เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา เพื่อให้ความเห็นชอบพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบและยังดำเนินการไม่เสร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 วรรคสอง ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอรวม 24 ฉบับ 1 ใน 24 ฉบับนั้น คือ ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ….ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณานานกว่า 3 ชั่วโมง และได้ลงมติเห็นชอบรับรองด้วยเสียงเอกฉันท์ 511 เสียง หลังจากนั้นร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะถูกเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติ คือ การบรรจุวาระเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการเห็นชอบในวาระ 1 ในการเปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติสมัยหน้า คือ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2554 – 18 เมษายน พ.ศ.2555 ต่อไป ซึ่งจะเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาตรากฎหมายโดยเฉพาะ ไม่สามารถเสนอญัตติทั่วไปได้ (29 พฤศจิกายน 2554 – 20 ธันวาคม 2554 เป็นช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ)
สาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ
20 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเห็นชอบให้เสนอกฎหมายของภาคประชาชนจำนวน 9 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. ที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ เป็นหนึ่งในกฎหมายดังกล่าว ร่างกฎหมายฉบับนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์เครือข่ายพันธมิตรด้านแรงงาน นำโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ได้ยื่นร่างพรบ.ฉบับนี้ พร้อมกับจำนวนรายชื่อผู้เสนอในขณะนั้นจำนวน 14,500 ชื่อ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรได้มอบหมายให้นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานรัฐสภา และนายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร มารับร่างกฎหมายและแบบเสนอชื่อดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีประเด็นสำคัญที่แตกต่างจาก พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ถึง 7 ประการ คือ
(1) สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ (องค์การมหาชน) อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี โดยมีเลขาธิการประกันสังคมที่มาจากการสรรหา และมีการระบุอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน
(2) การบริหารงานกองทุนประกันสังคมผ่านรูปแบบการมีคณะกรรมการชุดต่างๆ ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีกระบวนการหรือกลไกการตรวจสอบการบริหารงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เอื้อต่อประโยชน์ผู้ประกันตน เช่น มีการเพิ่มเติมคณะกรรมการการลงทุน , คณะกรรมการการตรวจสอบ เพิ่มขึ้นมาอีก 2 ชุด เป็นต้น
(3) ผู้ประกันตน คู่สมรส และบุตร สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ทุกสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม รวมถึงในกรณีฉุกเฉิน ล่าช้า อาจเกิดอันตรายกับผู้ประกันตน ก็สามารถใช้บริการในสถานพยาบาลนอกเหนือจากที่เป็นคู่สัญญาได้ โดยสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยตรง
(4) การขยายกลุ่มผู้ประกันตนในมาตรา 33 ให้ครอบคลุมไปถึงผู้รับงานไปทำที่บ้าน ตามพรบ.ผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 และคนทำงานบ้านที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย รวมถึงการขยายขอบเขตคำว่า “ลูกจ้าง” ให้ครอบคลุมถึง “แรงงานชั่วคราวของภาครัฐ”
(5) สิทธิประโยชน์ของทดแทนของผู้ประกันตน ไม่ว่าจะอยู่ในมาตราใด (มาตรา 33 , 39 ,40) ให้ครอบคลุมทั้ง 7 กรณี หรือสอดคล้องกับบริบทความต้องการของผู้ประกันตนให้มากที่สุด คือ เจ็บป่วย เสียชีวิต คลอดบุตร ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
(6) ผู้ประกันตนทุกคน (ไม่ว่าจะอยู่ในมาตราใด หรือทำงานในสถานประกอบการขนาดใด) มีสิทธิเลือกตั้งหรือเสนอชื่อตนเองเข้ารับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ลักษณะ 1 คน ต่อ 1 เสียงได้
(7) การเพิ่มบทลงโทษนายจ้างให้มากขึ้นกรณีปฏิบัติตามในเรื่องต่างๆ เช่น ไม่ส่งเงินสมทบ , ไม่จัดให้มีทะเบียนผู้ประกันตน
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2554 ที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการวาระ 1 เห็นชอบร่าง พรบ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ทั้งฉบับคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอรวม 4 ฉบับ) และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 36 คน (ทั้งนี้มีตัวแทนของผู้ใช้แรงงาน 2 คน ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ คือ นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และนายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์) โดยถือเอาร่างพรบ.ของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา จนในที่สุดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบ ร่าง พรบ.ประกันสังคม ฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว และได้ส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ให้วุฒิสภาพิจารณาต่อตามขั้นตอนทางนิติบัญญัติ จนในที่สุดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติรับหลักการวาระ 1 เห็นชอบกับร่างกฎหมาย และแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 25 คน เพื่อพิจารณาร่างพรบ.ให้แล้วเสร็จ
แต่เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของวุฒิสภา เพราะมีการยุบสภาในวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้จึงจำเป็นต้องให้รัฐบาลใหม่นำเสนอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาต่อ ซึ่งพบว่า ร่างพรบ.ฉบับนี้ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้หยิบยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเสนอต่อรัฐสภา จึงถือว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมิได้รับการพิจารณาต่อ และเหลือเพียงร่างพรบ.ของผู้ใช้แรงงาน ฉบับที่เสนอโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย เพียงฉบับเดียวเท่านั้นที่จะถูกพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
นอกจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ…. แล้ว ยังได้เห็นชอบกฎหมายอีก 23 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2554 ด้วยเช่นกัน คือ
1. ร่างพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ….
2. ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ….
3. ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่…) พ.ศ….
4. ร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่…) พ.ศ….
5. ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองภูเก็ต พ.ศ….
6. ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองเพชรบุรี พ.ศ. …
7. ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองนครสวรรค์ พ.ศ. …
8. ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่…) พ.ศ. …
9. ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาศาลแขวง (ฉบับที่…) พ.ศ. …
10. ร่างพ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. …
11. ร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์แทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่…) พ.ศ. …
12. ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. …
13. ร่างพ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …
14. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. …
15. ร่าง พ.ร.บ.สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ. …
16. ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. …
17. ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ. …
18. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. …
19. ร่างพ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ …) พ.ศ. …
20. ร่างพ.ร.บ.ตั้งจังหวัดฝาง พ.ศ. …
21. ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. …
22. ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. …
23. ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. …
ดูร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (ฉบับ 14,500 รายชื่อ) ได้ในไฟล์ที่แนบมา (ร่างพรบ.ประกันสังคมฉบับ 14000 ชื่อ)
ดูสรุปการประชุมร่วมของ 2 สภาได้ที่ (บัณทึกการประชุมร่วมรัฐสภาครั้งที่ 6-112854)
หมายเหตุ : รัฐธรรมนูญมาตรา 153 วรรค 2 กำหนดว่า หากมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลใหม่ต้องร้องขอต่อรัฐสภาภายในหกสิบวัน นับแต่วันประชุมสภาครั้งแรก เพื่อให้นำกฎหมายที่ค้างพิจารณาจากสภาที่แล้วมาพิจารณาต่อ หากรัฐบาลไม่ร้องขอให้นำกฎหมายฉบับใดขึ้นมาพิจารณาต่อ กฎหมายฉบับนั้นก็จะเป็นอันตกไป