พันธมิตรแรงงานกลุ่มภาคตะวันออก แห่ให้กำลังใจ หลังมิชลิชเจรจาไม่คืบ

Untitled-1

กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก หนุนให้กำลังใจสหภาพแรงงานมิชลิชหลังการเจรจาข้อเรียกร้องมา 3 ครั้งไม่คืบ ตัวแทนนายจ้างอ้างแพ็กเกจไม่แน่นอนยังติดเรื่องค่าเช่าบ้านและข้ออื่นๆยังไม่คุย

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. เวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่มพนักงานบริษัทสยามมิชลินแหลมฉบัง จำกัดและพนักงานของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กว่า 500 คนรวมตัวชุมนุมบริเวณหน้าโรงงาน หลังการเจรจาข้อเรียกร้องกับนายจ้างครั้งที่ 3ไม่คืบหน้า

นาย สมหมาย ประไว เลขาธิการสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย ตัวแทนเจรจาฝ่ายลูกจ้าง เปิดเผยว่า หลังจากที่สหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทยยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างบริษัทสยามมิชลินแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา จำนวนทั้งหมด 9 ข้อ ดังที่หลายท่านทราบไปแล้วนั้น วันนี้เป็นการเจรจาครั้งที่ 3 ซึ่งการเจรจานั้นบรรยากาศก็ถือว่า อึดอัดพอสมควร เนื่องจากตัวแทนของนายจ้างบอกว่า มีแพ็กเกจให้แน่นอนสำหรับเรื่องค่าเช่าบ้านแต่ทำข้อมูลมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้ตัวแทนคนงานยอมรับหลักการของ 3 ปีก่อนถึงจะเปิดเผยตัวเลข โดยฝ่ายตัวแทนนายจ้างอ้างถึงเพื่อความมั่นคงและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนด้านตัวแทนคนงานก็ยืนที่ 1ปี แต่ก็ไม่ปิดกั้นเรื่องของ 3 ปี หากบริษัทมีตัวเลข 3 ปีก็ลองนำเสนอมาจะได้ไปชี้แจงนำเสนอให้สมาชิกเลือกและตัดสินใจว่าจะเอา 1 ปี 2 ปี หรือ 3 ปี ส่วนข้ออื่นๆนั้นไม่พูดถึง ทำให้การเจรจาไม่สามารถไปต่อได้ จนกระทั่งช่วงบ่ายทั้งสองจึงยุติการเจรจา

ทั้งนี้การเจรจาสองครั้งที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้นำเสนอหลักการและเหตุผลต่อกันถึงความต้องการของทั้งสองฝ่าย และวันนี้พวกเราก็รวมตัวเพื่อชี้แจงความคืบหน้าต่อสมาชิกให้รับทราบตามปกติ

Untitled-2Untitled-3

ด้าน นาย สมพร ขวัญเนตร ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า เท่าที่ดูข้อเรียกร้องและเปรียบเทียบสวัสดิการของที่อื่นแล้วมันไม่ใช่เรื่องที่ลูกจ้างเรียกร้องเกินเลย แต่หากนายจ้างมีมุมมองว่ายังไงก็ไม่ยุติปัญหานั่นก็ไม่ใช่ปัญหาที่จะหาทางยุติกันได้ นั่นคือประเด็นแรก ส่วนประเด็นที่ 2เรื่องการที่นายจ้างมาตั้งธงเรื่องอายุข้อตกลง 3 ปี มันเป็นประเด็นสำคัญ ผมมองว่ามันเป็นการเหมือนหยุดลูกจ้าง ไม่ให้ทำกิจกรรม ไม่สามารถเรียกร้องสวัสดิการได้เป็นเวลา 3 ปี โดยทั่วไปแล้วสหภาพแรงงานที่เกิดใหม่ที่ยังไม่เข้มแข็งและต้องการปรับสวัสดิการอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องยากที่จะเกิดการยอมรับ เพราะว่าเขาก็มีสมาชิกอยู่ข้างหลังเหมือนกัน หากจะให้เขาหยุดพวกเขาคงไม่ยอมและเป็นไปได้ยากมาก แต่ถ้าเป็นสหภาพแรงงานที่เกิดมานานและเกิดการยอมรับกันแล้วและมีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างถึงจุดดีแล้วอันนั้นเป็นไปได้ อย่าง เอสโซ่ หรือไทยออยล์ แต่หากมีเหตุผล และต้องการจริงๆนายจ้างก็ต้องชดเชยเขาตามเงื่อนไขเป็นขั้นบันไดลักษณะนั้น เพราะเนื่องจากค่าครองชีพในระยะ 3 ปี มันปรับขึ้นแน่นอน นั่นหมายความว่า มุมมองลูกจ้างมองว่านายจ้างผลักภาระเหล่านี้ให้เป็นเรื่องของลูกจ้าง ลูกจ้างก็ถือว่าถูกเอารัดเอาเปรียบอะไรทำนองนี้

ฉะนั้นผมมองว่า ถ้าหากการเจรจาครั้งหน้าถ้านายจ้างยังตั้งธงแล้วก็เอาเงื่อนไข 3 ปีมาเป็นตัวตั้งผมคิดว่าพิพาทแน่นอน และลูกจ้างคงจะหาวิธีการหาทางต่อสู้เพื่อที่จะได้สวัสดิการมา และได้ข้อตกลงตามความต้องการของเขา ซึ่งไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจนเกินไป ฉะนั้นในฐานะที่เป็นประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกและเป็นประธานพื้นที่แหลมฉบังด้วย ก็เป็นห่วงหลายเรื่องโดยเฉพาะพื้นที่การชุมนุม ทางการนิคมฯบอกว่าเป็นฟุตบาท แต่นายจ้างมิชลินได้ทำการเช่าไว้จอดรถและก็ห้ามลูกจ้างเข้าไปใช้บริเวณที่ฟุตบาทหน้าบริษัท อันนี้ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน เพราะลูกจ้างก็จำเป็นต้องชี้แจงและต้องใช้ถนนเลนหนึ่งเป็นอย่างน้อย อันนี้ก็อาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุมและผู้สัญจรไปมาหรือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบแจ้งความดำเนินคดีตามมา ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้นายจ้างควรจะพิจารณาและทบทวนที่จะหาทางยุติโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหายืดยื้อ และเรื่องแบบนี้ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาอีกเหมือนครั้งที่ผ่านมา เพราะว่าขณะนั้นมิชลินมีสมาชิกไม่เท่าไหร่ แต่เปรียบเทียบขณะนี้เขาค่อนข้างที่จะมีสมาชิกเยอะและก็เข้มแข็งค่อนข้างที่จะมีความพร้อม ถ้าหากจำเป็นที่จะต้องต่อสู้เพื่อที่เขาจะไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจนเกินไป ผมคิดว่านายจ้างควรหาทางยุติดีกว่าที่จะมาตั้งเงื่อนไขและก็มาสู้กับลูกจ้างเพราะมันน่าจะส่งผลกระทบต่อมิชลินในอนาคตแน่นอน

ทั้งนี้ข้อเรียกร้องสหภาพแรงงานมิชลิชประเทศไทยทั้ง 9 ข้อประกอบด้วย

1. ขอให้บริษัทจ่ายโบนัสพิเศษประจำปี 2556 ให้กับพนักงานทุกคนในอัตรา 4.7 เท่าของฐานเงินเดือน(เดือนสุดท้ายของปี2556) พร้อมทั้งเงินบวกอีกคนละ 40,000 บาทและให้ยกเลิกเงื่อนไขการตัดเงินโบนัสพิเศษทุกกรณี

2. ขอให้บริษัทฯจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านให้กับพนักงานทุกคนเดือนละ2,700 บาท

3. ขอให้บริษัทฯปรับเงินค่าจ้างประจำปีให้กับพนักงานทุกคนตามเกณฑ์การประเมินผลงานของบริษัทฯโดยให้ปรับเงินค่าจ้างตาม

อัตราดังนี้

ดีเลิศ ปรับเงินขึ้น 8% ของฐานเงินเดือน

ดีมาก ปรับเงินขึ้น 7% ของฐานเงินเดือน

ดี ปรับเงินขึ้น 6% ของฐานเงินเดือน

พอใช้ ปรับเงินขึ้น 5% ของฐานเงินเดือน

ปรับปรุง ปรับเงินขึ้น 4% ของฐานเงินเดือน

4. ขอให้บริษัทจัดหาข้าวฟรีให้กับพนักงานทุกคนในวันทำงาน

5. ขอให้บริษัทฯจ่ายเงินช่วยเหลือพนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับความร้อนทั้งระบบ(แผนกอบยาง)จำนวน 20 บาทต่อวัน

6. ขอให้บริษัทฯจ่ายเงินเบี้ยขยันให้กับพนักงานทุกคนจำนวน 1,000 บาทต่อเดือน

7. ขอให้บริษัทหักเงินค่าบำรุงสมาชิกสหภาพฯ ณ ที่จ่ายให้กับสหภาพฯพร้อมจ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมสหภาพฯปีละ 120,000 บาท

8. ขอให้บริษัทสนับสนุนวันดำเนินกิจกรรมสหภาพฯโดยไม่ถือเป็นวันลาให้กับคณะกรรมการสหภาพฯจำนวน 7 วัน/คน/ปี และเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งประธาน เลขาธิการ และเหรัญญิกรวม 30 วันต่อปี

9. ขอให้บริษัทฯจัดสวัสดิการซื้อยางรถยนต์ให้กับพนักงานปีละหนึ่งสิทธิในราคาส่วนลด 50%(ราคาขาย ณ วันที่ซื้อ)
ฝ่ายบริหารก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนมาด้วย 2 ข้อเช่นกันคือ

1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ: ปรับอัตรากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนบริษัทฯสมทบในทุกอายุงานให้เหมาะสมกับความสามารถในการจ่าย

2. วันลากิจ: ทบทวนปรับจำนวนวันลากิจโดยที่ได้รับค่าจ้างและเงื่อนไขการลาตามความเหมาะสม

นักสื่อสารแรงงานภาคตะวันออก รายงาน