ผู้แทนนายก รับช้าไม่ได้แล้วต้องเร่งแก้ปัญหาGSPภายใน 2 เดือน ประกาศต่อผู้ชุมนุมวันที่ 25 มีนานี้จัดประชุมร่วมทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้นำแรงงานขานรับประสานมือร่วมแก้ปัญหาหวั่นกระทบนายจ้างและผู้ใช้แรงงานหากสหรัฐตัดสิทธิพิเศษ
วันที่ 3 มีนาคม 2563 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสากิจสัมพันธ์(สรส.) ได้นัดชุมนุมสมาชิก และเครือข่ายพันธมิตรราว 1,000 คน ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเรื่อง “การประกาศระงับใช้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) กับสินค้าไทย”
นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคสรท. กล่าวว่า ตามที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR: US. Trade Representative) ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ว่า สหรัฐอเมริกาได้ลงนามหนังสือถึงรัฐบาลไทย ระงับใช้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP: Generalized System of Preferences) กับสินค้าไทย จำนวน 573 รายการ เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากล โดยจะเริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่จะถึงนี้
นายสมพร ยังกล่าวอีกว่า การละเมิดสิทธิของแรงงานนำไปสู่การยื่นหนังสือร้องเรียนจำนวน 14 ฉบับ ต่อคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม (ILO CFA) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งได้เคยให้ความเห็นในรายงานฉบับที่ 389 (22 มิถุนายน 2562) ว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 และการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 นั้นล่าช้ามาเป็นระยะเวลานาน แม้จะมีการตรวจสอบครั้งแรกของคณะกรรมการILO CFA และให้คำแนะนำในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ร่างแก้ไขของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ก็ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในเรื่องเสรีภาพในการสมาคมสิทธิในการจัดตั้งองค์กรของแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม และสิทธิในการนัดหยุดงาน ในร่างแก้ไขของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 แม้ว่า รัฐบาลจะรายงานผลการแก้ไข ตามรายงานฉบับที่ 389 ว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจ มีสิทธิที่จะนัดหยุดงานได้ แต่ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 นั้น ยังคงกำหนดเงื่อนไขข้อจำกัดต่อความสามารถของแรงงาน และสหภาพแรงงาน รวมทั้งผู้นำของพวกเขาที่จะรวมตัวนัดหยุดงาน และยังกำหนดให้รัฐบาลมีอำนาจอย่างมากที่จะสั่งยุติการนัดหยุดงาน เพื่อประโยชน์ของ “เศรษฐกิจ” หรือ “ความสงบเรียบร้อย”
ดังนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลประกาศให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 และเร่งแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ให้มีบทบัญญัติของกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้งสองฉบับโดยเร็ว
2. เร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ที่เกิดกับกรรมการของสหภาพแรงงานรถไฟแห่งประเทศไทย กรรมการของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการของสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเลคทริค (ประเทศไทย)
3. เร่งแก้ไขสถานการณ์การละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เกิดขึ้นกับแรงงานส่วนใหญ่ที่ถูกเลิกจ้างและไม่จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยการสนับสนุนขององค์กรด้านแรงงานในระดับสากล ตามที่อ้างถึง ขอเรียกร้องให้ท่านและคณะรัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาด้านแรงงานดังกล่าว ตามข้อเสนอ ทั้ง 3 ข้อข้างต้น โดยยึดหลักการมาตรฐานแรงงานระดับสากล เพื่อให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีสภาพการจ้างงานที่ดี อันจะส่งผลให้รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาทบทวนการระงับการให้สิทธิพิเศษ GPS คืนให้กับประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอให้กระทรวงแรงงาน ทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานอย่างเข้มข้น เพื่อส่งเสริมการจ้างงานที่มีคุณค่า (Decent Work) อันเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้มีความยั่งยืนและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงไปด้วยดี เฉกเช่นหลายกรณีก่อนหน้า
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท. กล่าวว่า ทั้งนี้ ในชั้นต้น กรมการค้าต่างประเทศ ประเทศไทย ได้ประเมินผลกระทบต่อการส่งออกของสินค้าต่อ การระงับการให้สิทธิพิเศษ GSP ดังกล่าว ทำให้สินค้าไทยต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1,800 ล้านบาท การเสียภาษีที่สูงขึ้น มีผลกระทบทำให้ต้นทุนการส่งออกของสินค้าไทยมีค่าสูงขึ้น ย่อมกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันการขายสินค้าไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา รวมทั้งกระทบต่อผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของสินค้าไทยจำนวน 573 รายการดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับประเด็นที่เป็นเหตุผลในการระงับใช้สิทธิพิเศษ GSP คือ ข้ออ้างที่ไม่มีความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากลนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในฐานะที่เป็นองค์กรด้านแรงงาน ที่เกิดจากการรวมตัวของสหภาพแรงงานในภาคเอกชนและภาครัฐวิสาหกิจ ตามลำดับ ขอกราบเรียนให้ท่านทราบว่าประเทศไทยมีปัญหาแรงงานที่สะสมมานาน ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากรัฐบาล ปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุจากการจ้างงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล สิทธิแรงงานถูกจำกัดภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม สิทธิในการนัดหยุดงานอันเป็นเครื่องมือสำหรับคนงานในการเจรจาต่อรองร่วม ตัวอย่างเช่น
1) ผู้นำ 7 คน ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยที่ยังคงต้องถูกหักเงินเดือน เพื่อจ่ายค่าปรับจำนวน 24 ล้านบาท และผู้นำจำนวน 13 คน ถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อันเป็นผลมาจากการรณรงค์ด้านแรงงานเรียกร้องมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการรถไฟ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2552
2) ผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 4 คน ถูกตัดสินว่ามีความผิดในศาลฎีกาคดีแรงงาน และให้จ่ายค่าเสียหายจำนวนเงิน 3,479,793 บาท อันเกิดจากการชุมนุมที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2556
3) สหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเลคทริค (ประเทศไทย) ถูกทำลายอย่างสมบูรณ์จนเกือบจะหมดหายไปจากสถานประกอบการ หลังจากที่คนงานต้องยอมจำนนต่อกลยุทธ์ทำลายสหภาพแรงงานที่รุนแรง (รวมทั้งการบังคับให้กรรมการสหภาพแรงงานที่เหลืออยู่เข้าร่วมฝึกแบบทหารและให้คนงานลงนามเอกสารข้อตกลงแต่ละคนไม่ให้มีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงานอีกต่อไป แนวปฏิบัตินี้กำลังจะกลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับใช้ในการกำจัดสหภาพแรงงานในสถานประกอบการที่อื่นๆ ต่อไป
ในปัจจุบันนี้ สถานการณ์การละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ยังมีให้พบเห็นมากมายและเกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์เลิกจ้างในปัจจุบันที่มีการเอาเปรียบคนงาน ไม่จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างให้เป็นไปตามกฎหมาย กรณีตัวอย่างการละเมิดสิทธิแรงงาน (เพิ่มเติม) มีดังนี้
(1) กรณีลูกจ้าง ทีอาร์ดับเบิลยู สเตียริงแอนด์ซัสเพนซัน
(2) กรณีลูกจ้าง เทคโนพลาส
(3) กรณีลูกจ้าง นากาชิมา รับเบอร์
(4) กรณีลูกจ้าง ยัมเรสเทอรอง อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
(5) กรณีลูกจ้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย
(6) กรณีลูกจ้าง การบินไทย
(7) กรณีลูกจ้าง ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย)
(8) กรณีลูกจ้าง อิตะ เซอิมิตสึ
(9) กรณีลูกจ้าง อิเล็กโทรลักซ์
(10) กรณีลูกจ้างมิตซูบิชิอิเลคทริคคอนซูมเมอร์
(11) กรณีลูกจ้าง มอลเท็นเอเชียโพลิเมอร์โปรดักส์
(12) กรณีลูกจ้าง พงษ์พารา
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส. กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การมานี้ต้องการที่จะช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา เพราะหากมีการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า อาจส่งผลกระทบกับนายจ้างที่อาจส่งสินค้าออกไปขายไม่ได้ เนื่องสินค้าที่ส่งออกมีราคาสูง เมื่อสินค้าขายไม่ได้ กระบวนการผลิตมีปัญหาก็กระทบต่อผู้ใช้แรงงาน เรื่องความไม่มั่นคงในการมีงานทำได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการทำความเข้าใจร่วมกันว่าสิทธิพิเศษนี้จะถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหรือGSPในวันที่ 25 เมษายน 2563 นี้ ผลกระทบอาจกว้างเกินกว่าจะคิด และตอนนี้ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาสู่กระบวนการผลิต และยังเรื่องไวรัสCovid-19 ที่กำลังระบาดกระทบต่อเศรษฐกิจอีกเช่นกัน ดังนั้นการมายื่นหนังสือครั้งนี้ ต้องการให้เกิดพัฒนาการ การแก้ไขปัญหาร่วมกันไม่ว่า จะเป็นสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน ควรที่จะเข้ามาร่วมมือกันโดยเร่งด่วนเพื่อการแก้ไขปัญหา โดยองค์กรด้านแรงงานในระดับสากล 3 องค์กร คือ ITUC (International Trade Union Confederation), ETUC (European Trade Union Confederation), IndustriALL Global Union และITF (International Transportation Federation) ได้ลงนามวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับปรุงสถานการณ์สิทธิแรงงานให้ดีขึ้นในประเทศไทย เพื่อจะนำไปสู่ในการแก้ไขการระงับการให้สิทธิพิเศษ GSP ต่อไปด้วย
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การรับเรื่องครั้งนี้ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี คิดว่าการแก้ไขปัญหาช้าไม่ได้แล้วด้วยมีเวลาเหลือเพียง 2 เดือน การแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ผลกระทบต่อการตัดGSP โดยรับปากต่อผู้ใช้แรงงานว่า จะมีการจัดประชุมหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวันที่ 25 มีนาคมนี้ ซึ่งขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงอธิบดีกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อขอรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเรียนให้นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะรับฟันข้อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อที่จะสั่งการให้แก้ไขปัญหาโดยเร็ว
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน