เสนอ 5 มาตรการ เยียวยาผลกระทบค่าแรง

 

รัฐบาลเตรียมหามาตรการบรรเทาผลกระทบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
 
ข่าว Thai PBS ออกอากาศวันที่ 6 มกราคม 2556 เวลา 08:05 
การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ทำให้โรงงานและสถานประกอบการหลายแห่ง เริ่มทยอยปลดพนักงานที่ด้อยคุณภาพและไม่คุ้มกับค่าจ้างที่ต้องปรับขึ้น ขณะที่รัฐบาลเตรียมพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบ และช่วยเหลือผู้ประกอบการในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า
จากผลสะท้อนจากผู้ประกอบการในหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ยอมรับผ่านรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน โดยชี้แจงว่ารัฐบาลได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบแล้ว และเชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่สามารถปรับตัวได้ โดยรัฐบาลจะเน้นการดูแลผู้ประกอบการ เน้นลดผลกระทบค่าใช้จ่าย เพิ่มศักยาภาพและเพิ่มรายได้พร้อมช่วยเหลือสภาพคล่องเพื่อทำให้ผู้ประกอบการประคับประครองธุรกิจได้ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงาน ระบุว่าจะนำ 5 มาตรการ เสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 มกราคม นี้ ประกอบไปด้วยการลดค่าทำเนียมห้องพักโรงแรมลงร้อยละ 50  จากปัจจุบันที่จัดเก็บร้อยละ 80 /ปี เป็นเวลา 3 ปี จัดคลีนิคพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานศึกษาและสถานประกอบการ เพิ่มมาตรการค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ การจัดคาราวานสินค้าราคาถูกให้กับลูกจ้าง และการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2 ทั้งนี้คราดว่ามาตรการทั้งหมดจะช่วยธุรกิจให้เข้มแข็งได้และในเดือนมีนาคมจะมีความชัดเจนถึงการประเมินผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ
  
บรรดาผู้ว่างงานที่ถูกเลิกจ้างที่ทยอยสมัครเข้ารับการฝึกพัฒนาฝีมือแรงงานด้านช่างแผนกต่างๆ เช่น ที่ศูนย์พัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อพัฒนาฝีมือและนำไปประกอบอาชีพอิสระ ขณะที่โณงงานและสถานประการหลายแห่งทยอยปลดคนงานทำงานไม่คุ้มกับค่าแรงที่ต้องปรับขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการบางแห่งนั้นก็ต้องปรับตัว ที่โรงหล่อเครื่องทองเหลืองขนาดเล็กใน ต.นาสะใน อ.เมือง จ.ยโสธร กว่า 7 แห่ง ปรับเปลี่ยนการจ้างแรงงานรายวันเป็นการจ้างเหมารายชิ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้แรงงานต้องเพิ่มจำนวนการผลิตเพื่อให้มีรายได้ต่อวันเพิ่มขึ้น สภาอุตสาหกรรม จ.ตาก เรียกประชุมคณะกรรมการและสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อหารือผลกระทบเนื่องจากผู้ประกอบการอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติได้เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นและต้องแข่งกับต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า