ผลวิจัยชี้ ผู้ปกครองร้อยละ 50 ขอให้รัฐจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กทุกคน ตั้งแต่ 0-6 ขวบแบบถ้วนหน้า

ผลวิจัยชี้ ผู้ปกครองร้อยละ 50 ขอให้รัฐจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กทุกคน ตั้งแต่ 0-6 ขวบแบบถ้วนหน้า ส่วนเครือข่ายผู้หญิง เรียกร้องรัฐแก้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้ใช้ความรุนแรงอย่างเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายกับการพัฒนา กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และองค์กรภาคีเครือข่าย ได้จัดเวที “ส่งเสริมความเป็นมารดา คือทางออกของครอบครัวและสังคมมั่นคง-ยั่งยืน” และ “ลดและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เพื่อสร้างสังคมปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็ก” ห้องประชุม บีบี 201 (ชั้น 2) ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ

รศ.ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ จาก วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการวิจัยในประเด็น “ส่งเสริมความเป็นมารดา คือทางออกของครอบครัวและสังคมมั่นคง-ยั่งยืน” ในปี 2566 โครงสร้างของประชากรไทยมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สัดส่วนร้อยละ 51:49 ผู้หญิงวัยแรงงานคิดเป็นร้อยละ 51.7 ซึ่งในงานวิจัย ได้นำเสนอต้นทุนของความเป็นแม่ โดยระบุว่า ต้นทุนทางการเงิน จากการเลี้ยงเด็ก ทั้งค่าอาหาร ค่านม และอื่นๆ ในเด็กอายุ 0-6 ปีให้มีคุณภาพ ต้องใช้งบประมาณ 1.2 ล้านบาท/คน

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลต้นทุนค่าเสียโอกาส ทางด้านแรงงานและการประกอบอาชีพของผู้หญิง โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า หากประเมินรายได้เฉลี่ยลูกจ้างในภาคบริการในแต่ละประเภทเฉลี่ย 16,520 บาท/เดือน เป็นแรงงานหญิง 17.63 ล้านคน โดยมีผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัวประมาณ 6.85 ล้านคน ที่มีความเสี่ยง 2 อย่าง คือ ผู้หญิงที่มีลูกมักมีรายได้น้อยลงราว 20 % เมื่อเทียบกับผู้หญิงวัยเดียวกันและวุฒิการศึกษาใกล้กัน นั่นหมายถึงรายได้อาจจะลดลงเหลือเพียง 13,216 บาทต่อเดือน และยังมีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างจากสถานประกอบการได้มากกว่าผู้ชาย

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าว ยังได้นำเสนอต้นทุนประเภทที่ไม่ใช่การเงิน (Non-Monetary Cost) คือต้นทุนการทำงานบ้านของผู้หญิงหรือแม่ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 26% ของ GDP หากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมีมูลค่า 18.4 ล้านล้านบาท จะเป็นต้นทุนการทำงานบ้านของผู้หญิง 4.8 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยยังได้ทำการสำรวจ ประเด็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมและสวัสดิการ ซึ่งจากผลการวิจัย ระบุว่า ร้อยละ 57.1 เห็นว่าการมีศูนย์เด็กเล็กจาก 6 เดือนถึง 3 ขวบ มีความจำเป็นต่อพ่อแม่มากที่สุด และ ร้อยละ 54.3 เห็นว่า การให้รัฐสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กทุกคน ตั้งแต่ 0-6 ขวบ อย่างน้อย 1,200-3,000 บาทต่อเดือน เป็นเรื่องสำคัญ

ผศ.สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า กล่าวว่า จากงานวิจัยต่าง ๆ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล ที่ระบุว่า นมแม่สำคัญที่สุด การเลี้ยงดูเด็กเล็กสำคัญที่สุด ในขณะที่ช่องโหว่เดียวของระบบประกันสังคม คือ นโยบายเด็กเล็กที่ยังไม่ถ้วนหน้า จำนวนเด็กเล็กของประเทศไทยที่ลงทะเบียนมีประมาณ 4,000,000 กว่าคน แต่เนื่องจากการจ่ายเงินสวัสดิการเด็กเล็กยังไม่เป็นแบบระบบถ้วนหน้า จึงมีเด็กที่ได้เงินเพียง 2 ล้านกว่าคน และมีเด็กที่ตกเล่นถึง 2 ล้านคน

นอกจากเรื่องเงินสนับสนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าแล้ว คณะทำงานยังได้เสนอเรื่องศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งจากข้อมูลของหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จำนวน 5 หมื่นกว่าแห่ง รองรับเด็กได้ 2 ล้านกว่าคน ซึ่งยังมีเด็กอีก 2 ล้านกว่าคนที่ตกหล่น ที่พ่อแม่ต้องเป็นภาระในการหาที่เลี้ยงลูก และยังต้องทำงานไปด้วย รวมไปถึงการเปิด- ปิด ของศูนย์เลี้ยงเด็กที่ไม่สอดคล้องกับเวลาทำงานของผู้ปกครอง และเป็นเรื่องที่เรียกร้องมานาน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

“ขอหลักการถ้วนหน้า เงินเท่าไหร่ไม่ว่า ตั้งแต่ท้องถึง 6 ปี ส่วน ศูนย์เด็กเล็กจะดูแลเด็กทุกคน ทุกสัญชาติ มี 5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ รองรับเด็ก 2 ล้านคน แต่มีเด็ก 4 ล้าน ยังไม่นับรวมไปถึง แรงงานข้ามชาติ ขอให้ศูนย์เลี้ยงเด็กขยาย 0-6 ปี ขยายเวลารับเลี้ยงเด็ก เรื่องของเด็กไม่ใช่แค่เรื่องของแม่และเด็กเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของสังคมโดยรวม

อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงส่งผลกระทบต่อจิตใจ สังคมและเศรษฐกิจของผู้หญิง ผู้ที่ได้รับความรุนแรง เข้าสู่การคุ้มครองทางคดีน้อยมาก ความรุนแรงในครอบครัวคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 81,000 บาทท/ราย บางรายอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ นอกจากนี้จากข้อมูลของผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง มีทั้งผู้หญิงและกลุ่มหลากหลายทางเพศ

ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลขอให้มีกฎหมายรองรับและดำเนินการกับผู้กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งรวมไปถึงกฎหมายของมุสลิมด้วย และต้องดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและให้ถึงที่สุด รวมไปถึงรัฐต้องมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้เสียหายด้วย

////////////////////