รัฐบาลปู เสนอขึ้นค่าจ้าง300 บาท แบบกระชับพื้นที่

นโยบายเมื่อวันที่ 23-24  สิงหาคม  2554  ดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000  บาท อย่างสอดคล้องกับผลิตภาพและประสิทธิภาพของบุคลากร รวมทั้งมีมาตรการเพื่อลดภาระแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้แรงงานและบุคลากรสามารถดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตที่ดี  
 
วันที่    25   สิงหาคม   2554   เวลา  19.00 น. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้รับการประสานจากนายสมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์ ให้เข้าพบ นายกิตติรัตน์  ณ  ระนอง รองนายกรัฐมนตรี  ณ โรงแรมปริ้นเซส     เพื่อหารือเรื่องค่าจ้าง  ซึ่งนำโดยนายชาลี  ลอยสูง  นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย  และคณะอีก  12 คน  การพบปะพูดคุยกันครั้งนี้บรรยากาศเป็นแบบสบายๆ  โดยเริ่มจากการให้นายสมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์ปลัดกระทรวงแรงงานฯ  ได้พูดถึงเรื่องนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้างว่า ได้มีการประชุมปรึกษาหารือกับฝ่ายนายจ้าง เพื่อให้นายจ้างเห็นด้วยกับนโยบายการปรับค่าจ้าง  300  บาท ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้หาเสียงไว้  แต่ทางนายกฯ  หญิงคนแรกของประเทศไทย นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ได้แถลงว่าค่าแรง  300  บาท ยังน้อยไปสำหรับปัจจุบันนี้  และกล่าวว่าการขึ้นค่าจ้างถ้าจะประกาศขึ้น  300  บาท เท่ากันทั่วประเทศ เกรงจะเป็นปัญหาทำให้คนงานตกงานกันมากขึ้น ก็เลยต้องหาแนวทางให้บริษัทฯใหญ่ๆ นำร่องก่อน ตอนนี้ที่ทำได้ก็คือ ไปนวดขาใหญ่ก่อนแล้ว ค่อยมานวดขาเล็ก และต้องมีการกระชับพื้นที่ด้วยในการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท 
 
ด้านนางสาววิไลวรรณ  ได้ตั้งคำถามว่า ตามที่มีข่าวออกมาว่าภายในวันที่   1  มกราคม  2555  จะขึ้นค่าจ้าง  300  บาท เท่ากันทั่วประเทศจริงหรือไม่   ได้รับคำตอบจากรองนายก ว่า “อยากจะประกาศ”  แต่ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้  เนื่องจากต้องดูรายละเอียดให้ดีก่อน 
ทั้งนี้รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่าอย่างไรก็ตาม  ก็อยากให้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ไม่อยากไห้คนงานผิดหวังในประเด็น   300  บาท เพราะคะแนนเสียงส่วนหนึ่งคนงานเป็นผู้ลงคะแนน ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของพรรคที่หาเสียงไว้ ก็ไห้ทำตามที่หาเสียงไว้
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เน้นย้ำกรณีประเด็นปัญหาแรงงานยังมีอีกมากมายที่ยังรอการแก้ไข อยากให้มีเวทีระหว่างแรงงานกับรัฐบาลในการรับฟังปัญหาแรงงาน  เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน   และฝากเรื่อง การปฏิรูปกฏหมายประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ รวมถึงการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87และ 98 อยากให้รัฐบาลสนับสนุน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้
 
 

                                                                นางสาวอรัญญา    ไชยมี   นักสื่อสารแรงงานศูนย์อ้อมน้อย – อ้อมใหญ่