ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ เครือข่ายชนเผ่า ตบเท้ายื่นข้อเสนอต่อว่าที่ผู้สมัคร สส.
ด้าน 10 พรรคการเมือง ฟุ้ง นโยบายรัฐสวัสดิการ เพิ่มเบี้ยกลุ่มเปราะบาง ผลักดันกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายเพื่อการพัฒนา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี สถาบันพระปกเกล้า ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) UN Women สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ Friedrich Ebert Stiftung (FES) ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาประชาหารือ เนื่องในวาระวันสตรีสากลและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเลือกตั้ง ตามแนวคิด “สังคมดี – การเมืองดี ต้องมีสตรีร่วมทาง : women Together Stand for Good Society & good Politicals” ณ ห้องประชุม Infinity Ballroom1 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ในเวทีเสวนาดังกล่าว ได้เปิดโอกาสให้ องค์กรภาคประชาสังคมนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อพรรคการเมือง ประกอบด้วย กลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้หญิง แรงงานใน-นอกระบบแน และแรงงานข้ามชาติ คนพิการ อาสาสมัครผู้สูงอายุ กลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มเคลื่อนไหวรัฐสวัสดิการต่างๆ โดยสรุปดังนี้
สุนี ไชยรส ประธานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า กล่าวว่า วันนี้คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังคือกลุ่มเด็ก สถานการณ์ปัจจุบันทุกกลุ่มมีสวัสดิการแม้ไม่ถ้วนหน้าก็ตาม ทั้งกลุ่ม ผู้สูงอายุ บัตรทอง แต่เด็ก 0-6 ปี ไม่มีสวัสดิการใดๆ ที่เรียกว่าถ้วนหน้า วันนี้เด็กมีประมาณ 4.3 ล้านคน ได้เงินสนับสนุน 2.2 ล้านคน และเด็กอีก 2 ล้านกว่าคนทำไมถึงไม่ได้รับสวัสดิการ รวมไปถึงปัญหาแม่วัยใสที่มีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ขอเรียกร้องสิทธิลาคลอดเพิ่มเป็น 180 วัน และขอให้มีศูนย์เลี้ยงเด็ก ที่รับเด็กตั้งแต่ 6 เดือน – 6 ปี เพื่อรองรับความต้องการของผู้ปกครองที่ต้องทำงานด้วย
ในขณะที่ สมาคมเพศวิถี ขอให้บรรจุวิชาเพศศึกษาลงในหลักสูตรในโรงเรียนอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาแม่วัยใส
ด้านกลุ่มเยาวชน จากสภาเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายเด็กและสตรี ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในเชิงนโยบาย จึงขอให้มีสัดส่วนของ สส.หญิงและกลุ่มเพศสภาพเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่เยาวชนจากพื้นที่ชุมชนแออัด ขอให้พรรคการเมืองพิจารณานำพื้นที่ชุมชนแออัดเป็นพื้นที่เรียนรู้ เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่มีโอกาสแสดงความสามารถผ่านพื้นที่ของตนเอง
สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยเหตุแห่งเพศ ยังคงเกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองตระหนักถึงเรื่องนี้ ขอให้มีการดำเนินการกับคนที่กระทำความผิดเรื่องเพศ และขอให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และขอให้ผู้เสียหายได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมถึงจะมีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
ในขณะที่ผู้แทนจากแรงงานนอกระบบ ขอให้พรรคการเมือง รับรองอนุสัญญาที่ 87 และ 98 ที่พูดถึงเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง อนุสัญญา C177 เรื่องรับงานไปทำที่บ้าน อนุสัญญา C189งานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทางบ้าน อนุสัญญา 190 ความรุนแรงในโลกของการทำงาน และขอให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่าง ๆ ขอให้มีการตั้งกองทุนอาชีพ ช่วยควบคุมราคาสินค้าด้วย
ด้านกลุ่มคนพิการ ขอให้พิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายส่งเสริมศักยภาพคนพิการ เพื่อให้เพิ่มสิทธิของสตรีพิการ ประเภทของความพิการ จะเปลี่ยนไปตามโลก นอกจากนี้มีประเด็นการจ้างงานคนพิการ ขอให้จ้างงานอย่างถาวร และส่งเสริมให้ภาครัฐจ้างงานคนพิการมากขึ้น วางนโยบายมาจากคนพิการอย่างแท้จริง ผู้แทนจากกลุ่มคนพิการยังเสริมด้วยว่า ณ วันนี้การหาเสียงของพรรคการเมือง ยังไม่มีพรรคไหนมีภาษามือนำเสนอนโยบายให้กับคนหูหนวก
ส่วนกลุ่มเครือข่ายสตรีพิการ สวาท ประมูลศิลป์ กล่าวว่างาน อัตราการจ้างของศูนย์การศึกษาพิเศษควรเป็นคนพิการ เพราะจะได้รู้และเข้าใจคนพิการ เด็กพิการจะได้รับการเลี้ยงดูแบบเข้าใจ และขอเสนอให้มีกฎหมายสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวคนพิการ โดยระบุให้เงินเดือนของสามีครึ่งหนึ่งให้กับภรรยา หากเลิกรากันแล้วผู้หญิงจะได้มีเงิน และควรบรรจุเรื่องการบริหารจัดการการเงินของครอบครัวลงไปในกฎหมายด้วย
ด้านผู้แทนจากกลุ่มฟ้าศรีรุ้ง ขอให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อผลักดันประเด็นเพศสภาพ และขอให้พรรคการเมืองมีนโยบายผลักดันกฎหมายของกลุ่มLGBT ด้วย อาทิ กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองเพศสภาพ กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ กฎหมายยกเลิกการค้าประเวณี รวมถึงปรับปรุงแก้ไขกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 77
และกลุ่มผู้สูงอายุ ขอสนับสนุนงบประมาณให้ชมรมผู้สูงอายุ เดือนละ 3,000 บาท เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของผู้สูงอายุแก้ปัญหาผู้สูงอายุติดเตียง
ผู้แทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค ขอให้พรรคการเมืองพิจารณาประเด็นที่อยู่อาศัย การไล่รื้อ ซึ่งการไล่รื้อส่งผลกระทบกับชุมชนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ขอให้พรรคพิจารณานโยบายรัฐสวัสดิการให้เป็นจริง โดยขึ้นเป็น 3,000 บาทให้กับทุกคน
เครือข่ายสตรีชนเผ่า กล่าวว่า ทั้งประเทศมี 52 ชาติพันธุ์ ความหวังเครือข่ายฯ ฝากไว้ที่ว่าที่ผู้สมัคร สส.ทุกคน ให้ช่วยผลักดันกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองด้วย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันตั้งแต่เหนือจรดใต้ เจตนารมณ์คือการคุ้มครองทุกคนให้มีสิทธิเท่าเทียม
จากนั้น นักการเมืองหญิงจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้นำเสนอนโยบายเพื่อให้สอดรับกับข้อเสนอของผู้แทนภาคประชาสังคม ซึ่งเกือบทุกพรรคจะมีนโยบายต่อกลุ่มเปราะบางคล้ายคลึงกัน ดังนี้
เพื่อไทยปัดฝุ่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่จะนำกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่พรรคเคยดำเนินการมาแล้ว และสามารถใช้งานได้จริงนำมาปรับเพื่อให้คุ้มครองสิทธิต่าง ๆให้กับผู้หญิง
ก้าวไกล : ลดค่าใช้จ่าย กระจายอำนาจ
ด้าน สุทวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกล ได้จัดทำข้อเสนอ นโยบาย “ลดค่าใช้จ่าย กระจายอำนาจ” โดยสนับสนุนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 1,200 บาท นโยบายให้รัฐจ้างงานคนพิการ 20000 คน/ปี นอกจากนี้พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะผลักดันกฎหมายชาติพันธ์ และกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ
“พรรคก้าวไกลพร้อมจะรับข้อเสนอทุกข้อในวันนี้ และจะพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น”
ชาติพัฒนากล้า : จ้างงานผู้สูงวัย 5 แสนตำแหน่ง
เยาวภา บุรพลชัย พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า พรรคชาติพัฒนากล้ามีนโยบายสนับสนุนผู้สูงวัยให้มีงานทำ โดยจะมีนโยบายจ้างงานผู้สูงวัย 500,000 ตำแหน่ง มีเงินทุน 50,000 บาท ให้แก่ผู้พิการ คนชรา ทุกบ้านโดยให้เบิกตามจริง และมีทุนสร้างสรรค์ 1 ล้านบาท ให้กับเยาวชนที่มีโครงการนำเสนอและดำเนินงานได้จริง นอกจากนี้พรรคฯ ยังมีนโยบายสนับสนุนกฎหมายความหลากหลายทางเพศ LGBTQ Plus รวมถึงสนับสนุนเด็กให้พูดได้หลายภาษาด้วย
“นโยบายพรรคชาติพัฒนากล้า ดำเนินการภายใต้แนวคิด “งานดี มีเงิน ของไม่แพง”
พรรคประชาชาติ : “เรียนฟรี มีเงินเดือน”
ด้านพรรคประชาชาติ ระบุว่า พรรคฯ มีแนวคิดว่าเด็กทุกคนต้องได้เรียนหนังสือ ดังนั้นพรรคฯ จึงเสนอนโยบายพร้อม “เรียนฟรี มีเงินเดือน” โดยเด็กนักเรียนจะได้รับทุน 3000 บาท รวมถึงสนับสนุนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 0-15 ปี รวมถึงประกันสังคมแบบสมัครใจ และสวัสดิการผู้สูงอายุ
ประชาธิปัตย์ แจกชมรมผู้สูงอายุ 30,000 บาท
ในขณะที่รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ศิริภา อินทรวิเชียร กล่าวว่า พรรคฯ มีนโยบายสนับสนุนทุกกลุ่มคน ให้มีรายได้มั่นคง สนับสนุนชมรมผู้สูงอายุ 30,000 บาท/ ชมรมจ้างงานผู้พิการ และผลักดันร่างกฎหมายคู่ชีวิต การรับรองเพศสภาพ
ไทยศรีวิไลย์ : เพิ่มสวัสดิการแรงงานข้ามชาติ
ภคอร จันทรคณา พรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า พรรคฯจะเพิ่มนโยบายสวัสดิการแรงงานข้ามชาติ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 5000 บาทต่อเดือน คนพิการ 3000 บาท/เดือน และเบี้ย อสม.อสส เพิ่ม 3000 บาท /เดือน
สังคมประชาธิปไตยไทย : เปิดนโยบายธนาคารผู้ประกันตน
ด้าน ผู้แทนจากพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ระบุว่า พรรคฯมีนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะ ชนชั้นในสังคมแรงงาน โดยการปรับแก้กฎหมายแรงงานให้มีฉบับเดียว นอกจากนี้พรรคจะนำภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้ามาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนอนุสัญญาแรงงานนอกระบบ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เสนอเพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน และสนับสนุนโนบายเด็กเล็กถ้วนหน้า 3,000 บาท และเพิ่มเงินอุดหนุนสวัสดิการคนชรา 3000 บาท รวมถึงการจัดตั้งธนาคารสำหรับผู้ประกันตนด้วย
เสมอภาค : เพิ่มรายได้ขยายโอกาส
ด้านพรรคเสมอภาค เสนอนโยบายเพิ่มเงินให้ทุกกลุ่มเปราะบาง 3000 บาทเท่ากันทุกกลุ่ม อาทิ ผู้สูงวัย คนพิการ แม่รายเดือนและหลังคลอด ยกระดับศูนย์เด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน กลุ่มชาติพันธ์มีกฎหมายเฉพาะ ช่วยเหลือให้เท่าเทียม ผลิตยาแผนไทยบำบัดผู้ติดยาเสพติด เพิ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี แก้ปัญหาสังคมที่ต้นเหตุ เพิ่มรายได้ขยายโอกาส
ไทยสร้างไทย : เสนอกองทุนเพื่อคนตัวเล็ก
ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พรรคมีแนวนโยบายครอบคลลุมทุกกลุ่ม อาทิ สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ให้เด็กเรียนฟรีจบปริญญาตรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ สนับสนุน SME ให้เข้าถึงกองทุนเพื่อคนตัวเล็ก สำหรับคนที่เข้าไม่ถึงเงินทุนในระบบ และบำนาญประขาชน 3000 บาท
เสรีรวมไทย : น้ำมันไฟฟ้า ราคาถูก
พรรคเสรีรวมไทย เสนอนโยบายผลักดันบูรณาการให้สตรีอยู่ในทุกกลุ่มงาน โดยเฉพาะในทางการเมือว เพื่อแก้ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้พรรคฯ ยังมีนโยบายน้ำมัน ไฟฟ้า ราคาถูก แก้ปัญหายาเสพติด เรียนฟรี จบป.ตรี เพิ่มเบี้ยผู้พิการ และนโยบายการจัดสรรที่ดินทำกิน