รอยเท้า วันเวลา รากเหง้า 39 ปี ของการก้าวเดินสหภาพแรงงานกลุ่มภาคตะวันออก “ทางรอดอยู่ไหน”

Untitled-2

วันที่ 20 กรกฎาคม 57 สหภาพแรงงานกลุ่มภาคตะวันออกจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 39/2557 ณ ห้องประชุมเทศบาล นครแหลมฉบังจังหวัดชลบุรี โดยในครั้งนี้เป็นการครบรอบ 39 ปีของการก่อตั้ง กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดโดยแบ่งโซนทำงานเป็น 4 พื้นที่ ดังนี้ พื้นที่แหลมฉบัง มี 28 สหภาพฯ มีสมาชิก 20,392 คน

พื้นที่ อมตะ – เวลโกล์ มี 26 สหภาพฯ มีสมาชิก 22,360 คน พื้นที่ บ่อวิน มี 50 สหภาพ มีสมาชิก 22,466 คน พื้นที่แหลมฉบัง มี 3 สหภาพฯ มีสมาชิก 5,150 คน รวมสมาชิกทั้งหมด 107 สหภาพฯ สมาชิกฯ 70,368 คน มี นายสมพร ขวัญเนตร เป็นประธานฯ

โดยก่อนที่จะเข้าสู่วาระการประชุม ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “รอยเท้า วันเวลา รากเหง้า 39 ปี ของการก้าวเดินสหภาพแรงงานกลุ่มภาคตะวันออก ทางรอดอยู่ไหน” โดยวิทยากร 3 ท่าน

คุณเชี่ยวชาญ เกียรติณัฐกร อดีตประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก
คุณมาลัย ลมออน อดีตประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก
คุณสมพร ขวัญเนตร ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก

ดำเนินรายการโดย คุณณัฐวัตร หวังสุดดี ประธานสมาพันธ์แรงงานโลหะแห่งประเทศไทย

โดยมีประเด็น เพื่อเป็นการสะท้อนถึงปัญหาในการทำงานที่ทับซ้อนกับพื้นที่ต่างๆ และทบทวนบทบาทหน้าที่ความชัดเจนในการทำงานของกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ว่าจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรเพื่อให้องค์กรและสมาชิกสามารถอยู่รอดต่อไป ในอนาคตเพื่อให้เกิดการยอมรับต่อสังคมและขบวนการแรงงานทุกภาคส่วน รวมถึงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ในปัจจุบันที่มีการบริหารบ้านเมืองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกคนปัจจุบันกล่าวว่า นับตั้งแต่ที่กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2518 – ปัจจุบันนับเป็นเวลา 39 ปี มีสมาชิกทั้งหมด 107 สหภาพฯ สมาชิกฯ 70,368 คน สำหรับนโยบายหลักที่ต้องสานต่อของ กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ก็คือต้องรวมกลุ่มคนงานที่อยู่ในพื้นที่เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านต่างๆทั้งในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้เรายังต้องการที่จะผลักดันและขับเคลื่อนในเรื่องของนโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อพี่น้องแรงงานและสิ่งที่กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของขบวนการแรงงานของประเทศไทยนับต่อแต่นี้ไปก็คืออยากให้แรงงานทุกภาคส่วนมารวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับภาครัฐฯ และไปผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ( ILO) ฉบับที่87และ 98 ให้ได้โดยเร็วเพื่อให้คนงานรวมตัวกันได้โดยเสรีเนื่องจากตอนนี้เรายังแยกกันอยู่คนละส่วน จึงเป็นอุปสรรคในการรวมตัวกัน หลังจากที่คนงานสามารถรวมตัวกันได้โดยเสรีแล้ว เราจะต้องยกระดับการต่อสู้ทางการเมืองนั่นหมายความว่าแรงงานจะต้องมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองและมีตัวแทนของคนงานเข้าไปนั่งในสภาเพื่อเสนอร่างกฎหมายนโยบายที่เกี่ยวกับคนงานจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆของคนงานได้อย่างแท้จริง

กระมนต์ ทองออน นักสื่อสารแรงงาน พื้นที่ ชลบุรี – ระยอง รายงาน