มารู้จักความเป็นมาของรัฐวิสาหกิจไทยกันเถอะ

2016-02-17 13.30.19

รากฐานการพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย มีมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ การบริหารราชการแผ่นดิน และการสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ รองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เท่าเทียมอารยะประเทศทางฝั่งตะวันตกในสมัยนั้น อาทิเช่น การตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลข ขึ้นในปี พ.ศ. 2429 เพื่อวางโครงข่ายระบบโทรเลขและโทรศัพท์ขึ้นให้ประชาชนได้ใช้ในการติดต่อสื่อสาร การตั้งกรมรถไฟ สังกัดอยู่ในกระทรวงโยธาธิการขึ้นมาในปี พ.ศ. 2433 เพื่อสร้างระบบทางรถไฟ เป็นเส้นทางคมนาคม ให้ราษฎรที่อยู่ที่มณฑลชายแดนได้ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ากับเมืองหลวงได้ง่ายขึ้น และการตั้งกรมสุขาภิบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2448 เพื่อดำเนินกิจการประปาในการจัดหาน้ำสะอาดสำหรับประชาชนในกรุงเทพฯ ได้ใช้ประโยชน์ เป็นต้น

ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้กลายเป็นชนชั้นปกครองใหม่ ที่เข้าควบคุมอำนาจทางการเมืองและทางการทหาร ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งหมดของรัฐ ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมทุนของรัฐ และเป็นผู้ที่ออกกฎหมายต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความชอบธรรมแก่การจัดสรรทรัพยากรเหล่านั้น ด้วยแนวคิดที่ต้องการบริหารจัดการทรัพยากรของชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชนในชาติ คณะราษฎรได้นำหน่วยงานของรัฐที่ดูแลบริการสาธารณูปโภคโภคมาตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น รวมทั้งนำทุนของรัฐมาสร้างรัฐวิสาหกิจขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง เช่น รัฐวิสาหกิจทางการเงิน ได้แก่ ธนาคารเอเชีย ธนาคารมณฑล และบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย รัฐวิสาหกิจทางอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัทข้าวไทย บริษัทประมงไทย บริษัทเดินเรือไทย และบริษัทไทยเดินเรือทะเล ส่วนรัฐวิสาหกิจทางด้านพาณิชยกรรม ได้แก่ บริษัทค้าพืชผลไทย และบริษัทพืชกสิกรรม เป็นต้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลได้จัดตั้งรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน ประกันภัย การเดินเรือ หรือพาณิชยกรรม เพื่อบูรณะฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้า มีการตั้งกิจการที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และกิจการที่มีผลโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านอุปโภคบริโภคของประชาชนให้เพียงพอ รวมทั้งกิจการที่เป็นการบริการประชาชน ที่ภาคเอกชนยังไม่มีความพร้อมทั้งในด้านเงินทุนและความสามารถ มีการตราพระราชบัญญัติองค์กรของรัฐบาล พ.ศ. 2496 เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารจัดตั้งองค์การหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขึ้นมา ทำหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ มีผลทำให้มีการจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ขึ้นมาหลายแห่งซึ่งมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ องค์กรการขนส่งมวลชนกรุงเทพ องค์การแบตเตอรี่ องค์การแก้ว องค์การกำจัดน้ำเสีย

20160129_092703

เมื่อมีขึ้นก็ต้องมีลง ความรุ่งเรืองของรัฐวิสาหกิจกลับเริ่มแย่ลงในสมัยรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ซึ่งขณะนั้นเกิดปัญหาทางด้านการเงินของประเทศ รัฐบาลไทยต้องขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารโลก (World Bank) ในการกู้เงิน ซึ่งได้ส่งผู้แทนพิเศษมาศึกษาสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการด้านการเงินของประเทศไทย ด้วยแรงกดดันของธนาคารโลก (หน่วยงานที่ขับเคลื่อนแนวคิด “ทุนนิยม” ที่ไม่ต้องการให้รัฐลงทุนในกิจการสาธารณูปโภค) แนวคิดของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงเริ่มเกิดขึ้นมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 ที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2504 จะมีการกล่าวถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไว้ตามที่ธนาคารโลกให้ข้อแนะนำไว้ แต่การดำเนินงานของรัฐบาลตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 มาจนถึงฉบับฉบับที่ 8 ก็ยังไม่เคยมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแบบอย่างที่ประเทศต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไป จะมีก็แต่เพียง “การเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจ” เท่านั้น ที่ได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมี 6 วิธีการด้วยกัน คือ

1. การทำสัญญาจ้างเอกชนให้บริหารงาน
2. การทำสัญญาให้เอกชนเช่าดำเนินการ
3. การให้สัมปทานภาคเอกชน
4. การกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
5. การร่วมลงทุนกับภาคเอกชน
6. การให้เอกชนลงทุนดำเนินการแก่รัฐในการรับซื้อผลผลิต

ต่อมาด้วยการรุกคืบของแนวคิดเศรษฐกิจใหม่เรื่อง “ลัทธิเสรีนิยมใหม่” ของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ที่เชื่อว่าการแข่งขันจะนำไปสู่คุณภาพของการให้บริการที่ดี ได้พยายามผลักดันให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ให้นำกิจการงานบริการมาแปรรูป (Privatization) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และลดบทบาทการแทรกแซงโดยรัฐ ประกอบกับ ในช่วงปี พ.ศ. 2539 เมื่อประเทศไทยประสบวิกฤตปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลได้เจรจา ขอความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) และได้จัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จร่วมกับ IMF ในการขอเงินกู้จาก IMF โดยประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามเป้าหมายเศรษฐกิจและการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน รวมทั้งจะต้องมีการทบทวนเป้าหมายการดำเนินนโยบายด้าน ต่างๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการแรรูปรัฐวิสาหกิจก็เป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการดำเนินนโยบายตามข้อตกลง

รัฐจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เพื่อใช้ในการแปลงสภาพจากรูปแบบรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายจัดตั้ง ไปเป็นรัฐวิสาหกิจแบบบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัด โดยนำทุนของรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นมาแปลงเป็นหุ้น แล้วนำไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมีการนำหุ้นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ออกขายในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมด กิจการนั้นก็จะพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และขณะเดียวกันก็ยกเลิกกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนและให้บริการเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจที่มีรูปแบบองค์กรเป็นบริษัทจำกัดมหาชน รัฐวิสาหกิจที่ถูกแปลงสภาพไปเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ในครั้งนั้น มีอาทิ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

ในตอนต่อไป จะนำเสนอให้เห็นแนวคิดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่มีอิทธิพลต่อนักปกครองของประเทศ ที่สร้างผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจอย่างเสียหาย การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ล้มเหลวของกระทรวงการคลัง รัฐวิสาหกิจไม่เพียงแต่ ไม่ได้รับการพัฒนาคุณภาพของบริการ มีการนำอำนาจการเมืองและอำนาจทุนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจ ทำให้รัฐวิสาหกิจในทุกองค์กรที่เคยรุ่งเรืองและมีกำไร กลับย่ำแย่ไปตามๆ กัน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ประชาชนเองก็ไม่เข้าใจว่ารัฐวิสาหกิจเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ทุกคนเป็นเจ้าของและเคยเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในช่วงหลังสงครามโลก กลับต่อว่าต่อขานรัฐวิสาหกิจเป็นเสือนอนกิน ตามการวิพากษ์วิจารณ์ของคนในรัฐบาลที่พยายามป้ายความผิดให้ตกมาที่รัฐวิสาหกิจ เพื่อปกปิดการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ล้มเหลวของรัฐบาล

ธุรกิจของรัฐวิสาหกิจไทยเป็นการวางโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ นับวันจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ในทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน และเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าคิดเป็นเงินนับหลายแสนล้านบาท ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมความเป็นอยู่ของคนในสังคม แต่กลับให้นายทุน บริษัทข้ามชาติ ไม่กี่รายเข้ามาลงทุน เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเดิมที่รัฐเคยเป็นผู้ประกอบกิจการกิจการ หารายได้นำส่งเป็นเงินได้ของแผ่นดิน มาเป็นธุรกิจในรูปเอกชน เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นไม่กี่คนเท่านั้น ประกอบกับการเมืองที่ไม่เข้มแข็ง รัฐวิสาหกิจจึงกลายเป็นแหล่งตักตวงผลประโยชน์จากนักการเมืองและนายทุน

พงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รองเลขาธิการ สรส. ฝ่ายวิชาการ 7 ก.พ. 2559