ฝึกนักสื่อสารแรงงาน เขียนข่าวแบบนักข่าว

   เมื่อวันที่ 21-22 เมษายน 2555 ณ ห้องการะเกด ชั้น 4 โรงแรมริเวอร์วิวเพลส จ.พระนครศรีอยุธยา  โครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ ร่วมกับ โครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน จัดอบรมเรื่อง “การเขียนข่าวและช่องทางนำเสนอข่าว สำหรับนักสื่อสารแรงงาน”  โดยผู้เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ประกอบด้วย นักสื่อสารแรงงานจาก ศูนย์พื้นที่ชลบุรี-ระยอง  ศูนย์พื้นที่สมุทรสาคร-นครปฐม  ศูนย์พื้นที่อยุธยา   และศูนย์พื้นที่สมุทรปราการ  จำนวน 15 คน
 
   นายภาสกร  จำลองราช   อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน กล่าวถึงวัตถุประสงค์การฝึกอบรมว่า เพื่อเป็นการเติมเต็มเทคนิคต่างๆที่นักสื่อสารแรงงานยังขาดอยู่ การนำเสนอข่าวจะเสนอข่าวอย่างไรให้ได้รับความสนใจจากสื่อ ซึ่งจากประสบการณ์ที่พบหลังเหตุการณ์น้ำท่วม พบว่านักสื่อสารยังขาดประสบการณ์ ขาดแง่มุมที่จะเสนอข่าว  ขาดการหาประเด็นซึ่งจะทำให้เสนอข่าวได้น่าสนใจ และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อไป
 
   หลังจากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษ โดย นายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ให้แง่คิดว่า  “คนเราทุกคนถือตั๋ววิเศษอยู่ในมือคือ การฟัง  การอ่าน  การพูด  และการเขียน เราจะพัฒนาทั้ง 4 อย่างนี้อย่างไรที่จะให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะการเขียนนำเสนอเรื่องที่เราอยากจะสื่อออกไป มันจะมีประสิทธิผลอย่างมากหากได้พัฒนา 4 อย่างนี้อย่างเกื้อหนุนกันเหมือนขวั้นให้เป็นเชือกเส้นเดียว เพราะภาษาที่ได้นั้นเกิดจากการอ่าน เพื่อให้เกิดมุมมอง ภาษาและแนวทางใหม่ๆ ซึ่งการที่เราจะเขียนออกมาได้เราต้องมีวัตถุดิบที่เราจะหาได้ก็ต่อเมื่อเราลงไปคลุกคลีอยู่กับสิ่งๆนั้น และใช้เทคนิคที่เกิดจากการศึกษา การฝึกฝน ปรับเปลี่ยน ค้นหา รวมถึงการใช้ช่องทางการสื่อสารให้เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์
 
   นายภัทระ ยังกล่าวต่ออีกว่า  ที่สำคัญ “เราอย่าปรามาสว่าเราทำไม่ได้ เพราะชีวิตคนเราอยู่ได้ด้วยการเรียนเรียนรู้ หากชีวิตอยู่แบบลอยๆ ก็จะไม่มีคุณค่าอะไร เราจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเรามุ่งมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ”
 
   หลังจากนั้นเป็นการบรรยายจากวิทยากรสื่อมวลชนมืออาชีพ “กลุ่มสื่อชีวิตคุณภาพ” ที่ได้ช่วยกันเติมเต็มแง่มุม เทคนิคต่างๆ แนวทาง การเขียนข่าว แบบนักข่าว รวมถึงการให้รู้จักธรรมชาติของสื่อว่า สื่อแต่ละสำนักมีแนวทางและทิศทางในการนำเสนอข่าวอย่างไร  ข่าวประเด็นไหนที่ทุกช่องจะต้องนำเสนอ และจะใช้ช่องทางและช่วงเวลาใดในการส่งข่าว เช่น จะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง กระชับ การใช้แนวดราม่าเข้าช่วยในเชิงข่าวซึ่งเป็นการจับเอาความรู้สึกมาเล่นทำให้เกิดความรู้สึกร่วม น่าสงสาร น่าเห็นใจ ส่วนข่าวทุกช่องต้องนำเสนอแน่นอนคือข่าวที่กระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ เช่น การขึ้นค่าแรงที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าทั่วประเทศ เป็นต้น
 
   นายสราวุธ  ขันอาสา นักสื่อสารแรงงานศูนย์ระยอง  ได้แสดงความรู้สึกในการเข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ว่า “การได้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการอบรมที่ดีมากอีกครั้งหนึ่ง เพราะได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานจากพี่ๆนักข่าว ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานของเราได้เป็นอย่างดี” และจะสามารถนำไปใช้กับการทำงานสื่อสารต่อไป
ก่อนจบการอบรม ทีมวิทยากรได้ให้การบ้านแก่ผู้เข้าอบรม โดยให้แต่ละคนฝึกเขียนข่าวหรือบทความคนละชิ้นสำหรับนำเสนอ เพื่อให้ทีมวิทยากรช่วยกันวิจารณ์ แนะนำข่าวหรือบทความของผู้รับการฝึกอบรมเพื่อให้ได้ข่าวแบบนักข่าวต่อไป
 
สุมาลี ลายลวด นักสื่อสารแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน