ภาคประชาชนไทย เสนออาเซียน เร่งส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

ข้อเสนอของภาคประชาชนไทย ต่อรัฐบาลไทยและอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน 3-4 เมษายน 2555    กรุงพนมเปญ  ประเทศกัมพูชา ให้เร่งเปิดพื้นที่ที่เป็นทางการให้ภาคประชาสังคม ให้มีตัวแทน เพิ่มขบวนการการมีส่วนร่วม เร่งดำนินการส่งเสริมคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและหยุดสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 

ที่กรุงพนมเปญ  ประเทศกัมพูชา ข้อเสนอสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 3-4 เมษายน 2555 และระยะเวลาหนึ่งปีนี้  ภาคประชาชนไทยขอเรียกร้องให้ : 
 
1) เร่งกระบวนการขึ้นทะเบียน (accreditation) องค์กรภาคประชาสังคมเพื่อเปิดพื้นที่ที่เป็นทางการของภาคประชาสังคมในโครงสร้างของอาเซียน โดยการขึ้นทะเบียนภาคประชาสังคมนี้ต้องอยู่บนหลักการของการเปิดโอกาสอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ หรือกีดกันจำกัด
 
2) ให้มีตัวแทนภาคประชาสังคมในกลไกของอาเซียนในระดับประเทศ คือ คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ  และสร้างกลไกใหม่ ๆ ในลักษณะเวที (Permanent Forum ) เพื่อให้ภาคประชาสังคมได้ร่วมในการปรึกษาหารือกำหนดทิศทางของอาเซียน
 
3) เพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการทำงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน-ไอชาร์  (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights – AICHR) และ คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children – ACWC) ในการจัดทำกรอบบทบาทภารกิจ การร่างปฏิญญา และปฏิบัติการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชน  ทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน
 
4) เร่งดำเนินการให้เกิดคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Migrant Workers – ACMW) เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการให้การคุ้มครองแก่แรงงานข้ามชาติทั้งหมด มิใช่แต่เพียงแรงงานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมการสำหรับการเป็นประชาคมอาเซียน
 
5) หยุดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำสายหลัก ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ร่วมกันของ หลายประเทศใน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม และการประมงของภูมิภาค
6) ติดตาม ตรวจสอบการลงทุนของนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมตามหลักการ CSR – Corporate Social Responsibility และสิทธิมนุษยชน ไม่สร้างผลกระทบกับประชาชน ชุมชน พื้นที่การเกษตร การประมง และ สิ่งแวดล้อม