วันที่ 10-14 มกราคม 2557 วงดนตรีภราดร ในนามตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้รับเชิญจากองค์กร “บ้านคนงานอพยพปักกิ่ง” ให้เข้าร่วมแสดงดนตรีในงานวัฒนธรรมแรงงาน ซึ่งเป็นงานเฉลิมฉลองปีใหม่จีนของคนงานอพยพ ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมการแสดง ไนน์เธียร์เตอร์ ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
การแสดงชุดต่างๆ นำเสนอถึงปัญหาของแรงงานที่กำลังเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมจีน ทั้งเรื่องค่าจ้างแรงงาน สวัสดิการสังคม ความปลอดภัยและความมั่นคงในการทำงาน สัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ผ่านงานศิลปวัฒนธรรม ทั้งบทเพลง และการแสดงละคร การเต้นรำหลากหลายรูปแบบ ผู้แสดงทั้งหมดเป็นคนงานอพยพจากหลายพื้นที่ รวมทั้งเด็กๆที่เป็นลูกคนงานอพยพ
นายซุน ฮัง ผู้อำนวยการ “บ้านคนงานอพยพปักกิ่ง” กล่าวว่า “การจัดงานครั้งนี้ทำให้คนงานจีนมีโอกาสแสดงออกด้านวัฒนธรรมเพื่อบอกความรู้สึก บอกเรื่องราวของเขาให้สังคมรับรู้ และเป็นการสร้างความสมานฉันท์ในหมู่คนงานจีนด้วย”
การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของกลุ่มแรงงานจีนกับแรงงานไทยในครั้งนี้ เป็นการเชื่อมสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมแรงงานแม้ว่าจะมีความแตกต่างทางภาษาและเชื้อชาติ แต่ก็สามารถเข้าใจกันได้ว่าคนงานยังคงมีสภาพที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนกันไม่ว่าที่ใดๆ
14 มกราคม 2557 คณะจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้มีโอกาสไปเรียนรู้เรื่องราวต่างๆของแรงงานอพยพจีนที่ได้จัดแสดงไว้ใน พิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรมคนงานอพยพ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2551ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะบันทึกเรื่องราวและคุณค่าของแรงงานอพยพจีนไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติจีน โดยได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนส่วนใหญ่จาก OXFAM Hong Kong และจากหน่วยงานวัฒนธรรมท้องถิ่นรวมทั้งผู้บริจาคทั่วไป
จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกกว่า 1.4 พันล้านคน มี 26 เชื้อชาติ พื้นที่ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งมีแรงงานอพยพเข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่ที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมกว่า 263 ล้านคน เริ่มจากเมืองเซิ่นเจิ้ง กวางตุ้ง กวางโจ เป็นต้น และในกรุงปักกิ่งมีประชาชนอยู่ราว 22 ล้านคน
เมื่อมีการลงทุน มีอุตสาหกรรม การอพยพของแรงงานจำนวนมากทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นจำนวนมาก
ฉาวฟู่ อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรมคนงานอพยพเล่าว่า “พิพิธภัณฑ์นี้เกิดขึ้นในชุมชนพื้นที่คนงานอพยพ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง เพื่อนำเสนอสภาพการทำงานของคนงานอพยพ โดยมีการบริการห้องสมุด ร้านสินค้ามือสอง ของที่ระลึก ทั้งซีดี หนังสือ และเสื้อยืด การสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ภายใต้แนวคิด เพื่อทำให้สังคม คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงคุณค่าของแรงงานผู้พัฒนาประเทศ และเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรือง ซึ่งมักไม่มีการพูดถึง หรือยกย่อง ถึงคุณค่าของคนงานอพยพกลุ่มนี้ และการที่เขาถูกเอารัดเอาเปรียบด้านค่าจ้าง เนื่องด้วยสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม การไร้สวัสดิการ มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ และด้อยโอกาส ถูกทำให้เป็นพลเมืองชั้นสอง และรวมถึงลูกคนงานที่ติดตามพ่อแม่มาก็ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานด้านการศึกษา เป็นต้น แต่เขาได้ใช้งานวัฒนธรรม การสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กลูกคนงานอพยพ และมีนักศึกษาที่เข้ามาทำงานอาสาสมัครและจัดตั้งโดยการสนับสนุนจากองค์กร”บ้านคนงานอพยพปักกิ่ง” ซึ่งเรื่องราวของเขาส่วนหนึ่งได้ถูกบอกเล่าไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้”
การจัดแสดงภายในอาคารชั้นเดียวขนาดราว 8 x 30 เมตร ได้แบ่งเป็นพื้นที่ในการจัดแสดงเป็นสัดส่วนอย่างเรียบง่าย เริ่มจากผัง 30 ปีแห่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของแรงงานอพยพ แสดงการอพยพของคนงานจากเมืองต่างๆ เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมตามเมืองใหญ่โดยแบ่งเป็นยุคๆ
เริ่มจากก่อน ค.ศ. 1978 ที่การบริหารประเทศยังใช้ระบบคอมมูนที่รัฐเป็นผู้จัดสวัสดิการให้กับประชาชน ที่ดินเป็นของรัฐ คนทำงานต้องส่งผลผลิตให้ส่วนกลางแล้วได้รับแบ่งปันกลับมา
ยุคต่อมาในค.ศ 1978 รัฐบาลเริ่มนโยบายเปิดประเทศ มีการจัดสรรที่ทำกินให้กับเกษตรกรทำกิน สามารถขายผลผลิตได้แต่ไม่สามารถครอบครองที่ดิน เมืองเซินเจิ้นทางภาคใต้ของจีนถูกสร้างให้เป็นพื้นที่ทดลองแบบเศรษฐกิจทุนนิยม
และจากยุค ค.ศ.1988 เป็นยุคที่จีนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเต็มตัว เกิดการลงทุนมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ รัฐบาลได้อนุญาติให้ประชากรสามารถทำงานในระบบอุตสาหกรรมได้ ทำให้คนจำนวนมากจากชนบทต่างเคลื่อนย้ายอพยพเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรม โดยผู้ที่ต้องการไปทำงานในเมืองต่างๆ จะต้องขึ้นทะเบียนต้องมีเอกสารหลายอย่าง เช่น ระบุสถานภาพสมรส การมีบุตร ที่พักอาศัย ใบอนุญาตทำงาน โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้มีการจัดแสดงบัตรประจำตัวคนงานอพยพไว้ ซึ่งจากนโยบายการขึ้นทะเบียน คนงานอพยพจึงถูกปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง แม้เขาจะเป็นประชากรจีนเช่นเดียวกับคนในเมือง
ยุคช่วงค.ศ.2003-2008 จากจุดเริ่มต้นที่มีคนงานอพยพคนหนึ่งที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนและลักลอบเข้ามาทำงานจนถูกจับกุมคุมขังใน “ค่ายกักกันแรงงาน” ส่งผลให้ต่อมาคนในสังคมลุกขึ้นมาเรียกร้องจนรัฐบาลยกเลิกนโยบายการขึ้นทะเบียนคนงานอพยพย้ายถิ่นไปในที่สุด
การเคลื่อนย้ายแรงงานของคนงานอพยพทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต การที่คนงานต้องทำงานหนัก ทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพชีวิต ความไม่ปลอดภัยในการทำงาน กรณีเกิดไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาในเซินเจิ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1993 มีคนงานเสียชีวิต 86 คน ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่เกิดกรณีโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม 1993
ปัญหาการจัดสวัสดิการ การประกันสังคม ค่าจ้างต่ำ ความต้องการในการพัฒนาประเทศส่งผลให้คนงานอพยพต้องทำงานหนักขึ้นจนไม่มีเวลากลับไปเยี่ยมบ้าน เยี่ยมครอบครัว คนงานอพยพจึงนำลูกและครอบครัวมาอยู่ด้วย ซึ่งส่งผลให้ลูกคนงานไม่สามารถเรียนในระบบการศึกษาปกติได้ เพราะว่าระบบการศึกษาของประเทศคือ เกิดที่ไหนจะได้รับสวัสดิการการศึกษาในพื้นที่ถิ่นที่เกิดที่มีทะเบียนอยู่ในมณทลนั้นๆ ทำให้เด็กจำนวนมากไม่ได้รับการศึกษา
ความเจริญของเมือง ยังมีเรื่องของการทำสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรมกับคนงาน เช่นการจัดแสดงเรื่องสภาพการทำงานของคนงานอพยพที่มาทำงานก่อสร้าง นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างเป็นรายปี แต่ละวันจะจ่ายให้เพียงค่าอาหาร และให้พักในบริเวณเขตก่อสร้าง คนงานต้องรวมตัวประท้วงเพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างทุกปี ดังที่เป็นข่าวไปทั่วโลก ซึ่งทำให้คนงานต้องอยู่อย่างลำบาก โดยปัจจุบันนี้ก็ยังมีสัญญาจ้างแบบนี้ในกลุ่มคนงานก่อสร้างอยู่
และยังมีการจัดแสดงเรื่องการทำงานของคนงานหญิง เพื่อบันทึกและบอกเล่าปัญหาการละเมิดสิทธิ และความไม่เท่าเทียมทางเพศซึ่งยังมีอยู่มาก
ในพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดแสดงห้องพักแสดงความเป็นอยู่ของคนงานอพยพ มีห้องศิลปวัฒนธรรมคนงานที่ใช้ในการให้การศึกษาและจัดตั้ง การทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศจีน รวมถึงการจัดระบบการศึกษาให้กับลูกคนงานอพยพ การเปิดรับอาสาสมัครจากมหาวิทยาที่ผ่านการอบรม มาร่วมทำงานจั ดตั้งในองค์กรบ้านคนงานอพยพปักกิ่ง
ติดๆกันในส่วนหน้าเป็นร้านขายสินค้ามือสอง และในบริเวณเดียวกันยังจัดให้มีโรงแสดงศิลปวัฒนธรรมขนาดความจุประมาณ 200 คน เพื่อเป็นศูนย์จัดงานทางด้านวัฒนธรรมทั้งดนตรี การฉายภาพยนต์ การแสดงละครและอื่นๆ
วาสนา ลำดี รายงาน