มาตรการลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ

นายกฯ ลงนามความร่วมมือ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ  ชี้ไม่รวม 3 กองทุนสุขภาพแต่ลดเหลื่อมล้ำบริการพื้นฐานจำเป็น ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าได้ทุก รพ.โดยไม่ถามสิทธิ์ ไม่สำรองจ่าย รักษาได้ยาว  โดยเลขาธิการ สปสช.เผยเตรียม 200 ล้านสำรองจ่ายฉุกเฉินมั่นใจไม่มีที่ไหนไม่รับผู้ป่วยฉุกเฉิน   ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยบริการผู้ป่วยฉุกเฉินร่วมของ 3 กองทุนสุขภาพตั้งแต่ 1 เมษายนราบรื่นดียังไม่พบปัญหา  ส่วนชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนออกแถลงการณ์ประนามกรรมการประกันสังคมที่มีมติไม่เห็นชอบในการเซ็นข้อตกลงร่วม 3 ฝ่าย  ขณะ สปส.โต้เห็นชอบหลักการแล้วติดแค่ห่วงภาระงบประมาณ   
 
3 กองทุนเคาะ ทุก รพ.ห้ามปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่ต้องสำรองจ่าย
สำนักข่าวอิศรา  วันพุธที่ 14 มีนาคม 2012
   นายกฯชี้ไม่รวม 3 กองทุนสุขภาพ  แต่ลดเหลื่อมล้ำบริการพื้นฐานจำเป็น ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าได้ทุก รพ.โดยไม่ถามสิทธิ์ ไม่สำรองจ่าย รักษาได้ยาวจนทุเลา
   วันที่ 13มี.ค.55 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมเชิงนโยบาย “การลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ” (กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง         
   นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ามีข้อตกลงร่วมกันเรื่องสิทธิประโยชน์หลักที่จะครอบคลุมการรักษาทุกโรคที่จำเป็น และการได้รับสิทธิการบริการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันโดยอยู่บนหลักการของแต่ละกองทุน และขอเน้นย้ำวัตถุประสงค์ว่าต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทั้ง 3 กองทุน แต่ไม่ใช่การรวมกองทุน ซึ่งสิ่งสำคัญคือสามารถรักษาพยาบาลประชาชนกรณีเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ทันท่วงที โดยทั้ง 3 กองทุนมีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกันในการรักษาพยายบาลไม่ให้หลื่อมล้ำ        
   นายกรัฐมนตรี ยังได้ติดตาม 3 ประเด็นสำคัญ 1.ความพร้อมการบูรณาการดูแลร่วมผู้ป่วยฉุกเฉินภายใต้มาตรฐานเดียวกันของ 3 กองทุนฯ โดยไม่มีการถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า 2.มาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาระยะยาว 3.มาตรการสร้างเสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค        
   สำหรับความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีให้ทั้ง 3 หน่วยงานจัดเตรียมแผนปฏิบัติการ แก้ไขระเบียบของแต่ละกองทุนเพื่อให้เกิดเอกภาพและคล่องตัว ไม่ส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจผู้บริหารโรงพยาบาลภาครัฐทั้งในและนอกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่ 8 มี.ค.55
   โดยในการให้บริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินตามระบบปกติของทั้ง 3 กองทุน จะดูแลจนกว่าผู้ป่วยมีอาการทุเลาและกลับบ้านได้ หรือส่งต่อผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อที่โรงพยาบาลที่อยู่ในระบบ ไม่ต้องมีระยะเวลาสิ้นสุด 72 ชั่วโมงเหมือนที่ผ่านมา โดย สปสช.จะเป็นศูนย์กลางติดตามการเบิกจ่ายค่าบริการ และได้จัดเตรียมสายด่วน 1330 พร้อมให้บริการให้ข้อมูลประชาชน 24 ชั่วโมง ซึ่งการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประเภท กระทรวงสาธารณสุขจะใช้กลไกสายด่วนกู้ชีพ 1669 มาร่วมบริการด้วย         
   ส่วนมาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาระยะยาว ที่ประชุมมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ 3 กองทุน จัดทำมาตรการเพื่อควบคุมราคายาและการบริโภคยา เช่น การรวมซื้อยาที่ส่วนกลาง หรือการต่อรองราคายา และส่งเสริมการสั่งยาโดยใช้ชื่อสามัญทางยา          
   สำหรับนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค  ให้ 3 กองทุนสุขภาพ และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมบูรณาการร่วมเสนอประเด็นลดพฤติกรรมเสี่ยง และลดการเจ็บป่วย ซึ่งจะมีผลในการลดความจำเป็นในการเข้าสู่บริการรักษาใน 5 เรื่องสำคัญเบื้องต้น ให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ 
1. การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก  
2.พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนระดับตำบล เพิ่มพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชน ลดพฤติกรรมเสี่ยงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด 
3.พัฒนาระบบให้บริการเพื่อช่วยเลิกสูบบุหรี่ ผลสำรวจล่าสุดคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน
4.พัฒนาระบบให้บริการเพื่อช่วยเลิกดื่มดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งข้อมูลปี 2551 พบว่าประชาชนวัย 15-59 ปี เข้าข่ายความผิดปกติจากการดื่มสุรามากถึง 5 ล้านคน จำนวนนี้มีปัญหาติดสุราอย่างน้อย 3 ล้านคน 
5.การดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิต เผชิญความตายอย่างสงบ ปราศจากความเจ็บปวด แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิต 4.5- 5 แสนคน สาเหตุการตายอันดับ 1 คือมะเร็ง รองลงมาคืออุบัติเหตุ โรคหัวใจ โดยการตายที่โรงพยาบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.2 ในปี 2532 เป็นร้อยละ 39.3 ในปี 2548 และพบว่าครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,763 บาทสำหรับผู้ป่วยนอก 3 เดือนก่อนตาย และ 15,767 บาทสำหรับผู้ป่วยใน 6 เดือนก่อนตาย ขณะที่โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรคทั่วไปเฉลี่ย 64,106 บาทต่อคนต่อปี แต่ในผู้ป่วยโรคมะเร็งค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 80,780 บาทต่อคนต่อปี  ส่วนของการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สสส.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลครอบคลุมถึงกลุ่มเด็กเล็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา คือ ระหว่าง 0-6 ปี .
 
รัฐบาลลงนาม 3 กองทุนสุขภาพรัฐ ชูสิทธิ์ป่วยฉุกเฉินนอน รพ.เอกชนได้ ยันไม่ยุบรวม
ผู้จัดการออนไลน์  28 มีนาคม 2555 
   นายกฯ ลงนามความร่วมมือ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ให้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ทันทีตามสิทธิ หวังประชาชนมีสิทธิเข้าถึงแหล่งรักษา ยืนยันไม่ยุบรวม 3 กองทุนเข้าด้วยกัน ด้านเลขาธิการ สปสช.เผยเตรียม 200 ล้านสำรองจ่ายฉุกเฉิน และลงพื้นที่ทำความเข้าใจประชาชน มั่นใจไม่มีที่ไหนไม่รับผู้ป่วยฉุกเฉิน 
   วันนี้ (28 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ได้แก่กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง, กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคม ภายใต้แนวคิด “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” เพียงแค่แสดงบัตรประชาชนในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินมาโรงพยาบาล ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป
        ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานว่า ถือเป็นการลงนามที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง รู้สึกดีใจว่ามีอีกหนึ่งโครงการที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชนทั้ง 3 กองทุน ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นการพัฒนาเพิ่มเติมระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า เพื่อที่จะหาวิธีการทำอย่างไรให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงแหล่งรักษา เพื่อได้รับการรักษาจากแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิด โดยความร่วมมือของกองทุนเพื่อช่วยแก้ปัญหา เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ช่วยเหลือทุกคน ในการเข้าสู่ระบบ เพราะการรักษาประชาชนมีค่าใช้จ่าย ซึ่งบางคนได้รับบริการที่ไม่เท่าเทียมกัน สิทธิต่างกัน และการดูแลไม่ทั่วถึง
   ทั้งนี้ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องมีการถามสิทธิก่อนการรักษาก็ไม่ทันการณ์ จึงต้องการให้ผู้ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาได้ทุกที่โดยไม่เลือกปฏิบัติ เข้าถึงทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน และไม่มีค่าใช้จ่ายล่วงหน้า เมื่อรักษาไปได้สักระยะผู้ป่วยทุเลาก็ส่งกลับยังโรงพยาบาลที่กองทุนดูแล โดยให้จ่ายเงินได้ภายหลังตามสิทธิที่ได้รับการคุ้มครอง และยืนยันว่าจะไม่ยุบรวม 3 กองทุนเข้าด้วยกันและไม่นำเงินส่วนนี้มาใช้ ทุกกองทุนยังคงมีสวัสดิการข้าราชการ ภาครัฐยังเหมือนเดิม ไม่ลดลง
    อย่างไรก็ตาม วันนี้อาจจะมีปัญหาผู้รักษาผ่านระบบประกันสุขภาพทั่วหน้าทุกพื้นที่ไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน และตนเชื่อว่ายังมีอีกเยอะและอาจจะเพิ่มขึ้น จึงขอให้ทุกฝ่ายที่ทำงานเชิงปฏิบัติชี้แจงกับประชาชนว่ากรณีฉุกเฉินจะได้รับการรักษาทันที ตนในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งก็รู้สึกดีใจหน่วยงานที่ดูแลร่วมกันปรับปรุงสุขภาพคนไทย
    จากนั้นนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรัฐมนตรีและตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมมือระหว่าง 3 กองทุน สุขภาพภาครัฐ และหน่วยบริการทั้งรัฐและเอกชน
    นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ทางกระทรวงได้เตรีมความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะได้มอบหมายให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลเอกชนและประชาชนถึงขอบเขตและนิยามกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและยืนยันว่าทุกโรงพยาบาลให้ความร่วมมือ สำหรับโรงพยาบาลที่อยุ่ในต่างจังหวัดจะเป็นหน้าที่ของ สป.สช.เช่นกัน
    ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. ในฐานะผู้จัดทำระบบซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการรับการรักษาให้กับโรงพยาบาล เบื้องต้นได้หารือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ว่าภายใน 6 เดือนได้เตรียมงบประมาณสำรองจ่ายฉุกเฉินไว้ 200 ล้านบาท เพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ สปสช.ได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงสิทธิที่จะเข้ารับการรักษาฉุกเฉินว่ากรณีใดเข้าข่ายหรือไม่ เช่น กรณีหัวใจวาย อุบัติเหตุรุนแรง อันตรายถึงสมอง หัวใจ ปอด ถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ แต่หากมีดบาดเล็กๆ น้อยๆ คงไม่เข้าหลักเกณฑ์ นี่คือสิ่งสำคัญที่จะไปทำความเข้าใจ
ทั้งนี้ สปสช.ได้ให้ประชาชนหารือกับหัวหน้าพยาบาลห้องฉุกเฉินทุกโรงพยาบาลแล้วว่า โรงพยาบาลเอกชนควรละลุ่มอะล่วยในการรับผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษา เพราะทราบดีว่ามีผู้ที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายคือกองทุนฯ และมั่นใจว่าจะไม่มีโรงพยาบาลใดปฏิเสธรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แม้ทางภาครัฐจะไม่มีมาตรการลงโทษ และหลังจากวันที่ 1 เม.ย. สปสช.จะมีการประเมินผลการดำเนินการทุก 1 เดือน และยินดีรับเรื่องราวร้องเรียนผ่านสายด่วน 1669
 
 
 
วันแรกรับผู้ป่วยฉุกเฉินเหงา
มติชน (กรอบบ่าย)  3 เมษายน 2555
   เมื่อ วันที่ 1 เมษายน ผู้สื่อข่าวสำรวจบรรยากาศวันแรกของนโยบายการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้ง 3 กองทุนระบบสุขภาพคือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ในทุกโรงพยาบาล (รพ.) แบบไม่มีเงื่อนไข ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ พบว่า รพ.แผนกกลุ่มอุบัติเหตุฉุกเฉิน ทั้ง รพ. ราชวิถี รพ.รามาธิบดีรพ.พระมงกุฎเกล้า ฯลฯ ยังไม่พบปัญหาใดๆส่วนใหญ่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว ทั้งบุคลากร และติดป้ายเกี่ยวกับนิยามของคำว่า “ผู้ป่วยฉุกเฉิน”
   นพ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.เปิดศูนย์ประสานงานการบริการฉุกเฉินทุกสิทธิ รวดเร็ว ปลอดภัยไร้รอยต่อ เพื่อติดตามการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินของสถานบริการในสังกัดกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ โดยมีสายด่วน 0-2590-1994 มี 10 คู่สาย โทรสาร 0-2590-1993 และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดสายด่วน1330 ด้วย หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทร.แจ้ง หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินฟรีทั่วประเทศ ทางหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
   น.ส.เสาวลักษณ์ ทับที พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า หลังเที่ยงคืนวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาจนถึง 10 โมงเช้า มีผู้ป่วยเข้าข่ายอุบัติเหตุฉุกเฉิน 8 คน จากทั้งหมด 70 คนเชื่อว่าในช่วง 1-2 วันแรก ไม่น่ามีปัญหามากนักแต่อาจติดเรื่องความเข้าใจของประชาชนมากกว่า
นาง วันดี ศรีวิชัย อายุ 56 ปี ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ด้วยโรคปัสสาวะอักเสบรุนแรง ปัสสาวะไหลไม่หยุด กล่าวถึงนโยบายนี้ว่าทราบจากข่าวว่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับบริการได้ใน รพ.ทุกแห่งโดยไม่ต้องเสียเงิน รู้สึกดีกับนโยบายนี้
   ด้าน นพ.ประจักษ์วิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า หลังเที่ยงคืนของวันที่ 1 เมษายน จนถึงช่วงเวลา 06.00 น. มีผู้โทร.มาสอบถามสายด่วน1669 สพฉ.20 ราย ส่วนใหญ่สอบถามถึงการใช้สิทธิว่า ใช้ได้ทุกโรงพยาบาลจริงหรือไม่ และไม่ต้องจ่ายเงินเองก่อนใช่หรือไม่
   นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงกรณีที่จะนำสิทธิการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินของพนักงานรัฐ วิสาหกิจมาบูรณาการร่วมกับ 3 กองทุนสุขภาพ ว่า จะเชิญผู้แทนรัฐวิสาหกิจทั้งหมดกว่า 60 แห่ง มาหารือรายละเอียดว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เบื้องต้นจะดูแลในส่วนของผู้ป่วยฉุกเฉิน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนเมษายนนี้
 
ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน แถลงการณ์ประณามบอร์ดสปส.เหตุไม่เห็นชอบเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน
มติชนออนไลน์  10 เมษายน 2555 
   ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ได้ออกแถลงการณ์ ใจความว่า   สืบเนื่องจาก มติคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ไม่เห็นชอบในการเซ็นข้อตกลงร่วม 3 ฝ่าย เรื่องให้ประชาชนเข้ารับบริการที่ใดก็ได้ หากเกิดอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน โดยใช้อัตราการจ่าย DRG ละ 10,500 บาท ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้กองทุนประกันสังคมต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลอีกมหาศาล
   มติดังกล่าวถือเป็นมติที่แสดงถึงความไม่เข้าใจความทุกข์ยากผู้ประกันตน ของคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนถือเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหามากที่สุด คือ ผู้ประกันตนเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ปีละ 2 ครั้ง และต้องสำรองจ่ายไปก่อนใน 72 ชั่วโมง เกินจากนั้นผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบเอง นโยบายในข้อตกลงร่วม 3 ฝ่ายกรณีฉุกเฉินนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนสูงสุดทันที ถือว่าได้ปลดแอกผู้ประกันตนจากความยากลำบากในกรณีฉุกเฉินทันที
ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนจึงขอประนามกรรมการประกันสังคมที่ไม่ก้าวหน้า ไม่เห็นความทุกข์ของผู้ประกันตน ไม่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาของผู้ประกันตนที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนี้ รวมถึงเมื่อมีความพยายามของส่วนอื่นที่มุ่งแก้ปัญหาให้ผู้ประกันตนอย่างถูกทาง ก็มีมติที่แสดงความไม่เข้าใจทุกข์นี้ด้วย
 
สปส.ยืนยันให้ผู้ประกันตนรักษากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินร่วมกับ 3 กองทุน
สำนักข่าวไทย  11 เม.ย. 2555
   ก.แรงงาน 11 เม.ย.- นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีที่ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ออกแถลงการณ์ประณามคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ว่ามีมติไม่เห็นชอบกับข้อตกลงในการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะที่ประชุมบอร์ด สปส.เห็นชอบในหลักการแล้ว แต่ยังกังวลเรื่องภาระงบประมาณ จึงมอบให้ สปส. ร่างระเบียบที่ชัดเจน และรัดกุม ป้องกันกลุ่มผู้แสวงหาผลประโยชน์ และจะนำเรื่องเข้าพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 เมษายนนี้ หากผ่านความเห็นชอบกับร่างระเบียบใหม่ ประธานคณะกรรมการแพทย์ ก็จะลงนาม เพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป
   อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าขณะนี้ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลนอกเครือข่าย สปส.ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเป็นผู้เบิกค่ารักษากับ สปส.ตามเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับเรื่องค่าใช้จ่าย ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณมากนัก เนื่องจาก สปส.มีการรักษากรณีฉุกเฉินเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินเท่านั้น โดยจำนวนผู้ประกันตนที่เข้ารับการรักษาฉุกเฉินของ สปส. มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้เข้ารับการรักษาทั้งหมด.