ภาคประชาชนต้านรัฐยกเลิกเบี้ยผู้สูงอายุ ด้านแรงงานทวงสิทธิสปส.ตรวจสุขภาพประจำปี

ยาย

เครือข่ายประชาชนหลายองค์กร ร่วมต้านยุบ-ลดเบี้ยผู้สูงอายุ เสนอควรยกระดับเป็นบำนาญพื้นฐาน ด้านแรงงาน ดันสปส. เดินหน้าส่งเสริมสุขภาพ ยื่น 6 ข้อเสนอกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมป้องกันโรค ตรวจคัดกรองสุขภาพ

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ทางMGR Online รายงานว่า  ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ประกอบด้วย เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายสวัสดิการชุมชน และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้จัดแถลงข่าว จี้รัฐแจงยกเลิกเบี้ยคนชรา ชี้รัฐไทยถอยหลังตกคลอง เพื่อคัดค้านแนวคิดดังกล่าวของกระทรวงการคลัง

นางชุลีพร ด้วงฉิม เครือข่ายประชาชนเพื่อสวัสดิการ กทม. กล่าวว่า ความจริงแล้วเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควรยกระดับให้เป็นบำนาญพื้นฐานของทุกคน เป็นหลักประกันเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ การจะยกเลิกเช่นนี้ โดยอ้างเรื่องเป็นภาระงบประมาณเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าประเทศไทยมีการจัดการบูรณาการระบบงบประมาณที่ดี สามารถจัดการได้แน่นอน แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยมีการจัดการงบประมาณแบบกระจัดกระจายและไปไม่ถึงประชาชนอย่างแท้จริง และยังไล่บี้งบประมาณสวัสดิการถ้วนหน้า ทั้งปรับลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บังคับร่วมจ่ายในกรณีหลักประกันสุขภาพ จำกัดอัตราค่าแรงกรรมกร จำกัดเพดานงบด้านสวัสดิการประชาชน ละเลยการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน รัฐบาลต้องคิดใหม่ทำใหม่ ให้มองคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง และลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ ประเทศไทยก็จะสงบสุข กินอิ่มนอนอุ่นกันถ้วนหน้า

น.ส.อุบล ร่มโพธิทอง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดไม่จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาทต่อเดือน ให้แก่ผู้ที่มีรายได้ 9,000 บาทต่อเดือน หรือมีทรัพย์สินเกิน 3 ล้านบาท เพราะอย่างคนทำไร่ทำนา จริงอยู่ว่าจะได้เงินเกิน 9,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อหักต้นทุน หักค่าต่าง ๆ แล้ว รายได้จริง ๆ อาจจะแค่หลักร้อยด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือ จะรู้ได้อย่างไรว่าใครรวยหรือใครจน แม้บางคนที่มีที่ดินเป็นทรัพย์สินเกิน 3 ล้านบาท แต่ก็เป็นแค่ราคาประเมินเท่านั้น ตนอยากให้รัฐบาลมองอย่างเป็นธรรม คำนึงถึงประชาชนทั่วไปบ้าง เพราะมองว่านี่เป็นรัฐบาลข้าราชการ เมื่อเข้ามาบริหารประเทศแล้วก็มองข้าราชการเป็นอันดับหนึ่ง ข้าราชการที่ได้เงินบำนาญไม่ถึง 9,000 บาท ก็เพิ่มให้ถึง เพราะถือเป็นฐานในการดำรงชีวิต แต่เบี้ยยังชีพ 600 บาท กลับไม่ใส่ใจ

“ส่วนตัวไม่ได้รับลกระทบโดยตรง เนื่องจากเป็นแรงงานนอกระบบ มีรายได้จากการรับจ้างทั่วไป ตกเดือนละประมาณ 5,000 บาท และยังจะต้องจ่ายประกันสังคมตามมาตรา 39 จำนวน 432 บาท ซึ่งรายได้ไม่พออยู่แล้ว แต่ญาติพี่น้องได้รับผลกระทบหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน ซึ่งตนก็ร่วมอาศัยด้วยก็ต้องช่วยกัน ค่าใช้จ่ายรายวัน วงเงินที่ระบุว่า 9,000 บาทนั้น ไม่มีทางเพียงพอ ซึ่งแต่ละชุมชนนั้นรับรายหัวได้เลยว่าใครที่มีเงิน 9,000 บาทต่อเดือน ซึ่งแม้จะได้ 9,000 บาทต่อเดือนก็ไม่เพียงพอ เพราะอย่างค่าแรงวันละ 300 บาท เดือนนึงน่าจะได้ 9,000 บาทต่อเดือน แต่ความจริงแล้วก็ได้ไม่ถึง เพราะหักวันหยุด หักค่าประกันสังคม ก็ได้แค่เดือนละ 7,200 บาทเท่านั้น” น.ส.อุบล กล่าว

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศคือต้องทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่รื้อสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่หลักคิดของรัฐบาลชุดนี้ยังคงวนเวียนอยู่แต่เรื่องการสงเคราะห์ ระบบอนาถา แล้วจะเป็นรัฐสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่ารัฐบาลแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเรื่องบำนาญปีละ 2 แสนล้านบาทนั้น ต้องชีแจงรายละเอียดให้ครบถ้วนว่าที่จริงแล้ว ภาระนั้นเกิดจากอะไร เพราะที่จริงแล้ว เงินกว่า 1.4 แสนล้านบาท เป็นเงินบำนาญที่ให้ข้าราชการเพียง 6 แสนคน ส่วนอีก 60,000 ล้านบาท ให้กับประชาชนที่ไม่มีสวัสดิการอะไรจำนวนถึง 9 ล้านคน รมช.คลังต้องอธิบายข้อเท็จจริงนี้ การจะมาใช้วิธีคิดหาคนจนคนรวยจะเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าได้อย่างไร

นายอภิวัฒน์ กล่าวเพื่อยืนยันว่า เบี้ยยังชีพควรเป็นรัฐสวัสดิการที่จัดให้ทุกคน เพื่อความเสมอภาค หากรัฐตั้งคำถามว่าจะเอาเงินมาจากไหน เสนอว่าอยากให้ทบทวนวิธีการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ อาจเพิ่มการจัดเก็บภาษี vat จาก 7% เป็น 8% เพื่อจัดสวัสดิการทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ และต้องมีการบริหารแบบใหม่ที่ไม่ใช่บริหารงบเพื่อโครงการใดโครงการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากใช้เกณฑ์เส้นยากจนที่จัดทำโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งประเมินทุก 2 ปี จะอยู่ประมาณไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน

นางหนูเกณ อินทจันทร์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนกังวลมาก ถ้าตัดจะเบี้ยยังชีพจะเอาเงินที่ไหนมาใช้เลี้ยงดูชีวิตประจำวัน ผู้สูงอายุบางคนมีลูก แต่ลูกก็ไม่ได้ให้เงินพ่อแม่ เพราะต้องเลี้ยงดูลูกหลาน

ในวันเดียวกัน เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) โดย นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบสุขภาพให้มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งใน พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับปัจจุบันได้กำหนดเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไว้ในมาตรา 63 (2) แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน ทั้งที่มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องจากแรงงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ และมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2554 มติ 6 เรี่องการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน ในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ คปค.จึงได้ทำหนังสือลงวันที่ 16 พ.ค. ส่งถึง ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อขอให้มีการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคอันเนื่องมาจากการทำงานและไม่เนื่องจากงานสำหรับผู้ประกันตน โดยมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม 6 เรื่อง ดังนี้

1. กำหนดชุดสิทธิประโยชน์การส่งเสริมป้องกันโรคสำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้สอดคล้องกับบริบทของผู้ประกันตนที่อยู่ในหลากหลายสาขาอาชีพ และบริบทของสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน โดยใช้ประสบการณ์จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

2. พัฒนารูปการให้บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ทั้งเนื่องมาจากงาน และไม่เนื่องจากงาน โดยขอให้มีรูปแบบทั้งการให้บริการโดยตรงจาก รพ. คู่สัญญา กับ สปส. ที่ผู้ประกันตนไปใช้บริการร่วมกับการรักษา และรูปแบบให้จัดตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมป้องกันโรคในระดับพื้นที่โดยเน้นมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐ

3. ให้มีการจัดสรรงบจากกองทุนทดแทนบางส่วนมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

4. ควรมีกำหนดมาตรฐานการบริการทั้งในส่วนของโปรแกรมการตรวจคัดกรองให้สอดคล้องกับประเภทของงาน หรือสาขาอาชีพ เป็นต้น

5. ข้อมูลผลการตรวจสุขภาพ หรือ การคัดกรองสุขภาพ ต้องมีการชี้แจงและสะท้อนข้อมูลให้กับผู้ประกันตนทราบทุกครั้ง

6. ควรให้การดำเนินงานเพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการและชุดสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกันตนเสียโอกาส และสิทธิในเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค

/////////////////////////