มหาอุทกภัย 2554: ผลกระทบและมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน

โดย… ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

ภาพรวมสถานการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทย 2554

มหาอุทกภัยในครั้งนี้เกิดจากการที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับพายุพัดกระหน่ำติดต่อกันถึง 5 ลูก ทำให้มีปริมาณน้ำจากทางภาคเหนือไหลท่วมเข้าพื้นที่เกษตรและพื้นที่ธุรกิจหลายพื้นที่ ที่สำคัญคือการเข้าท่วมเขตนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ และพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐมและสมุทรสาครซึ่งได้สร้างความเสียหายกับพื้นที่ธุรกิจอย่างมหาศาล สาเหตุของความเสียหายนอกจากเกิดจากภัยธรรมชาติแล้วมีหลายฝ่ายเชื่อความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ การประเมินสถานการณ์และการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอีกสาเหตุสำคัญ

ข้อมูลพื้นฐานความเสียหายอันเกิดจากมหาอุทกภัย
 
มหาอุทกภัยครั้งนี้มีจังหวัดที่ประสบภัยทั้งสิ้น 64 จังหวัด มีผู้คนเสียชีวิต 615 คน ราษฎรเดือดร้อน 4,039,459 ครอบครัว 13,425,569 คน จากการประเมินของธนาคารโลกพบว่าประเทศได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยใหญ่ครั้งนี้รวมมูลค่า 1.4  ล้านล้านบาท พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 11.20 ล้านไร่ มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 28,605 แห่ง น้ำได้เข้าท่วมในนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ 7 แห่ง ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลกับซัพพลายเชนของโลก ทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องหยุดการผลิตทั้งโลก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ความเสียหายกับซัพพลายเชนในครั้งนี้ ทำให้เริ่มมีการพูดถึงการทบทวนที่จะกระจายฐานการผลิตไม่ให้มีการกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น แม้นักลงทุนส่วนใหญ่ยืนยันจะไม่ย้ายฐานการผลิตไปจากประเทศไทย แต่ก็มีบางโรงงานได้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย อุตสาหกรรมอีเล็คโทรนิคและยานยนต์ได้รับผลกระทบมาก อุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า ท่องเที่ยวโรงแรม อาหารและภัตราคาร รวมทั้งธุรกิจเอสเอ็มอีล้วนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า มีข้อมูลความเสียหายที่เกิดกับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งจมน้ำจำนวน 838 โรงงาน มูลค่าความเสียหาย 237,340 ล้านบาท ขณะที่โรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรม จำนวน19,000 แห่งได้รับความเสียหาย รวมมูลค่าความเสียหาย 240,000 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราการลงทุนเพิ่มในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปีและต่อเนื่องถึงต้นปีหน้าลดลง สศช.คาดว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะส่งผลให้มีคนว่างงานสูงถึง 700,000-920,000คน ขณะที่กระทรวงแรงงานไม่กังวลกับปัญหาการเลิกจ้าง แต่กลับเป็นห่วงว่าจะเกิดการขาดแคลนแรงงานหลังน้ำลด
 
ผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่แรงงานกลุ่มต่าง ๆ 
 
จากข้อมูลสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงแรงงานระบุว่า มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากอุทกภัยรวม 28,605 แห่งและมีแรงงานได้รับผลกระทบจากอุทกภัยรวม 1,020,675 คน แรงงานแต่ละกลุ่มประสบกับสภาพปัญหาที่แตกต่างกันไป 
 
แรงงานในระบบ ที่กังวลมากที่สุดคือปัญหาการเลิกจ้าง ความไม่ชัดเจนในสภาพการจ้างของตนเองเนื่องจากไม่สามารถสื่อสารกับนายจ้างได้ หรือนายจ้างไม่ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจน การขาดรายได้เนื่องจากตกงานหรือถูกลดค่าจ้างเป็นอีกปัญหสำคัญ ทำให้มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น แนวโน้มความขัดแย้งและข้อพิพาทแรงงานมีมากขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงยื่นข้อเรียกร้อง มีการฉวยโอกาสเลิกจ้างเพื่อประโยชน์นายจ้าง
 
แรงงานนอกระบบมีจำนวนมากมายมหาศาล แต่เนื่องจากยังไม่มีระบบการลงทะเบียนและการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมทั้งแรงงานนอกระบบไม่ได้มีการรวมตัวกันกระจัดกระจาย ปัญหาของพวกเขาจึงถูกมองข้าม ปัญหาสำคัญคือบ้านเรือน ทรัพย์สินเสียหาย อุปกรณ์ประกอบอาชีพเสียหาย ระหว่างน้ำท่วมไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ทำให้ไม่มีรายได้ แต่มีค่าใช้จ่ายทุกวัน ส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมที่จะเอามาใช้ในยามขาดรายได้ ทำให้ต้องไปกู้หนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการกู้นอกระบบ เกษตรพันธะสัญญาได้รับความเสียหายมากและต้องเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบจากบริษัท
 
แรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบเชื่อว่า ไม่ต่ำกว่า 500,000 คนพวกเขาเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือที่ดำเนินโดยหน่วยงานต่าง ๆ หรือได้รับเพียงเล็กน้อย แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าอพยพกลับประเทศ ประสบกับความยากลำบาก เสียค่าใช้จ่ายสูง แรงงานส่วนหนึ่งไม่มีเอกสารประจำตัวอยู่กับตัวเอง เนื่องจากส่วนหนึ่งสูญหายขณะเกิดภัยพิบัติ และอีกส่วนหนึ่งถูกนายจ้างยึดเก็บไม่กล้าออกจากพื้นที่กลัวถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ไม่กล้าเข้าไปพักพิงกับศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติซึ่งรัฐจัดให้ เนื่องจากไม่แน่ใจต่อท่าทีหรือนโยบายของหน่วยงานในเรื่องการจับกุมส่งกลับ การช่วยเหลือแรงงานในพื้นที่เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากปัญหาในการสื่อสาร และการให้ข้อมูล นายจ้างไม่ยอมให้แรงงานข้ามชาติเดินทางออกนอกสถานประกอบการ เพื่อกลับบ้าน หรือไปพักพิงยังพื้นที่ที่ปลอดภัย แม้บางส่วนจะมีการจัดส่งอาหารและน้ำดื่มให้แต่ก็ไม่พอเพียง บางแห่งก็ไม่ได้รับความช่วยเหลืออื่นใดจากนายจ้างเลย  เด็กบางส่วนที่เป็นผู้ติดตามของแรงงานต่างชาติ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย และไม่สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน  ไม่ได้รับค่าจ้างหลังจากที่สถานประกอบการน้ำท่วมและต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้ไม่มีเงินที่จะดำรงชีวิต หรือเดินทางกลับบ้าน และยังขาดระบบการเข้าถึงการคุ้มครองด้านสิทธิแรงงานในกรณีดังกล่าว แรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างค้างจ่าย หรือได้รับไม่เป็นไปตามที่กฎหมาย
 
บทบาทและข้อเสนอของฝ่ายผู้ประกอบการ
 
รัฐให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดกับภาคอุตสาหกรรมมาก จึงเปิดรับความเห็นและการมีส่วนร่วมจากภาคผู้ประกอบการมากอย่างเห็นได้ชัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทยและสมาคมธนาคารไทย มีบทบาทสำคัญมากในการเป็นปากเป็นเสียง สะท้อนความเดือดร้อน เสียหายและความต้องการของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ ข้อมูล ข้อเสนอแนะที่ออกมาจากองค์กรเหล่านี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนและรัฐเป็นอย่างยิ่ง ได้รับเชิญเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดสำคัญที่รัฐแต่งตั้งให้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหา นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบมากจากน้ำท่วมครั้งนี้ รัฐบาลจึงได้ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ และมุ่งที่จะสนองตอบความต้องการของนักลงทุนกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ   
 
บทบาทของขบวนการแรงงาน
 
ขบวนการแรงงานไทยภายใต้การนำของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ เป็นปากเป็นเสียงและนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง การตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รวดเร็วเป็นผลมาจากการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับองค์กรภาคประชาชนและองค์กรนักศึกษาที่มีมาก่อนหน้าแล้ว และสามารถแปรโครงการความร่วมมือจากองค์กรสนับสนุนต่าง ๆ มาสู่การช่วยเหลือแรงงานผู้ประสบภัย ทำให้สามารถจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือคนงานขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ การทำงานประสานงานร่วมกับสื่อต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการมีนักสื่อสารแรงงานที่พร้อมนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้ปัญหาความเดือดร้อนของแรงงานถูกนำเสนอผ่านพื้นที่สื่ออย่างต่อเนื่องและในจำนวนที่มาก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่ได้เกาะติดนำเสนอปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและครอบคลุม 
 
การเข้าไปช่วยเหลือคนงานในพื้นที่น้ำท่วมและการเก็บข้อมูลของอาสาสมัครของศูนย์ทำให้สามารถเข้าถึงปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และประมวลปัญหาของแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ออกมาได้ชัดเจน จนสามารถพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและมาตรการเฉพาะหน้าต่อแรงงานกลุ่มต่างที่ชัดเจน แต่ปัญหาความอ่อนแอ ไม่เป็นเอกภาพของขบวนการแรงงาน การขาดการวางแผนยุทธศาสตร์ร่วมที่จะกำหนดมาตรการเพื่อผลักดันให้ข้อเสนอได้รับการพิจารณาจากรัฐอย่างจริงจัง และที่สำคัญคือการที่รัฐไทยยังปฏิเสธไม่ยอมรับการทำงานของขบวน ทำให้อำนาจการต่อรองของขบวนการแรงงานไทยยังมีไม่มากพอที่จะทำให้ข้อเสนอต่าง ๆ ถูกพิจารณาโดยรัฐ เมื่อเปรียบเทียบบทบาทของขบวนการแรงงานกับกับการทำงานของตัวแตนฝ่ายผู้ประกอบการ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าฝ่ายทุนได้รับการยอมรับจากรัฐและได้เข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการของรัฐมากกว่าฝ่ายแรงงาน
 
ข้อเสนอสำคัญของขบวนการแรงงาน
 
ต้องการให้รัฐจัดตั้งกลไกการแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รัฐจะต้องมีมาตรการที่เฉพาะเจาะจงลงไปที่ปัญหาของแรงงานแต่ละภาคส่วนซึ่งมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ เกษตรพันธะสัญญาและแรงงานข้ามชาติ หน่วยงานรัฐจะต้องทำงานเชิงรุกมากว่าการทำงานแบบตั้งรับ ต้องให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำหน้าที่สำรวจรวบรวมปัญหาของแรงงาน 
มาตรการสำคัญต่อการแก้ปัญหาแรงงานในระบบคือ การสกัดกั้นการเลิกจ้าง โดยรัฐต้องเข้าไปช่วยทำความกระจ่างเกี่ยวกับปัญหาสถานภาพการจ้างงานที่ยังคลุมเครือของแรงงานจำนวนมาก ให้มีคณะกรรมการร่วมรัฐ นายจ้าง แรงงานเพื่อดูแลปัญหาความขัดแย้ง ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอันเป็นผลเกี่ยวเนี่องหรืออ้างว่าเกี่ยวกับวิกฤติน้ำท่วม เสนอมาตรการให้แรงงานที่ขาดแคลนรายได้เข้าถึงกองทุน แหล่งเงินกู้ที่คนงานที่ไม่มีหลักประกันสามารถเข้าถึงได้จริง เสนอให้รัฐปรับมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่คนงานได้ประโยชน์จริง 
 
มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่สำคัญคือให้จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อส่งเสริมการจ้างงานในกลุ่มแรงงานนอกระบบ และเปิดหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับแรงงาน
มาตรการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ รัฐต้องดูแลให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการช่วยเหลือโดยลดขั้นตอนตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชน ไม่จำกัดเฉพาะคนที่อยู่มีภูมิลำเนาในพื้นที่นั้น ๆ แต่ควรจะต้องช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่อพยพโยกย้ายมาจากพื้นที่อื่น ๆ เข้ามาทำงานในพื้นที่นั้นด้วย ให้มีการผ่อนผันการจับกุม-ส่งกลับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีหรือไม่สามารถแสดงเอกสารแสดงตน  ให้ผ่อนผันเรื่องค่าธรรมเนียมการขอกลับเข้าในราชอาณาจักร (Re-entry Visa) ให้แก่แรงงานข้ามชาติที่มีสถานะเข้าเมืองถูกกฏหมาย  รวมถึงการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่รับการผ่อนผันให้อยู่และทำงานในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง และกลับมาทำงานหลังน้ำท่วมได้
 
นโยบายและมาตรการของรัฐ
 
มาตรการโดยรวมของรัฐถูกมองว่ามุ่งไปที่การฟื้นฟูเยียวยาภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับความเสียหายมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ขณะที่กลุ่มคนที่อ่อนแอกว่าถูกมองว่าไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ ไม่มีมาตรการเฉพาะเจาะจงที่มุ่งสู่การแก้ปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงาน ด้วยการมองว่าภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจและประเทศ รัฐจึงมีท่าทีเอาใจฝ่ายผู้ประกอบการมากเป็นพิเศษ มีการเปิดรับข้อเสนอของฝ่ายผู้ประกอบการอย่างชัดเจน มีการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมในการตัดสินใจแก้ปัญหาร่วมกับรัฐ ขณะที่มองไม่เห็นความสำคัญของฝ่ายแรงงาน ไม่ได้ให้ความสนใจอย่างเพียงพอกับเสียงเรียกร้องและความต้องการของฝ่ายแรงงาน นโยบายและมาตรการของรัฐที่จัดให้กับผู้ใช้แรงงานถูกมองว่าเป็นการให้ยาที่ไม่ตรงกับอาการ แต่กลับไปเป็นประโยชน์กับฝ่ายผู้ประกอบการมากกว่า บางมาตรการในบางกรณีกลับกลายเป็นการซ้ำเติมสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้แรงงานผู้ได้รับผลกระทบ เมื่อเทียบกับกระทรวงพาณิชย์ การคลังและอุตสาหกรรมที่เสนอมาตรการช่วยเหลือฝ่ายผู้ประกอบการอย่างชัดเจน แต่กระทรวงแรงงานกลับไม่ได้มีบทบาทที่เด่นชัดในการผลักดันข้อเสนอที่จะเยียวยาช่วยเหลือแรงงานที่โดนใจผู้ใช้แรงงาน ที่สำคัญคือการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดในประเด็นเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ทำให้ไม่อาจหยุดยั้ง บรรเทาการเลิกจ้างได้จริง
ข้อเสนอแนะจากผู้ทำการศึกษา
 
ข้อเสนอต่อรัฐบาล
ระยะสั้น
 
1. จำเป็นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยคณะกรรมการกยอ. และกยน. จะต้องรีบเสนอมาตรการที่มีหลักวิชาการเป็นรูปธรรมพร้อมแผนงานและงบประมาณที่ชัดเจน
 
2. ขณะที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนรัฐจำเป็นที่จะต้องเร่งคืนความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับคนงาน ไม่ทำให้คนงานเกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกรัฐทอดทิ้งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  มาตรการที่จะช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานแล้วและกำลังจะตกงานต้องชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนตกงานคืนสู่ตำแหน่งงานโดยเร็ว หรือมีรายได้ที่ประคองชีวิตให้รอดไปได้ในยามวิกฤตินี้ 
 
3. เปิดประตูต้อนรับการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นขององค์กรตัวแทนของคนงานให้เท่าเทียมกับที่ยอมรับความคิดเห็นของบรรดาองค์กรตัวแทนฝ่ายนายจ้างทั้งหลาย
 
4. กระทรวงแรงงานจะต้องตระหนักในความเดือดร้อนของแรงงานมากกว่าที่เป็นอยู่ การตกงานต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้เคว้างคว้าง ไร้ที่พึ่งอย่างที่เป็นอยู่ ต้องเร่งสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานภาพการจ้างของแรงงานในสถานประกอบการที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าไปพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ซึ่งอาจจะไม่จบที่การเลิกจ้างก็ได้
 
ระยะกลางและยาว
 
1. รัฐควรจะปรับเปลี่ยนกรอบความคิดในการพัฒนาประเทศที่เป็นระบบเสรีนิยมสุดโต่ง และพึ่งพิงการส่งออก หันมาสร้างระบบเศรษฐกิจเสรีที่คำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคม เศรษฐกิจที่สามารถทำให้เกิดการกระจายรายได้และความเป็นธรรม ระบบเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนมีรายน้อยกับคนมีรายได้มาก ยิ่งขยายความเหลื่อมล้ำทางสังคม 
 
2. องค์ประกอบของคณะกรรมการกยอ. ซึ่งจะมีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศจะต้องเติมผู้ที่มีความคิดเรื่องความเป็นทางสังคมเข้าไปร่วมอยู่ในคณะด้วย ต้องให้ผู้แทนขององค์กรแรงงานได้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจร่วมเช่นเดียวกับที่ให้สิทธิกับองค์กรตัวแทนของฝ่ายผู้ประกอบการ
 
3. รัฐจะต้องหันมาส่งเสริมการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87และ 98 เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าประเทศนี้ได้ยอมรับสิทธิพื้นฐานของแรงงานสองประการนี้แล้ว ประเทศที่มีการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับการกระจายรายได้และการสร้างความเป็นธรรมในสังคมล้วนแล้วแต่ยอมรับให้คนงานมีสิทธิดังกล่าว เพราะหากคนงานมีสิทธิดังกล่าว แรงงานกับนายจ้างก็จะร่วมโต๊ะเจรจากันอย่างเสมอภาคและอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งจะนำมาซึ่งการแบ่งปันที่เป็นธรรมและสันติสุขในการทำงาน
 
voicelabourข้อเสนอต่อขบวนการแรงงาน
 
ข้อเสนอระยะสั้น
 
1. ต้องพยายามรักษาเครือข่ายอาสาสมัครทั้งหลายที่ช่วนทำงานในศูนย์เพื่อให้เกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง โดยมุ่งภารกิจไปที่การรวบรวมข้อมูลปัญหาและเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่ที่สามารถให้คำแนะนำ เกี่ยวกับสิทธิและให้คำปรึกษาข้อกฎหมายเพื่อให้แรงงานผู้ประสบภัยได้มีที่พึ่งก่อนที่พวกเขาจะกระจัดกระจายแยกย้ายกันไปโดยไม่ได้รับสิทธิใด ๆ 
 
2. นำเสนอประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาสู่สาธารณะชน และรัฐบาล ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นกับความเดือดร้อนของคนงานกลุ่มต่าง ๆ 
 
3. องค์กรแรงงานที่กระจัดกระจายแยกกันทำงานอยู่จะต้องเข้ามาร่วมมือกัน รวมทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเข้าทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและมีพลังเพียงพอที่จะดึงให้รัฐเห็นความสำคัญของปัญหา
 
4. แปรงบประมาณและโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรสนับสนุนต่างทั้งในไทยและต่างประเทศมาสู่การช่วยเหลือปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของคนงาน
 
5. ใช้วิกฤติน้ำท่วมเป็นโอกาสในการที่จะมาร่วมทำงานร่วมกันเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า หากแรงงานร่วมมือกันจะมีพลังเพียงใด 
 
6. สานต่อภารกิจของศูนย์ช่วยเหลือไปสู่งานขยายการจัดตั้งและสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
 
ข้อเสนอระยะกลางและยาว
 
1. ผลักดันข้อเสนอต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาระยะยาว อาทิ ข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง การจัดตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายเพื่อแก้วิกฤติร่วมกัน
 
2. ผลักดันให้มีการรื้อโครงสร้างคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับการยอมรับในการมีส่วนร่วมนำเสนอปัญหาและตัดสินใจในการกำหนดมาตรการและนโยบายสำคัญของประเทศ
 
3. ผลักดันให้รัฐยอมรับสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองโดยการให้สัตยาบันในอนุสัญญาองค์การแรงงานฉบับที่87และ98พร้อมแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี2518ให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาทั้งสองฉบับ
 
4. ปรับโครงสร้างขบวนการแรงงานให้มีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อทำให้เป็นที่ยอมรับและมีอำนาจต่อรองมากขึ้น
 
5. เร่งขยายการจัดตั้งสมาชิกเพื่อให้ขบวนการแรงงานมีความชอบธรรมในฐานะตัวแทนของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง มีอำนาจการต่อรองมากขึ้น และเมื่อมีสมาชิกมากก็จะทำให้มีฐานเสียงทางการเมืองมากพอที่จะกำหนดทิศทางการเมืองได้
/////////////////////////////////////////////////////