พ้อสภาฯอ้างกม.ภาคประชาชนค้างอื้อ แต่ดองยาวกม.ประกันสังคม

 

 

(ภาพจากหนังสือพิมพ์ วอยซ์เลเบอร์) 

   เครือข่ายแรงงานห่วงสภาฯเตะถ่วงร่างกฎหมายประกันสังคม ทั้งที่ขยายประชุมสภาฯโดยอ้างกฎหมายภาคประชาชนค้างเยอะแต่กลับเมินมุ่งพิจารณาแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ  แจงปฏิรูปประกันสังคมช่วยลดเหลื่อมล้ำให้ 34 ล้านคนมีหลักประกันชีวิต ขจัดทุจริตคอรับชั่นในสังคม  เตรียมรุดพบประธานสภาฯและประธานวิปรัฐบาลขอสภาฯแบ่งเวลานำร่างประกันสังคมของฝ่ายแรงงานเข้าพิจารณาบ้าง

 

 

   นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ในฐานะประธานคณะทำงานผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,624 รายชื่อของผู้ใช้แรงงาน  กล่าวในการประชุมคณะทำงาน เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ว่า  ตั้งแต่เครือข่ายแรงงานได้เดินรณรงค์ไปที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือให้มีการหยิบยกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของฝ่ายแรงงานเข้าสู่การพิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง  เมื่อวันที่ 22 มีนาคม และวันที่ 5 เมษายน นั้น  ถือว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการรับรู้ความต้องการของฝ่ายแรงงานแล้ว  เพราะผู้มารับเรื่องมีทั้งรองประธานสภาฯ  ประธานวิปรัฐบาล  ประธานวิปฝ่ายค้าน  กรรมาธิการการแรงงาน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  รวมทั้งหัวหน้าและ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน   และสื่อมวลชนก็ได้มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะช่องทีวี ไทยพีบีเอส  ที่มาทำรายการเวทีสาธารณะที่หน้ารัฐสภา   แต่ผ่านมาแล้วเกือบหนึ่งเดือน  กลับยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม  ซึ่งถือเป็นฉบับของภาคประชาชนที่ผู้ใช้แรงงานร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ  ทั้งที่วิปรัฐบาล และ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายการประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติจากกำหนดเดิมวันที่ 18 เมษายน ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายภาคประชาชนที่ค้างอยู่

   “เราก็เข้าใจ  ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องจำเป็นของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเพราะประกาศหาเสียงไว้  แต่กฎหมายประกันสังคมก็เป็นเรื่องสำคัญของภาคประชาชนเพราะเกี่ยวข้องกับหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของแรงงานกว่า 34 ล้านคน  และร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของแรงงานนั้นนายกยิ่งลักษณ์ก็เซ็นรับรองและมีการบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของสภาฯมานาน 4-5 เดือนแล้ว  แต่ก็ถูกเลื่อนถูกแทรกโดยกฎหมายอื่นตลอด  ไม่รู้จะดองไว้อีกนานแค่ไหน  ขอให้ผู้แทนฯเข้าใจว่า การปฏิรูปประกันสังคมตามข้อเสนอของฝ่ายแรงงานจะทำให้ชีวิตของแรงงานเกิดความมั่คงขึ้น  และก็แสดงถึงความเสมอภาคเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องหลักประกันของคนทำงานด้วย  จึงอยากให้สภาฯแบ่งเวลาให้กับการพิจารณา พ.ร.บ.ประกันสังคมซึ่งเป็นกฎหมายของภาคประชาชนบ้าง” น.ส.วิไลวรรณกล่าว

   ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้เครือข่ายแรงงานไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง โดย น.ส.วิไลวรรณได้ประสานกับประธานรัฐสภาและประธานวิปฝ่ายรัฐบาลเพื่อเข้าพบขอความชัดเจนในวันที่ 26 เมษายน  เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา

นักสื่อสารแรงงาน  รายงาน