ภาคประชาชน ชักกะเย่อมักกะสันพื้นที่ประวัติศาสตร์ สร้างแหล่งเรียนรู้

20160910_1824361

ชักกะเย่อมักกะสันพื้นที่ประวัติศาสตร์สร้างแหล่งเรียนรู้ ชวนการพัฒนาที่มีสีเขียว แบบอนุรักษ์เชิงคุณค่า

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2559 ที่ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “มักกะสัน ชักกะเย่อ : พื้นที่…ประวัติศาสตร์…การพัฒนาเมือง” จัดโดย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ วิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เล่าถึงพื้นที่มักกะสันในหน้าประวัติศาสตร์ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองด้านอุตสาหกรรม การขนส่งทางรางที่กำเนิดขึ้นพร้อมกับการสร้างโรงซ่อมรถไฟที่มักกะสัน หลังจากมีการเปิดดำเนินการกิจการรถไฟ ซึ่งโรงงานมักกะสันทำหน้าที่ในการซ่อม และสร้างทางรถไฟ เพื่อการบริการประชาชนในการขนคนจำนวนมาก และสินค้าเข้าออกเมือง จากอดีตคนทำงานจะไม่มีการดูแลเรื่องค่าจ้างสวัสดิการ ซึ่งมี่ความยากลำบากมาก กรรมกรรถไฟมักกะสันจึงได้มีการรวมตัวกันเรียกร้องสวัสดิการขั้นพื้นฐานขึ้นตั้งแต่ห้องน้ำห้องส้วม ค่าจ้างซึ่งเดิมเป็นแรงงานจีนได้รับค่าจ้างวัน 1 บาท บ้านพักสวัสดิการ ด้วยการทำงานที่ยากลำบากยังไม่ได้มาตรฐาน เกิดการเจ็บป่วย บาดเจ็บจากงาน จึงมีการเรียกร้องให้มีโรงพยาบาลเกิดขึ้นเป็นสวัสดิการสำหรับคนงาน และครอบครัว ซึ่งการต่อสู้ของกรรมกรรถไฟในอดีตนั้นสร้างคุณูประการสวัสดิการพื้นฐานทางสังคมเกิดขึ้น เกิดโรงเรียนสำนักพัฒนาเด็กเพื่อมาทำงานในการรถไฟ และกรรมกรรถไฟมักกะสันนอกจากเรียกร้องเรื่องสวัสดิการต่างๆแล้วยังร่วมต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในช่วงปี 2475 เกิดกฎหมายกำหนดสิทธิในการรวมตัวเป็นสมาคมกรรมกรรถไฟ เป็นสมาชิก สหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2490 ที่รวมกรรมกรกว่า 60 สาขาอาชีพโดยไม่มีการแบ่งแยกร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดชั่วโมงการทำงานที่ทั่วโลกเรียกร้องระบบสามแปด คือทำงาน 8 ชั่วโมงพักผ่อน 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง และยังมีแนวทางการตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคกรรมกร โดยมีคุณประกอบ โตลักษณ์ล้ำ เป็นเลขาธิการพรรค และพรรคสังคมนิยมที่มีคุณวิศิษฐ์ ศรีภัทรา เป็นหัวหน้าพรรค เป็นความพยายามที่จะต่อสู้ทางการเมืองของกรรมกรมักกะสัน ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ตั้งข้อหาเป็นเป็นกบฏมักกะสันจับกุมผู้นำ เป็นต้น ซึ่งแต่ละยุคก็มีประวัติศาสตร์ในการต่อสู้ แนวคิดการร่วมกันตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เป็นแนวคิดของหลายฝ่ายในขบวนการแรงงาน ประกอบด้วยนักวิชาการที่ต้องการบอกเล่าประวัติศาสตร์แรงงานไทยให้สังคมได้เรียนรู้ โดยกำหนดตั้งอยู่ที่มักกะสันซึ่งเป็นที่ทำการเก่าของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย พื้นที่การต่อสู้ทางประวัติสาสตร์ของแรงงาน

นายสาวิทย์กล่าวอีกว่า  แนวคิดการพัฒนามักกะสันของรัฐบาลนั้นคือการนำที่ดินกว่า 400 ไร่มาใช้หนี้กรมธนารักษ์โดยประเมินราคาที่ดินผืนนี้ที่ 6 หมื่นล้านบาท ให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังเช่าเพื่อนำพื้นที่ไปหาผลประโยชน์ซึ่งรัฐมีแนวคิดจะสร้างคอมเพล็กซ์ ขนาดใหญ่โดยไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ ทำให้กังวลถึงแนวคิดที่ไม่เคยอนุรักษ์ของรัฐไทย ทั้งอาคารภายในที่มีประวัติสาสตร์และสวยงาม ชีวิตคนงาน ครอบครัวและชุมชนในพื้นที่ ซึ่งได้จะให้ย้ายโรงงานมักกะสันไปที่อื่นจนบัดนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะให้ย้ายไปที่ไหน

“หากถามว่าคนงานต้องการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงมักกะสันให้ดีกว่านี้หรือไม่คิดว่าคนงานทุกคนในมักกะสันยินดีที่จะร่วมกันพัฒนา หากต้องย้ายก็ต้องดูกันว่าไปพื้นที่ไหนมีการจัดการด้านพื้นที่ และสวัสดิการอย่างไร และหากไม่มีพื้นที่ให้ย้ายโรงงานไป ทางคนงานก็มีข้อเสนอว่าอนาคตรถไฟจะเป็นระบบไฟฟ้า โรงงานซ่อมรถไฟไม่จำเป็นต้องใหญ่อาจใช้อาคารใดสักอาคารหนึ่ง จึงสามารถอยู่ในพื้นที่ที่มีการพัฒนาได้ โดยต้องไม่ใช่การพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว ที่นี้มาดูเรื่องการพัฒนาพื้นที่คนงานต้องการอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญคือต้องเป็นการพัฒนาโดยการรถไฟไม่ใช่ให้ระบบทุนมาพัฒนาโดยไม่สนใจความหมายของพื้นที่ ทั้งอาคาร ความเป็นสีเขียว อย่างไรเห็นว่าภาคประชาชน และคนงานมักกะสันต้องร่วมกันในการผลักดันข้อเสนอ” นายสาวิทย์กล่าว

นายปริญญา ชูแก้ว สถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารราชกระบัง กล่าวว่า จากการที่ได้ศึกษาเรื่องบ้านพักคนงานรถไฟ และสถานีรถไฟ ต่อมาก็มาศึกษาเรื่องพื้นที่โรงงานมักกะสัน โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมสถาปนิกสยาม และได้เข้าไปในโรงงานมักกะสันเพื่อดูเรื่องสถาปัตยกรรมอาคารสถานที่ เพื่อให้เห็นคุณค่า ได้เห็นคนงานมักกะสันที่ทำงานในโรงงาน สิ่งที่พบคือสภาพโรงงานที่ถูกทิ้งแบบละเลยสภาพโรงงานที่ไม่มีคุณภาพจนไม่น่าเชื่อว่ามีคนทำงานอยู่กันได้อย่างไรในสถานที่ที่ดูไม่ค่อยได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยนัก แต่ในมุมของคนทำงานอนุรักษ์พบว่าสถานที่มักกะสันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่ต้องอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ มักกะสันไม่ใช่แค่พื้นที่สีเขียว แต่มักกะสันมีชีวิต ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน หากให้มองว่าโรงงานปัจจุบันเหมาะต่อการทำงานหรือไม่นั้น คิดว่าไม่เหมาะ หากจะใช้ทำงานต่อไปต้องมีการพัฒนาปรับปรุงฟื้นฟูให้เหมาะสม มีความปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่านี้

“ในฐานะที่เข้าไปในสถานที่หลายครั้งได้เห็นสิ่งปลูกสร้างและชีวิตคนทำงาน อาคารที่ตั้งอยู่เป็นอาคารโรงงานที่สวยควรอนุรักษ์ และพัฒนาเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องสร้างอะไรใหม่ ตัวรถไฟเก่าๆที่ตั้งอยู่ก็ดูว่าจะจัดให้เป็นแลนมาร์ก คนที่ไปต่างประเทศได้เห็นการอนุรักษ์พื้นที่และอาคารเก่าให้คนได้ไปเที่ยวหรือเรียนรู้ไปถ่ายภาพซึ่งสร้างรายได้มหาศาล เป็นเรื่องแปลกมากที่ประเทศบางประเทศไม่มีแต่พยายามจะสร้างสิ่งเก่าๆอาคารเก่าให้คนได้ไปเยี่ยมชม แต่ประเทศไทยชอบทำลายแล้วสร้างใหม่ และกลุ่มอนุรักษ์ส่งเสียงไปถึงผู้บริหารบ้านเมืองกับนิ่งเฉย ” นายปริญญากล่าว

ด้านนายพงศ์พรหม ยามะรัต กลุ่ม Big Tree กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในแนวคิดธุรกิจ ในเชิงพื้นที่มักกะสันที่อยู่กลางใจเมืองและราคาเพียง 6 หมื่นล้านบาทนั้นคิดว่า นักธุรกิจคงเห็นว่าถูก แต่การจะนำพื้นที่มาพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้านั้น ในกรุงเทพมหานครเกือบทุกหัวเมืองมีแต่ห้างเต็มไปหมด แต่แหล่งเรียนรู้สำหรับการพัฒนาคนแบบหอศิลปวัฒนธรรมฯ กลับมีน้อย แล้วรัฐมานั่งว่าเด็กไทยสนใจแต่มือถือไม่สนใจการศึกษาหาความรู้ โดยไม่ได้มองเลยว่าผู้ใหญ่ให้ความรู้ หรือเพิ่มสถานที่เรียนรู้อะไรให้เด็กบ้าง ประเด็นการพัฒนามักกะสันหากต้องการสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติสาสตร์การพัฒนาประเทศ มีพิพิธภัณฑ์ มีพื้นที่สีเขียว ทำให้เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการมีสถานที่ในการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ การพัฒนาธุรกิจแบบที่หลายประเทศใช้สถานที่ทางประวัติศาสตร์ในการสร้างรายได้ ทางเครือข่ายมักกะสันได้เสนอแนวการพัฒนาให้กับทางภาครัฐด้วยหวังที่จะรักษาคุณค่าทางพื้นที่ และเห็นว่าสามารถนำมาสร้างมูลค่าได้

“รัฐบาลมีแนวนโยบายเสนอการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 แต่ยังไม่รู้ว่าทิศทางในการพัฒนาคนจะทำอย่างไร สิ่งที่มักกะสันมีคือแนวการพัฒนาอุตสาหกรรมในอดีต หากจัดการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้สามารถทำได้”นายพงศ์พรหมกล่าว

นายพงศ์พรหมยังกล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนผลักดันของเครือข่ายที่ทำมากว่า 5-6 ปีเรื่องการพัฒนามักกะสันที่ส่งถึงผู้มีอำนาจแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งแนวคิดของรัฐบาลในการนำพื้นที่แลกหนี้ด้วยราคา 6 หมื่นล้านบาท คิดว่าไม่เป็นธรรมต่อการรถไฟ และคนรถไฟ เพราะพื้นที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่า การที่คนงานมักกะสัน และสหภาพแรงงานออกมาบอกสังคมเรื่องการขจัดการของภาครัฐ และบริหารที่ส่งผลกระทบต่อภาวการณ์เป็นของการรถไฟ และมานำที่ดินกลางเมืองให้กระทรวงการคลังจึงไม่เป็นธรรมแต่สารนี้จะต้องส่งให้ถึงผู้บริหารประเทศ โดยการทำงานร่วมกันทุกฝ่าย

ต่อมาในเวทีเสวนา ได้เสนอให้มีการประชุมเครือข่ายกับสหภาพแรงงาน กลุ่มคนงานมักกะสัน และเตรือข่ายอื่นๆเพื่อจัดทำแนวทางและข้อเสนอร่วมกัน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน