มวลชนหลั่งไหลแห่ ร่วมไว้อาลัย “บัวลอย” อดีตผู้นำแรงงาน

วันที่ 7 กันยายน 55 ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ กลุ่มคนผู้ใช้แรงงานได้สูญเสียวีระบุรุษผู้นำแรงงานของพวกเขาไปอย่างไม่มีวันกลับ

การจากไปของ นายจรัญ ก่อมขุนทด (พี่บัวลอย) ในครั้งนี้นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของวงการแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มภาคตะวันออก พี่จรัญ ได้ทุ่มเทการทำงานให้กับพี่น้องคนงาน อย่างหนักและต่อเนื่องด้วยอุดมณ์การและความเสียสละ ไม่ว่าคนงานจะมีอุปสรรคมากน้อยเพียงใด ” ขอเพียงได้สู้ก็ถือว่าชนะแล้ว ” ในการจัดตั้งกับการกับการศึกษาของคนงานดำเนินการไปอย่างเป็นระบบ ปลูกสร้างจิตสำนึกให้คนงานเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ทั้งในชุมชน โรงเรียน วัด องค์กรแรงงานและภาคประชาชน
  
พี่จรัญ กับปัญหาด้านสุขภาพก็ไม่มีใครรับรู้มากนักนอกจากคนที่คุ้นเคยและใกล้ชิดซึ่งพี่จรัญ ได้เคยผ่าตัดใส่บอลลูนขยายหลอดเลือดมาแล้ว ๑๕ ปี ในช่วงระยะหลังเริ่มปรากฎอาการให้เห็นมากขึ้นจึงได้ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๕ แต่ไม่มีใครคาดคิดว่า พี่บัวลอยต้องมาจบชีวิตลงหลังเข้ารับการผ่าตัดหลังพักฟื้นจนถึงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๑.๒๐ น.พี่บัวลอยก็ได้จากครอบครัวและพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับ ด้วยวัยเพียง ๕๑ ปี คงเหลือไว้แต่คุณความดีที่ได้สร้างสมมา และเจตนารมร์บวกกับอุดมการณ์อันแรงกล้าที่ได้ต่อสู้เพื่อพี่น้องแรงงานตลอดระยะเวลาที่ยังมีลมหายใจอยู่จนถึงวาระสุดท้าย ให้ผู้นำแรงงานและพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รำลึกนึกถึงและยึดเอาเป็นแบบอย่าง
ประวัติโดยสังเขป
 
 
 
 
  นายจรัญ  ก่อมขุนทด หรือชื่อเล่น “ บัวลอย ” เกิดเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๐๔ ที่บ้านวังขอน หมู่ ๑๐ ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ พ่อชื่อนายสาย แม่ชื่อ นางน้อย ก่อมขุนทด ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ เมื่ออายุ ๒ ขวบได้อาศัยอยู่ที่จ.นครราชสีมาระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่บ้านวังขอน จ.เพชรบูรณ์  มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด ๗ คน                                                                    
๑. นางคำพวง คำลิมา  ๒.น.ส.ประเสริฐ ก่อนขุนทด๓.นางละเอียด  นันทชัยศรี๔.นางละเมียด  ดวงสามี
๕.นางบัวหลั่น  หงษ์ปัสสา  ๖.นายจรัญ  ก่อมขุนทด(ผู้ตาย)  ๗.นางบัวผัน  บุตรอุดม  ๘.นางพยอม  ก่อมขุนทด
“ พี่จรัญ ” เป็นลูกชายคนเดียวในครอบครัว จึงเป็นน้องชายคนโปรดของพี่ๆเมื่อถึงวันพระพี่ ๆ ก็จะนำดอกไม้มากราบไว้เพื่อให้มีร่างกายแข็งแรงและเข้มแข็งตลอดไป
 
“ พี่จรัญ ”ได้เริ่มการศึกษา ชั้น ป.๑ – ป.๗ที่โรงเรียนบ้านวังขอนจากนั้นจึงไปเรียนต่อมัธยมการศึกษา๑-๕ ที่โรงเรียนศรีเทพประชาสรรค์ ในตัวอำเภอศรีเทพ และจบการศึกษาสูงสุดในสาขาเกษตร ที่โรงเรียนคณาสวัสดิ์มหาสารคาม
 
หลังจากจบการศึกษาแล้วจึงเข้าทำงานที่บริษัทปาลโก้ พลาสติก จำกัด แต่จากการที่ถูกกดค่าแรง และไม่มีสวัสดิการใดๆจึงได้ร่วมกับพวก ๑๓ คนไปปรึกษากับสหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทยที่มีพี่สุนทร บุญยอดให้คำแนะนำปรึกษาในการก่อตั้งสหภาพแรงงานเสรีปาลโก้ ได้เป็นผลสำเร็จเมื่อปี ๒๕๓๒ โดยมีนายสุขี  จ้อยนุแสงได้รับเลือกให้เป็นประธานสหภาพแรงงานในสมัยนั้น
 
ต่อมาพี่จรัญ ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานสหภาพแรงงานมาโดยตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๓๘- ๒๕๔๒ ซึ่งก็ได้ทำการต่อสู้เรียกร้องในการปรับค่าจ้าง สวัสดิการ กับนายจ้างอย่างเข้มแข็ง ชิงไหวชิงพริบกันอย่างเข้มข้น ในขณะที่นายจ้างก็พยายามทำกระทำทุกรูปแบบที่จะล้มสหภาพแรงงานฯโดยตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปีจนกระทั่งนายจ้างเลิกกิจการ สหภาพแรงงานจึงได้ยุติบทบาทลงในปี ๒๕๔๒ แต่สมาชิก ของสหภาพแรงงานฯ แกนนำและกรรมการยังคงยืนหยัดตามเจตนารมณ์และอุดมการณ์ให้กับแรงงานต่อไป พี่จรัญ กับน.ส.รุ่งนภา(แอ๋ม)จากสร.เสรีปาลโก้ได้ตอบรับกับอาจารย์ ปิยเชษฐ์ แคล้วคลาด(เสียชีวิตแล้ว)ประธานสหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทยในการที่จะเข้ามาทำงานเป็นนักจัดจัดตั้งสหภาพแรงงานซึ่งมีพี่พุทธิ(ขวัญ)พี่เสมา(เหมา)พี่พรพจน์ ทำงานอยู่ก่อนแล้ว ปัจจุบันคือศูนย์กลางการจัดตั้งสหภาพแรงงาน(OLUC)
 
พี่จรัญกับพี่เสมาได้ถูกส่งให้มาทำงานอยู่ที่กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกโดยเช่าสำนักงานเป็นตึกแถวอยู่ในตลาดบ่อวิน เมื่อปี ๒๕๔๓ โดยในขณะนั้นสหภาพแรงงานที่อยู่ในแถบภาคตะวันออกมีอยู่เพียง ๑๐แห่ง เท่านั้น ในระยะแรกๆนั้นไม่สามารถที่จะเข้าถึงคนงานได้เลยเพราะเป็นคนต่างถิ่น และไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ จากการพยายามเริ่มต้นด้วยการ ปรับทุกข์ ผูกมิตร กับคนงานในชุมชนรอบข้าง ทำการแจกใบปลิวในเขตอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้คนงานรู้สิทธิเกี่ยวกับการมีสหภาพแรงงานจากความพยายามดังกล่าวปัจจุบันสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ทั้งหมด ๑๓๘ แห่ง.
 
พี่ จรัญ ได้แต่งงานกับ น.ส.จุไรวรรณ (ตนะรัตน์)ก่อมขุนทด (พี่จี๋) เมื่อปี๒๕๓๕ มีบุตรด้วยกัน๑ คนชื่อเด็กหญิงสหภาพ ก่อมขุนทด(น้องจ๋อมแจ๋ม)กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียน มารีวิทย์ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
 
หลังจากที่ได้ตั้งศพสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศลที่สำนักสงฆ์วัดโป่งสะเก็ด ต.บ่อวินอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ครบ ๕วันตั้งแต่วันที่ ๒-๖ กันยายน ๕๕ ในวันอาทิตย์ที่ ๗ กันยายน ๕๕ จึงได้มีพิธีฌาปณกิจศพขึ้นสำหรับบรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความเศร้าสลด มีพี่น้องแรงงานจากพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสหภาพแรงงานต่าง ๆ กลุ่มสภาองค์การแรงงานฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งแรงงานข้ามชาติที่พี่จรัญได้เคยให้การช่วยเหลือด้วย ฯลฯ ตลอดพ่อค้าแม่ขาย ญาติสนิทมิตรสหาย เข้าร่วมไว้อาลัยเป็นจำนวนมาก
 
โดยในการจัดงานในครั้งนี้ได้มีการจำหน่ายเสื้อและผ้าโพกหัว ที่ระลึก เพื่อหารายได้นำเข้าสมทบกองทุนช่วยเหลืออดีตผู้นำแรงงานเพื่อนำมอบเป็นทุนการศึกษาให้กับลูกและครอบครัวของพี่จรัญต่อไป.
 
กระมนต์  ทองออน นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวแรงงานชลบุรี – ระยอง รายงาน