ย้อนอดีตแรงงาน เปิดตำนานคนกล้า พลิกฟื้นศรัทธา ฝ่าวิกฤต

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และ มูลนิธิเอเชีย ร่วมกันจัดงานเปิดตัวภาพยนตร์“แรงงานในประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย”และการเสวนา“ย้อนอดีตแรงงาน เปิดตัวตำนานคนกล้า พลิกฟื้นศรัทธา ฝ่าวิกฤต” ในวันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 2553 ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่าร้อยชีวิต ประกอบด้วย ผู้นำแรงงานในอดีต เช่น กรรมกรหญิงบางซ่อน กรรมกรหญิงฮาร่า กรรมกรหญิงไทยเกรียง อดีตผู้ก่อตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ และผู้นำสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ในกลุ่มสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง และรัฐวิสาหกิจ

นายชาลี ลอยสูงประธานสมาพันธ์แรงงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เหล็กและโลหะ แห่งประเทศ กล่าวว่า มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยถือว่าเป็นองค์กรรวบรวมประวัติศาสตร์ มีความสำคัญต่อขบวนการแรงงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การทำงานของพิพิธภัณฑ์ การเชื่อมรอยต่อประวัติศาสตร์ การจัดแสดงงานประวัติศาสตร์แรงงาน และบริการห้องประชุม ทำให้สถานที่ดูคับแคบ สถานที่จอดรถไม่เพียงพอ ในอนาคตต้องมีการขยับขยาย

ขบวนการแรงงานจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ เข้ามาร่วมดูแลและพัฒนา ทั้งเรื่องทรัพย์สินและการเงิน ต้องช่วยกันค้นหาและบริจาคสิ่งของสำคัญๆที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ 

นายทวีป กาญจนวงศ์ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวถึงกิจกรรมมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ที่มีทั้งการจัดเสวนาและการจัดทำสารคดี เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ของผู้ใช้แรงงานไม่ให้หล่นหายไปจากประวัติศาสตร์ ต่อไปผู้นำแรงงานต้องเรียนรู้อดีต เมื่อทราบอดีต ทั้งในรูปแบบสารคดีและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักต่อสู้ตัวจริงในอดีต นักแรงงานรุ่นใหม่ต้องนำบทเรียนที่ได้มาสานต่อเจตนารมณ์การต่อสู้ของขบวนการแรงงาน

นางยุพา ภูสาหัส ตัวแทนจากมูลนิธิเอเชีย กล่าวถึงมูลนิธิเอเชียว่ามีสัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งในประเทศไทยมา 50 ปีแล้ว ในอดีตมูลนิธิฯทำงานประเด็นสิทธิของผู้หญิง ผลักดันเรื่องรัฐธรรมนูญ

แต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2550 มีปัญหาแรงงานถูกละเมิดสิทธิ ถูกเลิกจ้างจำนวนมาก มูลนิธิฯอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ จึงมีโครงการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกกับแรงงาน เพื่อเข้ามาทำงานร่วมกับแรงงาน โดยการตั้งศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงาน เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือ/แก้ปัญหา ทั้งปัญหาเฉพาะหน้า การอบรม/ฝึกอาชีพ ช่วยเหลือเรื่องคดีความต่างๆ และสนับสนุนงบประมาณในการทำงานประวัติศาสตร์แรงงานกับมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเพื่อผลิตสารคดีสำหรับเผยแพร่ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้การศึกษาแก่ผู้ใช้แรงงาน และให้ทุนแก่แรงงานหลายกลุ่มเพื่อทำประวัติศาสตร์ของตนเอง รวมถึงการจัดอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรแรงงานที่มีการจัดอบรมไปบ้างแล้ว

นางสุนี ไชยรสที่ปรึกษามูล

นิธิเอเชีย กล่าวว่า ท่ามกลางการพัฒนาประเทศ ผู้ใช้แรงงานมีบทบาทหน้าที่ในการทำงานเป็นผู้พัฒนาประเทศ แต่กลับถูกมองข้าม ไม่เคยถูกกล่าวถึงหรือได้รับการยกย่องให้เป็นผู้มีคุณูปการต่อสังคม และไม่เคยมี(พื้นที่ใน)ประวัติศาสตร์ชาติไทย

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ใช้แรงงานทำหน้าที่ต่อสู้กับระบบทุนและรัฐเผด็จการ ในประวัติศาสตร์แรงงานอันยาวนาน ผู้นำบางคนที่เป็นตัวละครในอดีตได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่หลายคนที่(มีชีวิตอยู่และ)เป็นตัวละครสำคัญในสารคดี(ที่นำเสนอในวันนี้)ได้มาร่วมงานนี้ด้วย

นางสุนีกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก กลุ่มแรกที่รัฐมอง(หรือคิด)ให้ความช่วยเหลือคือนายทุน ขณะที่แรงงานเป็นกลุ่มแรกที่ถูกกระทำ ทั้งการเลิกจ้าง ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ แต่กลับไม่ได้รับความเหลียวแล การใช้สิทธิก็ถูกปิดกั้น ไม่เคยได้รับความเห็นอกเห็นใจจากรัฐหรือแม้แต่ภาคประชาชน

การบอกเล่าประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารในระบบสารคดี โดยมีตัวละครเป็นผู้นำแรงงานในอดีตที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการถูกกดขี่ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากทั้งระบบทุน และรัฐเผด็จการ เพื่อนำเสนอสู่สายตาผู้ใช้แรงงานปัจจุบัน ทำให้เกิดการเรียนรู้และภาคภูมิใจใน “ความเป็นแรงงาน”ที่มีการต่อสู้จนถึงปัจจุบัน และทำให้สังคมได้รับรู้ “หากเราไม่บอกเล่าประวัติศาสตร์เรา แล้วใครเล่าจะมาเล่าหากเราไม่ยกย่องชนชั้นเรา ใครเล่าจะมายกย่องเรา”นางสุนีกล่าวหลังชมภาพยนตร์สารคดี 

“แรงงานในประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย” ความยาว 35 นาที เป็นเวทีเสวนา “ย้อนอดีตแรงงาน เปิดตัวตำนานคนกล้า พลิกฟื้นศรัทธาฝ่าวิกฤต”

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยานักวิชาการแรงงาน เกริ่นถึงแนวคิดในการจัดงานว่า กระแสวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2550 จนปัจจุบัน หลายคนยังคงตกงาน แรงงานยังได้รับผลกระทบทางการเมือง แรงงานยังอยู่ในวิกฤตความไม่เข้มแข็งของขบวนการแรงงาน ที่อ่อนแอจากการถูกลิดรอนสิทธิในการรวมตัวหลายยุคหลายสมัยในอดีต เรามีผู้กล้าช่วยกันต่อสู้ ผู้นำแรงงานในอดีตลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างไม่เกรงกลัว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ใช้แรงงานไม่เคยถูกกล่าวถึงในฐานะผู้ทำงานหรือเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม เพื่อทวงถามความยุติธรรมทางสังคมให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เราจึงต้องจัดทำประวัติศาสตร์ผู้ใช้แรงงานให้สังคมได้รับรู้คุณค่าและเคารพผู้ใช้แรงงานในฐานะผู้สร้างเศรษฐกิจ สร้างสังคม และสร้างโลก

นางสาวแตงอ่อน เกาฎีระ อดีตผู้นำกรรมกรโรงงานทอผ้าบางซ่อนและเพชรเกษม จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ช่วงปี 2498-2499 ตนเข้ามาทำงาน ช่วงนั้น คุณเลื่อน แถวเที่ยง คุณประทุม สินธุสุวรรณ เป็นกรรมกรโรงงานทอผ้ากรุงเทพ เป็นผู้นำในการสไตล์ ปัญหาในสมัยนั้นคือค่าจ้างต่ำ กรรมกรต้องทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีวันหยุด ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบมาก ทำงานกะกลางคืนห้ามหลับ ห้ามหยุด หากหลับในงานถูกปรับเงิน 5 บาท มีผู้หญิงออกมาสไตล์หยุดงานเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างและลดเวลาทำงานจาก 12 ชั่วโมง เป็นวันละ 8 ชั่วโมง คนงานก็พร้อมใจกันนัดหยุดงาน ส่วนผู้ชาย แรกๆก็เข้าร่วม แต่ตอนหลังไม่สู้ ขายตัวหมด การต่อสู้ครั้งนั้นใช้เวลาหลายวัน มีกลุ่มสหภาพแรงงานเข้าไปช่วย ทั้งสหภาพแรงงานรถไฟ การไฟฟ้า มีคุณศุภชัย ศรีสติ คุณประกอบ โตลักษณ์ล่ำ คุณสุวิทย์  ระวิวงศ์ และผู้นำแรงงานอีกหลายคนเข้ามาช่วยชุมนุมจนการต่อสู้สำเร็จ มีการเดินขบวนไปท้องสนามหลวง มีการนัดหยุดงานกันหลายวัน และเดินไปยังบ้านมนังคศิลา ได้มีการเปิดโรงหนังเฉลิมไทยให้คนงานเข้าพัก จอมพล ป. เรียกร้องให้กรมแรงงาน นายทุน เข้ามาพูดคุยเพื่อทำข้อตกลงกัน

ช่วงที่มีการเรียกร้องกฎหมายแรงงาน ปี 2499 ตนก็ได้เข้าไปร่วมชุมนุม และเท่าที่เห็นรัฐบาลจอมพล ป. ก็สนับสนุน คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม ตาม คุณใคล ชุณหจันทร์ กับคุณเลื่อน แถวเที่ยง เข้าไปคุยถึงข้อเรียกร้องของกรรมกร เงื่อนไขที่ทำให้ต่อสู้เรื่องกฎหมายแรงงานปี 2499 ได้ เพราะรัฐบาลจอมพล ป.สนับสนุน หันมาหามวลชน เพราะขบวนการแรงงานในช่วงนั้นเข้มแข็ง รัฐบาลเริ่มมีความขัดแย้งกันเองและเริ่มอ่อนแอ มีการตั้งพรรคการเมืองใหม่รัฐบาลจึงหันมาหากรรมกร เพื่อสร้างแนวร่วมทางมวลชน

นางสาวนิยม ขันโท อดีตผู้นำกรรมกรโรงงานฮาร่า เล่าว่า ความจริงแล้วการต่อสู้ของคนงานฮาร่าจะเข้าไปถึงความรุนแรง ค่าจ้างแม้ค่อนข้างต่ำมาก แต่คนงานที่ทำงานรายเหมามีรายได้มากจากการทำงานแบบไม่หยุดงาน จึงมีแรงงานส่วนหนึ่งพอใจกับการจ้างงานแบบเหมารายชิ้นและค่าจ้างที่นายจ้างให้ ช่วงนั้นมีกระแสเรื่องการจะยุบหรือย้ายแผนกยีนส์ไปที่อ้อมใหญ่ นายจ้างก็แก้ข่าวว่าไม่ย้าย เป็นข่าวลือ แต่พอถึงเวลามีการย้าย ไม่มีใครมีรายได้มากๆ เพราะต้องมาทำงานที่ไม่ถนัด ฝึกงานใหม่ มีรายได้ประกันวันละ 40 บาท ตนถูกย้ายมาอยู่แผนกติดป้ายหนังร้อยละ 7 บาท ต้องทำวันละ 1,000 ตัวถึงจะได้รับค่าจ้าง 70 บาทเหตุการณ์หยุดงานและยึดโรงงานเกิดขึ้นเนื่องจากคนงานอยากได้โบนัส แต๊ะเอียประจำปี เพราะเห็นว่านายจ้างได้กำไรเยอะมาก อาทิตย์ละ 9-10 ล้านบาท ช่วงที่มีการเรียกร้อง มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อกรมแรงงานภายใน 7 วัน ช่วงนั้นมีการใช้ความรุนแรง เพราะมีกลุ่มคนงานเข้าข้างนายทุนยกพวกมาตีคนงาน ทำให้คนงานต้องใช้วิธีการยึดโรงงาน หากไม่ยึดก็จะเข้าไปข้างในโรงงานไม่ได้ ในโรงงานขณะนั้นมีคนงาน 100 กว่าคน คนที่นอนอยู่ในโรงงานไม่มาก แต่ก็สู้ ส่วนการสนับสนุนหรือหนุนช่วย ช่วงนั้นมีนักศึกษา ผู้นำแรงงาน จากทั้งรัฐวิสาหกิจและหลายๆสหภาพ เข้าไปช่วยเหลือ และมีพี่น้องคนงานไทยเกรียงด้วย ตอนนั้นตนอายุเพียง 20 กว่าปี ยังเด็กอยู่ มีการจัดกลุ่มศึกษาให้กันในที่ชุมนุม การต่อสู้มีขึ้นทุกหนแห่ง ที่ธรรมศาสตร์ก็มีการชุมนุมกันอยู่ และมีข่าวฆ่าผู้นำชาวนา ผู้นำกรรมกรถูกทำร้าย ถูกยิง ทุกวัน วันนี้ไปชุมนุมพรุ่งนี้ไปงานศพผู้นำ แต่ก็ไม่เคยกลัวตาย รู้เพียงว่าตอนนี้ต้องสู้เท่านั้น

นายสุชาติ  สุคนธ์กานต์ อดีตผู้นำแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า พื้นฐานการต่อสู้ของแรงงานมาจากการถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ โรงงานที่มีการกดขี่เอาเปรียบมากก็จะมีการต่อสู้บ่อยที่สุด มีโรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอพระประแดง จ.สมุทรปราการ ผลิตเสื้อขนสัตว์ นายจ้างกดขี่ให้ทำงานวันละ 10 ชั่วโมงขึ้นไป และเวลาเข้าห้องน้ำนายจ้างก็เก็บค่าเข้าห้องน้ำครั้งละ 1 บาท ผู้หญิงท้องเข้าห้องน้ำหลายครั้ง ค่าแรงวันละ 30 บาทก็หมดกับค่าเข้าห้องน้ำ คนงานมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง ก็มีนักเลงมาไล่ตี แต่คนงานหญิงก็สู้ ช่วง 14 ตุลาคม 2516 เป็นยุคแห่งการต่อสู้ ทั้งอำนาจรัฐเผด็จการและอำนาจนายทุนที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบคนงาน มองประชาชนเป็นเหมือนหมูเหมือนหมา รัฐเน้นเพียงการส่งเสริมการลงทุน ไม่เคยมีมาตรการการคุ้มครองแรงงานให้มีสวัสดิการค่าจ้างที่เป็นธรรม จนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นเดิมการต่อสู้ที่อ่อนล้าลงเป็นเพราะการคุกคามของรัฐกับนายทุนที่ร่วมมือกันทำลายขบวนการรวมตัวกันของแรงงาน สร้างความแตกแยก เอาตำแหน่งต่างๆทางไตรภาคีมาแบ่งแยก กลุ่มนี้รัฐยอมรับ กลุ่มนี้พวกนอกกฎหมาย มีการซื้อผู้นำแรงงาน เกิดผู้นำขายตัว กินจนอ้วน มีการออกกฎหมายแยกแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานเอกชนทำให้เกิดความอ่อนแอมากขึ้น ปัจจัยการทำงานของคุณอารมณ์ พงศ์พงัน การที่เขาเป็นนักคิด เป็นลูกคนจน รับจ้างพายเรือข้ามฟาก ช่วงเรียนหนังสือคุณอารมณ์ก็เป็นแกนนำนักศึกษาประ

ท้วงที่มหาวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นมาก่อน เมื่อเข้าทำงานในการประปานครหลวง ทำงานเป็นนายช่าง ได้ค่าแรงเพียงเดือนละ 400-500 บาท ไม่มีสวัสดิการ ทำให้เกิดแนวคิดรวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงาน คุณอารมณ์จะพูดเสมอว่า “ถ้าตั้งใจมาทำงานขบวนการแรงงาน ต้องทำจริง เพราะมีผู้ยากไร้อยู่จำนวนมาก ในฐานะผู้นำแรงงาน ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้พี่น้องแรงงานและประชาชนมีชีวิตที่ดี” และความประพฤติของอารมณ์ก็มีการทำงานทุ่มเทมาโดยตลอด และยังฝากให้ตนเองทำงานช่วยเหลือแรงงานต่อไปก่อนที่จะเสียชีวิต อย่าได้ขายตัวเหมือนผู้นำแรงงานบางคน

นายนิเวศ ศรีโคตรบูรณ์อดีตผู้นำสหภาพแรงงานธนาคารและสมาพันธ์แรงงาน กล่าวว่า คนงานในกิจการธนาคารไม่ได้สอบแข่งขัน ดึงกันเข้ามาทำงาน สภาพคนงานในกิจการธนาคารทำให้ขบวนการแรงงานไม่สามารถที่จะเข้าไปขับเคลื่อนได้ ในการผลักดันแก้ไขปัญหาแรงงาน ตนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับนายทนง โพธิ์อ่าน ทำงานแบบเห็นแก่ผู้ทุกข์ยาก ตระหนักถึงชีวิตยากแค้น การทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกัน เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว มองประชาธิปไตยในความหมายที่ต้องมีการแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ ต้องไม่มีการกดขี่บีฑา ความที่แรงงานตระหนักเรื่องอย่างนี้ สร้างให้เป็นพลังที่จะร่วมกันสู้กับพี่น้องแรงงานอื่นๆ

วันนี้ได้มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ก็เพื่อเข้าใจปัจจุบัน ว่าทำไมสภาพขบวนการแรงงานปัจจุบันจึงอ่อนแอเช่นนี้ เดิมการต่อสู้ยุคตนทำงาน แรงงานมีสภาองค์การลูกจ้างเพียง 4 แห่ง แต่ก็ยังร่วมกันต่อสู้ มีอำนาจการต่อรองมากกว่านี้ เช่นการเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำก็ส่งเสียงเพียงเสียงเดียว ฉะนั้นการต่อสู้ต้องเรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบัน

นางสาวอรุณี ศรีโตอดีตผู้นำแรงงานไทยเกรียงเล่าว่า สมัยที่ตนเข้ามาเป็นผู้นำแรงงานใหม่ๆก็เกิดการแตกแยกของสภาองค์การลูกจ้าง 2 แห่ง คือ สภาแรงงานแห่งประเทศไทย กับ สภาสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย ตนได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งกรรมการสภาและเข้าไปอยู่ในกลุ่มของนายไพศาล ธวัชชัยนันท์ มีกลุ่มของรัฐวิสาหกิจกับเอกชน เมื่อคุณไพศาลนำคนงานมาชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเพื่อต่อสู้ การต่อสู้ของแรงงานก็ยังร่วมกันอยู่ เช่น การเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำก ารต่อสู้ก็ร่วมกันทั้ง 2 สภา ข้อเสนอก็ไปในทิศทางเดียว ทำกิจกรรมกดดันชุมนุมและระดมความคิดร่วมกัน

มาถึงสมัยนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอปรับค่าจ้าง 250 บาท บางสภาองค์การลูกจ้างเสนอปรับแค่ 5, 7, 10 บาทก็พอ ทำไมนายจ้างกับรัฐบาลยุคนี้โชคดีจัง ไม่มีการเรียกร้อง ขบวนการแรงงานเสนอตัวเลขแตกต่างกัน แล้วยังเสนอปรับค่าจ้างต่ำกว่า หากเปรียบเทียบกับผู้นำแรงงานยุคก่อน รัฐบาลบอกปรับ 2 บาท 3 บาท ผู้นำแรงงานต้องกดดันให้มีการปรับค่าจ้างสูงมากกว่านั้น 

คุณไพศาลมีการทำงานฐาน มีการลงพื้นที่ หากมีการชุมนุมที่ไหนก็มีการหนุนช่วยคนงานตลอด การช่วยเหลือแบบข้ามกลุ่มพื้นที่ เช่น คนงานไทยเกรียงไปช่วยคนงานเทยิ่นประท้วงที่รังสิต ตอนนั้นไม่มีโทรศัพท์ก็ไปร่วมกันต่อสู้ได้ แต่ปัจจุบันกรณีคนงานกูดเยียร์ประท้วงอยู่รังสิต คนงานพระประแดงไม่มีใครลงไปช่วย หรือว่ามีโทรศัพท์มือถือโทรหากันแล้วเลยไม่ได้ไปหากัน อันนี้ก็น่าคิดว่ามีเทคโนโลยีแล้ว ใช้ประโยชน์สื่อสารไวแล้ว คนเข้าไปเยี่ยมเพื่อนแรงงานที่มีความเดือดร้อนหรือไม่ เพราะอะไรถึงไม่มีความรู้สึกร่วมกันเหมือนคนสมัยก่อน คุณไพศาลไม่เชื่อถือระบบไตรภาคี และเห็นว่าเป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เมื่อปี 2523 มีคดีแรงงานจำนวนมาก คุณไพศาลมองว่า ผู้นำแรงงานไปนั่งอยู่ในศาลแรงงานเป็นท่านไปหมด ไม่มีใครลงมาดูแลปัญหาแรงงาน การทำงานของผู้นำหรือคุณไพศาลสมัยก่อน จะทำงานกับมวลชน ไม่เคยทิ้งกัน และคำพูดเป็นเสียงเดียวกัน พูดคำไหนคำนั้น

นายมนตรี ชนชนะ อดีตผู้นำแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง และสภาแรงงานยุคแรก กล่าวว่า ช่วงนั้นขบวนการแรงงานย่านรังสิตมีความอ่อนแอมาก มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานแต่ไม่มีคนทำงาน ถูกล้มสหภาพแรงงานบ้าง เมื่อแรงงานมีปัญหาจะมาปรึกษาผู้นำสหภาพแรงงานเทยิ่นเสมอ เมื่อเกิดปัญหามากขึ้นก็เลยกลายเป็นการประชุมประจำเดือนของกลุ่มสหภาพแรงงานในย่านนั้น แม้บางสหภาพมีคนทำงานน้อย ก็หาทางออกร่วมกันในกลุ่มจนเกิดเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียงทำงานร่วมกัน ส่วยการทำงานในระดับสภาแรงงาน หากไม่ร่วมกันก็จะไม่มีอำนาจต่อรอง เช่นการเคลื่อนไหวค่าจ้างขั้นต่ำ หากไม่ร่วมกันก็คงไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อรองกับรัฐบาลและทุนในยุคนั้นได้ 

การรณรงค์ต่อสู้ กลุ่มที่มีการหนุนช่วยการต่อสู้ของคนงานเป็บซี่มีการระดมความคิดกันในส่วนกลุ่มย่านฯ โดยให้แต่ละโรงงานไปคุยกับร้านค้า ห้ามนำสินค้าของบริษัทเป็บซี่มาขายในโรงงาน ส่งผลให้นายจ้างบริษัทเป็บซี่ต้องเจรจากับกลุ่มฯและรับนายเกษม สุวรรณะ กลับเข้าทำงาน ทำให้กลุ่มอื่นๆเข้ามาร่วมหนุนช่วยและเข้าร่วมสู้เวลาที่เกิดปัญหา เข้าไปร่วมกันก่อตั้งสหพันธ์แรงงานสิ่งทอฯ ทั้งอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ พระประแดง การต่อสู้จึงไม่โดดเดี่ยว มีการวางแผนงานว่าสหภาพแรงงานทุกแห่งควรจะยื่นข้อเรียกร้องพร้อมกันเพื่อเปิดการเจรจาต่อรองหนุนช่วยกันในพื้นที่

นายวิเชียร ตะนุมาตร ตัวแทนสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต กล่าวว่า เนื่องจากภูเก็ตอยู่ห่างไกล การสื่อสารหรือหนุนช่วยคงต้องใช้วิธีการสื่อสารทางโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตตามยุคสมัย คงทำได้แค่ถามไถ่ความทุกข์ร้อนของพี่น้องแรงงาน

แรงงานในภูเก็ตมีประเภทกิจการเหมืองแร่ดีบุก ยางพารา การก่อตั้งสหภาพแรงงานเริ่มจากสหภาพแรงงานแร่ระนอง สหภาพแรงงานถลุงแร่ภูเก็ตแห่งประเทศไทย ต่อมาบางอุตสาหกรรมแร่ปิดตัวลง ยางราคาตกต่ำก็ปิดลง แต่บริษัทยังตั้งอยู่ได้ด้วยการนำเข้าแร่มาจากต่างประเทศ ถึงปี 2537 บริษัทได้ปรับเป็นการท่องเที่ยว จึงตั้งสหภาพแรงงานประเภทกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยว โดยตั้งสหภาพแรงงานภูเก็ตไอแลนด์ และ สหภาพแรงงานภูเก็ต ยอชคลับ และตั้งเป็นสหพันธ์แรงงานฯขึ้น ในยุคเฟื่องฟู ปี 2543- 2545 มีการตั้งสหภาพแรงงานจำนวนมากกว่า 22 แห่ง ต่อมามีระบบศักดินาขบวนการไตรภาคี เลือกตั้งผู้พิพากษาสมทบ และมีผู้นำแรงงานในระดับสภาองค์การลูกจ้างเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ เข้าไปเป็นที่ปรึกษานายจ้างเพื่อทำลายสหภาพแรงงาน มีการให้คำปรึกษา ซื้อตัว ไล่ออก มีการก่อตั้งสหพันธ์แรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 แห่งตนสังกัดสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต มีสมาชิก 6 แห่ง มีสหภาพแรงงานตัดเย็บผ้าใบ 1 แห่ง และสหภาพแรงงานประเภทกิจการโรงแรม 5 แห่ง การรวมตัวกันทำกิจกรรมค่อนข้างยาก เพราะกิจการโรงแรมทำงานวันหยุดไม่ตรงกันเพราะเป็นภาคบริการ วันกรรมกรสากล การเดินขบวนมีการร่วมกันน้อยมาก ต้องพึ่งภาครัฐ ภาคแรงงานนอกระบบ เพื่อให้เห็นว่ามีแรงงานร่วมกิจกรรมจำนวนมาก การช่วยเหลือกันคือ เวลามีการประชุมใหญ่หรือมีปัญหาก็เข้าไปร่วมกันช่วยเหลือกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งแบบเดิมกลับมา ส่วนเวลาส่วนกลางมีการจัดงานอะไรก็จะเข้ามาร่วมในทุกส่วน

นายสมบูรณ์ เสนาสี ตัวแทนกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ย่านเวลโก กล่าวว่า เป็นการดีที่ได้เข้ามาร่วมงานประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้นำแรงงานรุ่นเก่า เมื่อเข้ามาทำงานสหภาพแรงงาน ตนได้ศึกษาประวัติศาสตร์บ้าง ก็รู้สึกไม่ค่อยศรัทธากับผู้นำแรงงานรุ่นกลางที่ยังอยู่จนถึงปัจจุบันเท่าไร เนื่องจากมองว่าเขาควรไปเป็นนักการเมืองมากกว่าที่จะมาแสวงหาฐานหรือผลประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน ในกลุ่มพัฒนาแรงงานฯจะมีแรงงานประธานสภาบางคนเข้าไปแสวงหาประโยชน์ เก็บตรายางของสหภาพแรงงานไปเพื่อแสวงหาตำแหน่งทางไตรภาคี กลุ่มได้กำหนดยุทธศาสตร์แรงงานในการเรียนรู้และจะไม่ทำมาหากินกับผู้ใช้แรงงานเหมือนผู้นำรุ่นกลางที่เห็นอยู่อย่างแน่นอน

ขณะนี้มีต้นแบบแนวคิดของสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายในการรวมสหภาพแรงงาน ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานและคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ตั้งเป็นสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรม เริ่มจากสหภาพแรงงานเอ็นเอชเคสปริงค์ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย ร่วมทำสัตยาบันกับสหภาพแรงงาน 8 แห่ง และควบรวมสหภาพแรงงานแล้วหลายแห่ง เช่น สหภาพแรงงานไดน่าเมทอล ทีราด ไดสตาร์ ทีไอดี ฯลฯ

นายมงคล ยางงามตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย–อ้อมใหญ่ กล่าวว่า ทั้งอดีตและปัจจุบัน ภาพการกดขี่แรงงานยังคงเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ปัจจุบันดูเหมือนไม่ค่อยชัดเจนมากนัก ผิดกับอดีตที่การกดขี่คุกคามมีความเข้มข้น ทั้งจากอำนาจมืด รัฐเผด็จการ แต่ปัจจุบันเป็นการใช้แรงงานสัมพันธ์เชิงรุกที่นายจ้างพยายามใช้การให้คนงานทำงานล่วงเวลาเพื่อเพิ่มค่าจ้างตนเอง แยกจิตสำนึกคนงานออกจากขบวนการแรงงาน คนงานปัจจุบันสนใจความเป็นอยู่ของตนเองมากกว่าขบวนการแรงงาน สังเกตจากการจะมาศึกษาหาความรู้นั้นแทบไม่มี สนใจแต่การทำงานล่วงเวลา ต่อสู้เพื่อเพิ่มเวลาการทำงาน ต่างจากในอดีตที่สู้เรื่องค่าจ้างต่ำ  ลดเวลาการทำงาน

หากย้อนไปถึงยุคของนายถวัติ ฤทธิเดช อดีตผู้นำแรงงาน การรวมตัวของกรรมกรในอดีตจะใช้วิธีการสร้างจิตสำนึก เช่น คุณถวัติมีการจัดทำหนังสือพิมพ์กรรมกร พยายามเขียนเรื่องกรรมกรเป็นหลักเพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อสู้ ยุคนั้นเป็นยุคมืด ก็มีการออกหนังสือพิมพ์ปากกาไทยเข้ามาวิจารณ์ระบบขุนนางที่กดขี่ สมัยก่อนก็มีนักคิดนักศึกษาเข้ามาเชื่อม คอยให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก แต่สมัยนี้ นักคิด นักเขียน นักศึกษา ขาดหายจากขบวนการกรรมกร เหมือนกับว่ากรรมกรไม่สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาอย่างในอดีต ยังต้องก้มหัวทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้เงินมาตอบสนองต่อยุคบริโภคนิยม เช่นการซื้อมือถือ โดยไม่มีประโยชน์อะไรด้านการสร้างความรู้ ต่างจากการสื่อสารสมัยก่อนที่ใช้ปากกาในการสื่อสาร ให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึกให้กับกรรมกร การใช้เครื่องมือสื่อสารต้องทำให้มีประโยชน์ ไม่ใช่ใช้โทรศัพท์คุยเรื่องอะไรไม่รู้ ไม่มีแก่นสาร

การจะฟื้นขบวนการแรงงานให้เข้มแข็งเช่นอดีต ต้องใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นและแสวงหาแนวร่วม คุณถวัติเคยใช่สื่อปลุกให้กรรมกรตื่นเพื่อลุกขึ้นมาต่อสู้ผู้กดขี่ ปัจจุบันตื่นแต่หัวมาแต่หัว หางทำงานล่วงเวลาไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น ไม่เคยเห็นความทุกข์ยากของแรงงานกลุ่มอื่นๆ ไม่สู้ ไม่คิด ไม่เห็นปัญหาร่วมกัน จึงไม่สู้ร่วมกัน แม้สหภาพแรงงานจะมีวันลาเพื่อไปทำกิจกรรมได้ แต่กลับไม่ลา ไม่มา สมัยก่อนไม่มีแม้แต่วันลา ไม่มีเครื่องมือสื่อสารทันสมัย แต่พวกเขาก็ออกมาต่อสู้ร่วมกัน ช่วงที่ตนเข้ามาขบวนการแรงงานครั้งแรก เห็นแต่ผู้หญิงที่ต่อสู้ และเห็นว่าผู้หญิงมีความกล้า มีบทบาทในการต่อสู้จริงๆ ทั้งอดีตและปัจจุบัน เช่นกลุ่มอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ มีแต่ผู้หญิงทำงาน ผู้ชายไปไหนหมดไม่รู้ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าการต่อสู้ข้างหน้าต้องใช้การสื่อสารมากขึ้น สักวันสภาองค์การลูกจ้างที่มีแนวคิดดีๆก็จะมาร่วมกันสร้างพลังผลักดันและหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กรรมกรทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นางสาวสวรรยา  ผดาวัลล์ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่า การต่อสู้ในอดีตคือบทเรียนให้กับการต่อสู้ในปัจจุบัน ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีฯ มีการจัดตั้งขึ้นช่วงปี 2540 ด้วยการรวมกลุ่มสหภาพแรงงานในจังหวัดสระบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครราชสีมา และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ แก่งคอย ขณะนี้มีสมาชิก 22 สหภาพ 10,450 คน มีการส่งตัวแทนเข้ามาร่วมบริหาร โดยยึดแนวนโยบายกลุ่มที่มีการสรุปร่วมกัน คือส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านแรงงาน ร่วมรณรงค์กับองค์กรภายนอกมีการส่งตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการไตรภาคีระดับจังหวัด และช่วยเหลือแก้ไขปัญหาแรงงานในกลุ่ม เข้าร่วมกิจกรรมภายนอก และเป็นสมาชิกคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รวมถึงมีการจัดตั้งสมาชิกในการออกมาร่วมกิจกรรมภายนอก

นายสมศักดิ์ สุขยอด ตัวแทนกลุ่มแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า กลุ่มก่อตั้งเมื่อปี 2518 ตนเข้ามาเป็นกรรมการบริหารงานตั้งแต่ปี 2534-35 กลุ่มมีการรวมตัวกันแบบหลวมๆ เริ่มต้นจากกลุ่มสหภาพแรงงานประเภทพลังงาน คือสหภาพแรงงานไทยออย กับสหภาพแรงงานเอสโซ่ จากนั้นได้มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 80 สหภาพ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต ทราบจากการจัดทำสื่อสารคดีครบรอบ 30 ปี ได้เห็นว่าการต่อสู้ของผู้นำรุ่นเก่าดุมาก มีการขู่ปิดโรงกลั่นน้ำมันเพื่อต่อรองกับรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องราคาข้าวเปลือก 

ปัจจุบันการต่อสู้ของกลุ่มคือสร้างอำนาจต่อรองมากขึ้น นำการบริหารจัดการมาใช้มากขึ้น ตนในฐานะผู้นำสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า อยู่ในประเภทกิจการยานยนต์ ได้เรียนรู้เรื่องราวการจัดตั้งสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรม ซึ่งสร้างความเข้มแข็ง มีอำนาจการต่อรองมากกว่า มีการวางแผนงานที่เป็นระบบ มีคนทำงานให้สหภาพแรงงานเต็มเวลา มีการจัดเก็บค่าบำรุงเป็นระบบเปอร์เซ็นต์ การจะทำให้สหภาพแรงงานเข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองได้ สหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์มีแนวคิดว่าต้องควบรวมสหภาพแรงงาน เปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการเสียใหม่

วันนี้การต่อสู้ของคนงานแม็กซีส นายจ้างประกาศปิดงานจนกว่าสภาพการจ้างจะหมดไปเอง การต่อสู้ของผู้นำแรงงานต้องมีการช่วยเหลือกัน สร้างแนวร่วมในการต่อสู้ให้พี่น้องแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี กลุ่มสหภาพฯเคยคิดว่าทำอย่างไรจะมีพรรคการเมืองที่เขียนนโยบายแรงงาน เข้ามาแก้ปัญหาแรงงาน เป็นพรรคการเมืองของแรงงานจริงๆ กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ผู้ใช้แรงงานในกลุ่มต่างๆ ต้องคิดเพื่อยกระดับการต่อสู้สู่เวทีการต่อรองทางการเมืองการต่อสู้ของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า เมื่อปี 2551 โรง

งานปิด 9 ประตู ผลิตสินค้าไม่ได้ นายจ้างไม่เดือดร้อน ตนคิดว่าการต่อสู้ปิดถนน ยึดโรงงาน เป็นการต่อสู้ที่ใช้ได้แค่ช่วงจังหวะหนึ่งในอดีตเท่านั้น การต่อสู้รูปแบบเก่าทำงานยาก เราต้องเป็นสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม การต่อสู้ต้องมีการจัดทำข้อมูลเพื่อต่อรองกับนายจ้าง การรวมตัวคือการรวมกลุ่มเพื่อการช่วยเหลือกัน เช่น การเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเพื่อต่อสู้เรียกร้องต่อรัฐให้กับผู้ใช้แรงงาน เป็นความสวยงามของการรวมตัวแบบไม่ต้องจดทะเบียน แต่ในความสวยงามของการรวมตัว กลุ่มก็มีการแตกไปตั้งสภาองค์การลูกจ้างขึ้นใหม่และทะเบียนออกแล้ว กลุ่มไม่แน่ใจว่าควรจะดีใจหรือเสียใจ เพราะขบวนการแรงงานพยายามพูดคุยเพื่อให้เหลือสภาน้อยที่สุด เพื่อความเป็นเอกภาพในการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน แต่กลับมีการตั้งสภาใหม่ขึ้นเรื่อยๆ

ระบบไตรภาคีทำให้ขบวนการแรงงานแตกแยกอย่างมาก ทั้งที่ระบบไตรภาคีในต่างประเทศเป็นระบบที่น่าเชื่อถืออย่างมาก แต่ประเทศไทย คนงานที่ต่อสู้ ถ้าต้องเข้าสู่ระบบไตรภาคี มีน้อยที่จะมีชัยชนะ ส่วนใหญ่แพ้กาลเวลา แพ้ทาง สู้ไม่ไหว ถ้าขบวนการแรงงานจะฝ่าวิกฤติ ต่อสู้กับระบบทุนได้ ต้องสู้เรื่องสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ มาตรา87 และ 98 นี่อาจเป็นความหวังของความเข้มแข็งในอนาคต 

นักสื่อสารแรงงานโครงการการพัฒนาสื่อ  รายงาน