รำลึก 19 ปี เคเดอร์ กับความปลอดภัย คือหัวใจของคนงาน

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2555 กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดงานรำลึก 19 ปี โศกนาฏกรรมเคเดอร์  ที่ศาลาวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง  จ. สมุทรสาคร มีผู้เข้าร่วมงานกว่า  140  คน  ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ และทำบุญถวายสังฆทานแด่พระสงค์ โดยมีนายอนุสร  ไกรวัฒน์นุศร  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เป็นประธานในพิธี หลังจากนั้นคนงานได้ร่วมกันร้องเพลงคิดถึงตุ๊กตาและร่วมวางดอกไม้รำลึกถึงเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์

นายอนุสร  ไกรวัฒน์นุศร  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  หลังจากพิธีวางดอกไม้รำลึก ได้กล่าว แสดงความเสียใจกับญาติ ๆ ของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ว่า กรณีความไม่ปลอดภัยจนเกิดไฟไหม้โรงงานในครั้งนั้นไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานระเบิด สารเคมีรั่วไหลในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  จังหวัดระยอง  เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน  12  คน และบาดเจ็บอีก 100กว่าคน  ถึงแม้ว่า การเสียชีวิตของแรงงานจะมีจำนวนน้อยกว่าไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอย่างแน่นอน อุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ทุกเวลา  แต่คนที่จะช่วยได้ดีที่สุดคือ ตัวพวกเราทุกคน พบเห็นสิ่งไหนไม่ปลอดภัยให้แจ้งบริษัททันที

นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  กล่าวว่า  ย้อนหลังไปเมื่อปี 2536 วันนั้นยังคงจำได้กับภาพเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์  ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 188 ศพ ระยะเวลา  19  ปีที่ผ่านมาจากการสูญเสียบุคคลในครอบครัวอันเป็นที่รักและหวงแหนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับมา

ที่ผ่านมาขบวนการแรงงานได้มีการเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเมื่อปี 2540  และเคลื่อนไหวผลักดันให้มีพระราชบัญญัติความปลอดภัย  อาชีวอนามัย  และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ซึ่งปัจจุบันก็ยังรณรงค์เคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 10  พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ 

นายทวีป  กาญจนวงศ์  ที่ปรึกษากลุ่มสหภาพแรงงาน อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวเสริมว่า ผลพวงที่ได้จากการเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ คือการที่ขบวนการแรงงานร่วมเดินขบวนรณรงค์ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติความปลอดภัย  อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2554 ที่ผ่านมาซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งร่างพ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกฤษฎีกา

หลังจากนั้นมีการจัดเวทีเสวนา  “บทเรียนโศกนาฏกรรมเคเดอร์ 19 ปี กับการต่อสู้เรื่องความปลอดภัยของคนงาน”

นางรัศมี  สุราเอม อดีตคนงานเคเดอร์ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงาน กล่าวว่า  “ตอนนั้นอายุ 19 ปี ทำงานในแผนกซอฟทอยด์ ในวันเกิดเหตุทำงานอยู่ชั้น 3 มีเพื่อนจากชั้น 1 วิ่งมาบอกว่า เกิดไฟไหม้ทุกคนต่างวิ่งหนีเอาตัวรอด ประตูเข้าออกมีแค่ประตูเดียว ตนจึงตัดสินใจกระโดดลงทางหน้าต่างชั้น 3 กระแทกกับพื้นอย่างแรง ที่ร้ายไปกว่านั้นมีคนกระโดดตามลงมาทับตนส่งผลให้เดินไม่ได้หลายปี  ช่วงที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้จนถึงวันนี้ ตอบได้เลยว่า  คำว่า ความสบายไม่มีเลย  ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางก็ยากลำบาก แต่ก็ได้ไปเรียนต่อทางกฎหมายช่วงที่เรียนก็ไปมอเตอร์ไซด์บ้าง และเรียนไปทำงานไปด้วย  หาค่าเทอมส่งเสียตัวเองเรียน  หลังจากเรียนจบเนติบัณฑิตเมื่อปี  2550 ได้ไปสมัครสอบเป็นผู้พิพากษา ซึ่งตอนนั้นยังนั่งรถเข็นอยู่ ก็มีคนมาถามว่า เท้าเป็นอะไรมา  และพูดว่า สภาพร่างการแบบนี้ไม่อนุญาตให้สมัครสอบเป็นผู้พิพากษาได้ เนื่องจากว่า ผู้ที่จะทำตำแหน่งนี้ได้ร่างกายจะต้องไม่พิการ ดิฉันก็ไม่ได้ตอบอะไรและปัจจุบันดิฉันทำงานในตำแหน่งนิติกร ที่เทศบาลจังหวัดมหาสารคาม”

นายชาญ  สระทองแป้น อาชีพขับรถสามล้อรับจ้างสามีของคนงานเคเดอร์ที่เสียชีวิต  กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา  19  ปีที่ผ่านมาผมสะกดคำว่า  “ความสุข”  ไม่ได้เลย  ผมไม่เคยมีความสุขเลย  ก่อนที่ภรรยาผมจะเสียชีวิตครอบครัวผมมีความสุขมาก  หลังจากที่ภรรยาผมเสียชีวิตไป  ผมต้องทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่  ผมลำบากมาก  และผมก็มีบุตรชายหนึ่งคน  แต่ผมก็ภูมิใจที่ลูกชายผมเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนทำให้ผมมีความเพียรพยายามที่จะทำทุกอย่างเพื่อเขา และผมสอนลูกว่า  ผมไม่มีอะไรจะให้ถ้าลูกตั้งใจเรียนผมก็จะตั้งใจทำงานส่งให้เขาเรียนจนจบและเขาก็น้อมรับคำสอนของผม  แต่ตอนนี้ผมสบายใจขึ้นเยอะเลยเพราะลูกชายของผมได้ศึกษาเรียนจบชั้นปริญญาตรีและได้เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานด้านคอมพิวเตอร์มีเงินเดือนเป็นของตนเองแล้ว”

นางสมบุญ  สีคำดอกแค  ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า “ประสบการณ์การต่อสู้มากว่า 19  ปีของตน ดวงวิญญาณของคนงานที่เสียชีวิตก็เป็นตัวจุดประกาย  เมื่อก่อนสมัย  19  ปีที่แล้ว ถ้ากลุ่มผู้ป่วยฯได้รวมตัวกัน  200  กว่าคน ไปเรียกร้องสิทธิกรณีป่วยจากการทำงานด้วยผลกระทบจากฝุ่นฝ้ายถูกตราหน้าว่า พวกเห็นแก่เงินอยากได้แต่เงินของนายจ้าง  ไม่มีการป่วยจริง  ไม่ได้สูญเสียปอดจริง  เรารู้สึกว่า เราถูกละเมิดสิทธิและถูกดูถูกความเป็นมนุษย์ว่า คนงานต้องเห็นแก่เงิน เห็นแก่ได้ แต่เงินที่ได้มาไม่คุ้มกับการสูญเสียปอดไปเลยแม้แต่น้อย  มันเกิดจากหน่วยงานภาครัฐไม่ยอมรับความจริงเสียมากกว่า ถ้าเขายอมรับความจริงไม่ปกป้องนายทุนมากเกินไปกคงจะส่งผลให้คนงานไม่ต้องมาสูญเสียปอดไปจนถึงทุกวันนี้  และร่วมกันแก้ไขปัญหาเกิดความปลอดภัยในการทำงานดีกว่าปัจจุบันนี้

นางสาวอรุณี  ศรีโต ประธานสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา  (สชพ.)กล่าวว่า “ได้เข้าไปพบกับนายบรรหาร  ศิลปอาชา ซึ่งตอนนั้นเป็นนายกอยู่ ได้ประกาศให้วันที่ 10  พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ  และก็ได้เกิดสัปดาห์ความปลอดภัย เพื่อให้คนในสังคมได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยจากการทำงาน  พวกเราต้องตื่นตัวเน้นการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย ต้องช่วยกันพูด ต้องช่วยกันเคลื่อนไหวรณรงค์  ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ลืมเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเป็นการถ่ายทอดเชิงประวัติศาสตร์ และสร้างคุณค่าให้แก่คนต่อไปได้รับรู้  หลักความปลอดภัยในการทำงาน  การรณรงค์เรื่องความปลอดภัยเพื่อไม่ให้เกิดการลืมนั่นเอง  ปัจจุบันนี้สื่อมวลชนก็พลอยลืมสัปดาห์วันแห่งความปลอดภัยไปเหมือนกัน  เมื่อก่อนนี้มากันเยอะนะแต่ทุกวันนี้ไม่เห็นมีเลย  ก็ต้องช่วยกันว่าเราต้องไม่ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกันเราก็ต้องมีมาตรการความปลอดภัย”

รศ.มาลี  พฤกพงษ์เสวลี  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  ความใกล้ชิดที่ได้ทำงานร่วมกับศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ท่านบอกว่า เรื่องนี้ต้องให้ท่านรัฐมนตรีขึ้นมาตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องของเคเดอร์  อาจารย์นิคมก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา  หลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ก็ได้เรียนรู้อะไรมากมาย  มีการประชุมกับพวกวิศวกรที่มาจากเอไอซี  เขาก็บอกว่าอุณหภูมิของโรงงานเคเดอร์นี้มัน 200 กว่าองศา ประมาณ 230 องศา และตอนนั้นกฎหมายเรื่องความปลอดภัยของเรามันไม่มีการกำหนดว่าเหล็กเส้นอาคารนี้ต้องหุ้มฉนวนเพราะฉะนั้นเมื่อมันไม่มีการหุ้มฉนวนอุณหภูมิ 200  กว่าองศามันก็เลยทำให้ตึกพังลงมา ซึ่งกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ได้ให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัยในสถานประกอบการ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นตลอดเวลา และให้ช่วยกันรณรงค์เรื่องความปลอดภัยไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนที่ผ่านมาอีก รวมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจตรวจสอบสถานประกอบการให้ได้มาตราฐานเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น

เกศแก้ว  ทะเบียนธง  นักสื่อสารแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่  รายงาน