ภาคประชาชนนัดบุกปตท. หยุด! ราคาแก๊สและน้ำมันที่ไม่เป็นธรรม 23 ส.ค.นี้

Untitled-1

เครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังงานไทย นัดรวมพล 23 สิงหาคม 2556 เวลา 15.00 น. หน้าสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ดังนี้ 

1. หยุดการขึ้นราคา LPG และยกเลิกมติ ครม.ที่กำหนดให้ภาคธุรกิจปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นลำดับแรก โดยให้ภาคประชาชนอันประกอบด้วยครัวเรือนและยานยนต์ได้รับการจัดสรรเป็นลำดับแรก ส่วนที่เหลือจึงให้ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงธุรกิจปิโตรเคมีใช้ หากไม่เพียงพอสำหรับให้นำเข้าหรือรับภาระเอง เนื่องจากประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศ

2. ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบต้นทุนราคาก๊าซ LPG ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากต้นทุนราคากาซ LPG ของ ปตท.ในปัจจุบันสูงผิดปกติ เนื่องจากในปี 2546 ปตท.มีโรงแยกก๊าซ 3 โรง ต้นทุน LPG อยู่ที่ 10 บาท/กก. ต่อมาปี 2550 ปตท.มีโรงแยกก๊าซ 5 โรง ต้นทุน LPG อยู่ที่ 13 บาท/กก. ปัจจุบัน ปตท.มีโรงแยกก๊าซ 6 โรง ต้นทุน LPG สูงขึ้นเป็น 16.50 บาท/กก. ซึ่งขัดกับหลักการประหยัดด้วยขนาดการผลิต หรือ Economy of Scale เมื่อหน่วยการผลิตเพิ่มขึ้นต้นทุนต่อหน่วยจะต้องเท่าเดิมหรือควรจะลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตบวกกำไรของการผลิต LPG จากแหล่งสิริกิตติ์ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 9 บาทเศษ/กก.เท่านั้น

3. ยกเลิกการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาที่เป็นธรรม เมื่อปฏิบัติตามข้อเสนอของประชาชนข้างต้น

4. ให้ธุรกิจปิโตรเคมีจ่ายเงินเข้าของทุนน้ำมันฯ ในอัตราเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น คือ 12.55 บาท/กก. อันจะทำให้ปัญหาภาระหนี้สินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เกิดจากการนำเข้าก๊าซ LPG หมดไปทันที ไม่จำเป็นต้องขึ้นราคา LPG (ปัจจุบันธุรกิจปิโตรเคมีจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเพียง 1 บาท/กก. ทำให้ธุรกิจปิโตรเคมีซื้อ LPG ในราคาต่ำกว่าตลาดโลก 40%)

5. ยกเลิกระบบสัมปทานการขุดเจาะก๊าซและน้ำมัน เปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตที่ผลผลิตก๊าซและน้ำมันส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐ เช่นเดียวกับประเทศในประชาคมอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาราคาก๊าซและน้ำมันที่ไม่เป็นธรรม

P5010152

6. ให้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานแห่งชาติโดยเร่งด่วน โดยมีสัดส่วนจากภาคประชาชนและนักวิชาการที่เป็นอิสระจากภาครัฐและภาคธุรกิจเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมด โดยให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่เสนอนโยบายและแผนการบริหารในการปฏิรูปกิจการพลังงานของประเทศให้เป็นธรรม อาทิ การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้ได้รับผลตอบแทนเหมือนประเทศในกลุ่มอาเซียน, ให้ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพื่อเป็นพลังงานหลักของประเทศ, ห้ามข้าราชการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกิจการพลังงาน, ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและการจัดการในกิจการพลังงานทุกระดับ

7. รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยุติข้อมูลเท็จของกระทรวงพลังงานและธุรกิจพลังงาน เช่น ราคา LPG ที่ปิโตรเคมีใช้ กระทรวงพลังงานได้ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อประชาชนว่าอยู่ที่ 24.82 บาท/กก. ทั้งที่ความเป็นจริงอยู่ที่ 16-17 บาท/กก.หรือต่ำกว่าราคา LPG ตลาดโลกราว 40%

เครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังงานไทย