“พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย – แนวทางการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้”

20140603_094745

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมนักวิชาการด้านแรงงาน-พิพิธภัณฑ์ ผู้แรงงาน และ องค์กรพัฒนาเอกชน จัดเสวนาหาแนวทางพัฒนาพิพิธภัณฑ์แรงงานเป็นศูนย์เรียนรู้ สรุปพร้อมทั้งคุณค่าเนื้อหา การบริการ สถานที่ จากการสำรวจผลผู้เยี่ยมชม 5 กลุ่มทั้งแรงงาน นักเรียน-นักศึกษา นักท่องเที่ยวทั้งคนไทย -ต่างประเทศ สื่อมวลชน มาแล้วได้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์แรงงานไทย การต่อสู้กว่าจะได้มาทั้งสิทธิเสรีภาพ สวัสดิการ น่ายกย่อง เมื่อศึกษาแล้วเห็นคุณค่าความเป็นแรงงาน ย้ำแรงงาน-คนไทยต้องศึกษารากเหง้า

สรุปรายงาน เสวนา “พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย – แนวทางการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้”  วันอังคารที่ 3 มิถุนายน 2557 ณ ห้องเพชรชมพู โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ จัดโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท

นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกล่าวว่า การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานนั้นมีการร่วมคิดตั้งแต่ปี 2534 หลังจากที่พิพิธภัณฑ์ฯได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2536 โดยองค์กรแรงงาน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และได้รับการสนับสนุนสถานที่จากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนทั่วไปเข้าใจวิถีชีวิต และคุณค่าของแรงงาน รวมถึงประวัติศาสตร์ของแรงงานไทย ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลทั้งเป็นเอกสาร ภาพถ่ายวิดีโอ และสิ่งของจัดแสดงเกี่ยวกับแรงงานไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯจำนวนมาก โดยมีการพัฒนาองค์ความรู้หลายด้าน ทั้งสื่อความรู้สมัยใหม่และการเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ แรงงานในฐานะกระดูกสันหลังและผู้ขับเคลื่อนระบบโครงสร้างสังคมในด้านต่างๆ แต่จากการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการสรุปข้อดีข้อด้อยของพิพิธภัณฑ์ฯ หลายประเด็น เช่น มีจุดน่าสนใจ คือ เป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งเดียวในเอเชีย

ทำหน้าที่ส่งเสริมทั้งการท่องเที่ยวและการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ภาคแรงงาน แต่มีจุดอ่อนคือ สถานที่คับแคบ ยังไม่สามารถขยายออกไปได้เพราะยังไม่มีความแน่นอนด้านสถานที่ตั้งเพราะมีแนวคิดจากรัฐในการจะปรับปรุงสถานที่เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่รองรับการลงทุน พิพิธภัณฑ์ฯยังตั้งอยู่ใจกลางเมือง

ปัจจุบันพบว่าแม้ทางสถานที่จะเปิดบริการหลายรูปแบบทั้ง จัดประชุมสัมมนา เป็นสถานที่ศึกษา และหารายได้จากการบริจาคทุนมากเพียงใด เงินทุนหมุนเวียนในแต่ละปียังคงมีสภาพคล่องที่ไม่ดีนัก สิ่งน่ากังวล จึงจำเป็นต้องเร่งระดมความคิดเห็นหาทางออกร่วมกัน


20140603_10153620140603_101543

รายงาน “การสำรวจความคิดเห็นผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกลุ่มต่างๆ
นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นำเสนอถึงรายได้ และรายจ่ายในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ฯ โดยสรุปตั้งแต่ปี 2540-2556 หลังจากที่ตนได้เข้ามารับผิดชอบงานพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ซึ่งมีการปิดปรับปรุงและเปิดอีกครั้งในปี 2546 ซึ่งประสบปัญหาด้านงบประมาณในการดำเนินงานด้วยรายได้ส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ฯนั้น มาจากการทำงานโครงการต่างๆ และการผลิตสื่อสนับสนุนองค์กรแรงงาน และมีองค์กรแรงงานหลายองค์กรที่ยังคงบริจาคให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีบางแห่งแห่งที่ลดการสนับสนุนลง รวมทั้งมีการสนับสนุนเป็นรายบุคคลในวาระพิเศษด้วย

ทั้งนี้ ปัญหาท้าทายในก้าวต่อไปคือเรื่องสถานที่ตั้ง ที่มาจากโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ที่ทุกรัฐบาลมีการขยับเพื่อสร้างในพื้นที่นี้ ทั้งปัญหาพื้นที่ที่คับแคบ การขยายการจัดแสดงไม่ได้ เพื่อจัดทำนิทรรศการหมุนเวียนไม่ได้ เรื่องเงินทุนดำเนินงาน องค์กรแรงงานยังให้การสนับสนุนน้อย รวมถึงการทำงานโครงการเพื่อหารายได้ขณะนี้ลดลง และจำนวนคนเยี่ยมชมลดลง เป็นต้น

ปัจจุบันได้มีการรวบรวมสรุปผู้เข้าเยี่ยมชมหลังเปิดดำเนินการอีกครั้งในปี 2547-2556 ประกอบด้วยแรงงานบุคคลทั่วไป (ไทย-ต่างชาติ) จำนวน3,504 คน แยกให้คนที่มาชมแต่ละปีดังนี้ ปี2547 จำนวน 581 คน ปี 2552 จำนวน 454 คน ปี 2556 จำนวน 227 คน ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้มีจำนวนลดลง ในกลุ่มนักเรียน / นักศึกษา รวม192 คณะ 3,276 คน ปี 2547 มาเยี่ยมชม 9 คณะ จำนวน 232 คน ปี 2552 เยี่ยมชม 34 คณะ จำนวน 865 คน และปี2556 เยี่ยมชม11 คณะรวมจำนวน183 คน ในส่วนของนักศึกษาเองปัจจุบันก็ลดลงเช่นกัน แม้ว่าช่วงปี 2552 จะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นก็ตาม

20140603_094254DSCN8971

นางสาววาสนา ลำดี อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้สรุปผลสำรวจความคิดเห็นผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯว่า ได้สุมสำรวจตัวอย่างผู้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยจำนวน 5 กลุ่ม รวมทั้งหมด 564 คน ประกอบด้วย สหภาพแรงงานและผู้ใช้แรงงานจำนวน 67 คน นักเรียน-นักศึกษา 229 คนนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เป็นคนไทย 75 คน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 60 คน และสื่อมวลชน 15 คน โดยใช้เวลาในการรวบรวม 15 วัน

หัวข้อในการสำรวจประกอบด้วยเรื่องเนื้อหาสาระ สถานที่การจัดแสดงแสงสีเสียง และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยสรุปภาพรวมของ 5 กลุ่ม เรื่องเนื้อหาได้ดังนี้ 1. ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์แรงงานไทย 2. ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของภาคประชาชนด้านการเมืองที่มีแรงงานเข้าร่วมทุกยุคทุกสมัย 3. เหมาะสำหรับให้การศึกษากับคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นแรงงาน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนฯลฯ 4. ได้เรียนรู้อดีตเห็นที่มาของสวัสดิการ กฎหมายต่างๆด้านแรงงานว่ามีความเป็นมาจากความทุกข์ยากการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในอดีต รู้เรื่องสิทธิการรวมตัว 5. มีการจัดเรียงเนื้อหา ถือเป็นแหล่งข้อมูลในการทำรายงานค้อนข้างครบถ้วนทางประวัติศาสตร์แรงงาน 6. สามารถให้ความคิด และได้คำตอบในเรื่องราวที่อยากรู้เกี่ยวกับแรงงาน 7. มีเรื่องราวความเป็นมาของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่เป็นแรงงานที่ได้รับค่าจ้างกลุ่มแรกๆคือแรงงานจีน 8.ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งกลุ่มแรงงานจีนที่ได้มาชมได้นำแนวคิดไปพัฒนาพิพิธภัณฑ์แรงงานในประเทศจีนด้วย ฯลฯ

ข้อเสนอต่อเนื้อหามีดังนี้ 1. ให้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาความรู้เรื่องสิทธิการรวมตัวของสหภาพแรงงาน ความเป็นมาของสหภาพแรงงาน 2. เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีแต่ทำไมคนมาเยี่ยมชมน้อย อยากให้คนมามากกว่านี้

เรื่องสถานที่การจัดแสดงแสง สีเสียง พบว่า 1. มีการนำเสนอเป็นวิดีโอเป็นสื่อ 2 ภาษาทำให้น่าสนใจรับรู้เรื่องราวมากขึ้น 3. เป็นอาคารที่มีขนาดเล็กเมื่อดูจากด้านนอกแต่เมื่อเข้ามาภายในแล้วประทับในการจัดแสดง มีความคลาสสิค บรรยากาศย้อนยุค ดึงดูดความรู้สึก 4. เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ในตัวเอง ทำให้มีคุณค่าที่ต้องอนุลักษณ์ไว้ให้ลูกหลาน 5. นิทรรศการสวยมี 2 ภาษาสำหรับสื่อสารกับชาวต่างชาติ

ข้อเสนอต่อสถานที่การจัดแสดงคือ 1. ตัวหนังสือเล็กอ่านไม่เห็น นิทรรศการอยู่สูงทำให้อ่านไม่ถนัด 2. มืดไปแสงสว่างมีน้อย 3. สถานที่หายากแท็กซี่ไม่รู้จัก

ต่อมาเรื่องความรู้สึกการปฏิบัติหน้าที่ โดยสรุปดังนี้ 1. เจ้าหน้าที่มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ ขอเป็นกำลังใจให้ 2. เจ้าหน้าที่ช่วยบรรยายเนื้อหาประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ได้ลึกซึ้งมากขึ้น 3. มีความเสียสละเวลาให้ความรู้และตอนรับได้ดีมาก 4. ขอบคุณที่ช่วยกันดูแลพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งนี้อย่างดี 5. น่าสนับสนุน 6. มีความรอบรู้เรื่องสิทธิ กฎหมายแรงงาน สามารถให้คำปรึกษาด้านแรงงานได้

P6030032

เสวนา “บทบาทพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้

ศาสตราภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประวัติศาสตร์เป็นการบันทึกรากเหง้าของคนเพื่อให้รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน เช่นเดียวกันพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยทำหน้าที่บอกประวัติศาสตร์ผู้ใช้แรงงานว่าเป็นใครมาจากไหนสร้างตัวมาจากอะไร ความเป็นมาด้านค่าจ้าง ซึ่งประวัติศาสตร์ของแรงงานมีน้อยมาก ไม่มีศูนย์กลางในการรวบรวมอย่างเป็นระบบ ต่างกับระบบทุนที่มีการสื่อสารความเติบโตความเป็นมามีประวัติศาสตร์ความเจริญ ทั้งการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ด้วยสื่อสารมวลชน ประวัติบอกเล่าความยิ่งใหญ่โดยปราศจากการกล่าวถึงแรงงาน ทั้งที่ความเติบโต ของทุนมาจากแรงงาน หากทุนมีเงินแต่ไม่มีแรงงานความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ฝ่ายนายทุนมีการศึกษา มีงานวิชาการ มีประวัติศาสตร์ แต่แรงงานไม่มีใครจะรู้ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร ทำให้ไม่มีใครรับรู้หัวนอนปลายเท้าองผู้ใช้แรงงาน

P6030031ผู้ใช้แรงงานมีความพยายามที่จะรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง หากได้เรียนรู้ว่าความเป็นแรงงานมีประวัติความเป็นมาจากไหน เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์รากเหง้า เพื่อให้คนได้รับรู้และเคารพถึงความมีคุณค่าของผู้ใช้แรงงาน กวาจะมีสวัสดิการ กฎหมาย สิทธิต่างๆมีความยากลำบากเพียงใด เมื่อเห็นที่มาผู้ใช้แรงงานเกิดความภาคภูมิใจ ก็จะไม่ประสบปัญหาอย่างทุกวันนี้ที่สมาชิกสหภาพแรงงานไม่ยอมสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพราะเห็นอยู่แล้วว่าสวัสดิการที่มีต่างๆเพราะนายจ้างให้ ไม่มีใครรับรู้ว่าสวัสดิการค่าจ้างที่ได้นั้นมาจากการเรียกร้องของสหภาพแรงงานตั้งแต่อดีต หากไม่มีการรวมตัวไม่มีสหภาพวันนี้ก็จะไม่มีสวัสดิการ สหภาพแรงงานไม่มีการบันทึกปูมหลังทางประวัติศาสตร์ และทำการสื่อสารให้ผู้ใช้แรงงานได้รับรู้ สังคมไม่รับรู้ใครจะมาเคารพยกย่องแรงงานในฐานะผู้สร้างเศรษฐกิจ

ใครบ้างที่ควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์แรงงานอันดับแรก คือผู้ใช้แรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงานเพื่อให้รู้ว่าใครคือผู้นำแรงงาน และในฐานะผู้นำแรงงานคุณรู้เรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแรงงานแค่ไหน หากไม่รู้ก็ไร้อุดมการณ์ด้านแรงงาน ด้านสังคม ในฐานะผู้นำแรงงานต้องรับรู้ว่าที่ควบคู่กับความเจริญของประเทศก็คือผู้ใช้แรงงานต้องให้ความสำคัญดูแล และไม่ควรมองแรงงานเป็นเพียงทรัพยากร เพราะแรงงานเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งของ

ในฐานะคนสอนก็จะให้นักศึกษาเดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์ฯด้วยตนเอง และต้องทำรายงานส่งหากไม่ทำจะไม่ได้คะแนน การมาที่พิพิธภัณฑ์นักศึกษาจะได้เรียนรู้ทั้งประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคม ด้วยความเพลิดเพลินโดยจะพานักศึกษาอธิบายเยี่ยมชมแต่ละห้อง หากนักศึกษาบอกว่าร้อน มืด คับแคบก็สามารถบอกได้ว่านี่และคือชีวิตคนงาน การใช้ชีวิตและการทำงานของเขาคือสถานที่ทำงานร้อน คับแคบ และมืด ห้องแรงงานจีนที่เป็นแรงงานกลุ่มแรกที่ได้ค่าจ้าง ก็มีเครื่องใช้ไม้สอย การใช้ชีวิตวัฒนธรรมที่ติดตัวมารวมถึงความบันเทิงเริงรมเตียงหมอนที่นอน กระบอกสูบฝิ่น รถราก ห้องต่อมาเริ่มการพัฒนาประเทศมีเอกสารเลิกทาสที่หาชมที่หนไม่ได้ เอกสารขายทาส และหัวรถรางที่ขึ้นไปยืนบรรยาย โดยสรุปเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สามารถมีส่วนร่วมได้ สนุกกับการเรียนเป็นของจริงที่สามารถสัมผัส และถ่ายรูปได้ไม่ใช่แค่เดินดูอย่างเดียว มีดนตรีจากเจ้าหน้าที่ที่เล่นและร้องเพลงให้ฟังก็ได้ แถมยังเข้าไปร้องเพลงจิตร ภูมิศักดิ์เองด้วย การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ฯมีมากพอในการที่จะเป็นแหล่งทางการศึกษา และคิดว่าเราทุกคนสามารถแต่งเติมให้ที่นี่ประสบผลสำเร็จได้ทั้งภาครัฐ และเอกชนผู้ที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาสนับสนุน เช่นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำCSRปลูกป่าเข้ามาสนับสนุนดูแลด้านการศึกษาประวัติศาสตร์แรงงานร่วมกัน

P6030036P6030023

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงาน กล่าวว่าผู้ใช้แรงงานถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีถึง 39 ล้านคน แต่กลับไม่มีคนรู้จักถึงความมีคุณูปราการของผู้ใช้แรงงานในฐานะคนสร้างความเจริญ ด้วยสมัยอดีตเวลาเจอผู้ใหญ่มักถูกถามว่า เป็นลูกเต้าเหล่าใครมาจากไหน เมื่อเขารู้จักว่าเป็นใครมีประวัติความเป็นมาอย่างไร มีคุณูปราการต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ก็จะได้รับการยกย่องในความมีคุณค่า แต่ในความเป็นจริงเมื่อถามว่าแรงงานคือใคร ก็พบว่าในประวัติศาสตร์ในสังคมไทย มีการบันทึกไว้น้อยมาก แรงงานไม่ค่อยมีปูมหลังความเป็นมาทำให้วันนี้ก็ยังคมไม่ได้รับความยอมรับในสังคม ยังคงถูกเหยียดหยาม เพราะเมื่อคนไม่รู้อดีตที่มา และไม่สนใจอดีตแรงงาน คำที่ว่า “กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” เมื่อไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้เดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์อยู่แบบซ้ำซาก เพราะถ้าหาเรียนรู้ก็จะไม่มีวันที่จะเดินซ้ำรอบประวัติศาสตร์แบบปัจจุบันนี้แน่นอน อย่างเช่นประเทศเยอรมันเขาจะสนับสนุนให้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์การสร้างชาติเรียนรู้และจะไม่มีวันกลับไปอยู่ในระบบเด็จการนาซีอีกเด็ดขาด

การเกิดพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่มีขบวนการแรงงาน นักวิชาการร่วมกันคิดและตั้งขึ้นก็เพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน สังคมไทยได้เห็นปูมหลังความเป็นมาของแรงงาน การต่อสู้และเรียนรู้อดีต เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นแบบเดิมที่ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ถูกล้มล้างขบวนการแรงงานจากอำนาจรัฐเผด็จการอีก

การที่พิพิธภัณฑ์แรงงานจะเป็นแหล่งเรียนรู้ ต้องมาดูว่าพิพิธภัณฑ์ฯตั้งมาด้วยเป้าหมายเพื่อสนับสนุนขบวนการแรงงาน เพราะเขาคือเจ้าของ หากจะทำอะไรก็ต้องให้แรงงานเข้ามาร่วมตัดสินใจ จากการสรุปรายงานผู้เข้าชมจาก 5 กลุ่มหลักๆนั้นพิพิธภัณฑ์ฯต้องสร้างองค์ความรู้ให้เพียงพอครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ พิพิธภัณฑ์ฯทำเองได้หรือไม่ หากไม่ได้ต้องหาเครือข่ายมาช่วยจัดการ เรื่องการอยู่รอดของพิพิธภัณฑ์ฯที่มีปัญหาอาคารสถานที่ การเงิน เมื่อพิพิธภัณฑ์ฯเป็นของขบวนการแรงงานๆก็ต้องแสวงหาทางออก ซึ่งในยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ที่กำหนดเรื่องการจัดเก็บค่าบำรุงสมาชิก แบ่งจ่ายเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ฯเพื่อการจัดการบริหาร วันนี้ยังไม่เป็นจริง เพราะคสรท.ยังไม่มีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เรื่องสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ นั้นไม่สำคัญเท่ากับเนื้อหาสาระที่จัดแสดง จากประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆในต่างประเทศบางแห่งมีพื้นที่เล็กมากแต่มีคนที่สนใจเข้าชมจำนวนมากที่เข้าคิวรอเพื่อเข้าชม อยู่ที่ว่าพิพิธภัณฑ์ฯอยู่ในความสนใจเข้าใจหรือไม่ ต้องทำให้แรงงานรู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์ฯเป็นของแรงงานหากไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ จะทำให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

P6030021

นายโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) นำเสนอว่าในฐานะเป็นอีกคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ได้ร่วมคิด และล้างอาคารเพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ผ่านมากว่า 20 ปีแล้วหากเป็นคนก็อยู่ในวันหนุ่มสาวที่กำลังเติบโตแข็งแรง แต่วันนี้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกำลังอยู่ลำบากตามข้อมูลเรื่องงบประมาณบริหารจัดงาน และคนที่เข้ามาสนับสนุนลดน้อยลง หากกล่าวถึงตัวเลขผู้ที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานถึง 39 ล้านคน และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ทำให้รู้สึกสะท้อนใจว่า อาคารที่บรรจุประวัติสาสตร์ความยิ่งใหญ่ของผู้สร้างเศรษฐกิจ และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเล็กมากๆ ไม่สมศักดิ์ศรีแม่แต่น้อย

ช่วงที่มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ฯแห่งนี้ มีประติมากรรมชิ้นหนึ่งที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ฯเป็นรูปปั้นหญิง-ชายช่วยกันผลักดันกงล้อประวัติศาสตร์ที่เหยียบย่ำไปบนรถถังแห่งเผด็จการ เพื่อบอกให้รู้ถึงพลัง บทบาทของผู้ใช้แรงงานที่ต้องฝ่าฟันกว่าจะได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิการ รวมถึงเศรษฐกิจความกินดีอยู่ดีของสังคม

การจัดแสดงเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานภายในอาคารเล็กๆ ถึง 7 ห้อง มีกลุ่มแรงงานจากประเทศจีนที่เคยมาดูและกลับไปทำพิพิธภัณฑ์แรงงานของเขาขึ้นมาด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ บทบาทการทำงานของพิพิธภัณฑ์ หากถามว่าพิพิธภัณฑ์ฯเป็นศูนย์เรียนรู้ได้หรือไม่ คิดว่า ทุกวันนี้พิพิธภัณฑ์ฯได้ทำหน้าที่มีบทบาทเป็นแหล่งเรียนรู้อยู่แล้วด้วยกิจกรรม องค์ความรู้ การให้บริการด้านต่างๆ ทั้งกลุ่มแรงงาน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ทั้งชาวไทย ต่างประเทศ และยังมีสื่อมวลชนที่ให้ความสนในการนำเสนอเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ฯให้สังคมได้เรียนรู้ด้วย พิพิธภัณฑ์ มีจุดเด่นที่อยู่กลางเมืองไปมาสะดวก แต่แท็กซี่ไม่รู้จัก แต่เมื่อมาแล้วได้เรียนรู้จะกลับไปบอกต่อ และกลับมาอีก ปัญหาเรื่องคนมาเยี่ยมชมน้อยจริงแล้วเป็นประเด็นร่วมเหมือนกับพิพิธภัณฑ์อื่นๆ แต่ประเด็นสำคัญคือ คนทำพิพิธภัณฑ์ฯต้องไม่ท้อถอย ซึ่งตอนนี้ต้องใช้คนที่มีจิตอาสามีใจที่มุ่งมั่นทำงานต่อไป

20140603_101813

นายสมชาย ณ นครพนม นายกสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย นำเสนอว่า พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้เป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคมฯซึ่งต้องให้การสนับสนุนในฐานะสมาชิก พิพิธภัณฑ์นั้นมีความแตกต่างกัน ทั้งในการจัดแสดง แนวคิดในการก่อตั้ง บางคนคิดว่าแค่มีข้าวของเก่ามาจัดแสดงก็เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมีการจัดแสดงตั้งแต่อาคาร การร้อยเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแรงงานตั้งแต่ยุคเริ่มต้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นแหล่งเรียนรู้เพียงแห่งเดียวที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของแรงงาน เมื่อเข้าไปแล้วได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน พิพิธภัณฑ์ต้องมีบทบาทให้ความรู้กับสังคมด้วย ซึ่งก็มี และยังเป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งเดียวของเอเชียที่หากมีการนำเสนอแรงงานครบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นแรงงานลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนม่าฯลฯ เป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานอาเซียนได้

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติได้จัดแสดงเพื่อให้ความรู้กับประชาชนตามแนวคิดพระองค์ท่านในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ และโบราณคดี และทรงจัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ขึ้นเป็นครั้งแรก และสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่พระองค์เสด็จประพาสประเทศ ต่าง ๆ ทั้งในเอเชียและยุโรปนั้น ทำให้พระองค์ทรงมีโอกาสเสด็จไปทอดพระเนตร พิพิธภัณฑสถานในประเทศนั้น ๆ ก็ทรงนำแบบอย่างการจัดพิพิธภัณฑสถานมาจัด ทำในประเทศไทยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำโบราณศิลปวัตถุออกจัดแสดงเพื่อต้องการให้ความรู้ทุกด้านทางประวัติศาสตร์ชาติ วิถีชีวิต

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นการจัดแสดงแบบไหน เป็นสื่อให้ความรู้กับผู้เยี่ยมชมแล้วประทับใจอยากกลับมาเยี่ยมชมอีกพิพิธภัณฑ์ฯต้องทำให้ชีวิตของคนได้คิดต่อประเด็นปัจจุบันเช่นที่มีการจัดแสดงเรื่องความปลอดภัยในการทำงานอย่างกรณีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ที่ต้องศูนย์เสียชีวิตคนงานเนื่องจากการขาดการดูแลเรื่องการจัดการด้านความปลอดภัยเมื่อคนมาชมเรื่องดังกล่าวแล้วได้คิดเตือนสติ มีบทเรียนต่างๆของแรงงานทั้งอดีต และปัจจุบันมาจัดแสดงไว้ การจัดการศึกษาแก่ผู้ที่มาเยี่ยมชมที่แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ สามารถกำหนดแนวคิดกลุ่มแรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 30 ล้านคน ซึ่งพิพิธภัณฑ์ฯขนาดเล็กแห่งนี้จะให้ความรู้ทั้งหมดก็ต้องใช้ผู้นำแรงงานที่ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ฯที่เป็นตัวบุคคลให้ความรู้ การให้การศึกษาอาจใช้ประสบการณ์ ผ่านเครือข่ายสหภาพแรงงาน โรงงานขนาดเล็ก –ใหญ่ ชุมชนต่างๆจัดแสดงเรื่องแรงงาน รวมถึงพิพิธภัณฑ์ด้านเกษตร พิพิธภัณฑ์ชุมชนฯลฯสามารถที่จะนำเรื่องราวของแรงงานไปจัดแสดงเพื่อให้ใครคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแรงงานได้ถูกนำเสนอ และได้รับความยกย่องถึงความมีคุณค่า ด้วยแรงงานอยู่ในทุกที่ทั้งที่รู้ตัวว่าเป็นแรงงาน และไม่รู้ตัว พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยต้องสร้างเครือข่ายขยายความคิดด้านประวัติศาสตร์แรงงานให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นักศึกษา เข้ามาเยี่ยมชมควรเติมเรื่องราวปัจจุบันด้านกฎหมายแรงงานความรู้ด้านแรงงานความเป็นผู้นำแรงงาน และเสนอกระทรวงศึกษาให้บรรจุเรื่องราวประวัติศาสตร์แรงงานไว้ในแบบเรียน เพื่อให้มาเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์ เหมือนกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่มีกำหนดให้เรียนรู้อะไรบ้างเป็นขั้นตอน

จากบทสรุปรายงานผู้ที่เคยมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯจากกลุ่มต่างๆ นั้นสรุปว่าพิพิธภัณฑ์ฯมีจุดเด่นเรื่องสถานที่ความเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกแห่งเดียวของเอเชียซึ่งถือเป็นจุดขายที่หากมีการสื่อสารดีๆจะทำให้คนที่มาท่องเที่ยวในแถบนี้ต้องมาที่นี่ และสามารถดึงดูดสื่อให้มาทำข่าวประจำนี่คือข้อเด่น

เรื่องแท็กซี่ไม่รู้จักพิพิธภัณฑ์ฯ จากประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปในหลายพิพิธภัณฑ์ในประเทศ ได้ไปที่พิพิธภัณฑ์เมืองขอนแก่นถามรถรับจ้างและให้ไปส่งพิพิธภัณฑ์ขอนแก่นรถรับจ้างตอบรู้จักแต่เมื่อไปถึงที่หมายกลับเป็นศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น ความจริงคือคนในท่องถิ่นยังไม่รู้จักพิพิธภัณฑ์ ฉะนั้นพิพิธภัณฑ์แรงงานต้องทำงานร่วมกับชุมชนรอบข้าง และแท็กซี่เพื่อให้เป็นเครือข่ายทำหน้าที่บอกเล่า แนะนำสถานที่เส้นทางให้คนมาท่องเที่ยว หรือพาคนที่ต้องการมาพิพิธภัณฑ์ได้

เนื้อหายังแน่นนั้นอาจเป็นเพราะข้อจำกัดด้านสถานที่ คิดว่า วันนี้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ข้อต่อไปที่ต้องพัฒนาคือทำอย่างไรให้พิพิธภัณฑ์ฯแห่งนี้มีชีวิต มีคนมาต่อเนื่อง ควรทำงานเครือข่ายการนำเสนอเรื่องราวแรงงานมากขึ้น และควรมีการขยายห้องสมุดที่ตอนนี้ยังเล็กแน่นไปให้คนได้เข้ามาใช้ค้นหาข้อมูลเพื่อการศึกษาเรื่องแรงงานให้กับสังคมเพิ่มขึ้น

ช่วงระดมความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมซึ่งประกอบด้วยผู้นำแรงงานจากทั้งสภาองค์การลูกจ้างหลายแห่ง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์กรภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มสถาปนิกสยาม องค์กรพิพิธภัณฑ์ต่างๆ สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ และสื่อมวลชน ฯลฯ ได้แสดงความคิดเห็นโดยสรุปได้ดังนี้

1. นายสุพจน์ จารุวรรณบำรุง ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทยคาร์บอนแบล็ค เสนอว่า ให้พิพิธภัณฑ์ทำอย่างไรให้ผู้ที่ประสงค์บริจาคเงินให้สามารถหักลดภาษีได้เหมือนกับการบริจาคให้กับสถานศึกษา เพื่อเป็นอีกแรงจูงใจกับผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีมาบริจาคเงิน

2. นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย เสนอว่า การยกระดับเป็นเรียนรู้ของพิพิธภัณฑ์ฯ ขบวนการแรงงานเคยเคลื่อนไหวผลักดันให้บรรจุเรื่องสิทธิแรงงาน สหภาพแรงงาน ประวัติศาสตร์แรงงานไว้ในตำราเรียน เพื่อให้วัยแรงงานที่จะออกมาเข้าสู่ระบบการจ้างงานได้เรียนรู้ วันนี้ยังไม่สำเร็จแต่ต้องมีการกระตุ้นให้ทำต่อ

3. นางสาวอรุณี ศรีโต อดีตผู้นำสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียง เสนอว่า การรวมตัวเป็นสหภาพแรงานขณะนี้ที่จดทะเบียนอาจมีนับพันกว่าแห่งแต่ที่ทำงานจริงมีเพียง 700-800 แห่ง และมีสมาชิกประมาณ 3 แสนคนมีคนงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม 10 ล้านคน จึงมีแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการส่วนหนึ่งไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และไม่มีสหภาพแรงงานการที่พิพิธภัณฑ์จะเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ และต้องสร้างไม่ให้นักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบปวช. ปวศ. ปริญญาตรี ที่ออกมาเข้าสู่รั่วโรงงานไม่ต่อต้านสหภาพแรงงาน และเห็นด้วยในหลักการในการส่งคนมาเรียนรู้เรื่องแรงงานบ้าง

4. นายไพบูลย์ แก้วเพทาย อดีตผู้นำแรงงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง เสนอว่า จากการที่ได้มาร่วมแรกเปลี่ยนคิดว่าจะพาแรงงานนอกระบบที่มีการทำงานร่วมมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์แรงงานดีกว่าไปไหว้พระ 9 วัด

5. นายธวัชชัย ผลเจริญ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอว่า ประวัติศาสตร์ผู้นำแรงงานแต่ละช่วงมีรอยต่อ และทุกคนต้องการที่จะสร้างประวัติศาสตร์ของตนเองพยายามลบล้างประวัติศาสตร์ในอดีตไม่ให้คนจดจำ ซึ่งไม่ใช่เพียงประวัติศาสตร์แรงงานเท่านั้นแต่เป็นประวัติศาสตร์ของคนทุกส่วน คนรุ่นใหม่ไม่ได้เรียนรู้ ไม่เคารพคนในประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นรากเหง้าของตนเอง

คนรู้เรื่องสหภาพแรงงานน้อยมาก เพราะเมื่อเข้ามาทำงานแล้วก็อยู่ดีกินดี ก็ไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เป็นหน้าที่ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่ต้องทำให้แรงงานรู้เรื่องปรัชญาสหภาพแรงงานจริงๆ ไม่ใช่เห็นเพียงผลประโยชน์การจ้างงานเท่านั้น

6. ผศ.วิชัย โถสุวรรณจินดา นักวิชาการด้านแรงงานมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เสนอว่า นักศึกษามาเยี่ยมชมทำรายงาน ถ่ายรูปเรื่องงบประมาณบริหารสิ่งที่สหภาพแรงงานกว่า 700 แห่งควรทำคือต้องจัดสรรงบประมาณบำรุงพิพิธภัณฑ์ฯเดือนละ 1,000 บาท ต้องมาศึกษาประวัติศาสตร์แรงงาน และพิพิธภัณฑ์ฯทำให้รู้ว่าเอาเงินที่ได้ไปทำอะไรบ้าง พิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่ให้การศึกษามา 20 กว่าปีจะทำให้เป็นองค์การมหาชนแบบเดียวกับหอภาพยนตร์ได้หรือไม่ หรือเสนอให้สถานศึกษาต่างๆมาสนับสนุนในศึกษาประวัติศาสตร์แรงงานเป็นส่วนหนึ่งในการสอน และกรรมการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยต้องหาผู้ที่มีบารมีเข้ามาเป็นกรรมการ เช่นปลัดกระทรวงแรงงาน อดีตข้าราชการผู้ใหญ่

7. นางสมลักษณ์ เจริญพจน์ ที่ปรึกษาสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย เสนอว่าให้มีการปรับเพิ่มเนื้อหาเรื่องแรงงานในปัจจุบัน เมื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้วได้รู้ปัจจุบันด้วยว่ามีความก้าวหน้าหรืออย่างไร ต้องทำให้เนื้อหาเคลื่อนไหวตลอดเวลา เพื่อมองอนาคตของแรงงาน เรื่องสถานที่การจัดแสดงไม่ควรยึดติดต้องส่ามารถเคลื่อนย้ายไปได้ทุกที่เมื่อมีเครือข่ายสหภาพแรงงาน ต้องมีการจัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้ เพิ่มเนื้อหาเรื่องแรงงานข้ามชาติที่อดีตคือแรงงานจีน เพิ่มเนื้อหาปัจจุบัน กับแรงงานเพื่อนบ้าน เพื่อนให้เป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานอาเซียน

8. นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอว่าผู้นำแรงงานต้องตระหนักถึงประวัติศาสตร์แรงงาน ต้องแนะนำให้สมาชิก คนใกล้ชิด เครือข่ายที่รู้จักให้มาที่พิพิธภัณฑ์เพื่อศึกษา อาจต้องหาความหลากหลายที่เข้าร่วมปรึกษาซึ่งผู้นำแรงงานต้องทำหน้าที่ประสานงาน เห็นว่าพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งข้อมูลต้องมาศึกษาเรียนรู้ และต้องช่วยกันดูแลเพราะพิพิธภัณฑ์ฯจะอยู่ได้ต้องมีเงิน
/////////