ขอบคุณภาพจากสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 คณะกรรมการไทยเพื่อการจัดการประชุมอาเซียนภาคประชาชน นำโดย นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง และ นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ประธานร่วมคณะกรรมการไทยเพื่อการจัดการประชุมอาเซียนภาคประชาชน ได้เข้าร่วมประชุมและยื่นข้อเรียกร้องต่อ ประธานและผู้นำอาเซียน เรื่อง ข้อเสนอของภาคประชาสังคมต่อเรื่องการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability) ของประชาคมอาเซียน ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562
การจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN SUMMIT) ครั้งแรกของปีที่กำลังมีขึ้นในขณะนี้โดยมีหัวข้อการประชุม คือ Advancing Partnership for Sustainability นั้น องค์กรภาคประชาสังคมรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่ผู้นำอาเซียนได้ตัดสินใจตัดการประชุมกับตัวแทนภาคประชาสังคม(Interface Meeting) ออกจากวาระการประชุมอย่างเป็นทางการของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ ในขณะที่ยังคงมีการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับภาคีอื่น ๆ อันได้แก่ ภาคธุรกิจ เยาวชน และ รัฐสภา เพราะในการมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มุ่งประโยชน์ของปะชาชน (People Oriented) และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centered) ตามเจตนารมณ์ที่ได้ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ตั้งแต่ปี 2551 นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่อาเซียนและรัฐสมาชิกจะต้องเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น พัฒนากลไกและช่องทางในการสื่อสารระหว่างกัน และเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นภาคีหุ้นส่วน ทั้งในระดับการตัดสินใจ ปฏิบัติการ และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติการ
เพื่อพัฒนาความเป็นภาคีหุ้นส่วนขององค์กรภาคประชาสังคมในประชาคมอาเซียน คณะกรรมการไทยเพื่อการจัดการประชุมอาเซียนภาคประชาชนจึงมีข้อเสนอดังนี้
1)ให้มีการบรรจุการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำอาเซียนกับตัวแทนภาคประชาสังคม (Interface Meeting) เป็นวาระการประชุมอย่างเป็นทางการของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่สอง ในช่วงปลายปี 2562 นี้
2)อาเซียนต้องให้การสนับสนุนในทุกวิถีทางและใส่ใจอย่างจริงจังต่อข้อเสนอที่เป็นผลสรุปจากการประชุมอาเซียนภาคประชาชน ประจำปี 2562 (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People’s Forum 2019 : ACSC/APF 2019) ซึ่งจะจัดประชุมในช่วงเดือนกันยายน 2562 นี้
3)ให้กลไกต่าง ๆ ของอาเซียน ทั้ง สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN SEC) คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว (ACMW) กระทรวงตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นจุดประสานงาน และสภาของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community : APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) และ ประชาคมสังคมวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) ในระดับประเทศของทุกรัฐสมาชิก ยกระดับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ปฏิบัติการ และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติการขององค์กรภาคประชาสังคม
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริง