ผู้ป่วยจากการทำงาน ท้อ หวังพึ่งขบวนการยุติธรรม

หลังจากที่นายอักษร อรรคติ ป่วยด้วยอาการปวดหลัง  จนไปพบแพทย์เชี่ยวชาญชั้นหนึ่งของ โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี โดยประสานทางสหภาพแรงงาน และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งโรงพยาบาลวินิจฉัยว่า นายอักษร อรรคติ ป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และแพทย์โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมการแพทย์ทหารอากาศวินิจฉัยว่า เส้นประสาทหลังอักเสบจากการทำงาน  

นายอักษร อรรคติ เล่าว่า ผมมีอาการปวดหลังชาลงขาสะโพกข้างซ้าย   ผมทำงานอยู่ฝ่ายผลิตในคลังสินค้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา  มีหน้าที่ยกสินค้า  โดยมีออเดอร์สั่งงานมาจากหัวหน้างานวันหนึ่งประมาณ 500-800 ชิ้น บางครั้งก็เป็น1,000 ชิ้น ระยะเวลาเกือบ 6  ปี  โดยผมต้องเข้าทำงาน 3 กะตั้งแต่ 07.00 น.-15.00น. เวลา 15.00 น.-23.15 น.และ 23.00น.-07.15 น. ผมต้องทำงานด้วยความรีบเร่ง และยกของหนักมาโดยสม่ำเสมอ หากวันไหนไม่ได้ตามออเดอร์ก็จะต้องถูกใบเตือน   

จากการเจ็บป่วยผมต้องถูกนายจ้างเรียกเพื่อส่งไปตรวจอีกครั้ง ที่ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งแต่กลับบอกว่า  ผมไม่ได้ป่วยเป็นอะไร  ซึ่งแท้จริงแล้ว ผมไปรักษาด้วยกายภาพบำบัดโดยการดึงหลัง อบ ช๊อตไฟฟ้า  ทำแล้วอาการชามันดีขึ้น  และหัวหน้างานก็ให้ทำงานที่เบาลง แต่เมื่อเปลี่ยนหัวหน้างานใหม่ กับออกหนังสือมาแจ้งว่า ผมหยุดทำงานหนักมานานแล้ว  จึงตั้งเป้าทำงานไว้วันละ 200-300 ชิ้น(13ต.ค.54) ให้ไปยกของ พวกเครื่องใช้ไฟฟ้า  ทีวีตู้เย็น  หากเจ็บให้มาบอกโดยตรง เมื่อวันนั้นผมไปยกของตามสั่งได้ 39 ชิ้น จึงรู้สึกขัดที่หลัง ซึ่งนายจ้างบ่นว่า ทำไม โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งวินิจฉัยไม่ตรงกัน นายจ้างจึงพาผมไปทำ MRI โรงพยาบาลวิภาวดี แพทย์วินิจฉัยว่า ป่วย เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ผมไปที่โรงพยาบาลเพื่อขอรักษาโดยใช้ใบ กท 44  แต่ โรงพยาบาล ปฏิเสธ  เมื่อกลับมาที่บริษัทฯ นายจ้างส่งให้ผมไปใช้สวัสดิการของบริษัทในวงเงิน 60,000 บาท ก็ถูกปฏิเสธอีก  ผมไปรักษาที่ โรงพยาบาลภูมิพล ส่งเจาะเข้าไขสันหลัง และรักษาแต่อาการไม่ดีขึ้น  แพทย์บอกว่า อาจพิจารณาเรื่องการผ่าตัด  และควรมีการปรับสภาพการทำงานหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กระตุ้นอาการปวด เช่นก้มมาก และบิดเอี้ยวตัว ยกของหนัก และวางแผนระยะยาวหยุดพักรักษาตัว 

นายอักษร อรรคติ เล่าต่อผมคิดว่า นายจ้างไม่พยายามเข้าใจแก้ไขปัญหา เมื่อผมลากของมันเบากว่า ยกของแต่ก็มากลับใช้ไปยกของอีก มองว่า ผมป่วยไม่มากใช้งานให้ยกของหนักกลับเป็นมากขึ้น  แถมยังไม่ส่งเรื่องเข้ากองทุนเงินทดแทนผมต้องวิ่งเต้นเองหมด  ซึ่งในที่ทำงานของผมมีเพื่อนๆ ป่วยอาการแบบเดียวกันหลายคน แต่ทุกคนก็ไม่กล้าที่จะลาหยุดเพราะกลัวนายจ้างไล่ออก

ผมจึงมีหนังสือไปขอความช่วยเหลือจากสภาเครือข่ายฯเพื่อขอให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม  โดยผมได้รับคำแนะนำให้ไปหานิติกรที่ศาลแรงงานกลาง  แต่ไม่สำเร็จผมอธิบายให้นิติกรฟังแต่เขาฟังผมไม่เข้าใจความต้องการของผม   ซึ่งมันเหลือวันสุดท้ายที่ผมจะใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม  ผมกลับมาหารือสภาเครือข่าย ฯและ ได้รับความช่วยเหลือจากผู้นำกลุ่มแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก  ช่วยเขียนคำฟ้องให้โดยผมไปยื่นฟ้องเอง ที่ศาลแรงงานกลาง วันสุดท้ายที่จะหมดสิทธิการยื่นฟ้อง คือวันที่ 13 ตุลาคม 2554  แล้วศาลนัดพบนายจ้างวันแรกคือ 26 ธันวาคม 2554 เวลา 13.00 น.

นายอักษร อรรคติ เล่าอีกว่า ศาลมีคำถามว่า คุยกันได้ไหม อักษรซึ่ง ผมบอกว่า คุยได้ครับ  ฝ่ายนายจ้างเขาจะดูแลผมอย่างไร ที่ผมเจ็บป่วยจนเหมือนคนพิการขนาดนี้  ผู้รับมอบฝ่ายนายจ้างเสนอให้ผม 50,000 บาท  ผมก็เลยว่า มันน้อยไปเพราะก่อนหน้านี้ ที่ผมเจ็บผมบอกนายจ้างว่า เลิกจ้างผมได้ไหมเท่าไหร่ผมก็เอา  แต่นายจ้างบอกว่าผมไม่มีนโยบาย

มาวันนี้กว่า ผมจะเดินเรื่องเข้าถึงสิทธิผมหมดไปเยอะหลายหมื่นแล้วก็เบิกเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาใช้จ่าย 21,961  บาทแล้วก็ขายสลากออมสินไปเงินสด  2-3  หมื่นก็หมดไปแล้วอนาคตของผมต่อไปเล่าผมจะทำอะไรกินเพราะผมมีร่างกายที่ไม่สมบูรณ์เหมือนคนพิการตลอด  แล้วผมยังไม่มีครอบครัวใครเล่าที่เขาจะมาให้ผมเป็นผู้นำครอบครัว   ในเมื่อผมมีสุขภาพร่างกายและใจที่ไม่สมบูรณ์   ผมจะไปทำอะไรเลี้ยงครอบครัวได้ ผมถึงหวังว่า ศาลจะเมตตาช่วยให้ผมได้รับการดูแลเยียวยาจากนายจ้างให้ผมสามารถมีชีวิตดูแลตัวเองรักษาตัวต่อไปได้ในขณะที่ผมพึ่งอายุ 37 ปี วันข้างหน้าอีก 20 กว่าปีที่ผมจะมีชีวิตอยู่ในสังคมได้บ้าง  ผมต้องสูญเสียสุขภาพและสูญเสียความรู้สึกสภาพจิตใจ

สมบุญ สีคิดอกแค สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ รายงาน