ภาครัฐหลงลืมแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปหรือเปล่า?

ภาครัฐหลงลืมแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปหรือเปล่า?

รศ.ดร. กิริยา กุลกลการ
คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มองจากมุมของแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ก็เข้าใจได้ว่า ทำไมน้อยใจ รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นลูกเมียน้อย จนลุกขึ้นมารวมตัวเรียกร้อง

ด้วยความรู้สึกว่า ตนเองยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่การช่วยเหลือที่ผ่านมาเป็นการเอาเงินที่เขากับนายจ้างของเขาเป็นคนจ่ายสะสมเข้ากองทุนมาช่วยกันเองมากกว่า และช่วยเฉพาะคนที่ตกงาน คนที่รายได้เหลือแค่ 0 บาทเท่านั้น ส่วนคนที่เงินเดือนลด โอทีลด สวัสดิการลด ไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไร

แม้รัฐจะจ่ายสมทบเข้ากองทุนด้วย แต่ก็ถูกมองว่า ตีตั๋วเด็ก เพราะรัฐจ่ายในอัตราเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราที่นายจ้างและแรงงานจ่าย และที่สำคัญ รัฐยังค้างชำระเงินกองทุนอีกด้วย

ต่างจากแรงงานกลุ่มอื่นๆ แรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ไม่อยู่ในข่ายได้รับเงินจากโครงการ เราไม่ทิ้งกัน 15,000 บาท กับ ไทยชนะ 7,000 บาท

การช่วยเหลือในแง่ลดเงินส่งสมทบกองทุนประกันสังคมนั้น แทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย ช่วยลดภาระระยะสั้นเล็กน้อยเท่านั้น มองไประยะยาว แรงงานจะมีเงินไว้ใช้ประโยชน์จากกองทุนลดลง อาจกระทบเสถียรภาพกองทุนในอนาคต ซึ่งก็เป็นภาระของแรงงานและรัฐบาลต่อไป เหมือนผลักปัญหาไปข้างหน้า โดยไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เพราะประเทศไทยมีหลายระบบ การเยียวยาแต่ละระบบก็ทำได้แตกต่างกันไปตามข้อจำกัดที่มี คนในระบบมีระบบประกันสังคมที่สร้างไว้ดูแลแล้ว แต่คนนอกระบบไม่มีระบบรองรับ รัฐเลยจำเป็นต้องช่วยต้องเยียวยาในลักษณะนี้ ซึ่งอาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะ แต่จำเป็นต้องทำ และทำให้เกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรม ในลักษณะเธอได้ ฉันไม่ได้

ระยะยาว ระบบสวัสดิการจึงควรต้องคิดใหม่ทั้งระบบ รวมเอาคนทุกกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน แล้วคิดใหม่ทั้งในเรื่องที่มาของเงินและการใช้จ่ายเงิน

ในระยะสั้น จึงเสนอว่า โครงการ Co-payment นั้นควรเอาไปทำกับแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 กลุ่มที่เงินเดือนลด โอทีลด สวัสดิการลดลงจะดีกว่า เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มได้รับผลกระทบที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ โดยรัฐจ่ายตามสัดส่วนที่ได้รับผลกระทบ ไม่จำเป็นต้อง 50% แบบจ้างเด็กจบใหม่

ส่วน Co-payment สนับสนุนการจ้างงานเด็กจบใหม่นั้น แนวโน้มผู้ใช้ประโยชน์น่าะจะเป็นสถานประกอบการที่สามารถขยายการผลิตในช่วงโควิด-19 ที่สามารถจะจ่ายเงินเดือนตามปกติได้อยู่แล้ว

ส่วนถ้าจะช่วยเด็กจบใหม่ที่ไม่สามารถหางานทำได้ รัฐคงต้องช่วยจ่าย 100% ไปเลย แล้วเดินสายขอความร่วมมือสถานประกอบการให้ช่วยรับบัณฑิต ในลักษณะรับไว้ให้ช่วยสอนงาน ฝึกงาน หรือได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี โดยกำหนดเงื่อนไขการจ้างอย่างรัดกุม หรือไม่ก็เอางบไปจ้างงานสาธารณะ ถือโอกาสปฏิรูปประเทศไปเลย

///////////////////////