พินิจร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับกฤษฎีกา มิถุนายน 2565 : ไม่ดีกว่าเดิมตรงไหน? ให้เอาปากกามาวง

พินิจร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับกฤษฎีกา มิถุนายน 2565

: ไม่ดีกว่าเดิมตรงไหน? ให้เอาปากกามาวง[1]

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

เผยแพร่เมื่อ 24 มิถุนายน 2565

ปากบอกว่ารัก ใจบอกว่าแคร์ สุดท้ายไม่เหลียวแล ปล่อยฉันเกยตื้นตาย และฉันคงต้องยอม ปล่อยตัวเธอกลืนน้ำลายกับคำร้ายที่กล่าวไว้ ว่ารักก็คือรัก หลงก็คือหลง ถ้าถามชาวประมง ก็คงไม่เข้าใจ เพราะฉันนั้นเป็นวาฬที่เกยตื้นน้ำตาย ใจสลายแหลกลงไปใต้ทะเล”

เสียงเพลงวาฬเกยตื้นดังขึ้นมา ระหว่างที่ฉันกำลังวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ…. ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อมิถุนายน 2565 และก็อดคิดไม่ได้ว่า สุดท้ายแล้ว “แรงงานสัมพันธ์” ก็คือ “การจัดวางและร้อยเรียงความสัมพันธ์ของระบบการจ้างงานให้สมดุล ที่มีตัวละคร คือ นายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายบริหาร ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สหภาพแรงงาน และผู้เล่นในสนามฝ่ายต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งรัฐ องค์กรแรงงานระดับสูง องค์กรนายจ้าง องค์กรภาคประชาสังคม กระทั่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ว่าจะเจรจาต่อรองอย่างไรบนพื้นฐานแห่งความวางใจ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้จริงอย่างเป็นธรรม ยั่งยืน บนความเป็นหุ้นส่วนของกระบวนการผลิตในสถานประกอบการ” เพื่อในที่สุดแล้วจะไม่เป็นวาฬเกยตื้นน้ำตาย เพราะเชื่อคำลวงจากชาวประมงที่ไม่เป็นจริง

มาตรา 7 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับกฤษฎีกา มิย. 65 ได้ขึ้นต้นด้วยการวางบรรทัดฐานเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนว่า “เพื่อสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี การดำเนินการใดๆ ตาม พ.ร.บ.นี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตและการสร้างความเข้าใจหรือส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีต่อกัน” ซึ่งถ้อยคำนี้ไม่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อกุมภาพันธ์ 2562 และฉบับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่อย่างใด

ฉันกวาดสายตาอย่างรวดเร็ว 160 มาตราปรากฏตรงหน้า ใกล้เคียงกับฉบับ 2518 และฉบับ ครม. กพ. 62 เอกสารฉบับดังกล่าวชี้ชัดว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับกฤษฎีกา มิย. 65 ได้วาง 25 เรื่อง ใน 9 หมุดหมายสำคัญ เพื่อจะนำทางไปสู่การสร้างแรงงานสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนให้ได้อย่างเป็นจริง

วางเจตนารมณ์เรื่องความสุจริตใจไว้ในมาตรา 7 ในหมวดที่ 1 บททั่วไป

กำหนดเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาใหม่

ให้ลูกจ้างซึ่งบรรลุนิติภาวะจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน (เดิมกำหนดเรื่องการมีสัญชาติไทย) โดยยื่นคำขอจัดตั้งพร้อมด้วยข้อบังคับต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (เดิมบังคับเรื่องต้องจดทะเบียน) ทั้งนี้อธิบดีต้องออกใบสำคัญรับรองการจัดตั้งสหภาพแรงงานภายใน 15 วัน หากอธิบดีไม่ออก ผู้จัดตั้งมีสิทธินำไปฟ้องศาลแรงงานภายใน 30 วันนับแต่วันแจ้งคำสั่ง และสมาชิกของสหภาพแรงงานก็กำหนดคุณสมบัติเพียงต้องมีสถานะเป็นลูกจ้างเท่านั้น (มาตรา 95,97,100)

กำหนดเรื่องข้อตกลงสภาพการจ้างและการยื่นข้อเรียกร้อง

กำหนดให้สถานประกอบการต้องมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (เดิมต้องเป็นสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คน เป็นต้นไป) (มาตรา 11)

ในกรณีที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสิ้นสุดลง ถ้ามิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะสิ้นสุดลง ให้ถือว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี นับแต่วันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสิ้นสุดลง (มาตรา 12 เดิม วรรค 2 ระบุว่าเป็นวันที่นายจ้างกับลูกจ้างได้ตกลงกัน) (มาตรา 14 วรรค 2)

การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ต้องยื่นข้อเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบภายในระยะเวลา 60 วัน ก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะสิ้นสุดลง (มาตรา 16)

แม้จะกำหนดว่า ข้อเรียกร้องต้องมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด แต่หากยื่นไปแล้ว แม้ภายหลังรายชื่อมีไม่ถึงจำนวนตามที่กำหนดไว้ ข้อเรียกร้องนั้นก็ไม่ตกไปแต่อย่างใด (มาตรา 20)

นายจ้าง สหภาพแรงงาน ลูกจ้าง สามารถตั้งที่ปรึกษาได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน (เดิมต้องจดทะเบียน) ไม่เกินฝ่ายละ 2 คน และที่ปรึกษามีสิทธิเข้าร่วมเจรจาทำความตกลงได้ (มาตรา 22)

ตัดมาตรา 33 ฉบับ 2518 ออก ที่ระบุเรื่องการห้ามยื่นข้อเรียกร้องกรณีที่ประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจร้ายแรง ฯลฯ

กำหนดเรื่องการพิพาทแรงงาน

ขยายเวลาแจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเป็น 48 ชั่วโมง (เดิมคือ 24 ชั่วโมง) (มาตรา 27)

ขยายระยะเวลาไกล่เกลี่ยเป็น 15 วัน จึงจะถือว่าเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ (เดิม 5 วัน) (มาตรา 28)

กำหนดเพิ่มเติมให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไปจนตกลงกันได้ / การนำข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้นกลับไปเจรจาตกลงกันเอง (มาตรา 28)

เมื่อมีการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานโดยผู้ชี้ขาดแล้ว หากอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาด มีสิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานภายใน 30 วัน ทั้งนี้ไม่เป็นการทุเลาคำชี้ขาดดังกล่าวแต่อย่างใด (เดิมกำหนดเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรี)  (มาตรา 33)

กำหนดเรื่องการปิดงานและนัดหยุดงาน

กำหนดวิธีการว่านายจ้างจะปิดงาน หรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานได้ต้องอยู่ใน 5 กรณีนี้เท่านั้น                1- ไม่สามารถตกลงกันได้เอง

2- พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ยภายใน 15 วันแล้ว ไม่มีข้อยุติ

3- ไม่ได้ตั้งผู้ชี้ขาดมาชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน

4- ผู้ชี้ขาด ชี้ขาดไม่แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

5- อีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด

กำหนดให้แจ้งให้พนักงานประนอมและอีกฝ่ายทราบอย่างน้อย 48 ชม. ก่อนการปิดงานหรือนัดหยุดงาน นับแต่เวลาที่ได้รับแจ้ง (เดิมกำหนดไว้ 24 ชม.) (มาตรา 36)

กำหนดเรื่องการปิดงานหรือนัดหยุดงานในกิจการที่เป็นบริการสาธารณะที่สำคัญของรัฐ แต่มอบให้เอกชนดำเนินการได้ ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม บริการการเดินอากาศ บริการขนส่งและที่เกี่ยวเนื่องกับขนส่ง รวมทั้งขนถ่ายสินค้า บก-น้ำ-อากาศ โดยต้องมีการจัดทำแผนบริการขั้นต่ำที่จำเป็นไว้ล่วงหน้าก่อน เพื่อให้บริการสาธารณะต่อเนื่อง  รวมทั้งกิจการอื่นที่เป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือสุขภาพของประชาชน ตามที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 37-46)

ไม่มีการกำหนดเรื่องการให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ในช่วงที่ประเทศมีประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่กำหนดให้มีการชี้ขาดจากคณะบุคคลตามที่ รมต. กำหนดหรือแต่งตั้ง  และสั่งห้ามนายจ้างปิดงานและลูกจ้างนัดหยุดงาน อีกต่อไปแล้ว  (ยกเลิกมาตรา 25,36 ในฉบับเดิม)

กำหนดสิทธิในระหว่างการปิดงานและนัดหยุดงาน โดยห้ามนายจ้างทำสัญญาจ้างบุคคลอื่นมาทำงานแทนลูกจ้าง เว้นแต่ในกิจการบริการสาธารณะตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น (มาตรา 49-51)

กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการชุดต่างๆ

ที่มาของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ 13 คน ว่า มาจากแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน (เดิมฝั่งละ 3 คน) และกำหนดรายละเอียดผู้ทรงวุฒิ ต้องมีประสบการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์เป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี 3 คน (มาตรา 52)

กำหนดเพิ่มเติมว่านายจ้างต้องจัดให้มีการปรึกษาหารือภายใน 10 วัน นับแต่วันที่กรรมการลูกจ้างร้องขอให้มีการประชุม ซึ่งต้องแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้า 5 วัน (มาตรา 65)

กำหนดเพิ่มเติมเรื่องกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาไปดำเนินการ กรณีประชุมสหภาพแรงงานหรือสัมมนาใดๆตามที่สหภาพแรงงานและนายจ้างได้ตกลงกัน และปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการไตรภาคีตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานหรือกรรมการในคณะกรรมการอื่น หรืออนุกรรมการอื่นตามกฎหมาย (มาตรา 106)

แก้ไขให้ สหภาพแรงงานหรือสหพันธ์แรงงาน หรือสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจหรือสหพันธ์แรงงานวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ ไม่น้อยกว่า 10 แห่ง  สามารถรวมตัวจัดตั้งเป็นสภาองค์การลูกจ้างได้ (เดิมกำหนด 15 แห่ง) (มาตรา 123-125)

เพิ่มเข้ามาใหม่ คือ สมัชชาแรงงานแห่งชาติ กำหนดจัดปีละ 1 ครั้ง เพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี (มาตรา 126-129)

กำหนดเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม

เพิ่มเรื่องห้ามนายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใดๆอันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงาน กระทำการหรือกำลังกระทำการ ดังต่อไปนี้ (ก) จัดตั้งสหภาพแรงงาน (มาตรา 130)

เพิ่มเรื่องหากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ในกรณีวินิจฉัยเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้มีสิทธินำคดีสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน โดยไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว (มาตรา 135)

บทกำหนดโทษ มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยภาพรวมส่วนใหญ่คือลดโทษจำคุกลง เพิ่มโทษปรับมากขึ้นในหลายกรณี (มาตรา 137- 151)

หากมาพิจารณาเพิ่มเติม ก็พบว่าฉบับกฤษฎีกา มิย. 65 มีความแตกต่างจาก ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับที่ ครม.เห็นชอบเมื่อ กพ. 62 โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีการตัด 12 เรื่องออกไป นอกเหนือจากที่เพิ่มหลายเรื่องเข้ามาตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนี้

กฤษฎีกาตัดหมวด “คณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์” ออก (หมวด 5)

กฤษฎีกาตัดเรื่องที่กำหนดว่า สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (มาตรา 11)

กฤษฎีกาตัดคำว่า กรรมการของสหพันธ์แรงงานออก ในฐานะการเป็นผู้แทนลูกจ้างในการทำหน้าที่เจรจา (มาตรา 15)

กฤษฎีกาตัดคำว่า การนับระยะเวลาในการเจรจาข้อเรียกร้อง ให้นับเป็นชั่วโมงตั้งแต่เวลาที่ได้รับข้อเรียกร้องไปจนครบ 24 ชั่วโมง เป็น 1 วัน ออก (มาตรา 17 )

กฤษฎีกาตัดเรื่อง กรณีที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกออก กรณีหากมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ให้อำนาจรัฐมนตรีพิจารณาชี้ขาด (มาตรา 26)

กฤษฎีกาตัดถ้อยคำเรื่อง การลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าหรือกรรมการลูกจ้าง อันเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ ออกไป  (มาตรา 56) (แต่ก็พบว่าไปปรากฎในหมวดการกระทำอันไม่เป็นธรรม มาตรา 130 แทน)

กฤษฎีกาตัดถ้อยคำที่ว่า การก่อตั้งสหภาพแรงงาน ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันหรือลูกจ้างซึ่งทำงานในประเภทเดียวกัน และมีสัญชาติไทยออกไป (มาตรา 89)

กฤษฎีกาตัดถ้อยคำที่ว่า “หากเห็นว่าสหภาพแรงงานจัดตั้งขึ้นมาแล้วไม่ขัดต่อความสงบเรียร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้อธิบดีออกใบสำคัญรับรองการจัดตั้งสหภาพแรงงาน” เหลือเพียงเมื่ออธิบดีเมื่อได้รับคำขอครบถ้วนให้ออกใบสำคัญภายใน 15 วัน (มาตรา 91 )

กฤษฎีกาตัดถ้อยคำอื่นๆออกหมด เหลือเพียงว่า “สมาชิกของสหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้าง” (โดยต้องไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการจ้าง เลิกจ้าง ให้บำเหน็จ ลงโทษ) (มาตรา 94)

กฤษฎีกาตัดถ้อยคำ การลาของกรรมการสหภาพแรงงานออก ในกรณีไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาลในคดีเกี่ยวกับแรงงาน (มาตรา 100)

กฤษฎีกาตัดเรื่อง อธิบดีมีอำนาจสั่งให้กรรมการสหภาพแรงงานออกจากตำแหน่งได้ โดยกำหนดให้อธิบดียื่นคำร้องต่อศาลแรงงานเพื่อมีคำสั่งให้เลิก ภายใต้เงื่อนไขดำเนินขัดต่อกฎหมายกับไม่ดำเนินกิจการติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 2 ปี (มาตรา 107 )

กฤษฎีกาตัดเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม กรณีที่นายจ้างใช้สิทธิปิดงานแก่ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเป็นบางส่วนหรือบางคนออก (มาตรา 124)

ทั้งนี้หากมาลงรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ…. ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 9 เมื่อมิถุนายน 2565  โดยเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จะมีสาระสำคัญแต่ละเรื่อง ดังนี้

ไม่บังคับใช้ใครบ้าง ? มาตรา 4

ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และองค์การมหาชน รวมทั้งหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐ , รัฐวิสาหกิจ

การกำหนดนิยามเพิ่มเติม ในมาตรา 5

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มีการขยายนิยามให้ชัดขึ้น โดยระบุว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างฝ่ายนายจ้างหรือสมาคมนายจ้าง กับสหภาพแรงงานหรือผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในกรณีที่ไม่มีสหภาพแรงงาน

ข้อพิพาทแรงงาน ให้ความหมายชัดขึ้นว่า ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่มีการเจรจากันภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างฝ่ายนายจ้างกับฝ่ายลูกจ้าง (เดิม หมายถึง ข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้าง)

กำหนดนิยามเพิ่มขึ้น ได้แก่   สภาองค์การนายจ้าง / สภาองค์การลูกจ้าง

การเพิ่มถ้อยคำในมาตรา 7 ขึ้นมาใหม่ว่า

เพื่อสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี การดำเนินการใดๆ ตาม พ.ร.บ.นี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตและการสร้างความเข้าใจหรือส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

หมวด 2 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

มาตรา 11 กำหนดใหม่ว่า ให้สถานประกอบการต้องมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยระบุที่มาของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ว่า เกิดจากการเจรจาระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน / หากไม่มีสหภาพแรงงาน ลูกจ้างอาจร่วมกันแต่งตั้งผู้แทนเพื่อเจรจาให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ได้

มาตรา 13 มีการเพิ่มเติมคำว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยระบุเพิ่มเติมเรื่อง สถานที่ทำงาน / การกำหนดระยะเวลาการยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

มาตรา 14 วรรค 2 มีการระบุชัดขึ้นว่า ให้ถือว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี นับแต่วันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสิ้นสุดลง (มาตรา 12 เดิม วรรค 2 ไม่ได้ระบุถ้อยคำนี้ไว้)

มาตรา 15 ระบุถ้อยคำเพิ่มเติมว่า ให้ฝ่ายที่ยื่นข้อเรียกร้องส่งสำเนาข้อเรียกร้องให้อธิบดีทราบโดยมิชักช้า และผู้แทนในการเจรจาของฝ่ายสหภาพแรงงานระบุว่า ต้องแต่งตั้งจากกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงานเท่านั้น

มาตรา 16 ระบุเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ว่าต้องยื่นข้อเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบภายในระยะเวลา 60 วัน ก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะสิ้นสุดลง เว้นแต่การกำหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 20 ระบุเพิ่มเติมว่า ข้อเรียกร้องต้องมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด แต่หากยื่นไปแล้ว แม้ภายหลังรายชื่อมีไม่ถึงจำนวนตามที่กำหนดไว้ ข้อเรียกร้องนั้นก็ไม่ตกไปแต่อย่างใด

มาตรา 22 แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่ปรึกษา ว่านายจ้าง สหภาพแรงงาน ลูกจ้าง สามารถตั้งที่ปรึกษาได้เลย แต่ต้องไม่เกินฝ่ายละ 2 คน ทั้งนี้ให้แจ้งชื่อที่ปรึกษาให้อีกฝ่ายทราบ และให้ที่ปรึกษามีสิทธิเข้าร่วมประชุมและเจรจาทำความตกลงได้

มาตรา 23 ระบุเพิ่มเติมเรื่องการประกาศข้อตกลงสภาพการจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

หมวด 3 วิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน

มาตรา 27 ขยายเวลาแจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเป็น 48 ชั่วโมง (เดิมกำหนดไว้ในมาตรา 21 ในระยะเวลา 24 ชม.)

มาตรา 28 วรรคแรก ขยายระยะเวลาไกล่เกลี่ยเป็น 15 วัน ถึงจะถือว่าเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ (เดิมในมาตรา 22 กำหนดไว้เพียง 5 วัน)

มาตรา 28 วรรคสองและวรรคสาม เพิ่มเติมเรื่องการให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไปจนตกลงกันได้ / เพิ่มเติมเรื่องนำข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้นไปเจรจาตกลงกันเอง (เดิมในมาตรา 22 กำหนดเรื่องการตั้งผู้ชี้ขาดพิพาทแรงงาน หรือนายจ้างจะปิดงาน หรือลูกจ้างจะนัดหยุดงาน)

มาตรา 31 กำหนดให้ผู้ชี้ขาดต้องพิจารณาวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ตั้ง
ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน (มาตรา 28 เดิม ไม่มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการ)

มาตรา 33  หากอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาด มีสิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานภายใน 30 วัน แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการทุเลาคำชี้ขาดดังกล่าวแต่อย่างใด (มาตรา 30 เดิม กำหนดเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งต่อ รมต.)

หมวด 4 กาารปิดงานและนัดหยุดงาน

มาตรา 36 กำหนดวิธีการว่านายจ้างจะปิดงาน หรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานได้ต้องอยู่ใน 5 กรณีนี้ คือ

ไม่สามารถตกลงกันได้เอง

พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ยภายใน 15 วันแล้ว ไม่มีข้อยุติ

ไม่ได้ตั้งผู้ชี้ขาดมาชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน

ผู้ชี้ขาด ชี้ขาดไม่แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

อีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด

และกำหนดให้แจ้งให้พนักงานประนอมและอีกฝ่ายทราบอย่างน้อย 48 ชม. ก่อนการปิดงานหรือนัดหยุดงาน นับแต่เวลาที่ได้รับแจ้ง (แก้ไขจากเดิมมาตรา 34 ที่กำหนดไว้ 24 ชม. )

มาตรา 37 กำหนดเรื่องการปิดงานหรือนัดหยุดงานในกิจการที่เป็นบริการสาธารณะที่สำคัญของรัฐ แต่มอบให้เอกชนดำเนินการ ว่าต้องทำแผนบริการขั้นต่ำที่จำเป็นไว้ล่วงหน้าก่อน เพื่อให้บริการสาธารณะต่อเนื่อง ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม บริการการเดินอากาศ บริการขนส่งและที่เกี่ยวเนื่องกับขนส่ง รวมทั้งขนถ่ายสินค้า บก-น้ำ-อากาศ รวมทั้งกิจการอื่นที่เป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือสุขภาพของประชาชนตามที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 38-48 กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการยกเว้นไม่ปฏิบัติตามมาตรา 37 วรรค 7 ก็ได้ แต่ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดขนาดหรือลักษณะของกิจการที่ได้รับการยกเว้น โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตหรือสุขภาพประชาชน และความเพียงพอของบริการสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐได้จัดทำหรือดำเนินการไว้แล้ว

นอกจากนั้นยังมีการกำหนดวิธีการในการนัดหยุดงานและปิดงานไว้ในเชิงรายละเอียดด้วย เช่น มาตรา 46 ต้องแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 5-7 วันก่อน เป็นต้น

มาตรา 48 ระบุว่าในกรณีที่ปิดงานหรือนัดหยุดงานในกิจการที่เป็นบริการสาธารณะ  แล้วส่งผลร้ายแรงต่อประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้นำข้อพิพาทแรงงานมาเสนอคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ชี้ขาดภายใน 30 วัน คำชี้ขาดถือเป็นที่สุด (เดิมในมาตรา 23 กำหนดห้ามกิจการสาธารณะเหล่านี้นัดหยุดงานหรือปิดงาน ต้องส่งข้อพิพาทให้ ครส.วินิจฉัยเท่านั้นใน 30 วัน และกำหนดรายละเอียดต่อ ในมาตรา 35 เรื่องให้อำนาจ รมต. สั่งการต่างๆ)

มาตรา 49-51 กำหนดสิทธิในระหว่างการปิดงานและนัดหยุดงาน ได้แก่ ลูกจ้างไม่มีสิทธิรับค่าจ้าง/ ลูกจ้างที่นัดหยุดงานห้ามขัดขวางการทำงานของลูกจ้างคนอื่นๆที่ไม่ได้เข้าร่วม , ห้ามนายจ้างทำสัญญาจ้างบุคคลอื่นมาทำงานแทนลูกจ้าง เว้นแต่ในกิจการบริการสาธารณะตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

หมวด 5 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

กำหนดไว้ในมาตรา 52-59 (เดิมคือ มาตรา 37-44)

กำหนดที่มาของ 13 คน ว่า มาจากแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน , กำหนดรายละเอียดผู้ทรงวุฒิ ต้องมีประสบการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์เป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี 3 คน

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นกรรมการและเลขานุการ (เดิมไม่มีการกำหนดเลขานุการ)

มีการเพิ่มอำนาจหน้าที่กรรมการ ครส. เช่น กำหนดกิจการที่เป็นบริการสาธารณะสำคัญตามมาตรา 37

หมวด 6 คณะกรรมการลูกจ้าง

กำหนดไว้ใน มาตรา 60- 68 (เดิม มาตรา 45-53)

มีการเปลี่ยนแปลงในมาตรา 63  ที่ไม่มีการกำหนดแล้วว่า กรรมการลูกจ้างจะพ้นวาระแล้วต้องได้รับการอนุญาตจากศาลแรงงาน (จากเดิมในมาตรา 48 วรรค 6 กำหนดว่า ศาลแรงงานมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง)

อย่างไรก็ตามถึงตัดวงเล็บนี้ทิ้งไปแล้ว แต่ในมาตรา 66 ก็ระบุเรื่องนายจ้างมีสิทธิร้องขอให้ศาลแรงงานมีคำสั่งให้กรรมการลูกจ้างผู้นั้นหรือกรรมการลูกจ้างทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งได้ หากเข้าเงื่อนไขที่ระบุไว้ คือ ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยไม่สุจริต / เปิดเผยความลับของนายจ้างเกี่ยวกับการประกอบกิจการ / กระทำการอันเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

อีกทั้งมาตรา 67 ก็ยังระบุไว้อยู่ว่า นายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน เว้นแต่กรรมการลูกจ้างนั้นตกลงหรือให้ความยินยอมเป็นหนังสือ หรือเป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุ หรือเพราะเหตุระยะเวลาตามสัญญาจ้างสิ้นสุดลง

ทั้งนี้มีการตัดมาตรา 52 ในฉบับ 2518 เดิมออก ที่ระบุไว้ว่าห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน (แต่ไปปรากฎในหมวดการกระทำอันไม่เป็นธรรม มาตรา 130 แทน ที่ห้ามเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใดๆอันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้)

มาตรา 65 กำหนดว่านายจ้างต้องจัดให้มีการปรึกษาหารือภายใน 10 วัน นับแต่วันที่กรรมการลูกจ้างร้องขอให้มีการประชุม ซึ่งต้องแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้า 5 วัน

หมวด 7  สมาคมนายจ้าง

มาตรา 69-93 (เดิมคือ มาตรา 54-85 หมวด 6)

หมวด 8 สหภาพแรงงาน

มาตรา 94-116 (เดิมคือมาตรา 86-111)

มาตรา 95 ลูกจ้างซึ่งบรรลุนิติภาวะจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน โดนยื่นคำขอจัดตั้งพร้อมด้วยข้อบังคับต่ออธิบดีกรมสวัสดิการฯ หลักเกณฑ์เป็นไปเป็นตามที่อธิบดีกำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษา (เดิมอยู่ในมาตรา 88 ว่า ผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน หรือทำงานในประเภทกิจการเดียวกัน โดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน บรรลุนิติภาวะ และมีสัญชาติไทย)

มาตรา 97 ระบุว่า อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต้องออกใบสำคัญรับรองการจัดตั้งสหภาพแรงงานภายใน 15 วัน หากอธิบดีไม่ออก ผู้จัดตั้งมีสิทธินำไปฟ้องศาลแรงงานภายใน 30 วันนับแต่วันแจ้งคำสั่ง (เดิมในมาตรา 91 ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีก่อน ถึงไปศาลแรงงานได้)

มาตรา 100 สมาชิกของสหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้าง (ทั้งนี้ในมาตรา 95 เดิม กำหนดว่า จะต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน หรือเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน และมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป) อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ต้องไปดูในมาตรา 95 ต่อว่า อธิบดีจะกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งสหภาพแรงงานอย่างไร แต่อย่างน้อยแรงงานเหมาค่าแรง สามารถเป็นสหภาพแรงงานเดียวกันกับสหภาพแรงงานในสถานประกอบการแห่งนั้นๆได้แล้ว

มาตรา 106 กำหนดเพิ่มเติมเรื่องกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาไปดำเนินการ โดยเพิ่มเติมในวงเล็บ 3 และ 4 คือ (3) ประชุมสหภาพแรงงานหรือสัมมนาใดๆตามที่สหภาพแรงงานและนายจ้างได้ตกลงกัน (4) ปฏิบัติหน้าที่กรรมการฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคีตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานหรือกรรมการในคณะกรรมการอื่น หรืออนุกรรมการอื่นตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน (เดิมมาตรา 102 ไม่มีกำหนด 2 เรื่องนี้ไว้)

มาตรา 108-110 กำหนดแนวทางเรื่องการแก้ไขข้อบังคับ / การเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ โดยมติที่ประชุมใหญ่ต้องเห็นชอบ แจ้งต่ออธิบดีภายใน 14 วัน เพื่อออกใบสำคัญรับรองภายใน 7 วัน

มาตรา 115 กำหนดให้อธิบดียื่นคำร้องต่อศาลแรงงาน เพื่อมีคำสั่งให้เลิกสหภาพแรงงาน ภายใต้เงื่อนไขดำเนินการขัดต่อกฎหมาย กับไม่ดำเนินกิจการติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 2 ปี เท่านั้น (แก้ไขมาตรา 116 ฉบับเดิม ที่กำหนดว่าให้นายทะเบียนเป็นคนสั่งให้ออก )

มาตรา 116 ในกรณีที่บริษัทใดต้องเปลี่ยนสภาพจากกิจการเอกชนเป็นรัฐวิสาหกิจ ให้สหภาพแรงงานในบริษัทนั้นยังคงสภาพการเป็นสหภาพแรงงานต่อไป แต่หากจะประสงค์เป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจให้สหภาพแรงงานนั้นดำเนินการจัดตั้งสหภาพใหม่ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจภายใน 120 วัน

หมวด 9 ว่าด้วยสหพันธ์นายจ้าง สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง สมัชชาแรงงานแห่งชาติ 

มาตรา 117 -129 (เดิมอยู่ในมาตรา 112-120 ทวิ)

มาตรา 119 สหภาพแรงงาน 2 สหภาพขึ้นไปอาจรวมกันจัดตั้งเป็นสหพันธ์แรงงานได้ (เดิมในมาตรา 113 ระบุเรื่องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกับ กับ ทำงานในกิจการประเภทเดียวกัน)

มาตรา 123 และ 125 ระบุเรื่อง สหภาพแรงงานหรือสหพันธ์แรงงาน หรือสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจหรือสหพันธ์แรงงานวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ ไม่น้อยกว่า 10 แห่ง (โดยต้องมีสหภาพแรงงานหรือสหพันธ์แรงงาน 1 แห่ง ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าร่วมจัดตั้งด้วย) สามารถรวมตัวจัดตั้งเป็นสภาองค์การลูกจ้างได้ โดยยื่นคำขอต่ออธิบดี พร้อมข้อบังคับ  (เดิมมาตรา 120 กำหนด 15 แห่ง และต้องเป็นสหภาพแรงงานหรือสหพันธ์แรงงานเท่านั้น)

มาตรา 125 ระบุต่อว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจหรือสหพันธ์แรงงานวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ อาจเป็นสมาชิกสภาองค์การลูกจ้างได้ (เดิมมาตรา 120 ตรี กำหนดเพียงการเป็นสมาชิกสภาองค์การลูกจ้าง เฉพาะสหพันธ์แงงานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เท่านั้น)

เพิ่ม มาตรา 126-129 เข้ามาใหม่เลย คือ สมัชชาแรงงานแห่งชาติ ที่กำหนดให้

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต้องจัดให้มีการประชุม สมัชชาแรงงานแห่งชาติ

เป็นการประชุมระหว่างสมาคมนายจ้าง สหพันธ์นายจ้าง สภาองค์การนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรแรงงานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานนอกระบบ และองค์กรด้านแรงงานอื่นๆ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานที่ประชุม

การกำหนดนโยบายและแผนงานเกี่ยวกับการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์

การปฏิบัติตามอนุสัญญาอันเป็นมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน

การคัดเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และที่ปรึกษา เพื่อเข้าร่วมในการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เสนอรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

การกำหนดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองแรงงานทั้งระบบ

การดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการแรงงานสัมพันธ์

รายละเอียดการจัด กำหนดโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้บุคคลภายนอกสามารถเข้าร่วมประชุมได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง

หมวด 10 การกระทำอันไม่เป็นธรรม

มาตรา 130- 136 (เดิมคือมาตรา 121-127)

มาตรา 130 ห้ามนายจ้างเลิกจ้างหรือกระทำการใดๆอันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงาน กระทำการหรือกำลังกระทำการ ดังต่อไปนี้ (ก) จัดตั้งสหภาพแรงงาน (เพิ่มวงเล็บ ก เข้ามาใหม่เลย)

มาตรา 132 ระบุชัดว่า เมื่อได้มีการยื่นข้อเรียกร้องแล้ว หากข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในกระบวนการเจรจายังไม่สิ้นสุดไม่ว่าจะขั้นตอนใดๆ ห้ามนายจ้างเลิกจ้างผู้ดำเนินการเรียกร้องดังกล่าว เว้นแต่ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญา / จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย / ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง โดยนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว และยังไม่เกิน 1 ปี เว้นแต่กรณีร้ายแรง / ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานโดยไม่มีเหตุผลอันควร (เดิมอยู่ในมาตรา 31 ระบุห้ามเรื่องการโยกย้ายหน้าที่การงาน ไว้ด้วย ถ้อยคำนี้หายไป)

มาตรา 135 ระบุชัดขึ้น เรื่อง หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ให้มีสิทธินำคดีสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน โดยไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน (มาตรา 125 เดิม)

หมวด 11 บทกำหนดโทษ

มาตรา 137- 151 (เดิมคือมาตรา 128-159)

มาตรา 137-138 ลดโทษกรณีการเรียกรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง สหภาพแรงงาน ต้องเสียประโยชน์ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 139 ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด ระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

มาตรา 140-141  การที่บุคคลอื่นเข้าไปกระทำการในการเรียกร้อง เจรจา ไกล่เกลี่ย ชี้ขาด ปิดงาน หรือนัดหยุดงาน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท

มาตรา 142 ไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดกรณีนัดปิดงานหรือหยุดงานในกิจการที่เป็นบริการสาธารณะสำคัญ และส่งผลร้ายแรงต่อประชาชน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

มาตรา 143 นายจ้างตกลงให้ทรัพย์สินแก่กรรมการลูกจ้าง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 144-151 เป็นโทษปรับอย่างเดียว ตั้งแต่ 1-5 หมื่นบาท  เช่น ไม่มีทะเบียนสมาชิก / ไม่มีตรวจสอบบัญชี  / นำชื่อไปใช้ / ไม่่มีใบสำคัญรับรองการจัดตั้ง ส่วนฝ่าฝืนการกระทำอันไม่เป็นธรรม ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

บทเฉพาะกาล มาตรา 152-160

กำหนดรายละเอียดการนำ พ.ร.บ. ไปใช้ และการแต่งตั้งกรรมการคณะต่างๆที่เกี่ยวข้อง

“เธอฉันมิใช่เท้าหลังเท้าหน้า แต่เป็นเท้าซ้ายเท้าขวาที่เกื้อหนุนกัน เป็นปีกที่สมดุลและสัมพันธ์ สอดคล้องต้องกันทุกท่าที”  เสียงเพลงสอดคล้องและสมดุลเวียนมาถึงช่วงที่ฉันกำลังเขียนย่อหน้าสุดท้ายพอดี ราวตอกย้ำว่า “จงจำไว้ว่ารักใคร อย่าทำให้ใจต้องเจ็บ” ใจจะไม่เจ็บย่อมเกิดขึ้น บนการเชื่อมั่นว่าอีกฝ่ายคือ “หุ้นส่วน” คือ “คนที่จะก้าวไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งอีกฝ่ายไว้ข้างหลัง” และแน่นอนร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับกฤษฎีกา มิถุนายน 2565 ก็ย่อมไม่ใช่ร่างกฎหมายที่สมบูรณ์แบบหรือดีที่สุด ในการเข้าสู่การพิจารณาขั้นต่อไปในกลไกรัฐสภา แต่นี้คือความพยายามที่จะสร้างก้าวเล็กๆแห่งการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพื่อก้าวที่ยิ่งใหญ่ก้าวไกลในอนาคต

21.45 น.

พระราม 6 กรุงเทพฯ

วันที่ฝนฉ่ำฟ้าร้องครืน


[1] บทความนี้วิเคราะห์เปรียบเทียบเพียง 3 ร่างเท่านั้น คือ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 , ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อกุมภาพันธ์ 2562 , ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับที่คณะกฤษฎีกาแก้ไขจากฉบับ ครม. เมื่อมิถุนายน 2565 ทั้งนี้ไม่ได้นำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ….ฉบับ สส. สุเทพ อู่อ้น กับคณะ เมื่อเมษายน 2565 มาพิจารณาด้วยแต่อย่างใด