประชาชนอีกจำนวนมากก็ยังเข้าไม่ถึงการคุ้มครอง เห็นได้จากจำนวนผู้เข้าระบบประกันสังคมมีเพียง 10 กว่าล้านคนเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานในประเทศไทยที่มีกว่า 38 ล้านคน เป็นต้น นั้นแปลว่าระบบประกันสังคมยังไม่ครอบคลุมกลุ่มคนยากจนและแรงงานนอกระบบอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตร แรงงานที่ทำงานส่วนตัวหรือทำงานให้กับครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

ดังนั้นภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน การมีความมั่นคงทางสังคม การประกันสังคมถือว่าเป็นสิทธิของทุกคน ดังนั้นทุกคนจึงมีความชอบธรรมในการเข้าถึงประกันสังคม อย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำ ด้วยเหตุนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำทุกวิถีทางที่จะสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงสิทธิและการคุ้มครองให้ได้จริง

(4) การขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันสังคมของเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต : ปฏิรูปการบริหารเป็นองค์กรอิสระ ลดอำนาจรัฐ ขยายการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน

ด้วยเหตุที่ว่ากฎหมายประกันสังคมฉบับปัจจุบันยังมีปัญหาอุปสรรคที่ไม่เอื้อดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ทั้งในเรื่องความเป็นอิสระคล่องตัวและความโปร่งใสในการบริหารงาน เพราะยังอยู่ในรูปแบบราชการที่ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมได้จำกัดมาก รวมทั้งยังมีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับภารกิจการบริหารจัดการงานประกันสังคมที่มีการขยายตัวขึ้น ซึ่งครอบคลุมนายจ้างกว่า 4 แสนราย และผู้ประกันตนมากกว่า 10 ล้านคน รวมถึงการขยายตัวของกลุ่มแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ

ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนางานประกันสังคมเป็นประโยชน์แก่นายจ้าง ผู้ประกันตน และสังคมส่วนรวมมากที่สุด จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสถานภาพสำนักงานประกันสังคมจากส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีรูปแบบพิเศษ ซึ่งไม่ใช่หน่วยราชการและไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดในการบริหารในรูปแบบราชการ และเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารกองทุน มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับประกันสังคมมากขึ้น สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและบุคลากรในภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงจำเป็นที่จะต้องมีการตรากฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา

นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชน ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกรุงเทพฯ ชมรมเครือข่ายผู้ประกันตน เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย และแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการบริหารเป็นองค์กรอิสระ ลดอำนาจรัฐ ขยายการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ใน 5 เรื่อง ดังต่อไปนี้

(1) เป็นหน่วยงานที่มีการบริหารแบบอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

(2) มีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมให้เกิดความโปร่งใส มีกระบวนการหรือกลไกตรวจสอบการบริหารงานที่ชัดเจน หนึ่งคนหนึ่งเสียง เลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม

(3) การขยายความคุ้มครองกลุ่มลูกจ้างให้ครอบคลุมแรงงานในทุกกลุ่มอาชีพอย่างเท่าเทียม ขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมในการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33, 39, 40

(4) บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลคู่สัญญา

(5) ผู้ประกันตนมีสิทธิรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคมทุกเรื่อง มีการเพิ่มบทลงโทษนายจ้างให้มากขึ้นกรณีไม่ปฏิบัติตามในเรื่องต่างๆ เช่น ไม่ส่งเงินสมทบ, ไม่จัดให้มีทะเบียนผู้ประกันตน

ผ่านการยกร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ฉบับบูรณาการแรงงาน) โดยอิงกับร่าง พรบ.ประกันสังคมฉบับที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม และ 1 กันยายน 2552 เป็นหลัก และต่อมาในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จึงได้ยื่นร่างประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ฉบับบูรณาการแรงงาน)  ที่มีพี่น้องแรงงานร่วมลงชื่อกว่า 14,264 รายชื่อ ให้กับทางประธานสภาผู้แทนราษฎร

แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มายังนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปประกันสังคมของเครือข่ายแรงงานก็ยังคงดำเนินต่อไป

20 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ มีมติเห็นชอบให้เสนอกฎหมายของภาคประชาชนจำนวน 9 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. ที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ เป็นหนึ่งในกฎหมายดังกล่าว

21 ธันวาคม 2554 ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกบรรจุวาระเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการเห็นชอบในวาระ 1 ในการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 คือ ในระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2554 – ปัจจุบัน

(5) 2 เมษายน 2555 ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกันสังคมฉบับรัฐบาล แต่เส้นทางสายปฏิรูปประกันสังคมก็ยังคงอีกยาวไกล

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ…. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

แน่นอนในขณะเดียวกันคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานก็ยังคงเดินหน้าในการผลักดันให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ….ฉบับ 14,264 รายชื่อ ให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติที่ขยายออกไปโดยยังไม่มีกำหนดปิด โดยเฉพาะการไปยื่นหนังสือที่รัฐสภาถึง 4 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 8 , 22 มีนาคม 5 และ 26 เมษายน ตามลำดับ ถือได้ว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการรับรู้ความต้องการของฝ่ายแรงงานแล้ว เพราะผู้มารับเรื่องมีทั้งรองประธานสภาฯ  ประธานวิปรัฐบาล ประธานวิปฝ่ายค้าน  คณะกรรมาธิการการแรงงาน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  รวมทั้งหัวหน้าและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนก็ได้มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันดังกล่าวจวบจนปัจจุบัน กลับพบว่าทางสภาผู้แทนราษฎรมีความชัดเจนว่าจะไม่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ แม้ว่าจะมีการบรรจุวาระการประชุมทุกครั้ง และทางรัฐสภาได้ขยายเวลาเปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติออกไปอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมา โดยให้เหตุผลว่ายังมีร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อรัฐสภาโดยการเข้าชื่อโดยภาคประชาชน

กล่าวได้ว่าจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติรับรองและให้ความสำคัญต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อรัฐสภาโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการใช้สิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางอ้อม ดังนั้นจึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของประธานรัฐสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังถือว่าเป็นการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้นแล้วการที่รัฐสภาอ้างเรื่องการมีกฎหมายในส่วนของภาคประชาชนที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก ทำให้มีการขยายการเปิดประชุมรัฐสภาออกไปไม่มีกำหนด แต่อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมา กลับพบว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการหยิบยกกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาตามที่ได้อ้างแต่อย่างใด นี้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญว่า นักการเมืองได้ใช้ข้ออ้างดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์และเป้าหมายทางการเมืองของตนมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน

ดูเหมือนว่าเส้นทางสายปฏิรูปประกันสังคมเส้นทางนี้ยังคงอีกยาวไกล กว่าพี่น้องแรงงานจะฝ่าข้ามไปถึงฝั่งฝัน


[1] ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย อนึ่งขอขอบคุณ คุณบุญสม ทาวิจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ คุณบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ที่กรุณาให้ความเห็น แก้ไข และเพิ่มเติมข้อมูลให้ถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามความผิดพลาดที่ปรากฏในเอกสารฉบับนี้เป็นของผู้เขียนโดยตรง