รถบัส รั้วสังกะสี ปิดกั้นการชุมนุมของคนงานฟูจิตสึฯ

สถานการณ์การชุมนุมของสหภาพแรงงานฟูจิตสึ เจเนอรัลประเทศไทย ซึ่งถูกนายจ้างปิดงานตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2553 ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี วันที่ 14 มกราคม 2554 ในช่วงเช้าหลังจากมีการรวมตัวกันแล้ว กลุ่มคนงานได้ร่วมกันนั่งบนพื้นที่หน้าบริษัทฯซึ่ง บริเวณดังกล่าวมีรถบัสจำนวนกว่าสิบคันจอดเรียงแถวเป็นแนวยาว และมีการกั้นรั้วสังกะสีสูง 2 เมตรตลอดแนวริมฟุตบาท ก่อนกลุ่มผู้ชุมนุมจะแยกย้ายกันไป
 
เมื่อวันที่ 14 ม.ค.กลุ่มพนักงานสหภาพแรงงานฟูจิตสึ เจเนอรัล ประเทศไทย ประมาณ 620  คน พร้อมผู้นำแรงงานรวมตัวชุมนุม บริเวณด้านข้างบริษัทฯฟูจิตสึ  เจเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด  ตั้งอยู่เลขที่ 92/9  ม.2 นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ต.ทุ่งศุขลา อ.ศรีราชา  จ.ชลบุรี   เป็นบริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศส่งออก เนื่องจากถูกบริษัทปิดงานตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2553
 
นายจ้างโร่แจ้งความ สถานการณ์ผู้ชุมนุมตึงเครียด
 
ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา เวลา 12.00 น. พันตำรวจโท กิตติพงษ์ พงษ์พานิช รองผกก.สภ แหลมฉบัง ร้อยตำรวจเอก ธัชญ์ศักดิ์ จีรัฐติกุลชัย ร้อยตำรวจโท ชำนาญก่อเกิด ร้อยเวรประจำ สภ.แหลมฉบังได้เดินทางมาพบผู้ชุมนุมพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบและถ่ายรูปเป็นหลักฐาน
 
ร้อยตำรวจโท ชำนาญ ก่อเกิด เปิดเผยว่า วันนี้ฝั่งนายจ้างได้ไปแจ้งความว่า ผู้ชุมนุมได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ส่วนถนนนั้นต้องให้การนิคมฯซึ่งเป็นผู้เสียหายเข้ามาแจ้งว่ามีการกีดขวางหรือเปล่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่เองนั้นมาดูด้วยตาตัวเองว่ามีการปิดทางเข้าออกจริงหรือเปล่า มีการกีดขวางถนนสาธารณะหรือเปล่า ส่วนเรื่องเครื่องเสียงค่อยว่ากัน มันเป็นเรื่องปลีกย่อย
 
แกนนำชี้แจง
 
 
นาย สมควร โสนรินทร์ เปิดเผยอีกว่า บริษัทฯปิดงานตั้งแต่ วันที่ 25 ธันวาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน  สาเหตุมาจากที่สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอปรับปรุงสภาพการจ้าง แต่อย่างไรก็ตามประเด็นที่เกิดปัญหาและบริษัทฯขอให้ถอนข้อเรียกร้องนั้นคือ  1) เรื่องอนุญาตกรรมการสหภาพแรงงานทำงานเต็มเวลา 2 ท่าน  2) เรื่องให้บริษัทฯถอนฟ้องกรรมการลูกจ้าง(นาย วัลลภ จั่นเพชร)  3)เรื่องไม่ให้เผยแพร่ข่าวสารในบริษัท  4)เรื่องหักค่าบำรุงสมาชิกผ่านบัญชี  ซึ่งทั้ง 4 ข้อนั้น สหภาพแรงงานและสมาชิกมีมติถอนข้อเรียกร้องแล้วแต่นายจ้างยังไม่ยอมยุติยังคงปิดงานจนถึงปัจจุบัน 
 
คุณ พรรณพร   ขวัญทอง  กล่าวว่า เธอทำงานที่นี่มา 11 ปี ตอนนี้กำลังท้องได้ 6 เดือน สามีก็ทำงานบริษัทเดียวกันนี้  เธอและสามีจะไม่ได้รับค่าจ้างในเดือนนี้ ซึ่งภาระการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่ากิน ค่าเดินทางไปหาหมอ ช่วงนี้เธออยู่ในช่วงที่ต้องหาหมอเป็นประจำ หากนายจ้างยังปิดงานอยู่  เธอกับสามีคงจะแย่ ไม่รู้จะทำอย่างไรเช่นกัน เธออยากให้เรื่องนี้จบ อยากให้นายจ้างเห็นใจ รับพวกเธอกลับเข้าทำงาน
 
คุณ อมิตตา พนักงานบริษัทเดียวกัน กล่าวว่า เธอทำงานมา 12 ปี ที่ต้องมานั่งอยู่ตรงนี้เพราะต้องการเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เธอทำงานมานานเงินเดือนแค่ 7700 บาท เธออยากได้ค่าเช่าบ้านและสวัสดิการที่เยอะกว่านี้ เธอเดือดร้อนไหนจะต้องจ่ายค่าเช่าห้องและส่งให้พ่อแม่ต่างจังหวัด  บริษัทยังประกาศอีกว่าจะไม่จ่ายค่าจ้างและจะตัดโบนัสวันละ 1,000 บาท เธออยากให้เรื่องนี้ยุติโดยเร็ว
 
สมหมาย ประไว  สื่อสารแรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก รายงาน