มิถุนารำลึก วันที่ผู้นำจากไป

20150621_150317

เดือนมิถุนายน ขอทุกปีหลายคนอาจลืมเลือนการจากไปโดยมิได้หวนกลับมาอีกของ 2 ผู้นำแรงงาน ผู้ทำหน้าที่ในการต่อสู้เพื่อสิทธิ และความเป็นธรรม ความหาญกล้าต่อกรกับเผด็จการทหารอย่าง คุณอารมณ์ พงศ์พงัน ที่เสียชีวิตในวันที่ 21 มิถุนายน 2523 และคุณทนง โพธิ์อ่าน ที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ซึ่งผู้นำแรงงานทั้ง 2 ท่านนี้แม้ว่าอยู่กันคนละยุคของช่วงเวลาการทำงาน สิ่งหนึ่งที่เขาเหมือนกันคือจุดยืนในการต่อต้านเผด็จการทหาร คนหนึ่งติดคุก อีกคนหนึ่งก็ถูกอุ้มหายโดยไร้ร่องรอย voicelabour.org ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรำลึกถึงคุณทนง โพธิ์อ่าน และคุณอารมณ์ พงศ์พงัน ด้วยจิตคาวารวะ

อารมณ์

1. อารมณ์ พงศ์พงัน ปัญญาชนของขบวนการแรงงาน

ในวัยเด็ก อารมณ์ พงศ์พงัน ชีวิตต้องสู้

อารมณ์ พงศ์พงัน เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2489 ที่ เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดราษฎร์เจริญ ชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนมัธยมพงันวิทยา เมื่อปี 2505 ในช่วงปี 2502 ถึง 2507 นั้น อารมณ์ไปใช้ชีวิตเป็นชาวประมงจับปลา เป็นคนแจวเรือรับจ้างที่ท่าเกาะพงัน และไปเป็นคนงานในไร่มันสำปะหลังที่ระยอง เพราะฐานะทางบ้านของอารมณ์ไม่ค่อยดีนัก จากนั้นได้กลับเข้าเรียนต่อ ม.ศ. 4 ที่โรงเรียนไพศาลศิลป์ แผนกวิทยาศาสตร์ และจบ ม.ศ. 5 ปี 2510 ได้ศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิค โคราช แผนกวิชาช่างโยธา อารมณ์ ถือว่า เป็นคนเรียนเก่งจนได้รับกิตติคุณในฐานะนักศึกษาเรียนดี ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานชุมนุมภาษา หนังสือของวิทยาลัย รวมทั้งเป็นประธานนักศึกษา ด้วยค่าใช่จ่ายที่ทางบ้านส่งมาให้เดือนละ 500 บาท ไม่เพียงพอ อารมณ์ จึงต้องทำงานพิเศษหาเงิน เขียนหนังสือ เรื่องสั้น เรื่องยาว บทความ และบทกวี ลงตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์ประเภทต่างๆ อาทิเช่น สังคมปริทัศน์ สยามรัฐ ชาวกรุง สามยอด และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของพรรคประชาธิปัตย์

จุดเริ่มต้นครอบครัว-งานอาชีพ : 1 กันยายน 2515 อารมณ์ เข้าทำงานในการประปานครหลวง ได้ถูกส่งให้ไปเรียนรู้งานที่กองสำรวจ และออกแบบ งานอดิเรกของอารมณ์ คือเขียนบทความคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่โคราช ซึ่งมีเรื่องราวการคัดค้านสงครามเวียดนาม ค่าแรงคนงาน ข้าวของแพง ตอนนั้นยังไม่มีการเคลื่อนไหวการเมือง คำว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิต ยังเป็นคำที่ไม่แพร่หลาย แต่อารมณ์ได้ก้าวหน้าไปก่อนแล้ว และปลายปี 2515 อารมณ์ได้สมรสกับคุณอมรลักษณ์ มีบุตรสาวเพียงคนเดียว ชื่อ เบญจภา พงศ์พงัน

องค์กรแรงงานการคุ้มครองผลประโยชน์ พื้นฐานประชาธิปไตย: ในความคิดของอารมณ์ “สหภาพแรงงานได้แก่ องค์กรคุ้มครองผลประโยชน์ให้แก่กรรมกร ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจุดยืนแห่งการคุ้มครองผลประโยชน์นั้น อยู่บนพื้นฐานแห่งการปกครองด้านประชาธิปไตย” หน้าที่สมาชิกหรือผู้ใช้แรงงาน คือ พร้อมในการเป็นสมาชิก ให้ความไว้วางใจ อย่างเชื่อมั่น และศรัทธา เมื่อเป็นสมาชิกแล้วจะต้องเดินตามแนวทางลัทธิสหภาพแรงงานอย่างเคร่งครัด ในฐานะสมาชิก และจะต้องไม่เรียกร้องให้สหภาพแรงงานคุ้มครองผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้มาโดยไม่ชอบ ต้องไม่หวังที่จะอาศัยอิทธิพลของสหภาพแรงงาน ไปเป็นเครื่องมือไต่เต้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน

อารมณ์ ร่วมจัดตั้งสหภาพแรงงานการประปานครหลวง ปี 2518 ร่วมกับผู้ก่อการที่รักความเป็นธรรมท่านอื่นๆ เปิดตัวสหภาพแรงงานฯ โดยการเปิดปราศรัยครั้งใหญ่ ซึ่งอารมณ์เป็นกำลังหลักที่ชี้แจงอธิบายตัวตนขององค์กรให้เพื่อนพนักงานทราบ ความเป็นนักคิดนักเขียน อารมณ์ จึงรับเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นบรรณาธิการในวารสาร ถังสูง เขียนข้อเขียนต่างๆแทบจะคนเดียว ปีเดียวกันได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย

ด้วยจิตใจที่ รักประชาธิปไตย และรักความเป็นธรรม ความเป็นคนที่มีเหตุผล ทำให้อารมณ์ได้รับการยอมรับจากทั้งภายในองค์กร และภายนอกองค์กร กรณีการช่วยเหลือ กรรมกรฮาร่า ที่ชุมนุมยึดโรงงาน และรัฐมีท่าทีที่ไม่ให้ความเป็นธรรม อารมณ์ได้รับเลือกเป็น คณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายกรรมกรชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หาทางออกให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างชาญฉลาด และเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายแรงงานให้แก่ลูกจ้างหลายโรงงาน

วีรบุรุษ

ความคิดทางการเมือง และสังคม

14 ตุลาคม 2516 อารมณ์ได้ชักชวนเพื่อนๆเข้าร่วมชุมนุม กับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กรณีการจับนักศึกษาที่แจกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ภายใต้ความเชื่อของอารมณ์ว่า “พลังมวลชนไม่มีใครสู้ได้” หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านไป อารมณ์ ได้เขียนบทความที่มีข้อคิดคล้ายเตือนว่า อย่าประมาท และอย่าไว้ใจอำนาจเผด็จการ ที่พร้อมทำทุกอย่างที่ไร้ศิลธรรมความปรานี

อารมณ์ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคม กระทั้งแวดวงเกษตรกร ปี 2519 อารมณ์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการพิสูจน์อัตราแปรสภาพข้าวเปลือก เป็นข้าวสาร โดยร่วมกับรัฐบาล นิสิตนักศึกษา และผู้ประกอบการโรงสี ผลจากที่รัฐบาลชุด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตัดสินใจเลิกจำหน่ายข้าวสารราคาถูก อ้างว่า เพื่อดันราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้น กลุ่มสหภาพฯ จึงคัดค้าน เพราะอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพงคนยากจน ผู้ใช้แรงงานเดือดร้อน การเลิกขายข้าวสารราคาถูกไม่ได้ช่วยชาวนาตามที่รัฐบาลอ้าง เพราะรัฐไม่สามารถควบคุมพ่อค้าคนกลาง โรงสีให้ซื้อข้าวเปลือกตามที่ประกันราคาได้ กลุ่มสหภาพแรงงานนำโดยนาย ไพศาล ธวัชชัยนันท์ ได้เรียกประชุมสหภาพแรงงานทั่วประเทศ เพื่อลงมตินัดหยุดงานทั่วประเทศวันที่ 2 มกราคม 2519 ท่าทีที่แข็งกร้าว การเคลื่อนขบวน มาชุมนุมที่ลานพระรูปทรงม้า วันที่ 4 มกราคม 2519 เข้าเจรจากับรัฐบาลในคืนนั้น ซึ่งทางกลุ่มสหภาพฯได้เสนอให้รัฐบาลจัดให้มีข้าวสารราคาถูกขายต่อไป พร้อมทั้งแต่งตั้ง

“กรรมการพิสูจน์อัตราการแปรสภาพข้าวเปลือก เป็นข้าวสาร”

ขบวนแตก หากผู้นำขายตัว : อารมณ์ บันทึกถึงจุดอ่อนของขบวนกรรมกรไทยว่า จากความเกลียดชัง และต่อต้านอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบอย่างจริงจัง เมื่อองค์กรแรงงานเห็นแก่ประโยชน์ ทำให้เกิดจุดอ่อนภายในสภาแรงงานแห่งประเทศไทย (กลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย) ความประสงค์ของบรรดาผู้นำกรรมกรขายตัว เข้ามาทำลายความสามัคคีภายในหมู่กรรมกรระดับสูง โดยอาศัยความเกลียดชังระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีอยู่ในระบอบแรงงานเสรี ทำลายเจตนารมณ์ที่คัดค้านการปกครองแบบเผด็จการ เปิดโอกาสให้การปกครองแบบเผด็จการฟัสซิสต์เข้ามามีอำนาจในสภาแรงงานฯเป็นผลสำเร็จ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การแทรกแซง ปลุกระดมให้เกิดความลุ่มหลงลัทธิคลั่งชาติ กล่าวหาว่า ผู้นำกรรมกรเป็นคอมมิวนิสต์ ใส่ร้ายป้ายสีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2518 ที่สวนลุมพินี ผู้ที่ใช้นามปากกาว่า กระแช่ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม (8 มี.ค.19)กล่าวหาว่า”อารมณ์ พงศ์พงัน จะจัดงานฉลองวันชาติรัสเซีย หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองที่ถอยหลังเข้าคลอง สภาแรงงาน ถูกคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินออกคำสั่งยุบเลิก ถือเป็นการปิดฉากระบบสหภาพแรงงานตามลัทธิสหภาพแรงงานเสรี เมื่อรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรขึ้นมาบริหารประเทศ แม้ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 เสียทั้งหมด

วันที่ 15 ตุลาคม 2519 อารมณ์ ถูกจับที่บ้านพัก ข้อหาภัยสังคม และตามด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ กบฏ จลาจล พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน สะสมอาวุธ และซ่องโจร ทั้งที่ มิได้เข้าร่วมชุมนุม ช่วง 2 ปีที่ในคุกอารมณ์ ใช้เวลาเขียนหนังสือ ทั้งเรื่องสั้น บทกวี ประวัติศาสตร์ขบวนการกรรมกร ฯลฯ

ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ในสิ่งที่ตนเชื่อถือ “เป็นเพียงการจากไป เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของเสรีชน ปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำกรรมกร เพื่อเรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทั่วๆไป เป็นการจากไปที่มีเกียรติ”ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน ทำให้เขามุ่งมั่น และมีกำลังใจที่ไม่ย่อท้อ แม้บางช่วงเวลาขบวนการต่อสู้จะซวนเซ ซึ่งอารมณ์ได้บันทึกไว้ว่า ดอกไม้บานแล้ว บริสุทธิ์กล้าหาญ บานอยู่ในใจของประชาชน ผู้รักความเป็นธรรมทุกคน

อารม2

เผด็จการนั้นไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ก็จะไม่สามารถดำรงอำนาจอยู่ในสังคมนี้ได้นาน

ในทรรศนะอารมณ์ ชี้ชัดว่า การต่อสู้เพียงเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ ต้อง “สนใจทิศทางการเมือง” เพื่อให้ขบวนการนี้สามารถควบคุมพฤติกรรม และบทบาทของรัฐบาลต่อขบวนการกรรมกร เพราะ “กรรมกรก็คือประชาชนผู้ทุกข์ยาก และต่ำต้อยของสังคม เช่นเดียวกับชาวนา” ในเมื่อกรรมกรสามารถรวมพลังอำนาจต่อรองได้ระดับหนึ่ง ถ้าฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกรรมกรเสียแล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่กรรมกรจะใช้ระบบสหภาพแรงงานไปต่อสู้ และความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยสันติวิธี

“ผมไม่เคยนิยมการใช้วิธีรุนแรง สำหรับปัญหาทางด้านการเมืองที่เราคนในสังคมนี้ สามารถแก้ไขร่วมกันได้ โดยการใช้สมองเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหา ด้วยการฆ่า และทำลายสำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระหว่างบุคคล โดยเฉพาะความขัดแย้งทางด้านความคิดด้วยแล้ว ผมอยากร้องตะโกนให้ก้องไปทั้งประเทศนี้ว่า ทำไมเราไม่พัฒนาความขัดแย้งนั้นให้เปลี่ยนรูปแบบจากในแง่การทำลายมาเป็นรูปแบบแห่งการสร้างสรรค์ เราต้องเข่นฆ่ากันด้วยหรือ?”

อารมณ์เห็นว่า ขบวนการแรงงานต้องมีเอกภาพไม่ควรแยกองค์กรนำระดับสูง เพื่อเป็นพลังต่อรองที่เข้มแข็ง ยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงาน และสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม

16 กันยายน 2521 การประกาศนิรโทษกรรมผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาอิสรภาพคืนสู่อารมณ์อีกครั้ง ด้วยความยินดี และความสุขของครอบครัว และผู้ใช้แรงงาน ทันที่ที่ออกมาก็เข้าแบกรับงานงานสหภาพ และสภาแรงงานทันที ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาเขียนหนังสือเท่าที่ทำได้ ปี 2522 ร่วมทำวารสารข่าวคนงาน ของสภาฯ เป็นประธานสหภาพแรงงานการประปานครหลวง

ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่น เรื่อง เพลงลาบทสุดท้าย จากสมาคมภาษา และหนังสือ และได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลที่ทำตนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ร่วมกับคุณสุภาพ พัสอ๋อง

อารมณ์ ได้ถ่ายทอดความรู้สึกความรักที่มีต่อครอบครัว เพื่อนผู้ใช้แรงงาน บ้านเมืองที่เป็นที่รัก เพื่อเป็นกำลังใจในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ
หลังจากที่ได้รับนิรโทษกรรมได้เพียง 10 เดือน โรคร้ายก็กำเริบ อารมณ์ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลชลประทานถึง 4 ครั้ง โดยได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากแพทย์ พยาบาล จนวินาทีสุดท้ายเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ตับเพียงวัย 34 ปี ท่ามกลางอาลัยของครอบครัว และเพื่อนญาติมิตร ผู้ใช้แรงงานที่ไปให้กำลังใจ ในเวลา 08.05 น.วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2523

ทนง

2. ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานผู้ท้าเผด็จการ

ชีวิต และการงาน

ทนง โพธิ์อ่าน เกิดเมื่อ 16 มิถุนายน 2479 ที่อำเภอยานนาวา กรุงเทพ บิดา – มารดา ชื่อนายเพิ่มและนางบุญเรือน นกเม้า อาชีพทำนา ฐานะยากจน จึงยกเด็กชายทะนง โพธิ์อ่าน ให้หม่องอู โพธิ์อ่าน (ทูตพานิชย์ประจำประเทศไทย) เลี้ยงดู จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอิสระนุกุล ภรรยาชื่อ นางรัชนีย์บูรณ์ โพธิ์อ่าน พยาบาลโรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพ มีบุตรชื่อ อดิศร บุตรสาวชื่อ น.ส.ชุนันญา (เดิมชื่ออติรัตน์)

ทนง เริ่มต้นทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาไปทำงานบริษัทเฟสโก้ (S.G.S.) ที่สีลม เคยผ่านอาชีพรับซื้อของเก่า ขับรถสองแถวสายสีลม-บางรัก แล้วเข้าสู่วงการแรงงาน โดยการชักชวนของคุณสุวิทย์ ระวิวงศ์ สหภาพแรงงานขนส่งสินค้าออก (ทางน้ำ) ในตำแหน่งเลขาธิการ สหภาพแรงงานขนส่งสินค้าออก

ทนง2

ย่างก้าวความเป็นผู้นำแรงงาน และการสร้างเอกภาพ

ด้วยความมุ่งมั่น เป็นผู้นำอยู่ท่ามกลางลูกน้องบริวารที่เรียกว่าผู้ใช้แรงงาน หรือกรรมกรแบกหามตัวจริงเป็นเวลาหลายปีได้ก่อเกิดอำนาจ และบารมี ไต่ระดับมาเป็นผู้นำแรงงานระดับชาติในเวลาต่อมา การเข้าไปเป็นสมาชิกสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยของสหภาพขนส่งฯทำให้ทนงก้าวเข้าสู่การเป็นกรรมการบริหารสภาฯจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำระดับชาติ ในตำแหน่งประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ด้วยการที่ทนงเป็นคนที่ร่วมต่อสู้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานอย่างถึงลูกถึงคน ถึงพริก ถึงขิง โดยเฉพาะบทบาทการผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ การคัดค้าน การคัดค้านสัญญาจ้างงานระยะสั้น ชั่วคราว หรือสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ปี 2530 โค้งสุดท้ายของการเคลื่อนไหวกฎหมายประกันสังคมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ขณะนั้นทะนงก็มีบทบาทสมาชิกวุฒิสภา และทำหน้าที่โต้แย้ง พูดเรื่องร่างกฎหมายประกันสังคมต่อรัฐสภา ในการต่อรองกับรัฐบาล และในฐานะผู้นำแรงงานที่พามวลชนขับเคลื่อนตลอดเวลา จนพระราชบัญญัติประกันสังคมออกมาบังคับใช้ในปี 2533 ทะนงเป็นคนที่ทำการบ้าน และข้อมูลในการนำเสนอทุกครั้ง ทำให้ข้อเรียกร้องประสบผลสำเร็จ ได้เป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคมชุดแรก เป็นผู้พิพากษาสมทบ “ซึ่งมีไม่มากหรอกที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำอะไรเพื่อคนอื่นได้มากมาย และยาวนาน”ชื่อของทนงขจรไปถึงสมาพันธ์แรงงานเสรีระหว่างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ICFTU.) และได้รับเลือกเป็นรองประธาน(ICFTU.)

เส้นทางชีวิตของทนงช่วงนั้นเขากลายเป็นแกนนำของนักแรงงานกลุ่มต่างๆ ชื่อเสียงดังไปทั่วประเทศ และขบวนการแรงงานหลังจากที่แบ่งแยกมีทีท่าจะประสานเป็นหนึ่งอีกครั้ง ถือเป็นช่วงที่ขบวนการแรงงานปรับตัวสู่ความเข้มแข็งอย่างไม่มีมาก่อน การกำหนดการเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการแก้ไขกำหมายแรงงาน ทั้งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน ทั้งทนงยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า “สำหรับการทำงานของ 3 สภาแรงงานที่จะผลักดันคือ ปัญหาความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างนั้นไม่ได้อยู่เฉพาะแต่ในโรงงาน แค่นิ้วขาด สูญเสียอวัยวะฯลฯ แต่ยังมีเรื่องมลพิษ น้ำเสีย” เป็นการสร้างความเป็นเอกภาพในการทำงาน

ทนง1

สู้กับเผด็จการแบบ “หมูไม่กลัวน้ำร้อน”

23 กุมภาพันธ์ 2534 กลุ่มทหาร รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหวัน ขบวนการแรงานถูกตีกรอบการเคลื่อนไหว ทนงก็สำแดงความเป็นนึกสู้อย่างไม่เกรงกลัวอำนาจปืน วันที่ 26 เมษายน รสช. เรียกผู้นำแรงงานเข้าพบ พลเอกสุจินดา คราประยูร พูดว่า “ทุกข์ของกรรมกรคือทุกข์ของทหาร” แต่ต่อมาก็ทำการลิดรอนสิทธิของแรงงาน ด้วยประกาศใช้ คำสั่ง รสช. 54 ยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ตีตราทะเบียนที่ปรึกษาฝ่ายลูกจ้าง เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในดารรวมตัวและการเจรจาต่อรองของแรงงาน ทนงเรียกประชุมสภาแรงงาน คัดค้านตอบโต้อย่างแข็งกร้าวว่า “ทหารกำลังสร้างปัญหาให้กรรมกรด้วนการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และออกประกาศ รสช.ฉบับที่ 54 พร้อมฝากเตือนถึงบิ๊กจอดอย่านึกว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้วจะทำอะไรก็ได้ ต้องฟังเสียงประชาชนบ้าง และเวลานี้ทหารทำให้กรรมกรมีทุกข์ ดังนี้ควรรอบคอบ วันนี้ 3 ช่า วันหน้าอาจไม่มีแผ่นดินอยู่” ทั้งยังประสานการเคลื่อนไหวกับICFTU.เพื่อประณามการกระทำที่ละเมิดหลักการสากล การลิดลอนเสรีภาพการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งห้าม ทนง ไปร่วมประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO.) เพราะกลัวการหนุนช่วยทางสากล

วันที่ 14 มิถุนายน 2534 สภาแรงงานภายใต้การนำของทนง โพธิ์อ่าน จัดชุมนุมเรียกร้องให้คืนสิทธิสหภาพแรงงานให้คนงานรัฐวิสาหกิจ และให้ยกเลิกประกาศ รสช.ฉบับที่ 54 ทนง วิพากษ์วิจารณ์ รสช.รุนแรงขึ้นจนสื่อมวลชนเรียกว่า “หมูไม่กลัวน้ำร้อน”

ทนง3

วันแห่งความสูญเสียผู้กล้าของขบวนการแรงงาน

19 มิถุนายน 2534 รถวอลโว่คู่ใจ ถูกจอดทิ้งไว้หน้าสำนักงาน สหภาพแรงงานขนส่งสินค้าออก ส่วนทนงหายไปอย่างลึกลับไร้ร่องรอย ไม่มีผู้ใดพลเห็นได้ข่าวคราวของเขาอีกเลย

ก่อนที่ทนงจะหายตัวไป เขาก็บอกกภรรยาว่า “มีคนคอยตามอยู่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มไหน เขาถูกข่มขู่และติดตามทุกฝีก้าว และสั่งเสียว่า ถ้าหายไป 3 วัน แสดงว่าถูกลักพาตัวไป หากไม่ติดต่อกลับมาภายใน 7 วัน แสดงว่าเสียชีวิตแล้ว เพราะทนงเป็นเบาหวาน หากเครียดมากต้องฉีดยาอินชูลินเป็นประจำ หากช่วยไม่ทันก็อาจช็อก ซึ่งทุกวันที่ 19 มิถุนายน แม้จะมีความพยายามจากครอบครัวร่วมกับขบวนการแรงงานในการติดตามหาคำตอบว่า ทนง หายไปไหนมาตลอดแต่ผ่านมาหลายรัฐบาล ทุกข์อย่างก็ยังคงมืดมน

ทนง โพธิ์อ่าน ถือว่าเป็นผู้นำแรงงานที่มีอุดมการณ์ และความกล้าหาญ ยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการ และยืนเคียงข้างพี่น้องแรงงานอย่างมุ่งมั่น เสียสละทำหน้าที่ผลักดันกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหา ปกป้ององค์กรของผู้ใช้แรงงานจนหายตัวไป

///////////////