วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา โดย สำเนาถึง ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล COVID-19 เรื่อง ขอให้รัฐบาลทบทวนการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในกรณีพบผู้ป่วยต่างชาติในศูนย์กักตัวผู้ต้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดสงขลา
จากการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 และในเว็บเพจของศูนย์ข้อมูล Covid-19 เรื่องการพบผู้ป่วยรายใหม่ 18 ราย อยู่ที่ศูนย์กักตัวฯ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นคนต่างด้าวทั้งหมด เพศหญิง 17 ราย อายุระหว่าง 13-22 ปี เพศชาย 1 รายอายุ 10 ปี รวมกับผู้ป่วยในศูนย์กักกันฯ ที่พบก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 จำนวน 42 ราย รวมผู้ป่วยที่อยู่ในศูนย์กักตัวฯ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา 60 ราย ซึ่งได้มีการขึ้นภาพการนำเสนอข้อมูลและข้อความระบุว่า “ในที่สุด ตัวเลขคนไทยติดเชื้อก็เป็น 0 แต่มีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อ 18 คน ขอบคุณคนไทยทุกคนที่เสียสละ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ซึ่งมีนัยยะที่อาจจะสร้างความเข้าใจผิดหรือระบุว่าแรงงานข้ามชาติยังเป็นผู้ติดเชื้ออยู่ ทำให้เกิดทัศนคติด้านลบแก่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และประสบปัญหาในสถานการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกับคนไทยหลายๆ คน ซึ่งทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติได้จัดทำจดหมายเปิดผนึกเรื่อง มาตรการป้องกันและดูแลกลุ่มประชากรข้ามชาติ จากกรณีพบผู้ป่วยต่างชาติในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา ถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 โดยได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นดังกล่าวไปแล้ว
จากการนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าวพบว่า การพบผู้ติดเชื้อในครั้งนี้เกิดจากคัดกรองเชิงรุก ตรวจชาวต่างชาติที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งถูกควบคุมตัว ที่ชั้น 2 ศูนย์กักตัวฯ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา จำนวน 28 ราย พบชาวโรฮิงญาติดเชื้อไวรัสโควิด -19 จำนวน 18 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงและเด็กหญิง 17 รายอยู่ในช่วงอายุ 13 – 22 ปี และเด็กชายอายุ 10 ขวบ 1 ราย ซึ่งถูกควบคุมตัว พร้อมแม่ ซึ่งชาวโรฮิงญาเหล่านี้ต่างถูกกักตัวเพื่อรอการส่งกลับในศูนย์กักตัวฯ มาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว มิใช่แรงงานข้ามชาติตามที่ข่าวนำเสนอแต่อย่างใด ดังนั้นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน จึงเป็นท่าทีที่มีลักษณะแบ่งแยกเชื้อชาติ และสร้างทัศนคติในแง่ลบของแรงงานข้ามชาติในสังคมไทยเพิ่มขึ้น
ทางเครือข่ายฯ ขอย้ำในข้อห่วงใยและข้อเสนอของเครือข่ายฯ ตามจดหมายเปิดผนึกเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 โดยยืนยันในหลักการที่ว่า “การเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มประชากรข้ามชาติที่ดี ต้องไม่ใช่การพยายามสร้าง หรือตีตรา ภาพของแรงงานข้ามชาติให้น่าหวาดกลัว แต่คือการทำให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเองในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมไทย” และมีข้อห่วงใยและข้อเสนอเพิ่มเติมดังนี้
- ขอให้รัฐบาลไทยและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พิจารณาการตรวจสอบและหาแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และ ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค เรื่อง โรคโควิด 19 และเด็กที่ถูกจำกัดเสรีภาพ ซึ่งเสนอแนะให้รัฐปล่อยตัวและไม่กักเด็กในห้องกัก หรือการสร้างทางเลือกแทนการกักเด็ก กรณีนี้ที่พบเด็กอายุ 10 ปี เป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในศูนย์กักกันฯ ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นการปฏิบัติที่ขัดแย้งกับนโยบายและจุดยืนของประเทศไทยในการที่จะไม่กักเด็กในห้องกัก โดยมีรูปธรรมคือการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MoU) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 และขอให้รัฐบาลมีความเข้มงวดต่อมาตรการการไม่กักเด็กอย่างจริงจัง
- ขอให้รัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความระมัดระวังในการแถลงข่าว และยุติการนำเสนอข้อมูลที่มีลักษณะของการเลือกปฏิบัติ ตีตรา และสร้างทัศนคติในแง่ลบต่อประชาชนกลุ่มต่างๆ เพราะนอกจากไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาใดๆ ในการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 แล้ว จะยิ่งส่งผลให้กลุ่มคนจำนวนมากเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ หรือการบริการด้านสุขภาพของรัฐซึ่งจะส่งผลในทางกลับกันต่อการเฝ้าระวังโรคระบาด
- รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งมือในการแก้ไขปัญหาผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนทุกคน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่เลือกปฏิบัติ พิจารณาทบทวนข้อจำกัดในการเข้าถึงความช่วยเหลือของรัฐ โดยต้องยึดหลักการให้ทุกคนได้รับความช่วยเหลือทั้งหมด โดยคำนึงถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสถานภาพด้านต่างๆ ที่ไม่เท่ากัน เพื่อยืนยันว่าทุกคนจะได้รับการดูแลและผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปด้วยกัน
เครือข่ายฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่า “เราไม่ทิ้งกัน” ย่อมต้องหมายถึงคนทุกคนในประเทศไทย เพราะเราทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมสร้างความเจริญเติบโตของประเทศไทยและเศรษฐกิจไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
โทรศัพท์ 089 788 7138 หรือ อีเมล์ adisorn.keadmongkol@gmail.com