ร้องกมธ.แรงงาน จี้รัฐปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาท พร้อมควบคุมสินค้าแพงทั้งประเทศ

สมัชชาแรงงานแห่งชาติ พร้อมเครือขาย ยื่นหนังสือต่อปธ.กมธ.แรงงาน เรื่อง สินค้าแพง ขอช่วยเสนอรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาทเท่ากันทั้งประเทศ

วันที่ 20 มกราคม 2565 สมัชชาแรงงานแห่งประเทศไทย พร้อมเครือข่ายได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเครือข่ายปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล และนายทวีศักดิ์ ทักษิณ โฆษกกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเครือข่ายปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล ออกมารับหนังสือเพื่อขอให้ผลักดันให้รัฐบาลปรับขึ้นเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกับควบคุมราคาสินค้าที่ปรับขึ้นทุกวันในขณะนี้

นายอมรฤทธิ์ แสงยะรักษ์ เลขาธิการสมัชชาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เช่นราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง ค่าขนส่ง ราคาเนื้อสัตว์ อย่างเนื้อหมู ไก่ และพืชผักปรับราคาสูงขึ้นส่งผลให้ค่าครองชีพที่สูงขึ้นกระทบต่อประชาชน ผู้ใช้แรงงานที่ต้องแบกภาระหนักภายใต้สภาพค่าจ้างขั้นต่ำเพียงวันละ 320 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ทั้งประเทศก็มีความแตกต่างกันด้านค่าจ้างขันต่ออยุ่แล้ว และรัฐบาลไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างมากว่าหนึ่งปีแล้ว แม้ว่าช่วงที่มีการหาเสียงลงสมัครเลือกตั้งผู้นำรัฐบาลชุดนี้ได้มีการหาเสียงไว้กับผู้ใช้แรงงานว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานวันละ 425 บาทแต่ว่าไม่มีการปรับตามประกาศแถมการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างครั้งก่อนเมื่อปลายปี 2562 มีผลบังคับใช้ปี 2563แบ่งเป็น 10 ระดับ ต่างกันทั้งประเทศ สมัชชาแรงงานแห่งชาติพร้อมเครือข่าย จึงมีข้อเสนอดังนี้

1. ให้รัฐบาลมีนโยบายควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประชาชนทุกคน ในแต่ละวันมีการประกาศขึ้นราคาข้าวของทุกวัน เป็นราคาสินค้าราคาอาหารสดที่นำมาปรุงเป็นอาหาร รวมถึงน้ำมัน ไฟฟ้า ราคาแก้สหุงต้มที่จ่อขึ้นราคาทุกวัน ซึ่งความจำเป็นของแรงงานหนึ่งคนไม่ใช่เพียงการกินอยู่มีชีวิตเพียงหนึ่งคน แต่ว่าแรงงานหนึ่งคนทำงานต้องรับผิดชอบอีกหลายคน หรือหลายคนว่างงานแน่นอนย่อมกระทบกันกับคนทำงานหนึ่งคนที่ทำหน้าที่เลี้ยงครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ซึ่งในช่วงวิกฤตโรคระบาดอีกหนึ่งความจำเป็นด้านค่าใช้จ่ายคือ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของค่าครองชีพที่ต้องใช้ทุกวัน การที่รัฐไม่มีมาตรการการควบคุมหรือตรวจสอบราคาสินค้าทำให้ราคาสินค้าขยับปรับตัวขึ้นทุกวัน

2. เสนอให้รัฐปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันให้กับแรงงานทุกคนเท่ากันทั้งประเทศ วันนี้ต้นทุนการดำเนินชีวิตที่ไม่ได้แตกต่างกันเลยของประชาชนและผู้ใช้แรงงานไม่ว่าจะซื้อของในร้านสะดวกซื้อที่ไหนราคาเท่ากันทั้งประเทศ ราคาอาหารตามสั่งราคาเท่ากันทั้งประเทศ หรือปริมาณลดลงเพื่อคุมให้สมราคาเดิม เรื่องคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคจึงถือเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่ากันของประชาชน จึงจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 425 บาทขึ้นให้เท่ากันทั่วประเทศเป็นมาตรฐานคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานคนเท่ากัน

ด้านนายสุเทพ อู่อ้น ปธ.กมธ.แรงงาน กล่าวว่า สภาพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผู้ใช้แรงงานที่ร้องมานั้นด้วยสภาพปัญหาสิ้นค้าที่มีการปรับขึ้นราคาทั้งประเทศ และค่าจ้างที่ปรับขึ้นมานั้นและไม่มีการประกาศปรับขึ้นอีกเลยทำให้ค่าจ้างแรงงานที่มีไม่ทันค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเครือข่ายแรงงาน และการที่เคยเป็นแรงงานทำงานในโรงงานที่มีค่าจ้างขั้นต่ำจึงรู้สึกเข้าใจและเห็นใจถึงความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่มีเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ

            “เพราะฐานค่าจ้างขั้นต่ำนั้นไม่ได้หมายเพียงแรงงานในโรงงาน ในสถานประกอบการเท่านั้น แต่เป็นฐานในการจ้างแรงงานรายวันที่เป็นแรงงานนอกระบบด้วย วันนี้มีแรงงานอย่างแม่บ้านออนไลน์ หรือว่าการจ้างงานแบบแรงงานนอกระบบเป็นวันๆมีจำนวนมากและใช้ฐานการจ้างโดยใช้ค่าจ้างรายวันเป็นตัวกำหนด การไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงเป็นผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มจริงๆ จึงพร้อมทำหน้าที่ในการนำเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้แรงงานเสนอรัฐบาลให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายสุเทพกล่าว

ส่วนนายทวีศักดิ์ ทักษิณ โฆษกกมธ.แรงงาน แถลงว่าในฐานะกรรมาธิการการแรงงานได้มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาปรึกษาหารือ รวมทั้งได้เชิญผู้นำแรงงานองค์กรต่างๆในแต่ละพื้นที่ย่านนิคมอุตสาหกรรม เพื่อหาทางออกและรับฟังสภาพปัญหาค่าครองชีพของแรงงานด้วย และในส่วนของรัฐบาลโดยผู้แทนกระทรวงแรงงานมานำเสนอถึงแนวคิดว่าทำไมไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2564 เชิญกระทรวงพาณิชย์มาเพื่อรับฟังแนวทางการควบคุมราคาสินค้า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาเพื่อชี้แจงแนวทางดูแลประชาชนด้านสวัสดิการขั้นพื้นฐาน  องค์กรนายจ้างและอีกหลายองค์กรที่เกี่ยว เพื่อร่วมกันหาข้อมูลข้อเท็จจรงในการนำเสนอรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมทั้งขอให้รัฐบาลมีการปรับขึ้นค่าจ้างให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ ซึ่งจริงแล้วพรรคผู้นำรัฐบาลได้หาเสียงไว้ก็ควรทำการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ด้วย

ทั้งนี้ในช่วงบ่ายวันเดียวกันทางคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผุ้แทนราษฎรได้มีการจัดประชุม พิจารณาเรื่องการแก้ไขปัญหาการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชน และปัญหาค่าจ้างแรงงานในปัจจุบัน เป็นกรรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และที่ประชุมมีมติเสนอให้มีการตั้ง “คณะทำงานเพื่อศึกษา ระบบมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้เกิดการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ถูกต้องเป็นธรรม” ขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูล เพื่อเสนอต่อรัฐบาลภายในเดือนกุมภาพันธ์ในสมัยประชุมนี้

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน