รัฐจัดประชาพิจารณ์อนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ98 เตรียมให้สัตยาบัน

การเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ในวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2555 ณ ห้องประชุมไสว สุทธิพิทักษ์ อาคาร 6 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพฯ จัดโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานแรงงานสัมพันธ์ ร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน

นางณัชชา สุนทรพรรค นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98 ว่า ความเป็นมาของการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สัตยาบัน นั้นได้มีการเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในวันแรงงานแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2535  การเคลื่อนไหวเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ98 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ถึงปัจจุบัน

องค์กรไตรภาคีให้ข้อเสนอแนะในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การกำหนดทิศทางการทำงานของกรมฯ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2553 ว่า ขอให้พิจารณารับรองอนุสัญญาILOทั้ง 2 ฉบับเนื่องจากกระแสการเปลี่ยนแปลงโลก กรณีการเปิดเขตการค้าเสรี และการเป็นประชาคมอาเซียน เพื่อป้องกันปัญหา และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในการแข่งขันทางการค้าในอนาคตของประเทศ และสมาพันธ์แรงงานโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และสำนักงานประจำประเทศไทย และสหพันธ์แรงงานโลก ได้ยื่นหนังสือข้อตกลงร่วมระหว่างหน่วยงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILOทั้ง 2 ฉบับ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว

อนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ98 เป็นอนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่อยู่ในหมวดเสรีภาพในการสมาคม และเป็น 2 ใน 8 ของอนุสัญญาพื้นฐานที่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาพื้นฐานแล้ว 5 ฉบับ ได้แก่ 1. อนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ 2. อนุสัญญาฉบับที่ 105 ว่าด้วยการยกเลิกแรงงานบังคับ 3. อนุสัญญาฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน 4. อนุสัญญาฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำ และ5. อนุสัญญาฉบับที่ 182 ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก ปัจจุบันมีกระเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 จำนวน 150 ประเทศ และให้สัตยาบันฉบับที่ 98 จำนวน 160 ประเทศ จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 183 ประเทศ

สาระสำคัญของอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ โดยอนุสัญญาฉบับที่ 87 มีสาระสำคัญ ดังนี้ คนงาน และนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการจัดตั้งสมาคม และรวมตัวกันได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องได้รับการอนุญาตล่วงหน้าจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรของคนงาน และนายจ้าง สามารถมีธรรมนูญ และข้อบังคับของตนเอง สามารถเลือกผู้แทนของตนเองได้โดยเสรี รวมทั้งบริหารจัดการ และกำหนดกิจกรรม และแผนงานของตนเองได้ โดยที่หน่วยงานของรัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ อันจะเป็นการยุติ หรือจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของคนงาน และองค์กรนายจ้าง และองค์กรของคนงาน และองค์กรนายจ้างต้องมีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรต่างๆทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ

การใช้สิทธิของคนงาน และนายจ้าง และองค์กรของกลุ่มคนเหล่านี้ ต้องให้การเคารพกฎหมายของท้องถิ่น ซึ่งกฎหมายดังกล่าว จะต้องไม่มีผลเสีย หรือนำไปใช้ให้เกิดผลเสียต่อหลักประกันที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฉบับนี้

ขอบเขตของอนุสัญญานี้ บังคับใช้กับนายจ้าง และลูกจ้างทุกคนทั้งในภาครัฐ และเอกชน รวมถึงข้าราชการ และการที่จะนำอนุสัญญาฉบับนี้ใช้บังคับกับกองกำลังทหาร หรือตำรวจ จะต้องมีการพิจารณากำหนดไว้ในกฎหมายของประเทศนั้น

สาระสำคัญของอนุสัญญาILO ฉบับที่ 98 คือ 1.  คุ้มครองคนงานจากการกระทำอันเป็นการเลือกปฏิบัติ ในการจ้างงาน เช่น ทำให้คนงานไม่เข้าร่วมสหภาพแรงงาน หรือสละการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 2. คุ้มครองคนงานจากการถูกไล่ออกจากงาน หรือมีอคติต่อคนงานด้วยสาเหตุที่ เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน 3. คุ้มครององค์กรของคนงาน และองค์กรของนายจ้าง จากการกระทำอันเป็นการแทรกแซง ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงในด้านการก่อตั้งองค์การ การปฏิบัติงาน หรือการบริหาร หรือจากการกระทำใดๆอันเป็นการมุ่งสนับสนุนให้องค์กรของคนทำงนอยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง หรือองค์กรของนายจ้าง และ4. ส่งเสริมให้มีการพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากกลไกการเจรจาโดยสมัครใจระหว่างนายจ้าง หรือองค์กรนายจ้าง กับองค์กรของคนงานในเรื่องกฎเกณฑ์ และเงื่อนไขของการจ้างงาน 5. ขอบเขตของอนุสัญญาฉบับนี้ ไม่ใช้บังคับกับข้าราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับบิหารการจ้างงาน 6. การนำหลักการของอนุสัญญาฉบับนี้ ไปบังคับใช้กับกองกำลัง และตำรวจให้เป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศนั้นๆ

พันธะของประเทศไทยภายหลังการให้สัตยาบันคือ 1 ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาในทุกมาตรา และในทุกถ้อยคำที่เป็นเงื่อนไข 2. แก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับอนุสัญญา รวมถึงแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอื่นๆที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว 3. เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายตามข้อ 2 แล้ว จะต้องสามารถปฏิบัติได้จริงภายหลังการให้สัตยาบัน เพราะหากปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วน ประเทศไทยจะต้องจัดทำรายงานชี้แจงทุกๆ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ให้สัตยาบัน หรือถูกประณามจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และประเทศอื่นๆ 4. หากมีการให้สัตยาบันไปแล้ว จะยังไม่สามารถยกเลิกการให้สัตยาบันได้จนกว่าจะครบ 10 ปี นับแต่วันที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้

ผลดีของการให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับ คือ 1.  เกิดการขับเคลื่อนการเรียนรู้ และพัฒนาในระบบแรงงานสัมพันธ์ของประเทศไทย อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็ง และสร้างอำนาจต่อรองบนพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย 2. สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 64 และ 3. เป็นการแสดงท่าทีของประเทศไทยต่อประชาคมโลกว่า ประเทศไทยมีกฎหมาย และแนวปฏิบัติภายในประเทศที่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และพร้อมที่จะปรับปรุง และพัฒนากฎ และแนวปฏิบัติภายในประเทศทัดเทียมกับมาตรฐานสากล

ผลกระทบจาการให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งมีการพูดถึงความมั่นคง สิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยสรุปคือ 1. การเปิดเสรีให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งองค์กรแรงงานของตนได้ เป็นประเด็นปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ จำเป็นต้องมีการศึกษา และพิจารณาร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเชิงนโยบายแห่งรัฐ และการเตรียมมาตรการรองรับปัญหาในสังคมที่อาจตามมา 2. อาจเกิดความขัดแย้งในวงการแรงงานมากขึ้น จากเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งองค์กร ดังจะเห็นได้ว่า แม้ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ และมีการควบคุมการจัดตั้งองค์กรด้านแรงงาน โดยการจดทะเบียนองค์การแรงงาน ยังมีการจัดตั้งสภาองค์การแรงงานของทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างถึง 25 สภา 3. การให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ มีผลกระทบ และมีผลผูกพันกับนายจ้าง ลูกจ้าง หน่วยงานภายนอก รวมทั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นมากกว่า อนุสัญญาฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายนอกเพียงบางส่วน ดังนั้น การพิจารณาให้สัตยาบัน โดยปราศจากการยอมรับจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกระทรวงแรงงาน อาจถูกโต้แย้งคัดค้านได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในสังคมไทย จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา และความรอบคอบ มิฉะนั้นการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีแก่สังคม และวงการแรงงานของประเทศ

การดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้สัตยาบัน อนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ98 โดยเมื่อปี 2546 ได้มีการจัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาวิจัยข้อเท็จจริงและความพร้อมของประเทศไทยด้านกฎหมาย การบริหารจัดการ แนวทางในการปรับปรุงกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องรวมทั้งศึกษาทัศนคติ ความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่มอาชีพ ผลการวิจัยดังกล่าวได้สรุปว่า ควรชะลอการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับออกไปก่อนเพื่อให้มีการศึกษาผลดี ผลเสีย และผลกระทบในทุกด้านให้ครอบคลุม

ปี 2551 ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการแรงงานสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญา การดำเนินการปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และกฎหมายแรงงานรับวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จัดทำบันทึกหลักการ และเหตุผลประกอบการพิจารณายกร่างแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพื่อนำเข้าสู่การนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ

เมื่อปี 2552 มีการจัดทำการสำรวจความคิดเห็นไปยังหน่วยงานของภาครัฐเพื่อให้ความเห็นต่อการให้สัตยาบัน ผลสำรวจที่ได้รับข้อมูลจากหน่วยงาน 66 แห่ง สรุปได้ว่า ภาครัฐส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ประเทศไทยให้สัตยาบัน จะไม่มีปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานและเห็นว่าประเทศไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อให้สัตยาบันซึ่งประกอบด้วยทุกฝ่ายทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ข้าราชการ นักวิชาการ มีหน้าที่พิจารณาแนวทางการให้สัตยาบัน และให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน ตลอดจนดำเนินการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้สัตยาบัน มีการจัดประชุม และที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานเสนอเรื่องการให้สัตยาบันILOทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี

ปี 2553 ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2553 กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เสนอเรื่องการให้สัตยาบัน พร้อมร่างการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ทั้ง 2 ฉบับ ให้กับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการให้สัตยาบัน และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 เห็นชอบอนุสัญญาILO ทั้ง 2 ฉบับ ให้เสนอเข้ารัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามมาตร 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก่อนดำเนินการให้สัตยาบัน พร้อมอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ให้ส่งสำนักงานกฤษฎีกาตรวจพิจารณา หลังจากนั้นจึงส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และต่อมาในวันที่ 22 ธันวาคม 2253 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ทั้ง 2 ฉบับให้คณะกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแก้ไขปรับปรุง ซึ่งในวันที่ 18 มกราคม 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้เสนออนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้นำเสนอรัฐสภาให้ความเห็นขอบ ก่อนให้สัตยาบัน ซึ่งวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554รัฐสภาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 190 โดยบัญญัติให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดประเภทกรอบการเจรจา ขั้นตอน และวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางฯ และให้ดำเนินการจัดให้มีกฎหมายลำดับรองตามมาตรา 190ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ครม.มีมติขอถอนอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวออกจากการพิจารณาของรัฐสภา ด้วยอ้างเหตุผลรอ ร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องก่อน เมื่อยุบสภา จึงนำเรื่องกลับมาที่กระทรวงแรงงาน

ความคืบหน้าปัจจุบันคือ ร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพ.ร.บ.แรงงานรับวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้สัตยาบัน อยู่ระหว่างการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 190 วรรคสามของรับธรรมนูญฯแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2)พุทธศักราช 2554 เกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งได้มีการรับฟังทั้งหมด 5 ภาค และได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 4 ครั้ง ได้แก่ ภาคเหนือ จัดที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่น ภาคตะวันออก จัดที่จังหวัดชลบุรี ภาคใต้จัดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และวันนี้จัดครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพมหานคร เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็น ตามขั้นตอนให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ ข้อสังเกตจากความเห็นของหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้สำรวจนั้น โดยสรุปคือ ผู้ใช้แรงงานเห็นว่าควรมีการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับได้เลย โดย ไม่ต้องรอให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนอความเห็นว่าต่อคณะรัฐมนตรีว่าควรให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับเช่นกัน แต่ก็มีบางหน่วยงานเห็นว่า ควรให้สัตยาบันเฉพาะอนุสัญญาฉบับที่ 98 เพียงฉบับเดียว เพราะการให้สัตยาบันฉบับที่ 87 จะมีผลกระทบถึงความมั่นคงของชาติ เนื่องมาจากการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติ และภาครัฐควรมีขั้นตอนในการควบคุมแรงงานข้ามชาติในลักษณะกำหนดเงื่อนไขด้านกฎหมาย โดยไม่ควรเปิดเสรีอย่างเต็มที่ และสมควรที่จะเก็บภาษีแรงงานข้ามชาติด้วย และหากจะให้สัตยาบันอนุสัญญาก็ไม่เป็นปัญหา เนื่องจากอนุสัญญาไม่เอื้อประโยชน์ต่อแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายจนกว่าจะมีการพิสูจน์สัญชาติให้ถูกต้องก่อน และถ้าปฏิบัติต่อเขาเยี่ยงมนุษย์ชาติทั่วไปก็จะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศเรา ซึ่งILO เห็นว่าแรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกกฎหมาย จะไม่ได้รับสิทธิในการรวมตัว และการเจรจาต่อรอง

บางหน่วยงานเห็นว่า ควรยกเว้นในการปฏิบัติตามอนุสัญญาสำหรับจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงด้านความมั่นคงของชาติที่สืบเนื่องจากการรวมตัวเป็นสมาคมโดยเสรีภาพของแรงงานข้ามชาติ โดยพิจารณาจังหวัดที่มีสถิติการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติเข้ามาจำนวนมากเป็นต้น ส่วนของILO แจ้งว่า การตั้งข้อสงวนสิทธิตามอนุสัญญานั้นอนุญาตให้มีการปฏิบัติตามอนุสัญญาในลักษณะ แตกต่างกันได้ ซึ่งอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 และค.ศ.1949 ซึ่งเป็นประเทศตะวันตกที่มีเมืองขึ้น จึงกำหนดให้ปฏิบัติตามอนุสัญญาในเมืองขึ้นนั้นๆ แตกต่างกันได้ แต่ประเทศไทยเป็นประเทศไม่มีเมืองขึ้น และจังหวัดต่างๆไม่ใช่เมืองขึ้นของไทย ดังนั้น ILO จะไม่ยอมรับการตั้งข้อสงวนสิทธิของไทย

ทางด้านความมั่นคงของประเทศ รัฐคงจะต้องออกกฎหมายควบคุมดูแลแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะการควบคุมการชุมนุมรวมตัวโดยเสรี ในสภาพปัจจุบันแรงงานข้ามชาติไม่ว่าจะเข้าเมืองถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย ศาลได้บังคับใช้กฎหมายไทยโดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรวมกลุ่มข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. …. ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนรอ สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของครม.ใช้บังคับเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญเท่านั้น ไม่รวมตำรวจ ทหาร ตุลาการ รัฐสภา และข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีเจตนารมณ์ คือ การรวมกลุ่มของข้าราชการพลเรือนสามัญต้องไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่กระทบต่อการบริหารสาธารณะ และไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง และเห็นควรที่จะได้เผยแพร่ความรู้ ข้อมูล ภายในสถานศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่คาดวาจะสำเร็จการศึกษาเพื่อให้รู้สิทธิหน้าที่ขั้นพื้นฐานในการรวมตัว และการคุยกับนายจ้างอย่างสันติวิธี ก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

โดยสรุปข้อสังเกตส่วนใหญ่ค้อนข้างกังวลเรื่องการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติ ที่อาจส่งผลกระทบ และมีความกังวลเรื่องการรวมตัวของข้าราชการที่อาจมีการนัดหยุดงานหรือกระทำการที่ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติได้

นายทิม เดอ เมเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ และกฎหมายแรงงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1919 การรับรองอนุสัญญาILO ฉบับที่87 และ98 ถือว่าเป็นหลักประกันให้กับลูกจ้าง นายจ้าง ในด้านการปกป้องสิทธิ เสรีภาพของทั้งสองฝ่าย ซึ่งหลังการให้สัตยาบันแต่ละประเทศจะกำหนดหลักเกณฑ์กฎหมายด้านแรงงานสัมพันธ์กันตามลักษณะของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไป

การที่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ นั้นก็มีอีกหลายประเทศที่ไม่ได้ให้สัตยาบันซึ่งมีกลุ่มประเทศที่เป็นสังคมนิยม และที่เคยเป็นสังคมนิยม เช่น เวียดนาม ลาว จีน ซึ่งยังไม่ได้ให้สัตยาบัน  เพราะลูกจ้างยังไม่สามารถที่จะเลือกตัวแทนของตนเองได้ แต่ต้องเข้าเป็นสมาชิก โดยรัฐบาลจะกำกับดูแล อีกกลุ่มคือ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ที่อ้างว่า ในประเทศมีคนหลากหลายชาติพันธุ์ ยังมีประเทศเกาหลีที่ไม่ได้ให้สัตยาบัน ประเทศเกาหลีใต้เป็นตลาดเสรี อ้างว่า มีการแบ่งแยกประเทศอาจทำให้ถูกแทรกแซงจากอีกฝ่ายได้  ยังมีประเทศใหญ่ๆเช่นอิหร่าน ที่ปกครองโดยระบบศาสนา  มีตัวอย่างในกลุ่มของOECD คือประเทศยักษ์ใหญ่ 34 ประเทศที่ร่ำรวย ทุกประเทศได้มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98 อาจมีข้อยกเว้นบ้าง แต่มีบางประเทศที่ไม่ให้สัตยาบัน เช่นสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนให้สัตยาบันฉบับที่ 87 แคนนาดาให้สัตยาบันฉบับที่ 98 หากถามประเทศเหล่านี้จะตอบว่าเขาได้ให้สิทธิ เสรีภาพและให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ สังคม ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า คำถาม เราควรเป็นประเทศที่ร่ำรวย หรือเป็นคนจนในประเทศรวย ดีกว่าเป็นคนรวยในประเทศจน 3 เท่า และคิดว่าควรให้สัตยาบันอนุสัญญาILOเพียงฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือว่าให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับ ประชาคมโลกเห็นว่าควรให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับเนื่องจากไม่สามารถแยกการเจรจาต่อรองออกจากสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวได้ และมีสิทธิในการนัดหยุดงาน ควรนำมาใช้ในการปกป้องสิทธิองสมาชิกในการต่อรอง ไมใช่ในการนำมาใช้ในการก่อความวุ่นวาย

จำเป็นต้องให้สัตยาบันหรือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีกำหนดให้สิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองอยู่แล้ว คำตอบ คือ จำเป็นต้อให้สัตยาบันด้วยเหตุผลว่าประชาคมโลกเรียกร้องให้สัตยาบัน เพื่อประชาคมโลกจะได้เข้ามามีส่วนร่วม และรัฐธรรมนูญ สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก 5 ปี 10 ปี หลักการรัฐธรรมนูญอาจถูกแก้ไข หากให้สัตยาบันแล้วก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับการติดตามบริบทที่ILO ยอมรับ คือ มีการสนับสนุนให้มีการรวมตัว เจรจาต่อรองกัน และมีการปฏิบัติตามอนุสัญญา

เรื่องแรงงานข้ามชาติจะทำอย่างไร?  แรงงานข้ามชาติมีทั้งที่มาแบบผิดปกติ คือไม่มีเอกสาร สำหรับแรงงานข้ามชาติที่มีเอกสาร ควรมีสิทธิตั้งสหภาพแรงงานได้ เพราะต้องมีการทำงานในตำแหน่งพื้นที่ และสามารถอยู่อาศัยทำงานได้ 2-3 ปีเป็นต้น ส่วนแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารสิทธิในการสมาคมก็เป็นสิทธิที่เขาเป็นแรงงานปกติ แต่ให้สิทธิในการรวมตัวคงไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงเขาเข้ามาในประเทศไทยมาทำงานก็ควรได้รับสิทธิตามกฎหมายแรงงานระดับหนึ่ง และการเรียกร้องสิทธินั้นด้วยการรวมตัวเจรจาต่อรอง คือแรงงานกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิจัดตั้งองค์กร แต่มีสิทธิที่เกิดจากการทำงานมาแต่อดีต และควรได้รับสิทธิ หลักการคือ การอยู่ หรือเข้ามาทำงานในประเทศอย่างผิดกฎหมาย แต่มีคนที่ได้รับประโยชน์จากการทำงานของเขา คือนายจ้าง เขาจึงมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่ควรปล่อยให้เขาไม่มีสิทธิและไม่ได้รับสิทธิ หลักการสำคัญ คือการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันระหว่างพลเมืองกับแรงงานข้ามชาติ

เสรีภาพกับความมั่นคงเกี่ยวข้องกันอย่างไรกับแรงงานข้ามชาติ คือ อยู่ในมาตรา 8 ว่าด้วยเสรีภาพนั้นอยู่ภายใต้กฎหมายและข้อกำหนดเองแต่ละประเทศ สหภาพแรงงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อก่อให้เกิดความรุนแรง ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ ของสมาชิก อนุญาตให้ล้มสหภาพแรงงานได้ ซึ่งรวมทั้งสหภาพแรงงานที่ไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นประชาธิปไตย ให้ถอดถอนได้ แต่กฎหมายของประเทศต้องตราไว้ว่า หน่วยงานบทบาทการบริหาร เช่น ศาล บัญญัติตามกฎหมายให้กระทำการถอดถอน หรือยุบสหภาพแรงงานได้  ควรมีการระบุรายละเอียด ข้อกำหนดทั้งหมดไม่ว่า จะเป็นการยกเลิก ก็ต้องทำหลังขบวนการดำเนินการทางยุติธรรมแล้ว และไม่ให้หน่วยงานราชการของรัฐที่มาอนุมานล่วงหน้า

ขีดความแข่งขันทางการค้า ค่าจ้าง และเงินเฟ้อแง่มุม สังคมในประเทศไทย คือประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หมายความว่า มีคนจำนวนน้อยที่มีรายได้ และต้องหารายได้เพิ่มมากขึ้น คนเหล่านี้ ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น เชิงเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่มองหาระบบในอนาคต คือ ต้องเพิ่มผลิตภาพ รายได้ที่สูงขึ้น มีการเรียกร้องค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น และนายจ้างก็จะเรียกร้องให้ลูกจ้างเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น จึงต้องมีกลไกกลางในการทำให้ทั้งค่าจ้าง และผลิตภาพเพิ่มขึ้น กิจกรรมเจรจาต่อรองร่วมจะเป็นระบบที่ลูกจ้างมาบอกความต้องการ

เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าอย่างไร? ก็มีหลายกลุ่มการรวมตัวเจรจาต่อรองก็สามารถกำหนดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละกลุ่มได้ หลักการคือ การที่ทำให้ภาครัฐ ข้าราชการ ครู รัฐวิสาหกิจ สามารถจัดตั้งองค์กรสมาคมได้ และกฎหมายไม่ควรมีบทบัญญัติห้ามไว้

ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับหลายประเทศ อนุสัญญาILO ฉบับที่ 143 เพื่อการเคารพสิทธิแรงงานที่เข้าเมืองผิดกำหมาย แต่ไม่ใช่การได้สิทธิเท่ากับคนที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย แต่ก็ควรได้รับสิทธิ เพราะว่า มีคนได้รับสิทธิจากการทำงานของแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย

นายจ้างไม่ควรมีสิทธิในการข่มขู่แรงงานข้ามชาติ หากมีการเรียกร้องให้นายจ้างปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ด้วยการส่งกลับประเทศ การที่แรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิด้านแรงงาน แต่ถูกส่งกลับประเทศเนื่องจากการเข้าเมืองผิดกฎหมาย เมื่อเขาถูกส่งกลับประเทศไปแล้ว จะบอกได้อย่างไรว่าถูกนายจ้างละเมิดสิทธิ

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ขบวนการแรงงานได้มีการเคลื่อนไหวให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)มีตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อปี 2552 ขบวนการแรงงานได้จับมือกันทุกส่วน ประกอบด้วยสภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน สมาพันธ์แรงงานรับวิสาหกิจสัมพันธ์ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพื่อเคลื่อนไหวรณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งก็มีแรงต้านทางสังคมที่มองเรื่องความมั่นคงของประเทศ ถึงกีดกันการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติ เมื่อปลายปี 2553ปลายรัฐบาลประชาธิปัตย์ ทางกระทรวงแรงงานได้มีการตั้งคณะทำงานฯเสนอให้มีการรับรองอนุสัญญา ซึ่งกฤษฎีกามีการตีความว่าไม่เกี่ยวกับมาตรา 190  และรัฐบาลได้ดึงเรื่องกลับมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อรอกฎหมายรอง

นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย นำเสนอว่า ประเทศไทยควรรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ไม่ควรมีการคัดค้านอะไรอีก หมดเวลาที่จะมาจัดการแลกเปลี่ยน สัมมนา การวิเคราะห์ วิจัย เพราะทำมามากพอแล้ว

การเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่มีมานาน เป็นการตกผลึกไปแล้วว่าต้องการให้มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ  การมาเปิดรับฟังข้อเสนอว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยคงไม่จำเป็นอีก

ไม่อยากได้ยินว่าการกล่าวหาว่าให้สัตยาบันแล้วจะเกิดปัญหาแรงงาน และแรงงานข้ามชาติจะมีการรวมตัวกัน การให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98 ทั้ง 2 ฉบับต้องรับทั้ง 2 ฉบับ จะให้เพียงฉบับใดฉบับหนึ่งคงไม่ได้

หากแรงงานข้ามชาติมีการรวมตัวกัน เกิดปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคง ถามสังคมไทยทุกวันนี้ขาดแรงงานข้ามชาติได้หรือไม่ ทำไมกลัวการรวมตัวกันของแรงงานข้ามชาติ เมื่อเขามาถูกกฎหมายทำไมจะรวมตัวไม่ได้ และมีการพูดกว้างถึงการรวมตัวของข้าราชการ ตำรวจ ทหารรวมตัว แล้วมีการนัดหยุดงาน เกิดความไม่มั่นคงกับประเทศ และบอกว่าประเทศไทยไม่ได้ห้ามตั้งสหภาพแรงงาน  สามารถตั้งได้ และมีสหภาพแรงงานรวม 1,400 แห่ง จากสถานประกอบกิจการ 4 แสนแห่ง จริงแล้วมีกี่สหภาพแรงงานที่มีการดำเนินกิจกรรมทำหน้าที่ กฎหมายแรงงานไทยไม่ได้ให้ความคุ้มครอง หรือสนับสนุนการรวมตัวจริง มีการล้มสหภาพแรงงานตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง หาเหตุเลิกจ้างกลั่นแกล้ง แทรกแซงการบริหารงาน มีการบอนไทรสหภาพให้แคะแกน สหภาพแรงงานอยู่อย่างไรทำไมไม่โตถูกจำกัดสิทธิมากมาย

การให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ทั้ง 2 ฉบับเป็นการรับรองกับประชาคมโลกว่า เป็นสัญลักษณ์ในการดูแลคน ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว และเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งเป็นประโยชน์กับการค้าการลงทุน

การรวมตัวตั้งสหภาพแรงงาน ในประเทศไทยสามารถทำได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องจัดตั้งสหภาพแรงงานแบบเดิมที่ลักขโมย แบบลับๆ หลบๆซ้อนๆเหมือนก่อการร้ายอีก

นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อกังวลของนายจ้าง และข้อที่เห็นด้วย คือ การให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 คงไม่ต้องรอ เพราะนายจ้างก็มีปัญหาด้านกฎหมายเรื่องการจัดตั้ง การรวมตัว เพราะมีข้อกำหนดเรื่องสัญชาติไว้ นายจ้างที่เป็นคนต่างชาติก็ไม่สามารถที่จะมารวมตัวด้วยได้เช่นกัน

ข้อสรุปจากตัวแทนนายจ้าง คือ รัฐบาลมีการให้งบประมาณสนับสนุน การอบรม แม้ว่าจะมีการสนับสนุนอย่างเป็นทางการให้แรงงาน ในการรวมตัว เจรจาต่อรอง ทำไมมีการรวมตัวน้อย หากดีจริงทำไมคนไม่จัดตั้งสหภาพแรงงาน

สหภาพแรงงานมีสิทธิในการนัดหยุดงาน เมื่อมีการรวมตัวเจรจาต่อรอง รวมถึงมีการลาป่วย ลากิจ ลาหยุดต่างๆ เพื่อให้การสนับสนุนสหภาพแรงงาน ตรงนี้ต้องตอบข้อกังวลกับนายจ้างเช่นกัน

แรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เช่นเดียวกับนายจ้างต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทยก็ไม่มีสิทธิในการตั้งองค์กรเช่นกัน ก็เป็นได้แค่สมาชิก หากแรงงานข้ามชาติสามารถรวมตัวตั้งสหภาพแรงงานได้ ในกลุ่มที่มาอย่างถูกกฎหมาย ถามว่า ในส่วนไม่ถูกกฎหมาย แต่มีใบอนุญาตให้ทำงานรัฐจะทำอย่างไร จะดูแลอย่างไร  มีอะไรที่จะกำหนดมาเพื่อแก้ข้อข้องใจ กังวลใจของนายจ้างได้เรื่องของสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรอง กระทรวงแรงงานควรมีการจัดอบรมให้ความรู้กับนายจ้างเพื่อสร้างความเข้าใจ เช่นเดียวกับอบรมให้กับสหภาพแรงงานว่า สหภาพแรงงานไม่ใช่เชื้อโรค ไม่น่ากลัว

 แม้ว่า รัฐจะมีงบประมาณในการอบรมให้กับแรงงาน หากนายจ้างไม่ให้หยุด ไม่ให้ลางาน และไม่สนับสนุน แรงงานจะได้รับการอบรมได้อย่างไร และนายจ้างก็จะปล่อยให้แรงงานอยู่แบบไม่รู้ต่อไป

นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักวิชาการด้านแรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้อินเตอร์เน็ต เว็บไซต์สื่ออิเล็กทรอนิคส์ทำให้การสื่อสารไปได้รวดเร็วขึ้น ประเทศไทยไม่ได้อยู่ประเทศเดียว มีการสัมพันธ์กับอีกหลายประเทศในการค้าขาย ทำธุรกิจ

ข้อสังเกต ต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98 จะเกิดการรวมตัวมากขึ้น และจะทำให้มีการเรียกร้องมากขึ้น แรงงานข้ามชาติจะมีการรวมตัวเจรจาต่อรอง ซึ่งแม้ว่า จะไม่มีการให้สัตยาบันILO แรงงานข้ามชาติก็มีการรวมตัวเรียกร้องบ้างแล้ว เพื่อให้ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย

ผลจากการศึกษาซึ่งเป็นผลงานจากต่างประเทศ ต่อกรณีการให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่า ทำให้มีการตั้งสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น มีการตั้งสหภาพแรงงานขนาดเล็กน้อยลง การจัดตั้งสหภาพแรงงานเข้มแข็งมากขึ้น การเรียกร้องมีการนัดหยุดงานประท้วงน้อยลง เมื่อให้สัตยาบันครบ 10 ปี สามารถที่จะถอนยกเลิกการให้สัตยาบันได้ แต่ก็พลว่ายังไม่เคยมีใครขอยกเลิกหรือถอนการให้สัตยาบัน จึงสรุปได้ว่า นายจ้าง และรัฐ ได้ประโยชน์

แรงงานข้ามชาติ กลุ่มที่เข้ามาแบบถูกกฎหมาย มีเอกสาร พาสปอร์ต กับกลุ่มที่ผิดกฎหมายที่มีการผ่อนผันให้ขึ้นทะเบียนอนุญาตให้ทำงานได้ชั่วคราว และกลุ่มที่มาแบบผิดกฎหมายไม่มีเอกสารอะไร แต่รัฐธรรมนูญก็บังคับใช้ให้บุคลากรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเท่าเทียมกันหมด ทั้งกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา รวมทั้งการคุ้มครองแรงงานด้วยค่าจ้าง 300 บาท ต้องคุ้มครองเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ จะมาทำงานด้วยถูกต้องตามก็กฎหมาย หรือไม่ถูกกฎหมาย การทำงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานหากมีการทำงานจริง ก็ต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานนั้นเช่นกัน จึงไม่เห็นด้วยกับการที่ไม่ให้แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมายไม่ได้รับสิทธิในการรวมตัว เป็นการที่จะทำให้เข้ามาสู่ดารคุ้มครองตามกฎหมาย

การที่รัฐบาลกล่าวว่า รัฐจะให้การคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนกับประเทศเพื่อบ้าน ที่มีการส่งแรงงงานจำนวนมากมาทำงาน การที่มองความมั่นคงอย่างเดียวก็ไม่ได้ มองเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเดียวก็ไม่ได้  รัฐบาลมียุทธศาสตร์ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ของพม่า กัมพูชา อาจเป็นปัจจัยในการดึงแรงงานข้ามชาติกลับ อาจทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานได้ การที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานเราต้องการแรงงานไม่ใช่แค่ปัญหาให้สัตยาบัน

จากนั้นได้มีการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม  โดยสรุปได้ดังนี้ เสนอให้รัฐให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ทั้ง 2 ฉบับ ด้วยมองว่า ไม่ควรแยกออกจากกัน เพราะสิทธิในการรวมตัว ต้องมีสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมด้วย เรื่องของแรงงานข้ามชาติ บางส่วนเห็นว่า ควรมีการกำหนดเรื่องสิทธิการรวมตัวเฉพาะกลุ่มที่เข้ามาถูกกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรให้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติ เพราะเมื่อมีการจ้างงาน มีคนได้รับประโยชน์ คือนายจ้าง ต้องมีการดูแลด้านสิทธิอย่างเท่าเทียม

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน