รู้เท่าทันผลกระทบ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แรงงานไทยได้หรือเสีย

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2555 พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้จัด เสวนา ในหัวข้อเรื่อง “AEC ผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตแรงงานไทย ” เนื่องในโอกาสครบรอบ 19 ปี ของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ณ ห้อง ประชุมศุภชัย ศรีสติ, พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน กรุงเทพฯ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจกับจากผลกระทบที่จะเกิดจาก  AEC ต่อสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตแรงงานในประเทศไทย และเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสนใจได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้ตระเตรียมตัวเองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

สำหรับการจัด เสวนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากร  3 ท่านด้วยกัน คือ 1.ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมืออาเซียน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  2. คุณชลิดา  ทาเจริญศักดิ์ มูลนิธิศักยภาพชุมชน 3.อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน และเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ดำเนินการเสวนา โดย คุณสุนี   ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

คุณปรัชญาณี  พราหมพันธ์ กล่าวว่า “ ประชาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ” หรืออาเซียน ได้มีการก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2510 โดยต่อมา ในปี พ.ศ.2535 ได้มีการตกลงที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนขึ้น อย่างไรก็ตาม อาเซียนประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ในปี 2540 ซึ่งหลังจากมรสุมดังกล่าว  จึงเกิดศักราชใหม่ของความร่วมมือระหว่างกัน โดยในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ตกลงให้มีการบูรณาการเชิงลึก ด้วยการตั้งเป้ามายว่า จะพัฒนา ASEAN ไปเป็นประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Community ซึ่งจะประกอบไปด้วยสามเสาหลัก อันได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน  เพื่อเตรียมการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์ในปี 2563 อย่างไรก็ตามในการประชุมที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อพ.ศ.2550 ผู้นำอาเซียนได้ประกาศแถลงการณ์ เพื่อเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นจากปีพ.ศ.2563 เป็นปี 2558 (ค.ศ.2015)

การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC หนึ่งในเสาหลักของประชาคมอาเซียนจะทำให้อาเซียนมีตลาด และฐานการผลิตร่วมกัน จะมีการเคลื่อนย้าย สินค้า ธุรกิจ ทุน เงิน และแรงงานฝีมืออย่างเสรีซึ่งแน่นอนที่สุดย่อมจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลในหลายๆภาคส่วน รวมถึงภาคของแรงงานด้วย

อาจารย์ศักดินา  ฉัตรกุล  ณ อยุธยา ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า หากจะห้ามไม่ให้มีการทำประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น คงเป็นไปได้ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว เราต้องช่วยกันสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน ให้ได้รับการยอมรับจากภาคประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องเน้นที่การจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองและให้การศึกษากับคนงานให้รับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน ปี 2558 ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของแรงงานไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือผลกระทบที่จะตามมา หากจะกล่าวถึงประชาคมอาเซียนแล้ว จะประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก แต่ได้มีการพูดถึงเพียงเสาเดียวเท่านั้น ในส่วนของภาครัฐเองจะมุ่งเน้นไปที่สภาพเศรษฐกิจเท่านั้นโดยมุ่งเน้นที่จะเปิดประเทศเสรี เพื่อให้ง่ายต่อการที่นายทุนจะเข้ามาลงทุนเท่านั้น โดยรัฐได้ลดข้อจำกัดต่าง ๆเพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์เครื่องจักรต่าง ลดภาษี ฯลฯ โดยมองข้ามในส่วนของ ความเป็นธรรมในด้านสิทธิแรงงาน วัฒนธรรมและผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม โดยทุนนั้นไม่ให้การยอมรับในภาคแรงงานโดยอาศัยอำนาจรัฐในการจัดการเรื่องนี้เพื่อให้ทุนได้ประโยชน์สูงสุด โดยในโลกของความจริงนั้นมีให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง ในเรื่องความขัดแย้งกันระหว่างทุน และผู้ใช้แรงงาน เพราะฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์อีกฝ่ายเสียประโยชน์ ในสถานการณ์ที่ทุนมีบทบาทอย่างมากกับสภาวะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันนี้ แรงงานต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ร่วมมือกันรวมตัวกันทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับอำนาจทุนนิยมและจะเป็นต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในภายภาคหน้าต่อไป

คุณชลิดา  ทาเจริญศักดิ์ มูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงานว่า เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนนั้น มีความแตกต่างกันทางธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านของศาสนา สังคมและวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นปัญหาและอุปสรรค ในการที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ปัญหาหลัก  คือปัญหาปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในการรวมตัวและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ที่ยังไม่มีความชัดเจนในการรับรองสิทธิ์ ประเด็นต่อมา เป็นห่วงในเรื่องการเข้าไม่ถึงข้อมูลของภาคประชาชนเนื่องจากคำว่าประชาคมอาเซียนเป็นภาคที่กว้าง และจับต้องไม่ได้ ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาอังกฤษ ต้องขวนขวายให้เข้าถึงข้อมูลเชิงลึก เมื่อเข้าไม่ถึงเราก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะประชาคมฯ ให้ความสำคัญกับทุนมากกว่าประชาชน

ในขณะที่หน่วยงานของรัฐเองยังคงไม่ให้ความสำคัญในการให้ความรู้แก่ประชาชนคนไทยเท่าที่ควรในเรื่องประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์อะไรมากน้อยแค่ไหนจากการเข้าร่วมเป็นประเทศประชาคมอาเซียน และมีผลกระทบระยะยาวอย่างไร ต่อสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแรงงานไทย ในปี พ.ศ.2558 และหลายฝ่ายยังคงให้ความกังวลในเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย คงต้องติดตามดู

กระมนต์  ทองออน  นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวแรงงาน ชลบุรี – ระยอง  รายงาน