ผ่าแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ วิกฤตหรือโอกาส ประเทศไทย

20150514_145857

 

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เสวนา ผ่าแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ วิกฤตหรือโอกาสประเทศไทย หวังทำความเข้าใจกับประชาชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ด้านนักวิชาการชี้ปฏิรูปเพื่อแปรรูป ต้องไม่ทิ้งวัตุประสงค์เดิมของรัฐวิสาหกิจ สหภาพต้องทำงานตรวจสอบ ทำข้อมูลเคลื่อนอย่างมีข้อมูล ภาคประชาชนแนะสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต้องทำงานองค์กรรูปแบบใหม่ ดึงภาคประชาชนเข้าร่วมเพื่อให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของจริงๆ ทำงานสร้างแนวร่วม ด้านคนร. เสนอจุดประสงค์ปฏิรูปคือต้องการลดสัดส่วนข้าราชการ เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความเป็นมืออาชีพ โปร่งใส เป้าหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพิ่มคุณภาพการบริการสาธารณะ 

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องประชุมจูปีเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ได้มีการจัดเสวนาทางวิชาการ “ผ่าแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ วิกฤตหรือโอกาส ประเทศไทย” โดยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) การจัดเสวนาครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกับผู้มีผลได้ผลเสียต่อการดำเนินการในครั้งนี้ของรัฐบาล ประกอบด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจ และประชาชน

20150514_13581320150514_141902

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หากการแปรรูปจะทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นคิดว่า คงมีคนสนับสนุน หากถามว่าการแปรรูปเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป หรือว่าการปฏิรูปเป็นการแปรรูป หรือขายชาติก็ได้ ในอดีตรัฐวิสาหกิจมีความสำคัญในยุคหนึ่งของขบวนการแรงงาน และเมื่อมีแนวคิดแบ่งแยกขบวนการแรงงานในยุครสช.(คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ผู้นำแรงงานเอกชนคนหนึ่งเห็นถึงปัญหาหากมีการแยกรัฐวิสาหกิจกับเอกชนออกจากกัน โดยยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเป็นสมาคม แม้ว่าจะกลับมาเป็นสหภาพแรงงานอีกครั้งก็ภายใต้กฎหมายคนละฉบับ สิ่งที่รสช.กระทำต่อขบวนการแรงงานทำให้เขาลุกขึ้นมาปกป้อง ต่อสู้กับรสช.จนต้องถูกอุ้มหายไป จึงเห็นว่าสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต้องศึกษาประวัติศาสตร์และคิดว่าจะทำอย่างไรให้การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อประชาชนจริง คือมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นการพัฒนาประเทศประชาชนก็ต้องยอมหากเป็นประโยชน์ พนักงาน หรือสหภาพแรงงานก็ต้องยอม

รัฐวิสาหกิจบางแห่งเป็นหนี้ ต้องถามว่าหนี้นี้เพื่อการลงทุนให้กับประชาชนใช่หรือไม่ หนี้ในการให้บริการประชาชน หรือเป็นการตอบสนองนโยบายทางการเมืองของรัฐบาล หากเพื่อประชาชนการเป็นหนี้ก็ยอมรับได้ แต่บางรัฐวิสาหกิจก็มีการนำผลกำไรส่งให้รัฐเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ จัดสวัสดิการ แนวคิดการปรับปรุงรัฐวิสาหกิจ ต้องเป็นเจตจำนงค์ร่วมกันจากทั้งประชาชน พนักงาน สหภาพแรงงาน ปฏิรูปได้ แต่เสียงตำหนิก็มีกรณีการบริการไม่ดี สหภาพแรงงานก็ต้องช่วยที่จะให้เกิดการปรับปรุงด้านประสิทธิภาพด้านบริการให้ดีขึ้น การคัดค้านก็ดี แต่ก็ต้องเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะยังคงมีไว้ของรัฐวิสากิจนั้นๆหรือไม่ บางอย่างเอกชนสามารถทำได้ดีอาจต้องให้เอกชนเข้ามาพัฒนา ซึ่งแนวทางการปรับปรุงอาจใช้วิธีการยุบรวมองค์กร มีช่วงเวลาในการปรับตัว เปลี่ยนแปลง มีขบวนการดูแลผลกระทบต่อพนักงาน และประชาชนด้วย

สหภาพแรงงานมีหน้าที่ในการทำงานตรวจสอบ ถ่วงดุลย์อำนาจบริหารองค์กร สหภาพแรงงานต้องมีการจัดทำข้อมูล สู้แบบมีข้อมูล ไม่ควรขับเคลื่อนหรือคัดค้านด้วยอารมณ์ เพราะปัญหารที่เกิดกับรัฐวิสาหกิจคือเรื่องการแทรกแซงทางโครงสร้างอำนาจการบริหารของการเมือง แนวคิดการปฏิรูป กระทรวงการคลังจะยังดูแลรัฐวิสาหกิจส่วนหนึ่งประมาณ 14 แห่ง อีกกว่า 30 แห่งจะยังคงอยู่กับสคร. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) จากรัฐวิสาหกิจกว่า 50 แห่งทั้งหมด

รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจะแปรรูปหรือปฏิรูปต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งด้วย การก่อตัั้งรัฐวิสาหกิจก็เพื่อที่จะให้บริการประชาชน เห็นผลเรื่องความมั่นคงของประเทศ ต้องมีการควบคลุม และบางกิจการก็เกิดขึ้นมาเพื่อนำร่องทางธุรกิจและเมื่อเอกชนสามารถเข้ามาผลิตได้รัฐวิสาหกิจบางแห่งก็ยุบไปหลายองค์กรแล้ว บางรัฐวิสาหกิจก็ขาดทุนเพราะการบริหารทุนสู้กับเอกชนไม่ได้ก็ยุบไปหากเอกชนเข้ามาทำและประชาชนไม่เดือดร้อน เนื่องจากไม่ใช่กิจการที่เป็นการบริการพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึง แต่คำถามคือ ทำไมแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีผลกำไร เช่นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) ที่ขายหุ้นเพียง 5 นาทีหมดเป็นต้น เดิมได้กำไรมาส่งให้รัฐทั้งหมดแต่ตอนนี้ต้องแบ่งให้หุ้นส่วน ทั้งเป็นกิจการทางความมั่นคงของประเทศด้วย

การจะแปรรูปนั้นวัตถุประสงค์ยังคงเดิมหรือไม่ หากดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องแปรรูป หากให้เห็นด้วยว่าควรปฏิรูปอย่างนั้นวัตถุประสงค์คืออะไร คือการบริการประชาชนทุกกลุ่มเท่าเทียมกัน และมีราคาถูกลงเมื่อแปรรูป ไม่มีการผูกขาดโดยทุน แทนการผูกขาดด้วยรัฐ ที่ทำหน้าที่ผูกขาดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

20150514_14484120150514_135704

นางสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำเสนอว่า การที่แปรรูปให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมทำให้กำไรที่ได้ต้องให้ผู้ลงทุนร่วมครึ่งหนึ่ง แทนที่จะนำกลกำไรมาพัฒนาประเทศ หรือจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน การทำงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต้องมีการทำงานรูปแบบใหม่ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ต้องทำใหัประชาชนเข้าใจและลุกมาปกป้องสมบัติของเขา ให้เขารู้สึกถึงว่า หากไม่มีรัฐวิสาหกิจจะเดือดร้อนอย่างไร อย่างเช่นการทำงานร่วมกันของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ที่คอยสอดส่องตรวจสอบเสมอเมื่อคนที่มีอำนาจคิดไม่ดีก็จะต้องออกไปโดยมีกลุ่มของภาคประชาชนเข้าไปหนุนช่วยนี่คือรูปแบบใหม่ของการทำงานของสหภาพแรงงาน เช่นกรณีการรถไฟที่กำลังจะพัฒนามักกะสันเป็นคอมเพล็กซ์ อันนี้สหภาพก็ต้องทำงานกับภาคประชาชนด้วย ซึ่งตอนนี้ข้อเสนอของภาคประชาชนคือสวนสาธารณะ เป็นปอด และพิพิธภัณฑ์ สหภาพต้องทำงานกับภาคประชาชนเพื่อให้เขารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ เป็นของประชาชนจริงๆไม่ใช่แค่ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ สหภาพและรัฐเท่านั้น ประเด็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็เช่นกัน การที่สหภาพแรงงานต่อสู้จนไม่เกิดการแปรรูปทางภาคประชาชนก็ดีใจด้วย แต่หากยังใช้รูปแบบการพัฒนาแบบเดิม เช่นการนำโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหินที่ประเทศพัฒนาเลิกใช้แล้วมาใช้ และมีการโฆษณาโดยที่สหภาพแรงงานไม่มีการลุกขึ้นมาศึกษาและทักท้วง ทั้งนี้กรณีแม่เมาะเองก็เป็นตัวอย่างให้เห็นปัญหาอยู่ ประชาชนยังต้องแบกรับความผิดพลาดในการบริหารของรัฐวิสาหกิจอยู่ ไม่ใช่ไม่เห็นประโยชน์ของการมีรัฐวิสาหกิจประชาชนเขาเห็นแต่เขายังไม่รู้สึกถึงความเป็นของประชาชน การพัฒนาการบริการที่ดีและไม่แพง เช่นเดิมทีมีคนเดินเก็บค่าบริการตอนนี้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าบริการไปจ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ให้กับร้านสะดวกซื้อประเด็นนี้ประชาชนเสียประโยชน์ เดิมไม่ต้องเสียเพราะมีคนเดินเก็บ

20150514_14594820150514_135949

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า การแปรรูปตามข้อเสนอของซุบเปอร์บอร์ดเป็นการทำให้รัฐวิสาหกิจเล็กลง ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชนตามวัตถุประสงค์เดิมทที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน การมีการเกิดรัฐวิสาหกิจก็เพื่อบริการประชาชน เพื่อความมั่นคงทางสังคมเศรษฐกิจที่ต้องมีการถ่วงดุลย์ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน สหภาพแรงงานมีหน้าที่ในการปกป้อง ตรวจสอบและถ่วงดุลย์ และมีข้อเสนอต่อการพัฒนาเพือการบริการต่อประชุมอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ถือว่ารัฐวิสาหกิจไทยเป็นองค์กรที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งในการก่อตั้งมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป อาทิ เพื่อกำไร เพื่อหารายได้ สนับสนุนกิจการทางสังคม เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แม้กระทั่งทางการเมือง เป็นวัตถุประสงค์ครอบคลุมเครือข่ายการขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน สื่อสาร ฯลฯ โดยสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทั้งประเทศ และก่อนหน้านี้รัฐวิสาหกิจก็ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งในส่วนนี้ยังคงต้องทำหน้าที่ต่อไป

ในหลักการที่จะมีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ พร้อมสนับสนุนหากเป็นการปฏิรูปเพื่อให้มีการบริหารงานอย่างมีหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใสมากที่สุด แต่ยังมีความกังวลในมิติของการปฏิรูปซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในหลักการและแนวทาง การบริหารงานนโยบายต่างๆ เกรงว่าจะถูกแทรกแซงและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์

ส่วนนายกุลิส สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) กล่าวว่า แนวทางปฏิรูปรัฐวิสาหกิจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือบริษัทจำกัดที่ไม่มีกฎหมายจัดตั้ง ประมาณ10กว่าแห่ง จะอยู่ในความดูแลของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายจัดตั้งจะอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ส่วนข้อสังเกต การจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเข้ามาดูแลรัฐวิสาหกิจ เป็นการการแปรรูปเพื่อขายให้กับเอกชนหรือไม่ ขอยืนยันว่าไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแน่นอน บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเกิดขึ้นเพื่อให้มีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน เป็นความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร หากฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายการเมืองกำหนดนโยบายที่เสี่ยงต่อการขาดทุน สามารถต่อรองกับรัฐบาลให้จ่ายเงินชดเชยเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มคุณภาพการบริการสาธารณะ ทำให้เกิดรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งจะมีการบริหารในรูปแบบคณะกรรมการภายใต้การกำกับของรัฐบาล

โดยจุดประสงค์คือต้องการลดสัดส่วนข้าราชการลง และเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความโปร่งใส เข้ามาทำหน้าที่ในแต่ละด้าน และเชื่อมั่นว่าจะไม่ทำให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุน แต่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้รัฐวิสาหกิจ และลดค่าใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจที่ไม่จำเป็นลงไป โดยยืนยันว่าการจัดตั้งบรรษัทนี้จะเป็นองค์กรภายใต้กระทรวงการคลัง ที่จะมากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้ดำเนินงานมีประสิทธิภาพทำหน้าที่เหมือนผู้ถือหุ้น และไม่ได้ตั้งมาเพื่อขายหุ้น ซึ่งจะคล้ายกับการจัดตั้งกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์

ทั้งนี้สรส. และภาคประชาชนที่เข้าร่วมได้มีการประกาศเจตนารมณ์ เรื่องจุดยืนต่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจร่วมกันดังนี้ กว่าศตวรรษที่รัฐวิสาหกิจของไทยซึ่งก่อตั้งขึ้นจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ ภายใต้วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ทั้งที่เพื่อการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เพื่อความมั่นคงของประเทศ เพื่อสนับสนุนกิจการทางด้านสังคม และเพื่อหารายได้เข้ารัฐ ซึ่งรัฐวิสาหกิจครอบคลุมในกิจการต่าง ๆ ทั้งด้านพลังงาน การขนส่ง โทรคมนาคม สื่อสาร การบริการ ด้านการสนับสนุนและส่งเสริมด้านเกษตรกรรมและอาหาร ด้านการเงิน และองค์การด้านวิชาการ วิจัย การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจได้สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศชาติมาอย่างยาวนาน ได้สร้างความแข็งแกร่ง เป็นภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศชาติและประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทำให้ประชาชนอยู่ดี มีสุข กินอิ่ม นอนอุ่น สร้างการจ้างงาน กระจายความเจริญ กระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ประชาชนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาสามารถเข้าถึงการบริการอย่างเท่าเทียมในราคาที่ยุติธรรม ควบคุมได้ เพราะเป็นการบริการโดยรัฐ

สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป การกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและจักรวรรดินิยมได้โน้มนำให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายตามแนวทางทุนเสรีนิยมโดยสาระของแนวนโยบายคือ “ลดบทบาทภาครัฐ เพิ่มบทบาทเอกชน” รัฐไม่ควรดำเนินธุรกิจแข่งกับเอกชน และรัฐต้องผ่อนปรน กฎ ระเบียบเพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการได้ การกำหนดราคาต้องให้เป็นไปตามกลไกตลาด นั่นคือที่มาของ “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” และด้วยแนวนโยบายเหล่านี้ต่างเป็นที่ประจักษ์ชัดทั่วทั้งโลกแล้ว แม้แต่จ้าวทฤษฎีว่าเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงซึ่งความผิดพลาดนี้ก่อให้เกิดวิกฤตในทั่วทุกด้าน ทั่วทุกภูมิภาคของโลกเช่นกัน ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนส่วนใหญ่ทุกข์ยาก หิวโหย ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มสูงมากขึ้นเกิดภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย

ประเทศไทยนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจใหญ่ครั้งหลังสุดเมื่อปี พ.ศ.2540 รัฐบาลในเวลานั้นได้ดำเนินนโยบายเช่นที่กล่าวมา และมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปหลายแห่ง แม้ สรส. และองค์กรสมาชิกพยายามคัดค้านอย่างหนัก แต่ก็ไม่อาจทัดทานได้ทั้งหมด เพราะสังคมยังไม่ทราบว่าจะเกิดผลกระทบที่รุนแรงอย่างไร และปัจจุบันคงประจักษ์ชัดแล้วว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชน มีมากมายเพียงใดอย่างกรณีการแปรรูป ปตท. เป็นต้น

บัดนี้ รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลที่ทุจริตกับประชาชนที่รักความเป็นธรรม ดำเนินนโยบายที่สำคัญนับตั้งแต่การยึดอำนาจ และประกาศว่าจะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจใหม่ ให้มีการบริหารที่โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาลให้บริการแก่ประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ใหม่ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ซุปเปอร์บอร์ด” แต่ก็เกิดข้อกังวลต่อ คนร. ชุดใหม่ที่แต่งตั้งนักธุรกิจมาเป็นคณะกรรมการร่วมครั้งนี้จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่เพราะมี คนร. บางคนที่พยายามให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งว่า “การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจคำตอบอยู่ที่ทำรัฐวิสาหกิจให้เล็กลง ให้ทำภารกิจเท่าที่จำเป็น ที่เหลือให้เอกชนทำ” คำพูดเช่นนี้ สรส. ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนาน ทราบดีว่าที่สุดแล้วคือ “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาก็มิได้เปิดโอกาสให้องค์กรรัฐวิสาหกิจและสหภาพแรงงานรวมทั้งภาคสังคมมีส่วนร่วมแต่ประการใด

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ขอย้ำเตือนจุดยืนอย่างมั่นคงอีกครั้ง เพื่อให้ทราบโดยทั่วกันว่า สรส. และองค์กรสมาชิกพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเต็มกำลังขีดความสามารถในการสนับสนุนรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ต่อแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง แต่หาก..ต่างไปจากนี้ สรส. คงยึดมั่นในจุดยืนที่จะหาแนวทางพิทักษ์ ปกป้อง รัฐวิสาหกิจทั้งหลายไว้จนถึงที่สุดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนสืบต่อไป

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน