45 องค์กรเครือข่าย องค์กรแรงงาน ภาคประชาชน ยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ ให้เปิดเผยสัญญาที่ทำกับกลุ่มธุรกิจกรณีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต่อสาธารณะ เพื่อความโปร่งใส ควรมีการรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ ย้ำโครงการต้องไม่กระทบต่อชีวิต สภาพแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมด้วย
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 กลุ่มธรรมาภิบาลไทย เครือข่ายภาคตะวันออก เครือข่ายรักพระแม่ธรณี ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และองค์การเครือข่ายต่างๆ รวมถึงภาคประชาชนราว 45 องค์กรรวมทั้งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวนกว่า 100 คนได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีวาระการพิจารณาร่างสัญญาให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศ (ร.ฟ.ท.) และเอกชนผู้ชนะประมูลโครงการ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และพันธิมตร ก่อนที่จะมีการเดินหน้าลงนามในสัญญาในช่วงกลางเดือนมิ.ย.62 ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส. และอดีตประธานคสรท. เพื่อขอให้รัฐบาลดำเนินการโครงการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อย่างโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
โดยในการยื่นหนังสือครั้งนี้มีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาประจำสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งมีข้อเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน 4 ประการคือ
1. การดำเนินโครงการต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่โครงการ และให้คำนึงถึงมาตรการบรรเทาความเสียหายที่จะตามมาอย่างเต็มคุณค่า
2.ให้รัฐบาลดำเนินการด้วยความโปร่งใสเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็น สำคัญ มากกว่าการเอื้อผลประโยชน์แก่นักลงทุนผู้เข้าดำเนินโครงการ
3.ให้มีการเปิดเผยสัญญาต่อสาธารณะโดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร จะลงนามในสัญญาและเข้าดำเนินการต่อไป
4. โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศชาติ ประชาชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม จึงไม่ควรรีบเร่งดำเนินการ โดยให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และการตัดสินใจ ของประชาชนอย่างรอบด้านก่อนดำเนินการ
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส.กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม สนามบิน คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้พิจารณาคัดเลือกกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการไปแล้วนั้น จากการติดตามข้อมูลข่าวสารตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตนและเครือข่ายในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการEEC และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภาคประชาชนรู้สึกกังวลและเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า โครงการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านชีวิตและความเป็นอยู่ทั้งด้านเกษตรกรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ตลอดทั้งด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกหลายประการมากกว่าการพัฒนาที่จะสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติตามที่รัฐบาลได้มุ่งหวังไว้ จึงอยากให้มีการทบทวน และเปิดเผยสัญญา เปิดรับฟังความคิดเห็น อย่างไรก็ตามโครงการต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และสภาพแวดล้อม