สภาไม่แล ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมของประชาชน- ขบวน รุกหาแนวร่วมดันต่อ

คสรท.รุกจัดเสวนา “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมปฏิรูปประกันสังคมถ้วนหน้า” เชิญกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นักวิชาการ ผู้นำแรงงานในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ หวังร่วมดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมเข้าพิจารณา หลังสภาไม่แล /นักวิชาการแนะขบวนการแรงงานอย่าหลงเวที สู้บนเวทีที่เคย เน้นสร้างมวลชนเสริมพลัง เคลื่อนไหวกดดัน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดเสวนา เรื่อง "ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมปฏิรูปประกันสังคมถ้วนหน้า" ในวันที่ 9 มิถุนายน 2555 ณ ห้องเพชรบุรี ชั้น 2 โรงแรมบางกอกพาเลซ มักกะสัน กรุงเทพมหานคร ที่ผ่นนมา โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คนประกอบด้วยสภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ และสื่อมวลชน

 

นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า การนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาในปัจจุบันสามารถนำเสนอได้โดยประชาชนที่มีการล่าลายมือชื่อ 1 หมื่นชื่อ เสนอ หรือเสนอผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอ 20 ชื่อ การที่ดึงขึ้นมาพิจาณาบางครั้งนายกรัฐมนตรีหรือสส.สามารถที่จะเสนอให้นำร่างกฎหมายที่ผ่านการเสนอเข้ามาพิจารณากำหนดเป็นวาระในการประชุมสภาได้ แต่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่าร่างกฎหมายทุกฉบับจะต้องมีร่างกฎหมายของรัฐบาลมาประกบจึงจะมีการนำเข้ามาพิจารณาได้

วันนี้ขบวนการแรงงานกำลังมีการทวงถามรัฐสภา และรัฐบาลถึงการนำร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับล่าลายมือชื่อ 14264 ชื่อฉบับภาคประชาชนเสนอเข้าสู่การพิจารณา และยังไม่มีทีท่าของร่างกฎหมายประกันสังคม พ.ศ. …. ฉบับกระทรวงแรงงานซึ่งขณะนี้ทราบว่าร่างกฎหมายคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการและได้จัดส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นหน่วยงานกลางด้านการร่างกฎหมายของรัฐบาลเป็นผู้ตรวจพิจารณา สิ่งที่แรงงานค้อนข้างกังวลคือ ทำอย่างไรที่จะเร่งให้มีการนำร่างกฎหมายประกันสังคมเข้าสู่การพิจารณาได้โดยเร็ว โดยยังคงหลักการร่างกฎหมายของภาคประชาชนที่มีการล่าลายมือชื่อเสนอคือ การบริหารที่เป็นองค์กรอิสระ มีส่วนร่วม ตรวจสอบได้ ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม และร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับนี้เมื่อเข้าไปสู่ขบวนการพิจารณาของรัฐสภาแล้วหน้าตาของกฎหมายต้องไม่เปลี่ยน

ข้อเสนอคือ 1.ขบวนการแรงงานทำหนังสือเพื่อขอเสนอในร่างกฎหมายของภาคประชาชนต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา 2. มีขบวนการล็อบบี้พรรคการเมืองให้ช่วยสนับสนุนร่างกฎหมายของภาคประชาชน และมีการรณรงค์ เคลื่อนไหวทางสังคม กรณีที่มีนักการเมืองคนใดที่ยกมือคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ ประชาชนต้องไม่เลือกนักการเมืองคนนั้นเข้าสภาอีก 3. ยื่นข้อเสนอให้พรรคการเมืองที่สัดส่วนในการนำเสนอตัวแทนพรรคเข้ามาเป็นกรรมาธิการร่างกฎหมายประกันสังคม ให้เสนอนักวิชาการที่เข้าใจประเด็นแรงงานเข้ามาแทน

4. ช่วงที่ร่างกฎหมายฯเข้าสู่การประชุมกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฯก็ต้องมีการขับเคลื่อนข้อเสนอของตนเองสื่อสารต่อสังคมเพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนหลักการข้อเสนอของประกันสังคมฉบับของแรงงาน

 

รองปลัดกระทรวงแรงงานรับรีบดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงเข้าประกบช้าสุด 2 เดือน

นายนคร ศิลปอาชา รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอ ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ว่า เนื่องจากกองทุนประกันสังคมถือว่าเป็นการบริหารเงินกองทุนขนาดใหญ่ของกระทรวงแรงงาน ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ กระทรวงแรงงานมีทั้งหมด 40 กว่ามาตรา มีสาระสำคัญทั้งหมด 15 ข้อ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ถึงเวลาต้องแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของกรรมการการแพทย์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ ยกเลิกการตัดสิทธิผู้ประกันตน ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีจงใจหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนประสบอัตราย หรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย เพื่อขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และอัตราให้รัฐบาลออกเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และเพิ่มบทบัญญัติให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบในกรณีเกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง รวมทั้งกำหนดโทษทางอาญาในกรณีนายจ้างไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบเพื่อให้การประกันสังคมเป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น การลงทะเบียนการออนไลน์นายจ้างทำได้ 13 คุ้มครองการว่างงานกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว

ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ซึ่งอาจใช้เวลาในการที่พิจารณาประมาณ 2 เดือน

ซึ่งคณะกรรมการกฤษฏีกา จะมีการนำร่างพ.ร.บ.ของภาคประชานเข้าไปดูประกอบการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงาน และวันนี้จะนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับประชาชนนี้ไปให้เลขานุการคณะกรรมการกฤษฎีกาในการทำเป็นข้อเสนอเข้าที่ประชุม และขอรับปากว่า จะมีการเร่งการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม(ฉบับที่..) พ.ศ. …. ของกรรมการกฤษฎีกาให้เร็วขึ้น ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยสามารถนำเสนอเป็นกฎหมายเพื่อขอเข้าไปชี้แจงร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯได้  

 

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่.. ) พ.ศ. ฉบับประชาชน 14,264 คน ที่เป็นผู้เสนอนั้นเนื่องปัญหาเรื่องความไม่สอดคล้องหรือเท่าทันสถานการณ์แรงงานของพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533 คือ

ข้อจำกัดกิจการที่ไม่บังคับใช้เป็นจำนวนมาก เช่นคนทำงานบ้านที่ไม่มีธุรกิจรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างในงานภาคเกษตรฤดูกาล หาบเร่แผงลอย

สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่มีการเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และไม่นำส่งเงินสมทบที่หักจากลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม การบริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมยังขาดมาตรฐาน และการบริหารกองทุนโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ซึ่งเกิดการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสซึ่งนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนโดยมิชอบ การบริหารกองทุนจึงจำเป็นต้องมีมืออาชีพ เป็นผู้มีความรู้ความเชียวชาญเป็นต้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น คือหลายคนมีการเบื่อหน่ายในการที่บริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคม ที่ขบวนการตรวจสอบไม่ดีพอ การที่สำนักงานประกันสังคมที่มีการอนุมัติให้นำเงินไปลงทุน 2,300 ล้านบาท ที่ไม่ได้มีการชี้แจงรายละเอียดการลงทุน ไม่ได้มีการทำรายงานส่งให้เจ้าของเงินซึ่งเป็นผู้กันตนได้รับทราบความเป็นมาความคืบหน้าแต่อย่างใด

ส่วนคณะกรรมการประกันสังคมที่เป็นระบบไตรภาคีซึ่งใช้วิธีการเลือกตั้งจากสหภาพแรงงาน 1 แห่ง 1 เสียง เป็นการเลือกตั้งจากคนไม่กี่แสนคน ซึ่งเมื่อมอบหมายให้กรรมการสหภาพแรงงานเป็นผู้ใช้สิทธิ 1 คนผลคือการได้มาของกรรมการประกันสังคมมาจากคนไม่กี่ร้อยคนที่ไปใช้สิทธิ ซึ่งผู้ประกันตนมากกว่า 9 ล้านคนไม่มีสิทธิในการที่จะเลือกตัวแทนของตนเอง ซึ่งร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯฉบับประชาชนกำหนดให้ตัวแทนของผู้ประกันตนต้องมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตนโดยตรงเพื่อความเป็นตัวแทนที่แท้จริง เพราะการที่มีการขยายประกันสังคมไปคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่มตัวแทนของผู้ประกันตนต้องมาจากคนของเขาด้วย

 การบริหารกองทุนประกันสังคม ถือเป็นงบประมาณมหาศาลในแต่ยังมีการบริหารอย่างไม่เป็นมืออาชีพ การที่จะทำให้กองทุนฯเกิดความเติบโตงอกเงย ออกดอกออกผลทำให้กองทุนตอบสนองกับผู้ประกันตนมากที่สุด เช่น การได้ปรับเพิ่มการทดแทนรายได้ประกันสังคมกรณีชราภาพ (กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนใน อัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง) กองทุนควรจ่ายทดแทนให้ตามอายุงานหรือระยะเวลาที่ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ฉะนั้นการบริหารสำนักงานประกันสังคมควรต้องเป็นมืออาชีพที่จะมาดูแลฐานะการเงิน ผลประโยชนการตอบแทนก็จะมากขึ้น และเป็นการบริหารแบบมีส่วนร่วม การที่จะเลือกตัวแทนของเขาเองเข้ามามีอำนาจมีหน้าที่ในการที่จะดูแลรักษาเงินกองทุนฯ ซึ่งคนที่เข้ามาต้องไม่มีส่วนได้เสียกับเงินกองทุนประกันสังคม เช่นการไปรับเหมาทำอะไรให้กับกองทุนฯ เพราะเป็นการทับซ้อนทางผลประโยชน์ ซึ่งขบวนการแรงงานเชื่อว่า ร่างกฎหมายประกันสังคมที่มีส่วนร่วมกันล่าลายมือชื่อนั้นจะทำให้คนงานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการมากที่ขึ้น

การนำเงินกองทุนไปลงทุนจะมีการตรวจสอบแบบเข้มข้นมากขึ้น ข่าวสารของสำนักงานประกันสังคมวันนี้ยังไม่ได้ถูกเปิดเผยให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึง จะมีคนงานสักกี่คนที่ๆได้เข้าไปดูข้อมูลข่าวสารในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม และหน้าที่ของกองทุนประกันสังคมต้องดูแลคนตั้งแต่เกิดจนตาย

ส่วนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็จะได้มาจากการสรรหาของคณะกรรมการประกันสังคม   สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ประธานจึงจำเป็นต้องเป็นนายกรัฐมนตรี การดำรงตำแหน่งของกรรมการประกันสังคมไม่เกิน 4 ปีหรือ ไม่เกิน 2 วาระ โดยสรุปร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ เน้นที่การได้มาของคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) และเลขาธิการ รวมถึงความเป็นอิสระ โปร่งใส การเคลื่อนไหวผลักดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมของภาคประชาชนจนเข้าไปรอการนำเข้าสู่วาระการประชุมในรัฐสภา การบริหารจัดการเงินกองทุนประกันสังคม 9 แสนล้านบาท ถือเป็นเงินที่มหาศาล จึงจำเป็นต้องมีมืออาชีพมาบริหารจัดการเพื่อให้เงินนี้มีความเพิ่มพูนมากขึ้น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ต้องเพิ่มให้กับผู้ประกันตน ต้องมีการขยายการคุ้มครองคนงานทุกกลุ่ม

 

นักวิชาการแรงงานชี้ระบบต้องครอบคลุมเสนอแก้คำนิยาม

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงาน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของประกันสังคมคือ ทำไมระบบไม่ครอบคลุมทั่วหน้าทั้งหมด ข้อเสนอคือ

1. กรณีการขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนโดยบังคับ

1. เปลี่ยนคำนิยาม ลูกจ้าง ให้ หมายความว่าคนทำงานที่ตกลงทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้าง เพื่อรับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สัญญาใดๆ

2.  คุ้มครองลูกจ้างทุกประเภทกิจการจ้างงานทั้งในภาคเอกชน ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ยกเว้นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างของรัฐบาลต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ และลูกจ้างไทยที่นายจ้างส่งไปทำงานประจำที่ต่างประเทศ

3. ตราร่างพระราชบัญญัติเพื่อยกเลิกมาตราในพระราชบัญญัติจัดตั้งหน่วยงานนิติบุคคลของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชนที่มีบทบัญญัติกำหนดให้กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หรือตราร่างพระราชบัญญัติเพิ่มเติมพนักงาน หรือลูกจ้างสำนักงานที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานด้านต่างๆ ต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายแรงงานด้านต่างๆที่ถูกยกเว้น จัดตั้งหน่วยงานนิติบุคคลของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กร เช่นกรณีที่ หน่วยงานราชการ องค์กรในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น กรณีไทยพีบีเอส กรณีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิ สำนักงานกองทุนส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอีกหลายหน่วยงานที่เกิดขึ้นใหม่ แม่ว่าจะมีการจัดสวัสดิการกันเองภายในองค์กร แต่คิดว่ายังไม่มีหน่วยงานไหนที่มีสวัสดิการครอบคลุมหรือเทียบเท่าประกันสังคม

2. การขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนโดยสมัครใจ

1. กำหนดให้ลูกจ้าง หรือบุคคลที่กฎหมายประกันสังคมมาตรา 4 ยกเว้นไม่คุ้มครอง มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้

2.  ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเช่นลาออก ถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีเงื่อนเวลากำหนดไว้ มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โดยยกเลิกเงื่อนไขต้องสมัครภายใน 6 เดือน ภายหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง

3. กรณีผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ไม่จ่ายเงินสมทบติดต่อกัน 3 เดือน และต้องพ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตน ให้คืนสภาพความเป็นผู้ประกันตนอีกได้ถ้าผู้ประกันตนแจ้งเหตุผลความจำเป็นที่ไม่สามารถส่งเงินสมทบติดต่อกัน 3 เดือน และสามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้

4.  บุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 40 หรือมาตรา 39 มาแล้วอย่างน้อย 12 เดือน มีสิทธิแสดงความจำนงย้ายมาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 หรือมาตรา 40 แล้วแต่กรณีโอนติดตามไปด้วย

นายแพทย์ถาวร สกุลพาณิชย์ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย กล่าวถึงวิกฤติกองทุนบำนาญชราภาพของระบบประกันสังคมว่า การเก็บเงินสมทบออมเงินเข้ากองทุนจัดเก็บร้อยละ 3 ทั้งนายจ้าง และผู้ประกันตน โดยรัฐบาลไม่ได้จ่ายสมทบเข้ากองทุนหามีการคำนวณเงินเก็บครบอายุ 60 ปีได้เงินเก็บ 4 แสนบาทฝากไว้รับดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาท กว่าจะอายุ 80 ปี คนงานต้องมีเงิน 4 ล้านบาทต่อคนจึงจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างพอดีไม่ลำบาก แต่ปัญหาคือคนงานส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บ

ถามว่าหากการที่มีกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพทำหน้าที่จ่ายทดแทนให้กับผู้ประกันตนเมื่อชราภาพอายุ 55 ปี นั้น หากจ่ายให้พอดีกับการใช้ชีวิตของผู้ประกันตนที่จะมีชีวิตอยู่ได้ กองทุนก็อาจเจ๊งเงินหมด ผู้ประกันตนอดตาย องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้มีการคำนวณการสมทบเงินออมกองทุนชราภาพตามหลักคณิตศาสตร์ที่จะทำให้ผู้ประกันตนเมื่อชราภาพได้รับรายได้ที่พอดีกองทุนฯต้องใช้เงินสมทบจากผู้ประกันตนประมาณร้อยละ 13 ของรายได้เฉลี่ย หรือค่อยๆเก็บสมทบเพิ่มจากร้อยละ 6-21 หลักการรู้อยู่แล้วว่า จะต้องใช้เงินกองทุนเท่าไรถึงจะพอทำให้กองทุนอยู่ได้ ผู้ประกันตนอยู่ได้

แต่การที่จะมีการกำหนดจัดเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนร้อยละ 13 ก็ทราบกันอยู่แล้วว่าผู้ประกันตนมีรายได้น้อยมากหากให้จ่ายสมทบมากกว่านี้คงจ่ายไม่ไหว แต่การจัดเก็บเงินสมทบในอนาคตต้องเก็บเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะหากไม่สามารถเก็บเงินสมทบเพิ่มได้กองทุนก็จะอยู่ไม่ได้ในอนาคต

การที่จะให้กองทุนตอบสนองผู้ประกันตนให้มีชีวิตที่ดี รัฐบาล ลูกจ้าง นายจ้าง พร้อมที่จะจ่ายเงินสมทบเพิ่มหรือไม่ หากว่า ยังไม่พร้อมก็จะได้รับเงินทดแทนชราภาพสูงกว่าเส้นความยากจนเล็กน้อย หากต้องการที่จะมีการได้รับเงินเพิ่มต้องมีการจ่ายเงินสมทบเพิ่มมากกว่านี้

ความอยู่รอดของกองทุนอีกทางคือต้องมีมืออาชีพมาบริหารจัดการ หรือมีการเพิ่มการจัดเก็บเงินสมทบเพิ่มซึ่งคงเลี่ยงการเก็บเงินสมทบเพิ่มคงไม่ได้

การที่รัฐบาลเป็นให้มีการประกันสังคมแบบสมัครใจ การที่จะเพิ่มการคุ้มครองคนทุกนให้ครอบคลุมเป็นเรื่องยาก หลักการประกันสังคมที่เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข จำต้องเป็นระบบประกันแบบบังคับ หากให้มีทางเลือกคนก็จะเลือกที่ไม่เข้าสู่ระบบเนื่องจากยังมีระบบอื่นๆรองรับอยู่

 

นักวิชาการแนะขบวนการแรงงานสู้บนเวทีที่เคยอย่าหลงเวที

รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้แรงงานถูกลากเข้าไปต่อสู่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น วันนี้ต้องมานั่งคำนวณโดยใช้เศรษฐศาสตร์คณิตศาสตร์ในการคำนวณตัวเลข การสมทบเงินเข้ากองทุน การลงทุนเพื่อหวังกำไร การที่ต้องไปอยู่ในรัฐสภาเพื่อแปรญัตติกฎหมาย การที่ต้องร่างกฎหมายกันเอง เสนอกฎหมาย การต่อสู้ของขบวนการแรงงานขณะนี้เป็นพื้นที่ที่ไม่ถนัด และไม่คุ้นเคยอย่างที่เคยทำเมื่ออดีตในการเคลื่อนไหวกฎหมายประกันสังคมจะเป็นการใช้มวลชนในการขับเคลื่อน จึงอยากให้แรงงานต่อสู้ในแบบที่ตัวเองถนัด คือ การจัดตั้งมวลชนในการต่อสู้ ต่อสู้ทางมวลชน สร้างพลังในการกดดัน และเรียกร้อง เพราะหากมานั่งในห้องแบบนี้คนที่อยู่ในรัฐสภาคงไม่สนใจที่จะรับพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมฯ หรือหากเราสามารถทำร่างนี้เป็นที่มาของวิกฤติทางการเมือง วิกฤตทางเศรษฐกิจได้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะน่าสนใจมากขึ้น การที่มานั่งคุยใช้เหตุและผลในการเจรจารัฐบาลคงไม่สนใจ การที่ได้กฎหมายแต่ละฉบับออกมาบังคับใช้บวนการแรงงานต้องใช้พลังมวลชนในการกดดัน จะต้องสร้างและทำในสิ่งที่ถนัดในการกดดันทางการเมือง ไม่ใช่ทุกวันนี้ที่ถูกลากถูกดึงเข้าไปสู้ในเวทีของเขา ต้องพยายามทำงานที่ถนัด อย่างมาใช้ความเป็นนักกฎหมายทั้งที่ไม่ถนัด แต่ต้องมีคนของเราที่เป็นนักกฎหมายมาทำให้ ต้องมีนักเศรษฐศาสตร์โดยอาชีพมาจัดการให้ โดยแรงงานต้องรู้ว่า อำนาจต่อรองของเราไม่ใช่แง่มุมของกฎหมาย เพียงอย่างเดียว แต่กฎหมายเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แสดงจุดยืนของเราให้ชัดที่สุดไม่ใช่การใช้ภาษากฎหมาย แต่ไม่ใช่ว่าห้ามไม่ให้ทำแต่ต้องทำแบบพอดีไม่ให้เสียจุดยืน

นายชัยสิทธิ สุขสมบูรณ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ข้อจำกัดในการบริหารจัดการกองทุน 20 ปีที่ผ่านมาการบริหารเงินกว่า 8 แสนล้านบาท การบริหารได้ผลกำไรเพิ่มเพียงร้อยละ 1.7 เท่านั้น การนำเงินไปลงทุน ที่มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เช่น กรณีการใช้เงิน 2,800 ล้านบาท ตนเองแม้ว่า ขณะนั้นตนจะเป็นตัวแทนของคสรท.ที่เข้าไปเป็นกรรมการประกันสังคม ก็ถูกตรวจสอบเช่นกัน การที่ภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบการทำงานของสำนักงานประกันสังคม เพราะขบวนการตรวจสอบภายในยังไม่สามารถตอบสังคม ผู้ประกันตนที่ต้องการรับรู้ข้อมูลได้ เพราะยังมีข้อจำกัดมาก มีความล่าช้าในการตรวจสอบ

กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่ มีเงินจำนวนมหาศาล แต่การบริหารที่ไม่มีส่วนร่วม และระบบตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ ทำให้ผู้ประกันตนต้องก้าวออกมาเรียกร้อง และร่างกฎหมายประกันสังคมกันอีกครั้ง เพื่อการบริหารกองทุนอย่างมีประ สิทธิภาพ

นอกระบบควรเข้าระบบประกันสังคมน้อยเพราะส่งสมทบลำบาก

นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ (กทม.) กล่าวว่า แรงงานนอกระบบขณะนี้ได้มีการรณรงค์ให้สมัครเข้าสู่ระบบประกันสังคมในมาตรา 40 ซึ่งเดิมมีข้อจำกัดรัฐไม่มีส่งเงินสมทบ  และจ่ายเงินสมทบสูงมาก สวัสดิการนิดเดียว ไม่มีการประชาสัมพันธ์ ทำให้ไม่สร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่เมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เข้ามามีการปรับระเบียบใหม่การเก็บเงินสมทบ ปรับเรื่องสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งวันนี้มีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบจำนวนหลายแสนคน

ข้อจำกัดขณะนี้คือ หากจะให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบต้องมีการหาสมาชิกให้ได้ 1 ล้านคน แต่ช่องทางการจ่ายเงินสมทบที่ผู้ประกันตนต้องไปจ่ายที่สำนักงานประกันสังคมยากมาก เพราะแรงงานนอกระบบนั้นอยู่ทั่วประเทศในชนบท เช่นเดินทางจากลำน้ำพองมาจ่ายในตัวจังหวัดเสียค้าเดินทางประมาณ 400 บาท เพื่อจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 100 บาทเป็นต้น เมื่อเครือข่ายแรงงานนอกระบบเสนอให้มีการจ่ายเงินสมทบ ณ ที่ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือมีการรวมกลุ่มก็จะทำไม่ได้ขัดต่อข้อบังคับทำให้ยังมีข้อจำกัดต่อการเข้าสู่ระบบแน่นอน

การที่ตนเห็นร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้มีการจ่อรออยู่รัฐสภานั้น การร่วมกันกับคสรท.ในการผลักดันจึงอยากให้มีการนำร่างพ.ร.บ.เข้าพิจารณาเสียที โดยเสนอให้รัฐบาลหยุดร่างพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติไว้ก่อนจะได้หรือไม่

ผู้ประกันตนมาตรา 39 ร้องสปส.เตือนหากขาดส่งสมทบ

นางสาวอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายผู้ประกันตนมาตรา 39 กล่าวว่า การประกันสังคมนั้นอยากให้มีการคุ้มครองตั้งแต่แรกเข้าของผู้ประกันตน และที่มีการกำหนดเรื่องอายุไว้ เช่น สิ้นสุดในอายุ 60 ปี กรณีแรงงานนอกระบบ ทำให้เกิดข้อจำกัดเข้าระบบไม่ได้ แม้อยากเข้า การที่คนงานที่อายุมากๆและเคยเป็นผู้ประกันตนและต้องขาดส่งไปช่วงที่ไม่มีเงินส่ง อยากให้มีการนำมาพิจารณาคืนสิทธิให้เขา กลับมาเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 อีกครั้ง

การที่มีการกำหนดว่า ผู้ประกันตนที่ออกจากงานและออกจากมาตรา 33 เพื่อเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 39 แต่เมื่อการขาดส่ง 3 เดือน เกินเพียง 1 วัน ก็ไม่ได้ถูกตัดสิทธิทันที เขาตกงานไม่มีเงินเก็บสมทบ 2 เท่าแล้วจะให้มีเงินส่งตลอดได้อย่างไร เมื่อเขามีเงินอยากกลับเข้าสู่ระบบจะมีการแก้ให้สิทธิกลับเข้าสู่ระบบด้วย และการที่ประกันสังคมไม่ได้มีการเตือนทำให้ผู้ประกันตนที่ขาดส่งรับรู้ว่าขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องส่งเงินสมทบแล้ว หรือบางครั้งผู้ประกันตนส่งผ่านเงินสมทบผ่านธนาคารไม่ทราบว่าเงินหมด ทำให้ขาดส่งเป็นต้น ควรมีวิธีการเตือนผู้ประกันตนด้วย

การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กลูกคนงาน ซึ่งเป็นผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคม (สปส.)ควรมีการให้การสนับสนุนศูนย์เลี้ยงเด็กของคนงานด้วย โดยถือเป็นภารกิจหนึ่งของสำนักงานประกันสังคมในการที่จะเข้ามาดูแลสวัสดิการของผู้ประกันตน

 

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน